xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ฮึ่ม! “สงฆ์” ก็ต้องอยู่ใต้กฎหมาย ปรามคนแฉซื้อขายตำแหน่งตำรวจอย่าพูดเสื่อมเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ฮึ่มถึงเป็น “สงฆ์” ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ลั่นถ้าไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องตั้ง “สังฆราช” ปรามอย่าใจร้อน ห่วงการเมืองแจมปั่นกระแสขัดแย้ง ระบุคุย “ประวิตร” ปมซื้อขาย “ตำรวจ” แล้ว เตือน “คนแฉ” หากมีหลักฐานให้ร้องเรียนมา อย่าพูดลอย ๆ ทำเสื่อมเสีย ย้ำ ปฏิรูป “สีกากี” ต้องให้เกียรติเจ้าของบ้านด้วย ห่วงภัยแล้งขอทุกฝ่ายร่วมกันประหยัด

วันนี้ (11 มี.ค.) เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งแระเทศไทย ตอนหนึ่งถึงความคืบหน้าของกระบวนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ว่า จริง ๆ แล้วไม่อยากพูดเรื่องนี้ แต่เห็นว่ามีการเคลื่อนไหวหลายด้านในระยะหลัง อยากจะขอให้หยุดทั้งพระ และฆราวาส เพื่อทำให้เกิดความสงบสุขในสังคม พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องการให้นำพระธรรมมาทำให้เกิดความขัดแย้ง วินัยสงฆ์นั้นมีเพื่อเป็นระเบียบปฏิบัติของสงฆ์ ส่วนกฎหมายฆราวาส คือ กฎหมายของประชาชนทั่ว ๆ ไป ทั้งพระทั้งฆราวาส ก็คือ ประชาชนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นต้องเคารพกฎหมายโดยรวมของชาติด้วย ต้องแยกให้ออกว่าประเด็นใดเป็นทางโลก ประเด็นใดเป็นทางธรรม ทั้งนี้ อย่าให้ใครมาใช้ประโยชน์ไปในเรื่องการเมือง จะเข้าทางกับคนที่ไม่หวังดีที่เขากำลังทำอยู่ในวันนี้

“ทุกอย่างจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอันเดียวกัน เลือกปฏิบัติไม่ได้ ไม่ฉะนั้นอีกฝ่ายก็เอากฎหมายนี้มาเล่นงานพวกข้างนี้ ข้างนี้เอากฎหมายอีกอันมาข้างนี้ จะทำยังไง กฎหมายสงฆ์ก็กฎหมายสงฆ์ กฎหมายฆราวาสก็กฎหมายฆราวาส แต่ทั้งพระ ฆราวาส อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐ ถ้าพร้อมเรียบร้อยก็ตั้งได้ทั้งหมด ถ้าไม่พร้อม ก็ขัดแย้งอยู่อย่างนี้ เรื่องของกลไกทางกระบวนการยุติธรรมก็ตรวจสอบกันไป ทำไมจะต้องใจร้อนอะไรกันขนาดนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

หัวหน้า คสช. ยังได้กล่าวถึงแนวทางปฏิรูปตำรวจด้วยว่า ในเรื่องของการซื้อขายตำแหน่งตำรวจมีการพูดกันไปมา แต่การพูดทำให้เสื่อมเสียไม่อยากให้เกิดขึ้น แม้คนพูดจะเจตนาดี ซึ่งตนได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง แล้วว่า ต้องคุยกันให้รู้เรื่องว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ไม่อยากให้มีความขัดแย้งกันต่อไป ถ้ามีหลักฐานการซื้อขายตำแหน่ง ขอให้มีการแจ้งหรือการร้องเรียนมา หรือจะปฏิรูปอะไรก็หารือกัน สิ่งใดที่ตำรวจเห็นด้วย ก็ต้องให้เกียรติเขาด้วย เพราะเขาต้องปกครอง บังคับบัญชาคนของเขา

“เดี๋ยวผมจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้โดยเร็ว แล้วถ้าหากว่ามีปัญหาอะไรเรื่องนี้ก็ร้องทุกข์มา แจ้งความ กล่าวโทษ อะไรก็แล้วแต่ สอบสวนให้ทุกอัน อย่าพูดกันลอยไปลอยมา มีปัญหาหมด เดี๋ยวก็ฟ้องศาล ฟ้องอะไรกันเยอะแยะไปหมด รกศาลนะ อะไรพูดได้พูดกัน อย่าเอากฎหมายอะไรมาสู้กันเลย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการเรียกรับผลประโยชน์ที่มีกระแสข่าวเป็นระยะๆ ซึ่งทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ก็ได้ทำการสอบสวนและลงโทษ ซึ่งรัฐบาลก็ได้สั่งการไปแล้วว่าเรื่องการเรียกรับส่วยต้องพิจารณาทั้งผู้รับและผู้ให้ ถ้าไม่ทำผิดกฎหมายแล้วเจ้าหน้าที่ดำเนินการไม่สุจริต ฟ้องมาเลย แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมาย แล้วเราทำผิดกฎหมาย ก็ต้องพิจารณาตัวเอง แต่หากผิดทั้งสองฝ่ายก็ต้องถูกทำโทษทั้งคู่ เพราะถือว่าละเมิดกฎหมาย

“วันนี้ตีกันหมดทุกเรื่องไป แล้วจะปฏิรูปกันได้ยังไง ก็ต้องมาคุยกัน คนอยากจะปฏิรูปก็คุยกับคนถูกปฏิรูป ไว้เนื้อเชื่อใจกัน การปรับโครงสร้างไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องปรับไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ปฏิรูปทีเดียว โครมเดียวถอดเครื่องแบบออก ถอดยศ แบบนั้นไม่จบหรอก คนไทยอย่าใจร้อน แล้วก็เล่นงานผมว่าช้า ไม่ปฏิรูป ต้องบอกว่าปฏิรูปมาตลอดโดยคิดว่า เราจะทำยังไงให้องค์กรตำรวจเข้มแข็ง” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ก็ขอเวลาเปลี่ยนผ่านยังไม่ได้ ขอความร่วมมือทุกองค์กร ประชาชน ที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ทำอย่างไรจะใช้วิธีการน้ำดีไล่น้ำเสีย เอาคนดีเข้ามาในสังคมของเรา คนไม่ดีเอาออกไป ออกไปด้วยกฎหมาย ออกไปด้วยวิธีการถูกต้อง ไม่ใช่ไปใช้วิธีการนอกกฎหมาย เราอย่าไปมุ่งหวังว่าจะสลายอำนาจใคร ซึ่งรัฐบาลนี้ไม่เคยมุ่งหวังจะสลายอำนาจทางการเมืองของใคร หากทำดี ตนก็ไม่ไปยุ่งอยู่แล้ว ถ้าไม่ดีก็ต้องเข้ากระบวนการยุติธรรม

“เราไม่อยากให้มีการแทรกแซงจากภายนอก เข้าไปภายใน ไม่ว่าจะตำรวจที่อยู่ต้นทางกระบวนการยุติธรรม อัยการ ศาล ทุกคนก็ว่ากันไป ว่ากันมา วันนี้ต้องเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องของการใช้กฎหมาย ให้เกิดความเป็นธรรม ชัดเจนมากที่สุด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ในส่วนของสถานการณ์ภัยแล้งนั้น นายกฯกล่าวว่า รัฐบาลเน้นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ในส่วนของเกษตรกร ไม่เพียงพัฒนาความรู้ เปลี่ยนมุมมอง ให้รู้จักการทำอาชีพทางการเกษตรที่หลากหลายเป็น Smart farmer โดยใช้หลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เพราะการทำสิ่งเดิม ๆ อาจจะเกิดปัญหาขึ้นในปัจจุบัน เพราะภัยธรรมชาติมากขึ้นทุกปี ๆ ตลอดจนไปถึงการโซนนิ่งพื้นที่ให้สอดคล้องกับแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำ และพืชที่เพาะปลูก เคยเรียนไปแล้วว่า ทำได้ทั้งนาข้าวแปลงใหญ่ ทำได้ทั้งไร่นาสวนผสมแปลงใหญ่ แต่ต้องประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยปีนี้เราสามารถจะลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังใน 22 จังหวัดภาคกลาง ได้ประมาณ 1 ล้านไร่ จากเดิม 2.91 ล้านไร่ เหลือ 1.92 ล้านไร่ ก็ยังคงเยอะอยู่ แต่ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน น้ำก็น้อยลง บางทีปลูกไปก็ตาย ตนก็สงสารชาวนา แต่ก็ต้องหาวิธีการอื่นช่วยกันปรับเปลี่ยนกันบ้าง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการอื่นๆ นั้นวันนี้ก็เป็นที่น่ายินดี ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่เราได้ผ่อนปรนเงื่อนไขการห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงานเป็นการชั่วคราว เพื่อรองรับฤดูฝน ในภาคเกษตรกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนะครับ ได้เร่งส่งเสริมการสร้าง “ฝายชาวบ้าน ฝายประชารัฐ” เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง ในส่วนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคก็ขอให้ทุกคนร่วมกันรับผิดชอบ ช่วยกันประหยัด ไม่ว่าจะวาระใดก็ตาม สนุกสนานได้ รื่นเริงได้ แต่ต้องพอเพียง ใช้เท่าที่จำเป็น เราไม่ได้ไปห้ามเล่นน้ำสงกรานต์ แต่เราจะทำยังไง ปีนี้น้ำเราน้อย เราจะเล่นสงกรานต์กันอย่างไร ไม่ใช่เล่นกันจนหมด ถ้าจะเล่นกันขนาดนั้นก็เหมือนทุกปี สนุกสนานรื่นเริง แต่หลังจากสนุกสนานแล้วเราจะต้องมาเสียใจ ว่าเราไม่มีน้ำกิน จะทำยังไง ไปคิดเอาเอง

“เรื่องการใช้น้ำ ก็ห่วงอีก ห่วงแล้ว ห่วงอีก ก็ไม่ใช่เพื่อวันนี้ เพื่ออนาคตด้วย จะทำยังไงให้ทุกคนช่วยกันประหยัด ประหยัดทุกคน ประหยัดทุกส่วน อย่าให้ถึงขนาดต้องมากินน้ำวันละเท่านี้ อาบน้ำวันละครั้ง ผมว่าไม่ใช่ แค่อาบให้น้อยลงเท่านั้น อย่าขัดสีฉวีวรรณนานนัก” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

คำต่อคำ : รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” วันที่ 11 มีนาคม 2559


สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันช้างไทย โดยช้างนั้นเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยเรา และช้างเผือกเป็นสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย สำหรับช้างนั้นมีคุณูปการกับชาติไทยมาแต่อดีต เช่น ในการสู้รบ ที่ลูกหลานไทยควรรู้ ได้แก่ เจ้าพระยาไชยานุภาพ เป็นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในการทำยุทธหัตถี เพื่อกอบกู้เอกราชของชาติได้สำเร็จในที่สุด จึงเป็นที่มาของพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี นอกจากนั้นแล้ว คนไทยก็มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับช้างมายาวนาน ปัจจุบันทีมฟุตบอลชาติไทยก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในนามของทีมช้างศึกไทย ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่สื่อถึงความรัก ความหวงแหนช้างของคนไทย โดยที่ผ่านมานั้นประเทศไทยประสบปัญหาในการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ที่เรียกว่า ไซเตส แต่เมื่อ คสช. และรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และกำหนดมาตรการควบคุมการค้างาช้างบ้าง ปราบปรามการลักลอบการค้างาช้างแอฟริกา รวมถึงการควบคุมการลักลอบนำเข้า และส่งออกงาช้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ยอมรับจากคณะกรรมการไซเตส เป็นผลให้เรารอดพ้นจากการคว่ำบาตรทางการค้าได้สำเร็จ และเราไม่สูญเสียตลาดส่งออกพืชและสัตว์ ซึ่งมีมูลค้านับพันล้านบาทต่อปี

สำหรับ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นั้น มีพระราชเสาวนีย์โปรดให้มีการดูแล และอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งรัฐบาล องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้จัดตั้งโครงการคชอาณาจักร เข้ามาดูแลปัญหาเพื่อให้ควาญช้างนำช้างเร่ร่อนนำกลับสู่บ้านเกิด จัดสรรที่ดินป่าสงวนแห่งชาติดงภูดิน จ.สุรินทร์ ให้ช้างและควาญช้างอยู่อย่างมีความสุข ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างงานกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน โดยใช้ตำนานช้างไทย และวิถีชีวิตของคนกับช้าง เช่น การอาบน้ำช้าง พิธีกรรมหมอช้างแต่โบราณกาล และเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างยิ่ง เรานำมาเป็นจุดขาย หรือการทำตลาดมูลช้าง จากวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วมีคนสั่งให้ทำก็เข้าไปทำเองทำได้ไม่ยาก ในอนาคตอาจใช้กลไกประชารัฐสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ทำเป็นโลกของช้างคล้ายในภาพยนตร์จูราสสิค เวิลด์ เพื่อจะดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพจากยุโรป และญี่ปุ่นที่นิยมช้างไทยกันอยู่แล้ว ถ้าเราทำได้จะเป็นการดีนะครับ มาตรการต่างๆ ผมเห็นว่าน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนได้อย่างยั่งยืน ดีกว่าการบังคับใช้กฎหมายที่ขึ้นอยู่กับการควบคุมช้างเร่ร่อนที่มีอยู่มากมายหลายฉบับ คสช.ได้ดูแลและคลี่คลายปัญหาในเบื้องต้น แต่ทุกรัฐบาลก็ต้องดูแลต่อไปนะครับ แบบต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ผมอยากให้ทุกคนได้ช่วยกัน สงสารสัตว์ สงสารช้าง ช้างมีบุญคุณกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ทำงานหนัก วันนี้ทำให้เขามีความสุขกันบ้าง อย่าทรมานเขานักเลย วันนี้เรามีเรื่องที่จะต้องคุยกัน และเน้นย้ำ ทำความเข้าใจกันกับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนดังต่อไปนี้ ในเรื่องของผลสัมฤทธิ์ความก้าวหน้าของการทำงานของ คสช.และรัฐบาล ตามห้วงระยะเวลา ในการพลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า ช้างไทย ระบบนิเวศ แหล่งต้นน้ำลำธาร และที่ทำกินของพี่น้องประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการที่สมดุล ข้อมูลล่าสุดเรามีผืนป่าเหลือเพียง 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31 ของประเทศ ลดลงอย่างรวดเร็ว 5 ล้านไร่ จากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การทำลายป่าไม้ ก็เพื่อการขยายพื้นที่เกษตรกรรมตามที่รัฐบาลบางรัฐบาลในอดีตที่ส่งเสริม แต่ก็ไร้การควบคุม เป็นการดีแต่ต้องควบคุมให้ได้ จะทำอย่างไรไม่บุกรุกป่า เรากำลังแก้อยู่ทั้งหมด เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เผาป่า การขายพื้นที่ที่บุกรุกไปแล้วไปให้กับนายทุนอะไรต่างๆเหล่านี้ มันเป็นความเชื่อมโยงกันทั้งหมด เราต้องแก้ไขให้ได้โดยเร็ว ฉะนั้นนโยบายแก้ไขเร่งด่วนของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาของ คสช. และรัฐบาลก็คือมาตรการในการทวงคืนผืนป่า เราจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด เน้นใช้ทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ควบคู่กันไป มุ่งดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพล

ในปี 2558 เราสามารถทวงคืนผืนป่ากลับมาเป็นของพวกเราทุกคนได้กว่า 3 แสนไร่ และดำเนินคดีผู้บุกรุก 13,000 คดี ส่วนมาตรการสร้างความยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันต้องมีคนเดือดร้อนนะ เราจะทำอย่างไร จะแก้ปัญหาคนจนอย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็จึงมีการพิจารณาในเรื่องของสิทธิทำกิน ในเรื่องของการจัดการพื้นที่ป่าและการจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสม โดยใช้แนวทางประชารัฐมาขับเคลื่อนด้วย

ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาแนวเขตพื้นที่ทับซ้อน โดยให้ทุกภาคส่วน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้มีส่วนร่วมในการหารือ ในการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ ที่เราเรียกว่าแบบ one map นะ เพราะว่าทุกหน่วยงานมันแผนที่คนละฉบับ ถ้ามันทาบทับกันได้ มันก็ตรงกัน ถ้ามันไม่ได้ก็ว่ากันอีกที เพราะฉะนั้นเราต้องทำ one map ให้ได้ก่อน

เรื่องที่สอง คือการกำหนดมาตรการให้ชุมชนและพื้นที่ยากไร้ด้วยการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ชุมชนในพื้นที่ป่าที่บุกรุกไปแล้ว รวม 340,413 ไร่ แล้วแบ่งเป็น 82 พื้นที่ใน 46 จังหวัด ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จะบุกรุกไม่ได้อีกแล้ว เพื่อจะทวงคืนผืนป่าจากผู้มีอิทธิพล หรือนายทุน หรือนอมินีด้วย ที่สำคัญ 3.ก็คือการเพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ เพื่อลูกหลานในอนาคต เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำให้กับประเทศ เป็นเส้นเลือดให้กับเกษตรกรรมของไทย โดยใช้กลไกสถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่า อันจะประกอบด้วยฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และประชาชน รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้อำนวยการฝึกสอนถ่ายทอดประสบการณ์การดับไฟป่า การทำแนวกันไฟ เพื่อจะปกป้องอนุรักษ์ป่าในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย โดยเราจะต้องนำพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่องคนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน และการปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่าง ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มานำสู่การปฏิบัติด้วย เช่น การสร้างป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน ป่ากินได้ เป็นธนาคารอาหารของชุมชน และเราต้องอย่าลืมว่า ป่าต้นน้ำเป็นแหล่งกำเนิดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยทั้งประเทศ

ในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม มีหลายอย่างด้วยกัน เราจะต้องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในเรื่องของที่ดินทำกินเป็นขั้นเป็นตอน เราได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อจะมาดูแลพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายของเราดังกล่าวเมื่อสักครู่นี้ที่กล่าวไปแล้ว เราได้มีการเห็นชอบร่วมกันในการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชุมชน ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย มีงบประมาณ 2559 จัดกว่า 3 แสนไร่ ต้องกระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ให้ทำระดับแปลงรวม โดยยังไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐได้ พื้นดินที่บุกรุก หรือพื้นที่ราชพัสดุอะไรก็แล้วแต่ที่เหมาะสมนะครับ รัฐบาลได้จัดทำคู่มือการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน

ทั้งนี้ เพื่อจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ ให้เป็นไปตามหลักการกฎหมายเริ่มต้นก่อน แต่ต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้ เป็นธรรมกับทุกคน สงสารคนจน สงสารผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร นึกถึงเขาบ้าง เราต้องดูแลตั้งแต่ต้นทางให้ได้กลางทางนั้นก็คือในเรื่องของการแปรรูปการผลิตอะไรก็แล้วแต่ อาชีพต่างๆ ที่ต้องพัฒนานั้น รัฐบาลจะมีเทคนิคการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเป็นระบบนะครับ เพราะทั้ง 76 จังหวัด ของเรานั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน เราต้องส่งเสริมให้สอดคล้องกับสภาพแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ เราต้องออกแบบโมเดลต่าง ๆ ให้เหมาะสม เป็นทางเลือกเป็นตัวอย่าง ตั้งแต่ระดับภูมิภาคกลุ่มจังหวัด รวมทั้งสร้างกลไกการสนับสนุนเงินทุนให้กับชุมชนได้ติดตาม ดูแลปลายทางในการหาตลาดให้ ในระยะต่อไปอย่างครบวงจรเราสร้างทั้งในส่วนของภาคเอกชนธุรกิจกับภาคประชาชนให้แข็งแรงไปด้วยกัน และที่จะขาดไปไม่ได้ก็คือการประเมินผลจากมาตรการดังกล่าวนั้น เราอาจต้องกำหนดเพิ่มเติมนะครับ ว่าไม่เพียงแต่กำหนดตัวชี้วัดด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เราต้องมีตัวชีวัดด้านความสุขความพอเพียงของชุมชนด้วย ในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความเท่าเทียมในสังคม

ในด้านการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่คนไทยทุกคนสามารถต่อสู้เรียกร้องปกป้องสิทธิของตัวเองได้อย่างเป็นธรรม รัฐบาลต้องการจะลบวาทกรรมที่กล่าวว่าคุกมีไว้ขังคนจนและคำว่า 2 มาตรฐาน เราต้องเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน การเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงหลายทาง ทำอย่างไร คนจะไม่ไปทำผิดกฎหมาย เราต้องมีความยุติธรรมกับเขาด้วย และมีการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมสำหรับช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีหรือการขอประกันตัว เพื่อสู้คดีตลอดจนเยียวยาผู้ถูกละเมิด หรือได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชน เขาไม่ผิดหรอกนะครับ เป็นต้น ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันไม่ว่าจะยากดีมีจน ต้องอยู่ภายใจ้กฎหมายเดียวกันผมขอย้ำ ที่ผ่านมานั้น มีผู้ขอความช่วยเหลือจากกองทุนเกือบ 6,000 ราย รัฐได้ใช้เงินช่วยเหลือไปแล้ว 2,552 ราย ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างเร่งพัฒนากลไกกองทุนฯ ทั้ง 76 จังหวัด โดยจะกระจายอำนาจของกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกันทุกจังหวัด ให้มีความเท่าเทียมกัน รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพให้มากขึ้น และจะมีการทบทวน ปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณา เช่น ผู้ขอรับเงินจะต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีฐานะยากจน มีความประพฤติดี ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี และการให้ความช่วยเหลือจากกองทุนฯ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการช่วยเหลือตามกฎหมายอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ประหยัดงบประมาณ และสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบการใช้งบประมาณให้มากขึ้น

เรื่องต่อไปเป็นประเด็นสำคัญในเวลานี้ ก็คือ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง รัฐบาลเน้นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงแต่พัฒนาความรู้ เปลี่ยนมุมมอง ให้รู้จักการทำอาชีพทางการเกษตรที่หลากหลาย เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ เพราะการทำสิ่งเดิมๆ มันอาจจะเกิดปัญหาขึ้นในปัจจุบัน เพราะว่าภัยธรรมชาติมันมากขึ้นทุกปีๆ เพราะฉะนั้นพี่น้องเกษตรกรก็จะประสบความเดือดร้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นหนี้เป็นสินทุกปี เราไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งไม่ถูกต้อง ถ้ารัฐบาลไม่เข้าไปดูแล เราต้องใช้หลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งก็มีแนวทางในการจัดสรรที่ดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว แบ่งเป็น 4 ส่วน ในที่ของตัวเอง เพื่อทำการเกษตรและใช้ประโยชน์ อัตราส่วน 3-3-3-1 หมายความถึง 30-30-30-10 หมายถึงว่า 3 แรก หรือ 30 แรก เป็นการขุดสระเก็บกักน้ำในฤดูฝน ให้มีน้ำใช้ตลอดปี รวมทั้งการปลูกพืชน้ำที่กินได้ หรือเลี้ยงปลา อะไรก็แล้แต่ ผักบุ้ง ผักกระเฉด อีก 30 เปอร์เซ็นต์ 3 ที่สอง ปลูกข้าว เพื่อเป็นอาหารสำหรับครอบครัว เพียงพอตลอดปี ไม่ต้องซื้อหา แต่ถ้าน้ำเยอะก็ปลูกขายได้ น้ำน้อยก็ปลูกขายไม่ได้ ปลูกกินอย่างเดียว ลดค่าใช้จ่าย สามารถพึ่งตัวเองได้ 30 ที่สาม คือการปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชผัก พืชสมุนไพร พูดง่ายๆ ก็คือเหมือนไร่นาสวนผสม ผสมผสานกัน หลากหลาย ในพื้นที่เดียวกันของแต่ละครอบครัว กินเอง เหลือก็นำไปขายเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ครัวเรือน อีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่อยู่อาศัย ปลูกบ้านกับครอบครัว รวมทั้งอาจจะจัดคอกเลี้ยงสัตว์ เรือนเพาะชำ ฉางเก็บผลิตผลทางการเกษตร ของครัวเรือน ที่จะช่วยให้เราสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ไม่เดือดร้อนจากภัยแล้งมากนัก หรือสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน แต่วันนี้เราอาจจะต้องนำมาประยุกต์ใช้ เพราะน้ำเราน้อยลง พื้นที่เราก็แย่ลง เสื่อมโทรม เราไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ถ้าเราทำในครัวเรือนได้ก็ทำไปตามหลักการเดิมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว เราต้องนำสิ่งที่พระองค์ท่านทรงสอนไว้ ทรงพระราชทานไว้ มาประยุกต์ให้ใช้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์กับปัจจุบัน เช่น ในแต่ละบ้านอาจจะเป็นของชุมชนได้ เป็นของหมู่บ้านก็ได้ เป็นของกลุ่มเกษตรกรก็ได้ คือตรงไหนที่ทำเกี่ยวกับเรื่องใช้น้ำมากได้

อันที่สองก็ น้ำน้อยก็ไปใช้พืชที่ใช้น้ำน้อย อันที่สามก็เป็นเรื่องของอาชีพอื่นๆ อาจจะมีการแปรรูป รวมกลุ่มต่างๆเพื่อจะเพิ่มรายได้ให้ได้ อันที่ 4 ก็คือ เป็นเรื่องของชุมชนทั้งกลุ่ม ทั้งหมู่บ้าน ทำนองนี้ เอาพื้นที่มาเป็นตัวกำหนดให้เป็น 3 - 3 - 1 อาจจะเป็นตำบล อำเภอ จังหวัด ก็ได้ ถ้าเราบริหารจัดการกันให้ถูกต้อง มันก็จะมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในทุกพื้นที่ เริ่มจากในบ้านมาก่อน จากนั้นก็ในพื้นที่ตามความแตกต่างของดิน น้ำ อากาศ เพราะว่าน้ำมากน้อยต่างกัน ความอุดมสมบูรณ์ต่างกัน ระดับความสูงต่างกัน ถ้าเราสามารถจัดทำโซนนิ่งพื้นที่ได้ให้สอดคล้องกับแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำ โดยการประยุกต์ให้เหมาะสม ที่เราทำในอดีต 40 ปีที่ผ่านมา การทำเกษตรแปลงใหญ่ ผมเคยเรียนไปแล้วว่า ทำได้ทั้งนาข้าวแปลงใหญ่ ทำได้ทั้งไร่นาส่วนผสมแปลงใหญ่ อันนี้ก็เป็นหลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงพระราชทานมา มาประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะจัดอะไรก็แล้วแต่ รัฐบาล และ คสช.ยังถือว่าเป็นความรับผิดชอบในการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนโดยรวมอยู่แล้ว ได้กำหนดมาตรการต่างๆที่จะเสริมสร้างแรงจูงใจ และเข้าไปสนับสนุนอย่างใกล้ชิด บางครั้งไปไม่ถึงท่านก็ต้องมาหาบ้าง บางทีมันไปไม่ทั่ว แล้วบางคนคิดไม่ได้ จะบ่นว่าเราช่วยเขาช่วยไม่ถึง ท่านต้องฟังให้ อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านช่วยทำความเข้าใจด้วย เช่น เราได้มีการให้ความรู้ในการว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชในหน้าแล้งได้อย่างไร การปรับเปลี่ยนจากข้าวนาปรับ ไปสู่การปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้อย่างไร หรือจะมีการเลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อไว้กินไว้ขายก็แล้วแต่

อันที่สองที่เราทำอยู่ก็คือว่า เราจะส่งเสริมการลงทุน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพักชำระหนี้ และการชดเชยการสูญเสียรายได้ รัฐบาลได้ใช้เงินลงไปมากพอสมควร

ในเรื่องที่สามก็คือ การยกระดับสินค้าการเกษตรให้เป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม คือเพิ่มมูลค่า เพิ่มราคาให้สูงขึ้น โดยพยายามจะลดต้นทุนให้ต่ำลง ถ้าเราแปรรูปในขั้นที่ 1 ได้ในพื้นที่ แล้วส่งต่อไปขั้นที่ 2 ที่อื่น หรือขั้นที่ 3 ก็แล้วแต่ เราอาจจะทำ 1 2 แล้วส่ง 3 หรือทำ 1 ส่ง 2 ก็แล้วแต่นะครับ เพราะมันแล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ ของขีดความสามารถของประชาชนด้วย ของเกษตรกรด้วย เราทำอย่างไรเราจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้ วันนี้ผมอยากเรียนเรื่องนวัตกรรมหน่อยนะครับ เรื่องสินค้าโอทอป เรามี 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตรอยู่แล้ว วันนี้โครงการรัฐบาลเอาให้มันจริงจัง มีอยู่หลายพันรายการ แต่มันทำจริงๆ มันทำได้ไม่มากนักหรอก ก็ในช่วงที่กรมฯ เขาทำออกมา แล้วปรากฏว่า ถึงเวลาก็ทำไม่ได้ บางอย่างก็ขายไปหมดแล้ว ทำชิ้นเดียวอะไรทำนองนี้ วันนี้เราต้องเอาในที่มีประสิทธิภาพมาทำ ทำจริงๆ จังๆ ให้เหมือนกับโครงการเสริมอาชีพพิเศษของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ท่านได้ทรงทำเพื่อเป็นสมบัติแห่งแผ่นดินไว้มากมาย ได้สร้างอนาคตให้ทุกคนกลับไปที่บ้านได้อะไรได้ มีอาชีพเพิ่มเติมอะไรเหล่านี้ ท่านทรงทำมานานหลายปีแล้ว หลายสิบปีแล้วด้วย

เราต้องทำให้โอทอปเราเข้มแข็งตามแนวทางนั้น เราต้องมีมาตรการสร้างความเข้มแข็งโดยเริ่มจากฐานราก โดยใช้คำว่าประชารัฐที่เราทำกันมาอย่างต่อเนื่องให้ครบวงจรดูแลต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ผลการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น ผมถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในระดับที่น่าพอใจ ขอเป็นกำลังใจในการทำงานให้กับรัฐบาล ร่วมมือกับรัฐบาลของประชาชน และข้าราชการในพื้นที่ต้องเหน็ดเหนื่อยกว่าเดิมแน่นอน เพราะต้องเดินลงพื้นที่เข้าถึงประชาชน เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งได้แล้วว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนามันจะต้องเริ่มจากการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ทั้งหมดก็คือเข้าใจเข้าถึงพื้นที่ เข้าใจถึงประชาชน รู้ปัญหา มันจะจัดระเบียบการพัฒนาได้ว่าควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตัดเสื้อตัวเดียวให้ทุกคนใส่มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ผมพูดเสมอ

ปีนี้เราสามารถจะลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังใน 22 จังหวัดภาคกลางได้ประมาณ 1 ล้านไร่ จากเดิม 2.91 ล้านไร่ เหลือ 1.92 ล้านไร่ ยังคงเยอะอยู่ แต่ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกันกับน้ำมันก็น้อยลง บางทีปลูกอะไรก็ตาม มันก็สงสารชาวบ้าน ประชาชน ชาวนา แต่ต้องหาวิธีการอื่นช่วยกันปรับเปลี่ยนกันบ้าง ในช่วงเดือนมกราฯ และกุมภาฯ ที่ผ่านมามันมีปัญหาเรื่องน้ำ เพราะฉะนั้นการทำนาปรังขอร้องกันว่า ขอให้ลดลง คนส่วนใหญ่ร่วมมือ ขอชื่นชมนะครับ พี่น้องเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่อย่างยิ่งที่เข้าใจสถานการณ์น้ำของประเทศ และร่วมมือกับภาครัฐด้วยความสมัครใจ ไม่อยากต้องบังคับ การเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของรัฐมากขึ้น เช่นล่าสุดคณะกรรมการบีโอไอได้มีการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาท เพื่อจะเป็นทางเลือกเพิ่มเติมกับเกษตรกรในปลูกพืชแทนข้าว เพิ่มเข้าไปสู่วงจรห่วงโซ่ในห่วงโซ่คุณค่าให้ได้ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน เราต้องทำคู่กันทั้งรัฐและเอกชน ประชาชน มันต้องเดินไปด้วยกัน และแบ่งกันส่วนแบ่งในการตลาดไป ส่วนแบ่งในการผลิตต่างๆ ไป มันจะได้มีรายได้ให้กับประชาชนในแต่ละวันๆ ให้เขาอยู่ได้
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเร่งเพิ่มเติมอันนี้คือ การผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจากมันสำปะหลัง รำข้าว ข้าวโพด ปลาบ่น ที่ จ.ลพบุรี มีความก้าวหน้า ต่อไปคือเรื่องการผลิตเครื่องดื่มจากถั่วเหลืองจาก จ.สระบุรี 3.การผลิตสารให้ความหวาน จ.ปราจีนบุรี 4.คือการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังจาก จ.กำแพงเพชร และ 5.การผลิตเยื้อกระดาษฟอกขาว จ.บุรีรัมย์ อันนี้คือจะรับในส่วนของวัตถุดิบ วัตถุต้นทุนไปเข้าโครงการเหล่านี้ เราก็ต้องส่งเสริมงบประมาณส่วนกลางลงไปด้วยใช้มาตรการของบีโอไอ

สำหรับมาตรการอื่นนั้น วันนี้เป็นที่น่ายินดีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือไม่อยากให้ชาวไร่ชาวนาบ่นว่าได้ว่า ภาคอุตสาหกรรมไม่ช่วยเลย ใช้น้ำมาก อะไรทำนองนี้ อุตสาหกรรมมันก็จำเป็นต้องใช้น้ำ มันต้องมีการผลิต ผลิตมันก็มีรายได้ออกมา ชาวไร่ ชาวนา ชาวบ้าน แรงงาน ก็มีเงินใช้จ่ายทุกวันในฐานะเป็นแรงงาน ถ้าเราหยุดอุตสาหกรรมไปทั้งหมด มันก็ไปกันทั้งหมด ทั้งอุตสาหกรรมก็ไป ข้าว การเกษตรทั้งหมด ไปหมด แล้วมันจะอยู่กันยังไงล่ะ เพราะฉะนั้นวันนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็เอานโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติในช่วงภัยแล้งปีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผ่อนปรนเงื่อนไขในเรื่องของการห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงานเป็นการชั่วคราว แต่ทั้งนี้ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2559 เพื่อจะรับฤดูฝนหน้า เราจะสนับสนุนให้มีการนำน้ำทิ้งของโรงงาน แต่ต้องผ่านการบำบัดนะ ย้ำต้องผ่านการบำบัดได้ตามมาตรฐานน้ำทิ้ง เดี๋ยวหาว่าทิ้งน้ำออกมาข้างนอก เสียหายอีก ตาม พ.ร.บ.โรงงาน ถ้าปล่อยน้ำพวกนี้ออกมาไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 ก็ปิดโรงงานอีก ก็ต้องร่วมมือนะ อย่าฉวยโอกาสอะไรทั้งสิ้น คนเราต้องซื่อสัตย์ต่อกัน เราจะได้ไปช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมได้ โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งไม่มีสารโลหะหนัก หรือสารเคมีที่เป็นอันตราย มีกว่า 2 พันโรงงาน คาดว่าจะมีน้ำเข้าสู่ระบบถึง 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก็จะครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรราว 5 หมื่นไร่ทั่วประเทศ เพราะโรงงานมันกระจัดกระจายอยู่ นี่ก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเราจัดระเบียบดีๆ ทุกอย่างมันก็เสริมกันได้หมด ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง มันต้องเป็นหลักอย่างเดียว มันเป็นไปไม่ได้นะ

อย่างไรก็ตาม ผมเรียนไว้แล้วว่า ต้องรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้งตลอดเวลา ให้เกิดความมั่นใจทุกฝ่าย อย่าให้มีปัญหาภายหลังโดยเด็ดขาด ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ตรวจสอบ อะไรก็แล้วแต่ โรงงานด้วยนะ อย่าให้มีผลกระทบกับรัฐบาลโดยเด็ดขาด เราจะต้องร่วมมือกัน

เรื่องที่สองในภาคการเกษตร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมส่งเสริมการสร้างฝายชาวบ้าน ที่เรียกว่าฝายประชารัฐ ผมอยากจะเรียกอย่างนั้น เพื่อจะเตรียมรองรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง ไม่ว่าจะสายน้ำใหญ่น้อยอะไรก็แล้วแต่ มาจากภูเขาบ้าง อะไรบ้าง มันต้องมีการทำฝาย เพื่อจะลด ชะลอความแรงของน้ำที่มันมาทีเดียวแล้วก็ไปหมด แล้วมันก็หมดไปเรื่อยๆ หมดไปทีละพื้นที่ๆ พอเหนือหมด ต่อไปก็กลางหมด ใต้หมด มันก็เป็นอย่างนี้มาตลอด ถ้าเราชะลอไว้บ้าง มันก็จะเก็บกักน้ำไว้ ค่อยๆ ทยอยปล่อยออกมาตามระดับของฝาย ก็กรุณาช่วยกันทำนะ เงินทองก็พอมีกันอยู่บ้างล่ะ ก็อยากให้ส่วนราชการนั้นได้รวบรวมชาวบ้านมา อย่างน้อยก็ได้มาพบปะหารือกัน ทำเพื่อส่วนรวม ทำฝายเล็กๆ เราไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองมากมาย อุปกรณ์ในการทำฝายก็ให้กระทรวงมหาดไทยไปดูซิว่าเราจะขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในประเทศได้ไหม ว่าอยากได้อุปกรณ์เพื่อจะไปทำฝาย โดยทั้งมหาดไทย กระทรวงทรัพย์ฯ กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ เป็นจุดรวบรวมสิ่งของที่เราต้องการไปทำฝาย จะได้ไม่ต้องเสียเงินไง พอเสียเงินมากๆ ที่ผ่านมาก็ทุจริตอีก แล้วจะทำยังไงได้ล่ะถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกัน มันจะแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา คนไทยก็จะรักกันมากขึ้น

เราต้องรองรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงด้วย เพราะน้ำลงมาจากทางเหนือ มาจากป่าต้นน้ำทั้งสิ้น จากภูเขาบ้างอะไรบ้าง ต้องชะลอให้ได้ แล้ววันนี้เราก็ได้มีการจัดทำที่เก็บกักน้ำไว้มากมาย ในปีนี้เผอิญฝนมาน้อยลงไป เพราะฉะนั้นในปีหน้าผมคิดว่า...ฝนหน้านี่นะ ไม่ใช่ปีหน้า พฤษภาฯ มั้ง เราก็จะมีแหล่งเก็บน้ำที่น่าจะเพียงพอถ้าหากฝนตก ที่สำคัญอย่าไปตัดป่าที่เหลือล่ะ ยิ่งตัดป่ามันก็ยิ่งแล้งลงๆ ไปเรื่อยๆ แล้วจะทำยังไงล่ะ เพราะน้ำมันมาจากป่า น้ำมาจากเขา ถ้าแล้งหมดแล้วจะทำยังไง ชาวไร่ ชาวนา ก็เดือดร้อนแบบนี้ วันหน้าทำนาไม่ได้จะทำยังไง ไม่มีกินข้าวอีก ต้องไปซื้อข้าวเขากิน วันนี้เราส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 นะ เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง รักษาสิ่งที่มันเป็นวัฒนธรรมของเราอันยาวนาน ในเรื่องการทำการเกษตร วันหน้ามีปัญหาเรื่องอากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาต่อไปก็คือเรื่องขาดแคลนแหล่งอาหารของโลก เราก็น่าจะสำรองเหล่านี้ไว้ เตรียมการเอาไว้ เพื่อเป็นประเทศหนึ่งที่เป็น ... เขาเรียกว่าเป็นแหล่งเก็บอาหารของโลกใบนี้ ผลิตอาหารของโลก วันหน้าเราก็ลืมตาอ้าปากได้ทั้งหมด เก็บกัก รู้จักวิธีการ ทั้งน้ำ ทั้งปลูกพืชให้มันเหมาะสม

วันนี้เราต้องร่วมมือกัน เสริมสร้างความสามัคคีระหว่างประชาชนในพื้นที่ วันนี้เราใช้เงินอัดฉีด ผมไม่อยากใช้คำว่าอัดฉีด อัดฉีดมันเหมือนยังไงก็ไม่รู้ ได้ใช้เงินลงไปเพื่อให้ในระดับตำบล หมู่บ้าน เป็นจำนวนมากพอสมควร ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้ช่วยรักษาถิ่นของตนเอง แต่อย่าขัดแย้ง ต้องฟังราชการ เพราะราชการเขาต้องมีกฎ มีระเบียบอะไรของเขา ท่านก็ต้องใช้สิทธิของท่าน เพราะเป็นเงินของท่าน ที่ท่านจะต้องไปใช้ทำประโยชน์ แต่ราชการเขาจำเป็นต้องไปจัดระเบียบให้สักหน่อย ท่านอยากได้อะไรก็พิจารณาเสนอเขาไป แต่การเสนอบางทีมันไม่ได้ทั้งหมด ก็กลายเป็นว่ารัฐบาล หรือข้าราชการ ไปคิดให้ ไม่ใช่ บางทีผมตรวจสอบแล้วบางพื้นที่ มีหลายกลุ่มก็ขอโน่นขอนี่ แต่วงเงินก็มีเท่านี้ ฉะนั้นเมื่อทุกคนได้บ้างไม่ได้บ้าง คนไม่ได้ก็บอกว่า เนี้ย เขาไม่เห็นได้อะไรเลย เขาต้องรู้ว่า ไอ้ส่วนใหญ่เขาว่าไง นี่ไง ประชาธิปไตยขั้นต้น ถ้าไม่เคารพสิทธิคนอื่น เอาแต่ตัวเองอย่างเดียวมันไปไม่ได้ทั้งหมด เราต้องเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยตั้งแต่ขั้นต้น เบื้องต้นในชุมชนของท่านด้วย เราต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน การกำหนดความต้องการที่เหมาะสม เสนอโครงการโดยจัดเรียงความเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนของตัวเองในอนาคตเพื่อไปเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้ ให้มีการตรวจสอบ ทั้งของรัฐ ของประชาชนเองด้วย ให้เกิดความโปร่งใส ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

เรื่องต่อไปคือเรื่องแผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำที่เราทำมาแล้ว เห็นไหมว่าที่เรามาทำใหม่ เราปรับแก้ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเราทำทีเดียวแล้วไปกู้เขามาทีเดียว แล้วไปทำทีเดียว ประมูลประเมินไปทั้งหมด มันไม่ได้ มันต้องทำไปทีละสเต็ป เพราะหลายอย่างมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงระยะยาว ถ้ามีการจัดทำแผน ถ้าเรียกว่าแผน อีกอันเดี๋ยวมาตีกันอีก มันคนละเรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติก็ยุทธศาสตร์ชาติ มันวิธีการคนละอย่าง อย่ามาคิดเหมือนกัน ไม่ได้ ยุทธศาสตร์มันกรอบกว้างๆ แต่นี่มันลงละเอียดแล้ว ทำที่ไหน อย่างไร ทำประเภทไหน อย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ มีเงินให้อย่างไร แต่ทุกอย่างมันเปลี่ยนได้ ทำเป็นปีๆไป อันไหนจัดทำระยะยาวก็วางแผนล่วงหน้า มันต้องไปทำ EAA อะไรก็แล้วแต่ มันเสียเวลา อันไหนทำได้ทำเลย อันไหนมันติดตรงไหนก็ทำตรงที่ทำได้ ผมถึงขอร้องไง ประชาชนมาดูสิว่าถ้าเราทำได้ทั้งระบบมันจะเกิดประโยชน์กับส่วนรวมเท่าไร เกิดกับตัวเองเท่าไร ถ้าเราคิดแต่ตัวเอง ทั้งระบบอื่นมันก็ไม่ได้ มันก็เชื่อมต่อกันไม่ได้ทั้งหมด สิ่งสำคัญก็คือความเชื่อมโยง แหล่งน้ำทั้งหลายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งไปแล้วเดิมก็คือ ระบบอ่างพวง อ่างนี้เติมอ่างโน้น อ่างโน้นเติมอ่างนี้ ตามลำดับไล่ไป มันก็ไม่หมดทีเดียว นี่ของเราทุกคนก็พยายามจะเอาในพื้นที่ของตัวเอง แต่ไม่แบ่งปันคนอื่น ความชุ่มชื้นก็ไม่เกิด ป่าก็ไม่เกิด มันก็เป็นจุดๆ ไป ปีนี้ฝนไม่ตกเพราะความชื้นมันไม่ได้ ทั้งพื้นที่ เราต้องทำให้มันมีอ่างทั่วไป อ่างใหญ่ กลาง เล็ก รองรับน้ำมาจากเขื่อนบ้าง อะไรบ้าง ฉะนั้นมันจะต้องทำแบบนี้ แล้กว็คิดต่อไป ปรับให้ตรงสถานการณ์ มันเปลี่ยนแปลงทุกปี ปีหน้าอาจจะน้ำเยอะ หรือน้อยก็ไม่ทราบ แต่เราต้องมีทั้งระบบ การเก็บน้ำ การส่งน้ำ การพร่องน้ำ การระบายน้ำ การระบายก็ต้องเก็บไว้เผื่อคราวหน้า เผื่ออนาคตด้วย

เรื่องที่ 4 เรื่องของการใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค อันนี้เป็นสิ่งจำเป็น มันเป็นสิ่งที่จะต้องเหลือไว้ มันขาดไม่ได้เพราะว่าทุกคนต้องกินต้องใช้อุปโภค บริโภค อันนี้สำคัญที่สุด จำไว้ อันดับหนึ่งเลยนะ ฉะนั้นการที่เราจะรื่นเริงในเทศกาลสงกรานต์ ผมไม่ขัดข้อง แต่ขอให้ทุกคนช่วยกัน ว่าเราจะร่วมกันรับผิดชอบได้อย่างไร เกษตรกรก็ได้แสดงน้ำใจไปแล้ว การปรับปรุงพฤติกรรมในการเพาะปลูก เขาก็ลำบาก ไม่มีรายได้ รายได้น้อยลง หรือมากขึ้นก็แล้ว ที่เขาจะเลือกทำ ทุกคนต้องช่วยประหยัด ไม่ว่าจะวาระใดก็ตาม สนุกสนานได้ รื่นเริงได้ แต่ต้องพอเพียง ใช้อย่างจำเป็นได้ไหม คุ้มค่าหรือเปล่า ผมไม่ได้ห้ามเล่นน้ำสงกรานต์ หลายคนพูดว่ารัฐบาลนี้ ไปห้ามเล่นสงกรานต์ ผมห้ามได้ที่ไหน ประเพณีไทย ต่างชาติก็มาเที่ยว มารู้จักประเทศไทยเพราะสงกรานต์ แต่เราจะทำอย่างไร ปีนี้น้ำเราน้อย เราจะเล่นสงกรานต์กันยังไง ไม่ใช่เล่นแบบเติมน้ำเติมไม่รู้กี่ครั้ง หมดแล้วหมดอีก มันก็ต้องเติม ถ้าจะเล่นกันขนาดนั้นเหมือนเดิมทุกปี สนุกสนานรื่นเริงกัน แต่หลังจากสนุกสนานแล้วเราก็ต้องเสียใจ ว่าไม่มีน้ำกินจะทำไง ไปคิดเอาเอง โบราณกาลมันก็ไม่ใช่แบบนี้ด้วยซ้ำไป ในเรื่องของการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ประพรมน้ำให้พรกัน แล้วก็ครึกครื้นพอสมควร จัดกิจกรรม จัดความรื่นเริงต่างๆได้ ไม่ใช่เอาน้ำสาดกันอย่างเดียว คงไม่ใช่นะ ก็ลองไปคิดดูแล้วกัน เพราะทำมาหลายปีแล้ว ผมก็ไม่อยากจะมาขัดแย้ง ขอความร่วมมือกันใช้น้ำให้น้อย และสนุกสนานรื่นเริงได้ รักษาประเพณีวัฒนธรรมของไทยไว้ได้ด้วยเพื่อให้เป็นแบบอย่างให้ต่างชาติเขาชื่นชมในประเพณีไทย และสนุกสนานไปด้วย เวลาเขามาเที่ยวเรา จะทำไงเราจะประหยัดน้ำได้ ช่วยกันคิดหน่อย

ในเรื่องของพลังงานทดแทน เราอยากจะยกตัวอย่างการสร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเอง มันเป็นหนึ่งในหลายๆพื้นที่ เป็นร้อยแห่งแล้วมั้ง ที่เราพยายามขับเคลื่อนอยู่ ร่วมมือกันเอง อันนี้เป็นตามแนวทางที่เราเรียกว่า การระเบิดจากข้างใน ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันนี้ที่โรงเรียนศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี มีพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน ได้นำแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อพึ่งพาตนเอง เรื่องพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ได้มีการนำโซลาร์เซลล์มาใช้ สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ จาก 6,000 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 40 บาทต่อเดือน ลดไปเยอะ แต่ต้องทำจริงจัง และได้มีการขยายผลในโครงการสู้ภัยแล้ง จัดทำระบบสู่น้ำด้วยพลังแสงอาทิตย์ ตอนนี้เราทำได้แล้ว ย้อนกลับไปดูว่า รักษาป่ายังไง คิดกันเป็นระบบแบบนี้ ถ้าทำทุกอย่าง อันนี้ทำดี บางอันทำไม่ดีตรงกลาง ตรงปลายก็มันก็ไปไม่ถึง ผมยกตัวอย่างให้ดู หลายเรื่องบที่ท่านทำไว้ คือ จัดทำระบบสูบน้ำ ระบบประปาหมู่บ้าน และข้อสำคัญก็คือ เยาวชนมีการฝึกฝนเด็กมัธยมปลายให้มีทักษะในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ได้เองด้วย ภาครัฐต้องคิดทางต่อไปช่วยเหลือเขา ขออนุโมทนาบุญด้วย

เรื่องต่อไปคือเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคครัวเรือน ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างรายได้จากที่ดินของตัวเองได้ จะได้มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่ต้องมีการคำนึงถึงเรื่องของการรับซื้อว่าปริมาณการรับซื้อมากไปหรือไหม สัดส่วนของแผนพีดีพี พนักงานจากแก๊ส จากน้ำมัน พนักงานทดแทน และคำนึงถึงขายส่งด้วยนะ ว่าวันนี้มีเพียงพอหรือยัง ทุกพื้นที่หรือยัง ถ้ายัง ก็ขายไม่ได้ ก็เอาใช้ในพื้นที่ก่อนอย่างที่วัดป่าศรีแสงธรรมทำอยู่ อย่ามุ่งหวังแต่ขายเพียงอย่างเดียว ถ้าใช้ทุกที่มันก็เลี้ยงตัวเองได้ ประหยัดไม่ต้องไปใช้ไฟหลวง หลวงก็ไม่ต้องไปสร้างโรงงานเยอะ ๆ ถ้าทุกคนมีแหล่งพลังงานเล็ก ๆ อยู่ตามหมู่บ้าน วันนี้คือมองเป็นธุรกิจไปทั้งหมด อยากขายเอาเงินอย่างเดียวไม่ได้ มันลงทุนเยอะ ลงทุนสูงพอสมควรเรื่องแผงโซลาร์เซลล์ เรื่องอะไรก็แล้วแต่ ค่อนข้างแพง และผลตอบแทนระยะยาว ถ้าท่านมุ่งหวังแต่ทำขาย ทำไมท่านไม่คิดทำเองใช้เองบ้าง ใช้ในชุมชน รัฐบาลจะได้ส่งเสริมการทำแผงโซลาร์เซลล์เองในประเทศให้มากขึ้น และราคาจะถูกลง มันต้องไปอย่างนี้คู่กัน ถ้าทุกคนมุ่งแต่ขาย ๆ และหลายอย่างก็จะขายๆ อีก มันไปไม่ไหว รัฐบาลก็ลำบากนะ เรื่องการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ขอให้เป็นพลังงานสะอาด พลังงานลมก็เหมือนกัน หลายคนบอกพลังงานน้ำใช้อยู่แล้ว วันนี้น้ำน้อยมาก มีอะไรอีกล่ะ พลังงานลมตอนนี้สร้างหลายที่นะ กังหันหมุนบ้าง ไม่หมุนบ้าง นี้คืออันตรายนะ ลงทุนไปแล้วถ้ามันไม่หมุนทำไง ต้องดูให้ดีนะครับว่าตรงไหนมันมีช่องทางลม มีลมเสมอไหม ความแรงมันเพียงพอจะหมุนกังหันหรือเปล่า เราเอาตัวอย่างต่างประเทศมาทั้งหมด มันไม่ได้หรือครับ บ้านเมืองมันต่างกัน แต่สิ่งที่หน้าเป็นไปได้คือแสงอาทิตย์ แม้กระทั่งแสงอาทิตย์บ้านเรามองว่าเรามีแสงที่ดี จริง ๆ คือยังไม่ค่อยเสถียรมีแสงมากแสงน้อย ฤดูร้อน ฤดูฝน อะไรทำนองนี้ มันไม่สม่ำเสมอ แต่โอเคละ ก็ต้องดีกว่าอย่างอื่น ฉะนั้นเราก็ต้องส่งเสริม เรื่องพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นและใช้เองในพื้นที่ให้ได้ก่อน ขายก็ค่อยว่ากันไป ทำได้ก็ทำ

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ เรื่องการตั้ง สมเด็จพระสังฆราช จริง ๆ ผมไม่อยากพูดเรื่องนี้นะ แต่พอเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวหลายด้านหลาย ๆ อย่าง หยุดสักทีเถอะครับ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาสอะไรก็แล้วแต่คนไทย คนไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาพุทธ เราต้องทำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างแท้จริง ในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะต้องนำมาสู่การทำให้เกิดความสงบสุขในสังคม พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องการสอนให้เอาพระธรรมมาทำให้เกิดความขัดแย้ง วินัยสงฆ์เป็นระเบียบปฏิบัติ เพื่อจะสงฆ์นั้นอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข กฎหมายของฆราวาส กฎหมายประชาชนทั่วๆ ไป ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ทั้งประชาชนทุกกลุ่มคือประชาชนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นต้องเคารพกฎหมายโดยรวมของชาติด้วย

เพราะฉะนั้นแยกกันให้ออกอะไรทางโลก อะไรทางธรรม โยนกันไปกันมา ขัดแย้งกันตลอด แล้วมันจะอยู่กันอย่างไร สิ่งนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องกลับไปทบทวนว่าโลกใบนี้บางพื้นที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นก่อน ไปๆ มาๆ หายไปหมดเลย วันนี้เหลือประเทศไทยเป็นประเทศค่อนข้างมีนับถือพุทธเยอะมาก 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทำไมเราไม่รักษาวันนี้ให้ได้ 90 เราจะต้องแบ่ง 90 เป็น 60 40 อะไรกันหรือไง ในภายใต้ของศาสนาพุทธอย่างเดียว ผมว่ามันไม่ใช่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งไว้แล้วว่า ไม่ว่าผู้คนจะนับถือศาสนาใด ถ้าอยู่ในประเทศไทย เชื้อชาติไทย ธงชาติไทยนั้น พระองค์ก็ต้องทรงสนับสนุน ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน จะเริ่มมาจากอันอื่นอันใดไม่ได้ ไม่งั้นอีกฝ่ายก็เอากฎหมายนี้มาเล่นงานพวกข้างนี้ ข้างนี้เอากฎหมายอีกอัน มันกฎหมายเดียวกันทั้งหมดจะทำยังไง กฎหมายสงฆ์ก็กฎหมายสงฆ์ กฎหมายฆราวาสก็กฎหมายฆราวาส แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐ

เพราะฉะนั้นถ้ามันพร้อมเรียบร้อยมันก็ตั้งได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่พร้อมมันก็ขัดแย้งอยู่อย่างนี้ อย่าแยกคน 90 เปอร์เซ็นต์ของเราออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์เล็กเปอร์เซ็นต์น้อยกันเลยนะครับ อย่าไปเกี่ยวกับเรื่องการเมือง อันไหนมีเบื้องหลังอยู่บ้างก็เป็นเรื่องของกลไกทางกระบวนยุติธรรมเขาตรวจสอบกันสิครับ ทำไมจะต้องใจร้อนกันขนาดนั้น บ้านเมืองกำลังจะปฏิรูป กำลังจะเลือกตั้ง ตีกันเรื่องพระ อะไรอีกวุ่นวายไปหมด แต่ไม่เป็นไรผมยังสู้อยู่ ยังทำให้ท่าน แต่อย่าขัดแย้งก็แล้วกัน

เรื่องตำรวจนะครับ เรื่องสำคัญอีกเช่นเดียวกันคือสำคัญทุกเรื่อง ในประเทศไทยความขัดแย้งมันสูงมาก ไม่ว่าจะเรื่องอะไรขัดแย้งกันทุกอย่างแปลกดีเหมือนกัน เราอาจจะสบายกันมากเกินไปกันก็ได้ เลยไม่ว่างไม่ขัดแย้งกันซักที เดี๋ยวก็ดีกัน ขัดแย้งกัน แต่ 10 ปีที่ผ่านมามีอยู่เรื่องเดียวที่ไม่ยอมดีกัน รู้อยู่เรื่องอะไร แต่มันต้องกฎหมายมาก่อนสิถึงจะดีกันได้ ทุกอย่างมันต้องกฎหมายก่อน

ในเรื่องของการซื้อขายตำแหน่งตำรวจเหมือนกัน พูดกันไปพูดกันมา แต่การพูดบางทีมันทำให้เสื่อมเสีย เสียหาย ทั้งที่คนพูดก็เจตนาดีไม่อยากให้มันเกิด เราต้องออกมาเจอกัน ผมได้คุยกับท่านรองนายกฯ แล้วว่าต้องคุยกันแล้ว คุยกันให้รู้เรื่องซักทีว่ามันยังไงกันแน่ ไม่อยากให้มีความขัดแย้งกันต่อไป จะมีซื้อหรือไม่ จะขายตำแหน่งกันหรือไม่ก็ไปว่ามา ขอให้มีการแจ้ง การร้องเรียนมา จะปฏิรูปก่อนอะไรก็แล้วแต่ตำรงตำรวจหารือกันสิครับ ถ้าทุกคนจะเอาอย่างงี้เอาอย่างงั้นก็เอาของตัวเองทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว คนไทยชอบเป็นอย่างนี้ซะด้วย ถูกคนเดียวคนอื่นผิดหมด ไม่ได้ ต้องเอาส่วนที่ถูกของทุกคนมาหารือแล้วทำก่อน ถ้าจะปฏิรูปตำรวจก็อะไรที่ตำรวจเขาเห็นด้วยก็ต้องให้เกียรติเขาด้วย เพราะเขาต้องปกครองบังคับบัญชาคนในของเขา เราทำยังไงให้คนของเขาทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถ้าไม่ทำก็ลงโทษ

เพราะฉะนั้นเราต้องร่วมมือนะครับ เดี๋ยวผมจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้โดยเร็ว แล้วถ้าหากว่ามีปัญหาอะไรเรื่องนี้ก็ร้องทุกข์มา แจ้งความ กล่าวโทษอะไรก็แล้วแต่ สอบสวนให้ทุกอัน อย่าพูดกันลอยไปลอยมามีปัญหาหมด เดี๋ยวก็ฟ้องศาลฟ้องอะไรเยอะแยะไปหมด รกศาล อันไหนพูดได้พูดกัน อย่าเอากฎหมายอะไรมาสู้กันเลย

เรื่องการรับผลประโยชน์มันยังมีอยู่นะ ไม่ว่าจะเรียกเก็บผลประโยชน์ เก็บส่วยอะไรก็มีข่าวอยู่ ท่าน ผอ.ตำรวจท่านก็บอกแล้วว่า เดี๋ยวท่านจะสอบสวนให้ได้ ลงโทษทั้งหมด เพราะฉะนั้นในส่วนของผมที่เป็นรัฐบาล เป็นนายกฯ ผมได้การไปแล้วในเรื่องของผลประโยชน์ จะเรื่องอะไรเก็บส่วยบ้าง เรียกสินบนอะไรต่างๆ เหล่านี้บ้าง มันต้องมีการพิจารณาทั้งผู้รับและผู้ให้ ถ้าผู้ให้ไม่ทำความผิดก็ไม่ต้องไปให้เขา ถ้าเขาเรียกร้องมาก็ฟ้องขึ้นมา ร้องทุกข์กล่าวโทษขึ้นมา แต่ถ้าเราทำความผิดแล้วไปยอมให้เขาต่อไปถูกทำโทษทั้งคู่ คนรับก็โดน คนให้ก็โดน มีโทษนะครับไม่อย่างนั้นก็เคยตัวกันอยู่แบบนี้ ถ้าไม่ทำผิดกฎหมายเขาดำเนินการไม่สุจริต ฟ้องมาเลย แต่ถ้าเขาทำตามกฎหมายแล้วเราทำผิดกฎหมาย อันนี้ท่านต้องพิจารณาตัวเองว่าท่านจะทำยังไง ท่านอย่าละเมิดกฎหมาย อย่าขับรถคล่อมเลน อย่าขับรถเร็วเกินกำหนดอะไรก็แล้วแต่ ประมาทก็ต้องรับผิดชอบ ประชาชนคนอื่นเขาใช้ด้วย ไม่ใช่วิ่งอยู่คนเดียว ใช้อยู่คนเดียวเมื่อไรล่ะ

วันนี้มันตีกันไปหมดทุกเรื่องไป แล้วจะปฏิรูปกันได้ยังไง ไม่รู้เหมือนกัน เรื่องของการสอบสวน พนักงานสอบสวนการทำคดีก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจนจะทำยังไง ก็ต้องคุยกัน คนอยากจะปฏิรูปก็คุยกับคนถูกปฏิรูป ผมว่ามันไปได้ มันจะต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนด้วย ไว้เนื้อเชื่อใจ วันนี้เราไม่ไว้เนื้อเชื่อใจแล้วมาคุยกันก็ไปไม่ได้ เอาที่ผมพูดแล้วกัน ท่านไว้เนื้อเชื่อใจกันซะก่อน เอาล่ะของเก่า ของใหม่แยกกันมาก่อน ของเก่าเดี๋ยวค่อยว่ากัน ของใหม่ท่านจะทำยังไงให้เกิดความไว้วางใจระหว่างกัน และปฏิรูปให้ได้ แล้วเสร็จแล้วพอมันเริ่มต้นกันได้ ก็เอาของเก่ามาดูซิว่า เรื่องที่ผ่านมาทำยังไง แล้วอนาคตเราจะทำยังไง ต้องคิดอย่างนี้ คิดวันนี้ แก้ปัญหาในอดีตแล้วเดินหน้าอนาคต ไปพร้อมๆ กันทำ 3 อย่างนะครับ ไม่ใช่ทำอันหนึ่งแล้วมันจะจบ จบที่ไหนล่ะ ปฏิรูปโครมเดียว มันก็ทำงานกันไม่ได้หมด เข้าใจตรงนี้ผมด้วย วันนี้รัฐบาลพยายามให้ทุกหน่วยงานเขาทำงาน ให้เขามีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในการทำงาน วัฒนธรรมองค์กรของเขามันผิดเพี้ยนมาตลอด ที่ผ่านมาจากอะไรก็ไม่รู้ไม่หาเอา

เพราะฉะนั้นตำรวจวันนี้สำคัญ เพราะเป็นต้นตอของระบบยุติธรรม กรมสอบสวนก็เช่นกัน อัยการ ศาล หรืออะไรก็แล้วแต่ มันมีความเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น เชื่อมโยงด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เชื่อมโยงด้วย เส้นสาย ด้วยพวกก็ไม่ใช่ ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราต้องมีการจัดการบริหารให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งงาน การทำโครงสร้าง การปฏิรูประยะยาว อะไรก็แล้วแต่วันนี้ผมบอกละ ทุกเรื่องต้องมี 1 - 2 - 3 และต้องทำอย่างไร ประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และคำว่าเห็นด้วยประชาชนยังไงประชาชนก็ไม่เห็นด้วยมากนัก เพราะเป็นเรื่องของตำรวจ ประชาชนกลัวตำรวจ คือตำรวจเดินมาเฉยๆ ก็กลัวละ กลัวโดนตำรวจจับ จะกลัวทำไม ในเมื่อตัวเองไม่ได้ทำความผิด ท่านควรทำเหมือนทหารเดินมา ท่านก็ไม่ได้กลัวทหารนะ แต่ท่านกลัวตำรวจเพราะเขาบังคับใช้กฎหมาย งั้นแสดงว่าเราไม่ชอบกฎหมายหรือเปล่า เราไม่ชอบทำตามกฎหมายหรือเปล่า ถ้าทำตามกฎหมายได้ สังคมก็เป็นสุข ไม่ขัดแย้ง ตำรวจก็ไม่ต้องมาจับท่าน ตำรวจก็สบาย ตำรวจก็อยู่ของตำรวจไป ท่านก็ดูแลคนของท่าน เอากฎหมายมาเป็นตัวพื้นฐาน ปรับเข้าหากัน การปรับโครงสร้าง ไม่เรื่องง่าย ๆ การปรับโครงสร้างคือการปรับระบบโครงสร้าง เพื่อการจัดทำระบบราชการวันนี้ยังไม่เสร็จเลย เพราะมันมีความก้าวหน้ามาตามลำดับบ้าง สถานการณมันเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ภายในภายนอกมันก็ต้องปรับไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ปฏิรูปทีเดียวถอดเครื่องแบบออกถอดยศ และมันจะจบมันไม่จบหรอกครับ หลายประเทศเขาก็มีทั้ง 2 อย่าง ทำอย่างไรจะไปสู่จุดนั้นให้ได้ ถ้าเริ่มเอาทั้งหมด คนไทยอย่าใจร้อนสิ ทำแบบที่ผมทำ ทุกคนก็เร่งงานว่าผมช้าไม่ปฏิรูป ปฏิรูปมาตลอด ตลอดนะครับ ไว้วางใจกันบ้าง ในเรื่องของสายบังคับบัญชาของเขา การหากิจกรรมภายใน การดูแลข้าราชการตำรวจเขาบ้าง เขาจะได้มีการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่ต้องไปขอคนอื่น เป็นบุญคุณอีก วันนี้มันพันกันไปหมด การแต่งตั้งให้ การให้ความดีความชอบทุกอย่าง มันกลายเป็นว่าเหมือนการเมืองไปหมดเลยทุกที่ อันนี้ต้องระมัดระวัง ทำไงสำนักงานตำรวจแห่งชาติเขาจะทำงานด้วยความเป็นเอกภาพเข้มแข็งจากภายในของเขา ไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก ไอ้ของเก่าว่ามา มันเป็นคดีก็ฟ้องมา ถ้าไม่ฟ้องมันก็จบ ก็ทำใหม่นะครับ ไม่งั้นไปไม่ได้หมด เราต้องทำให้ระบบเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ พอตำรวจมา คนรัก คนยิ้ม คนเรียกหาพี่ตำรวจ พี่ตำรวจ เพื่อมาปรับทุกข์ผูกมิตรซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ เดินมาละกลัว เห้ยเราทำไรผิดหรือเปล่า ถ้าไม่ทำผิดไม่ต้องห่วง

เพราะฉะนั้นเราทำไงให้วงการตำรวจเข้มแข็งเถอะครับ ตำรวจมีความสำคัญเขาดูแลภายใน ความสงบเรียบร้อยภายใน ทหารดูแลชายแดน วันนี้ก็ใช้ทั้งตำรวจทหารเลย ทั้งข้างในข้างนอกมันจะไปอย่างไรละ วันหน้า เราต้องได้ประชาธิปไตยคืน วันนี้เราก็ขอเวลาเปลี่ยนผ่าน ไม่ได้หรือ ก็ขอความร่วมมือนะครับทำไงให้มีประสิทธิภาพและทุกองค์กร ประชาชนก็ด้วยนะ มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ทำอย่างไรจะใช้วิธีการเรื่อง “น้ำดี ไล่น้ำเสีย” คนดีเอาเข้ามาอยู่ในสังคมของเรา คนไม่ดีเอาออกไป ออกไปด้วยกฎหมาย ออกไปด้วยวิธีการถูกต้อง ไม่ใช่ไปใช้วิธีการนอกกฎหมาย เราต้องให้กำลังใจคนดีนะครับ ขจัดคนไม่ดีออกไป ต้องร่วมมือกัน เราอย่าไปมุ่งหวังว่าจะสลายอำนาจเขาอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ได้ เช่นเดียวกันนะครับ รัฐบาลนี้ไม่เคยมุ่งหวังจะสลายอำนาจทางการเมืองของใครๆ นะครับ ถ้าเขาทำดี ผมก็ไม่ไปยุ่งกับเขาอยู่แล้ว ถ้าไม่ดี ยุติธรรมก็จัดการดำเนินการ ก็แค่นั้นเอง ถ้าไม่เข้ามากระบวนการยุติธรรม ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงนะ กลายเป็นว่าผมไปมุ่งหวังสลาย ถ้าไม่เข้ากระบวนการยุติธรรม แล้วจะทำยังไง เขาสู้กันแบบนั้นไม่ใช่เหรอ ต่อสู้ทางกฎหมาย เราไม่อยากให้มีการแทรกแซงจากภายนอกเข้าไปภายใน ไม่ว่าจะตำรวจที่อยู่ต้นทางกระบวนการยุติธรรม อัยการ ศาล ทุกคน ก็ว่ากันไปว่ากันมา วันนี้ต้องเป็นหนึ่งเดียวนะในเรื่องของการใช้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม ให้ชัดเจนมากที่สุด

การบริหารราชการแบบบูรณาการ วันนี้คือสิ่งที่เราปฏิรูปไง เราต้องปฏิรูปนะ ระยะที่ 1 คือการบริหารราชการแบบบูรณาการ ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานเขาจะบริหารงบประมาณของตัวเขาเอง ทำรายงานของตัวเอง แล้วก็ใช้จ่ายงบประมาณแต่ละปีๆ หมดไป บางทีมันไม่ต่อเนื่อง ไม่สอดคล้อง ไม่เป็นเวลาเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน ความต่อเนื่องมันไม่ได้ กระจัดกระจายไปหมดเลย ฉะนั้นรัฐบาลก็มุ่งเน้นการบูรณาการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็รับว่ายากนะ ยาก เพราะไม่เคยทำ ไม่เคยทำด้วยระบบการบริหารราชการของรัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็เป็นแบบเดิม ผมไม่ได้โทษท่านนะ เราต้องแก้ไง เราต้องมาดูเรื่องการบูรณาการในกิจกรรมที่้ต้องใช้ระหว่างกัน หลายกระทรวง หลายหน่วยงาน ไม่ใช่แต่ละกระทรวงก็ทำไปเลย ใช้เงินหมดไป แล้วมันต่อกับของกระทรวงอื่นเขาหรือเปล่า เพราะบางอันมันลั่นเข้าหลายกระทรวง เช่น น้ำ ทำหลายกระทรวง น้ำนี้ น้ำนี้ น้ำนี้ คนละน้ำหมด แล้วจะไปยังไงล่ะ วันนี้ต้องเอาน้ำมา เอาหัวชนกัน หลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำต้องมาจัดกลุ่มกิจกรรมให้ตรงกัน แล้วก็จัดทำงบประมาณของแต่ละกระทรวงให้มันสอดคล้องกับแผนงานหลักตรงนี้ เพราะฉะนั้นนี่คือการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ แล้วแต่ละกระทรวงมา ในส่วนนี้ๆๆ อะไรหนึ่ง เร็วก็ทำก่อน อันไหนก็รอได้ก็สอง อันไหนต้องทำช้าหน่อยก็สาม มันต้องเป็นอย่างนี้นะ มันต้องเล็ก ไปกลาง ไปใหญ่ เพราะฉะนั้นสอดคล้องให้หมดนะ แผนงานโครงการ การใช้คน อะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ อย่างบูรณาการ ภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกัน ซึ่งผมได้มอบให้รองนายกฯ แต่ละฝ่ายกำกับดูแลไปแล้วในทุกกลุ่มงาน ให้คล่องตัวในการบริหารงาน มีคณะทำงานขับเคลื่อน ทั้งหมดนี่คือสิ่งที่เราทำใหม่ อย่าหาว่ารัฐบาล คสช.ไม่มีการปฏิรูปเลย ปฏิรูปแบบนี้มันยากกว่ามั้ย มันยากกว่าที่ท่านพูดนะ ที่บางคนพูดออกมา จะเอางานปฏิรูป ท่านบอกว่ามองอะไรไม่เห็น ก็จะมาเห็นได้ยังไงล่ะ เพราะว่าผมบริหารภายใน คือสิ่งที่มันจะเกิดผลในวันหน้า ไม่ใช่โครมๆๆ สั่งนี่สั่งโน่นแล้วก็ไม่ต่อกัน ทำยังไง ผมน่าจำเป็นคนตำหนิท่านมากกว่านะ

ในเรื่องของการบริหารจัดการภายใน เพิ่มประสิทธิภาพให้ได้ก็แล้วกัน ข้าราชการ ต้องเตรียมข้าราชการรุ่นใหม่ ใน 5 ปี 10 ปีข้างหน้า จะทำอย่างไร ก.พ.ร.ก็ต้องไปคิด จัดสูตร หาคนเข้ามาทำงานให้ตรงความต้องการของแต่ละกระทรวง ให้รู้ทันต่อความต้องการของประเทศ ทำนองนี้ ถ้าเอกชนเขาพัฒนาแล้ว แต่ข้าราชการไม่พัฒนาตัวเอง มันไปกันไม่ได้ เพราะมันคิดคนละอย่างกัน ต้องทำให้มีการศึกษาเรียนรู้ระหว่างกัน มีการทำงานร่วมกัน ต้องช่วยกัน รัฐ ข้าราชการ ประชาชน ภาคเอกชน ต้องช่วยกัน นี่เขาเรียกว่าประชารัฐระดับบน ระดับรัฐ

เพราะฉะนั้นกิจกรรมที่จะต้องบูรณาการกัน ก็ได้แก่บูรณาการน้ำ สาธารณูปโภคพื้นฐาน รถไฟ รถไฟฟ้า อะไรก็แล้วแต่ ที่มันต้องทำหลายกระทรวง ทำราง บริษัททำราง ทำถนน ก็คมนาคม แต่ข้างทาง ใครล่ะ แล้วเรื่องที่ดินใครล่ะ ก็มีทั้งกระทรวงทรัพย์ฯ กระทรวงมหาดไทย แล้วก็ไปตามเรื่องไฟฟ้า พลังงาน ตามไปหมด งานเดียวนะ มันไปตั้งหลายกระทรวง ฉะนั้นผมได้จัดกลุ่มเหล่านี้ไว้แล้ว มีคณะกรรมการขับเคลื่อน ก็ต้องทำให้ได้นะ แล้วเราทำ 1..2..3.. ไว้ เราทำได้แค่ไหนก็แค่นั้นก่อน ตามความต้องการของประชาชนที่เรียกร้อง อันนี้เขาเรียกว่าการเสนอความต้องการที่มันถูกช่องทาง เข้าใจถึงความเร่งด่วน ความจำเป็น นึกถึงคนอื่นเขาบ้าง ถ้ามันเกิดในลักษณะที่เป็นจุดๆๆๆ หมด มันก็ไม่ดี ไม่ดีมากนัก จุดๆๆ มันจะบรรเทาเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่ถ้าทำใหญ่ๆ ไว้บ้าง มันก็จะเสริมเติมล็กๆ นี่ได้ในวันหน้า ไม่งั้นเล็กๆ มันก็จะอ่อนแอไปเรื่อยๆ ถ้ามีใหญ่ กลาง เล็ก มันก็จะเสริมกันไปเป็นพื้นที่ให้ได้ แล้วแต่ละภูมิภาคก็จะเข้มแข็ง ผมให้นโยบายไปแล้วว่าทำยังไงทุกภูมิภาคจะเข้มแข็งได้ ก็ต้องไปดูในกลุ่มจังหวัด ในจังหวัด แล้วก็ท้องถิ่นให้ได้ ให้สอดคล้องกัน

ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราเห็นอยู่วันนี้ ก็คือเรื่องการขุดถนน ซ่อมถนน ขุดถนนที่ขุดไปขุดมา ขุดถนนทำอะไรล่ะ ทำท่อระบายน้ำ ทำโทรศัพท์ เดินสายไฟฟ้า ขุดอยู่นั่นล่ะครับ ขุดถนนเดิมจนไม่รู้จะขุดยังไงแล้ว แล้วก็ซ่อมไม่ได้เหมือนเดิม ตอนนี้ทำเวลาเดียวกันหมด ถ้าเส้นนี้ต้องทำพร้อมกัน ไปหาวิธีการมา ทั้ง กทม.ทั้งในส่วนของกระทรวงต่างๆ ด้วยนะ ผมไม่อนุมัตินะ ถ้าไม่เสนอมาเป็นแผ่น เป็นพื้นที่มา ก็ลำบาก ตรงไหนที่ทำสั้นๆ ตอนๆ โอเค ทำไป ตรงไหนที่ต้องทำให้เสร็จเป็นพื้นที่ต้องทำก่อน ทำไปด้วย สำคัญ ไม่งั้นไม่จบสักที่ ก็ต่อไปเรื่อย ต่อไปเรื่อย วันหน้าการเมืองก็เข้ามาครอบอีก ถนนเส้นนี้เป็นฐานคะแนนเข้าไปอีก ถ้าเลือกเข้ามาแล้วจะทำต่อให้เสร็จ อะไรแบบนี้ ผมว่าไม่ใช่นะ มันต้องทำตามแผนพัฒนาขั้นพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว แล้วท่านก็ไปดูทั้งประเทศมา ตรงไหนมันจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ตรงไหนจะเชื่อมโยงการสัญจรไปมา ค้าขาย ขนส่งสินค้า โน่น ไปวาดภาพใหญ่ จากนั้นก็ลงมาเป็นพื้นที่ เป็นถนนสายเล็กสายน้อย ไม่ใช่ว่าทุกคนเอาไปลงพื้นที่ตัวเองหมด แล้วมันไปได้มั้ยล่ะ นี่ล่ะคือสิ่งที่มันแตกต่างของผม รัฐบานี้ นี่พูดถึงการปฏิรูปนะ ผมถามซิว่ามีใครพูดบ้าง ปฏิรูปแบบนี้ มีมั้ย เห็นเถียงกันอยู่เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องประชามติอยู่นั่นล่ะ ประเทศจะไปยังไงไม่สนใจ ฉะนั้นต้องเอาปัญหาต่างๆ กิจกรรมต่างๆ เป็นตัวตั้ง แล้วก็กำหนดวัตถุประสงค์ที่ต้องการตรงปลาย เอาประชาชนเข้ามาเป็นตัวประกอบ เป็นศูนย์กลาง ประกอบการในการพิจารณา แล้วก็หาวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ย้ำอีกที ตัดเสื้อตัวเดียวใส่กันหมดไม่ได้ สูงต่ำดำขาวไม่เท่ากันอยู่แล้ว ใส่สวย ไม่สวย ก็อีก เพราะงั้นขอให้ได้ให้ความร่วมมือนะครับ รัฐบาลกำลังจัดทำ แล้วก็บังคับใช้กฎหมายที่ทันสมัย เป็นสากล หลายอย่าง 4-5 ร้อย กฎหมายเนี่ย ครึ่งหนึ่งก็เป็นกฎหมายที่เราต้องแก้ให้เป็นสากล ทันสมัยต่อการค้าการลงทุนในสมัยนี้ เราจะต้องเดินตามวิสัยทัศน์ของเรา ตามยุทธศาสตร์ของเรา 20 ปี แล้วก็จะต้องใช้แนวทางของยุทธศาสตร์การพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" เป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อน แล้วก็ประเมินผล หรือติดตามความก้าวหน้า 5 ปีด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม วันนี้เราก็มีแผนอีก ฉะนั้นจะเห็นว่า เราพยายามที่จะสร้างความเชื่อมโยงเหล่านี้ให้ได้ ให้เกิดความมั่นใจ ว่าอนาคตเราจะเห็นอะไรขึ้นมาได้บ้างใน 5 - 10 ปี 20 ปีข้างหน้า เราต้องมีอนาคต ที่ผ่านมาท่านเห็นอนาคตไหมว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นวันหน้า ไม่มีหรอก เอาแต่ใกล้ๆ ตัว ได้ประโยชน์มากที่สุด ไอ้นี่มากกว่า มันก็เกิดการแข่งขันอยู่แบบนี้ วันนี้เราต้องเฉลี่ยแบ่งปันความสุขด้วย เราต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศดินแดนแห่งความสุข เราได้คะแนนที่ 1 มานะ เป็นประเทศที่มีความสุขในโลก วันนี้น่าภูมิใจ แต่ผมรู้จริงๆ มันก็ทุกข์อยู่ รายได้น้อย หนี้สินเยอะแยะ แต่ก็ยังยิ้มอยู่ นี่เขาเรียกดินแดนยิ้มสยาม ก็ยิ้มต่อไปเดี๋ยวเราจะต้องทำให้ยิ้มของท่านกว้างขึ้น แต่ต้องใช้การปฏิรูประยะสั้น กลาง ยาวก็แล้วแต่ ร่วมมือเถอะครับ อย่าขัดแย้งอีกเลย ต่อต้านกันไปทุกเรื่อง มันไปไม่ได้หมดหรอก ก็กลับไปที่เดิม ผมก็ไม่ยอมอยู่แล้ว ไม่ยอมให้กลับที่เดิมอยู่แล้ว ฉะนั้นการเข้มแข็งจากภายใน การสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาค ใช้ตัวประชารัฐเป็นตัวขับเคลื่อน

เรื่องสุดท้ายก็คงเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลในการดำเนินการด้านการต่างประเทศ และเวทีโลกในปัจจุบัน เราจะต้องรักษาพันธสัญญาต่างๆ ที่เราสัญญากับเขาไว้แล้ว แล้วเราไม่ได้ทำ วันนี้ผมต้องออกมาทำหมด อันไหนควรทำใหม่ ก็ว่าไป โดยไม่เสียเปรียบ มันยากนะ เพราะบางทีลงนามไปแล้วเยอะแยะไปหมด เราพอไม่ลงนาม ทำไม่ได้ ท่านบอกช้าเกินไป ท่านจะเอาเร็วไหมครับ เอาเร็วมันก็เดือดร้อนเหมือนเดิม วันนี้มันช้าเพราะต้องไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวง ส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรมกับประเทศ กับประชาชนของเราด้วย นั่นแหละยาก พูดง่ายๆมันทำง่ายหมด ขอมาก็โครมๆไป ทับซ้อนผลประโยชน์ ทุจริตคอร์รัปชัน ผมพยายามไม่ทำ ไม่ให้เกิดอยู่แล้ว กวดขันทุกวัน แต่มันก็ยากเหมือนกันในการที่จะคบค้าสมาคมกับคนอื่นมันก็ต้องรู้จักพูดคุยนะ ผมว่า ผมก็ลำบากใจเหมือนกันเวลาไปต่างประเทศ บางทีสัญญาเยอะแยะ ที่เราเคยสัญญากับเขาไว้ เขาถามกลับมา ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะมันผิด มันไม่ถูก เริ่มก็ไม่ถูก ทำได้ไง แต่เราจะเสียมิตร หรือเปล่าไม่รู้ ค่อยๆ ทำไป

เราจะทำอย่างไรจะร่วมมือกับประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยกันได้ หรือเรียกว่าไตรภาคี คำว่า ไตรภาคี ก็คือว่า ประเทศพัฒนา ต้องส่งเสริมประเทศที่กำลังพัฒนา อีกอย่างคือในส่วนของประเทศกำลังพัฒนา กับประเทศที่กำลังพัฒนา ต้องเสริมกันอีก เป็น 3 แล้ว ส่งเสริมกันไปมา ถ้าเรารวมกลุ่มกันได้ในประเทศที่เล็กๆ กำลังพัฒนา แล้วก็ไปสร้างห่วงโซ่วงจรให้เกิดขึ้นจากประเทศที่พัฒนาแล้วมากๆ มาช่วยเราให้ตรงกับความต้องการ มันก็จะดีขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของทุกคนในประเทศในโลกใบนี้ แผ่นดินนี้ ผืนฟ้า ผืนน้ำ ไม่ใช่ของไทยคนเดียว ถึงแม้จะอยู่ในประเทศไทยก็ตาม แต่ทั้งหมดมีผลกระทบกับคนทั้งโลก ฉะนั้นเราต้องนึกถึงประเทศชาติ นึกถึงชาติในอนาคตด้วย ทั้งโลกใบนี้ จะมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนประชากรก็จะมากขึ้นอีกหลายพันล้านคนในไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยกำลังวางอนาคตให้คนไทยข้างหน้า ว่าเขาเกิดมาจะทำอะไรยังไง คนเกิดเล้วทะเลาะกันอยู่ได้ ฉะนั้นเราจะต้องร่วมมือกัน พึ่งพาอาศัยกัน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นเรื่องการวิจัยพัฒนาที่เป็นระบบ อันไหนวิจัยแล้วไม่เกิดประโยชน์ไม่ต้องวิจัย มันเสียเวลา ที่ผ่านมาก็วิจัยกันไปกันมาแล้วก็เก็บเข้าโต๊ะ ผมไม่ยอมแล้ว ดึง ควักออกมาหมด อันไหนไม่ดี ก็รื้อใหม่ ทำใหม่ ยางก็เร่งอยู่นะ ในการที่จะเอายางมาผลิต บริษัทต่างๆ หรือเอสเอ็มอี ก็กำลังปรับตัวเองอยู่ เพื่อจะนำยางที่เราซื้อมา กำลังทำอยู่ เห็นใจ ไม่เคยเริ่มมาก่อนเลย ไมได้ทำวันนี้แล้วลงนามมันจะสร้างพรุ่งนี้ แล้วจะทำเสร็จเมื่อไหร่ ไม่เคยคิดแบบนี้ทั้งระบบ มีเอกชนทำอยู่บ้าง เราก็ต้องไปสร้างวงจรเพื่อจะแข่งขันในภาคธุรกิจ เอกชน เขาเพื่อกำไรมากๆ ไอ้เราต้องทำของเราเอง ส่งเสริมจากธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ มันจะได้เกิดการแข่งขัน ทำราคายางให้มันสูงขึ้น ให้มีการแข่งขันในประเทศ ผลิตใช้ในประเทศ และขายต่างประเทศ เราก็ตั้งสถานีทดสอบยางเยอะแยะไปหมดตอนนี้ ทางภาคเอกชน รัฐบาลกำลังหาทางตั้งให้ได้ เราต้องร่วมมือกัน ทั้งเข้มแข็งในประเทศ เข้มแข็งจากภายนอก ก็คือการส่งไปค้าขายแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน มันก็เข็มแข็งทั้งภายในภายนอกประเทศ เข้มแข็งภายในประเทศเราก็คือ เรื่องของชุมชน จังหวัด ภูมิภาค มันต่อเนื่องกันทั้งหมด ประชาชนทุกคน มีส่วนร่วมทั้งหมดเลย ชาวไร่ชาวนา ชาวสวน ผู้มีรายได้น้อย ทั้งหมดอยู่ในวงจรนี้ทั้งสิ้น ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่ร่วมมือกัน ขัดแย้งกัน มันไปไม่ได้หมด แล้วจะทำยังไง เล็กเกิดไม่ได้ กลางเกิดไม่ได้ ใหญ่มันก็เกิดไม่ได้ แล้วประเทศจะอยู่ยังไง วันหน้าพวกเรา ผมก็ไม่อยู่กับท่านแล้ว วันหน้าจะทำยังไง

เรื่องสำคัญที่สุดตอนนี้ก็คือ เรื่องการประชาสัมพันธ์ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะเรามีความแตกต่างกันเรื่องการรับรู้ ในเรื่องของพื้นที่ ในเรื่องของความยากลำบาก หลายคนต้องทำงานทั้งวัน ในเวลาที่คนเขานอน ก็ต้องทำงาน ฉะนั้นการสื่อสารมันอาจจะไปไม่ถึง ทำยังไงเราจะสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทุกภาคส่วน ใครฟังก็บอกกันปากต่อปาก ได้ไหม ใครไม่ได้ฟังก็เปิดในโทรศัพท์ วันนี้เราก็ทำช่องทางทางโทรศัพท์ได้ในระยะแรกไปแล้ว ในส่วนของอะไรที่ว่ามันจะเกิดในแต่ละพื้นที่จะเกิดยังไง มีผลยังไง รายได้ยังไง ลูกหลานจะเป็นยังไง คิดได้แบบนี้ อย่าคิดแต่ตัวเอง คิดถึงลูกหลานท่าน ถ้าวันนี้มันตีกัน ลูกหลานก็ตายหมด ลำบากหมด มีหนี้สินเหมือนท่าน ท่านจะแย่นะ วันหน้าลูกหลานมันก็ว่าเรา สร้างหนี้สร้างสินให้ลูกหลานต้องมาชดใช้กันมากมาย รัฐบาลทำทุกอย่างเลยนะ เข้าใจกันบ้าง อย่าไปเชื่อคนที่ไม่ทำแล้วบิดเบือนทุกวันนี้ ทุกคนอยู่ในห่วงโซ่ประเทศ ห่วงโซ่เดียวกันทั้งหมด ต้องส่งเสริมร่วมมือเกื้อกูลแล้วให้น้ำหนักกับประเทศบ้างมากกว่าตัวเอง มากกว่าพื้นที่ตัวเอง ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เราต้องมีข้อมูลที่ทันสมัย เป็นที่ตั้งของการแก้ปัญหาทั้งหมด เพื่อจะสร้างการเจริญเติบโต ขยายผล หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ การค้าชายแดน การค้าขาย CLMV ภายในอาเซียน อาเซียนกับประชาคมอื่นๆ ด้วยนะครับ นี่มันโยงกันทั้งหมด มีกิจกรรมทุกภาคส่วนอยู่ในนี้ วันนี้เราทำหลายช่องทางฟังบ้าง ใครไม่ได้ฟังก็ถามเพื่อนซะบ้าง คนฟังแล้วเข้าใจก็อธิบายให้คนอื่นเขาบ้าง ปากต่อปากดีกว่าอย่างอื่น ไม่อย่างนั้นมันรู้บ้างไม่รู้บ้าง แล้วคนรู้กับไม่รู้ตีกันอยู่แบบนั้น มันไม่เกิดอะไรทั้งสิ้นเลย คำนึงถึงงบประมาณของรัฐ การบริหารจัดการที่มันยุ่งยากคนตั้ง 60 กว่าล้านคน มองกลุ่มเล็กๆ มันไม่จบ มีคนตรงนี้อยากดีอยากได้แล้วไม่ลงมือ บางคนก็อยากดีอยากได้ร่วมมือ มันต่างกันหมดเลย มันใช้งบประมาณทั้งสิ้น จะต้องดูแลประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งประเทศ ทุกภาค ทุกภูมิภาคในการพัฒนาให้มันเกิดความเท่าเทียม มีมาตรการแข่งขันในแต่ละภูมิภาคจะต้องไปด้วยกัน

เรื่องสุดท้ายของสุดท้ายอีกที เรื่องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเองนะครับ ภาษาอังกฤษเปรียบเสมือนภาษาที่จะเป็นประตูสู่ความรู้ สาขาวิชาต่างๆ ของโลก เพราะเป็นภาษาราชการด้วย ภาษากลาง เราต้องเปิดโอกาสสู่ความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน พัฒนาตัวเอง พูดภาษาไทยอย่างเดียววันหน้ามันลำบากแล้ว ต้องมีไทยด้วยภาษาอื่นด้วย มากบ้างน้อยบ้าง รู้มากรู้น้อยก็แล้วแต่ แต่ต้องมีภาษาที่ 2 ของท่านทุกคน ไม่ใช่ภาษาที่ 2 มีแต่พวกเพลง รู้แต่เพลง แปลจากเพลงมันใช้ประโยชน์ไม่ได้หรอก มันเป็นความรัก ความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงของท่านไปมากกว่า ท่านต้องเรียนรู้เรื่องที่มันเป็นประโยชน์บ้าง

วันนี้รัฐบาลเปิดตัวแอปพลิเคชั่น เพื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำหรับคนไทยในรูปแบบประชารัฐ กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธียุวสถิรคุณ และ Enconcept ซึ่งจะเป็นครั้งแรตกที่คนไทยทุกคนนั้นจะสามารถเรียนภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษาได้ฟรีๆ ทุกที่ทุกเวลาทางโทรศัพท์ ทั้ง 4 ทักษะคือ ฝึกฟัง พูด อ่าน เขียนผ่านมือถือ แท็บเล็ต โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน มีทั้งหมด 200 บทเรียนนะครับ เป็นสถานการณ์จำลองที่ต้องใช้ในชีวิตจริง ทั้งบทสนทนาทั่วไป และเป็นภาษาอังกฤษเพื่อธุรกิจการค้าและการบริการ ภาษาอังกฤษสำหรับวิชาชีพต่างๆ อยากให้พี่น้องที่สนใจได้ทดลองดาวโหลดแอปพลิชั่นนี้มาใช้ด้วย หัวใจสำคัญของการประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษมี 3 ปัจจัยคือ เรียนรู้จากต้นแบบภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง มีระบบ feedback ที่จะช่วยแก้ไขสิ่งถูกต้องได้ทันที ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมให้กับประชาชนเรียบร้อยแล้วในขั้นที่ 1 เรารจะมีสเตท 1 2 3 4 อะไรก็แล้วแต่ยากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้สเตทแรกออกมาแล้ว

เรื่องสุดท้ายก็คือว่า ประการสุดท้ายเรื่องภาษาอังกฤษ อยากให้พี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษา แรงงาน ข้าราชการด้วย หมั่นฝึกฝนขวนขวายเรียนรู้เพิ่มเติมสม่ำเสมอ อย่าคิดว่าจะทำอาชีพเดิมไปจนแก่จนตายแล้วส่งต่อไปให้ลูกหลานทำต่ออีก ผมว่าไม่ใช่แล้ว มันต้องพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าพ่อ เขาเรียกอะไร ลูกต้องดีกว่าพ่อ ร่ำรวย มีเงินมีทอง ไม่ใช่มีหนี้สินมากกว่าพ่อเข้าไปอีก เพราะหนี้สินพ่อบวกด้วยไง ตัวเองก็มีหนี้สินเพิ่มไปอีก อันนี้เขาเรียกดับเบิ้ลหนี้ ไม่ได้นะครับ ต้องพัฒนาตัวเองอาจจะต้องมีแรงบันดาลใจบ้างที่จะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญของทุกคน เป็นก้าวแรกของการพัฒนาชาติ หลายประเทศเขาพัฒนาอย่างนี้ มีการเรียนรู้ 2 ภาษา ง่ายๆ ดูภาพยนตร์ ดูรายการทีวี ฟังทั้งอังกฤษ อ่านซับไตเติลก็ได้ ค่อยๆ ซึมไป รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เดี๋ยวก็รู้เอง อ่านให้ไวก็แล้วกันเวลาเขาเขียนซับไตเติล อ่านซับไตเติล ฟังปากเขาพูด ตรงกันนั่นล่ะ ง่ายๆ บางทีผมก็ใช้แบบนี้ บางทีก็ลืม ง่ายๆ นี่ก็ลืม เพราะยุ่งมาก สมองมันเยอะ วันนี้ปวดหัวอยู่ เรียนรู้ก็ต้องเรียนเอง แล้วในส่วนของการแก้ปัญหาก็ต้องแก้ ระงับความขัดแย้งก็ต้องทำ ไม่ได้บ่นนะ พูดให้ฟังเฉยๆ เดี๋ยวจะลืมไปว่าผมทำอะไรอยู่

เรื่องการใช้น้ำ ห่วงแล้วห่วงอีก ไม่ใช่แค่เพื่อวันนี้นะ เพื่ออนาคตด้วย จะทำยังไงให้ทุกคนช่วยกันประหยัด ประหยัดที่ว่าคือประหยัดทุกคน ประหยัดทุกส่วน อย่าให้ถึงขนาดที่ต้องมากินน้ำวันละเท่านี้ อาบน้ำวันละครั้ง อะไรอย่างนี้ ผมว่ามันไม่ใช่นะ อาบให้น้อยลงเท่านั้นแหล่ะ อย่าขัดสีฉวีวรรณนานเกินไปนักเลย

อันนี้ก็ เราจะได้แก้ปัญหาภัยแล้งให้ได้อย่างยั่งยืน แล้วเราถือว่าเป็นวาระแห่งชาติด้วย วาระแห่งชาติคือชาตินี้นะ แก้ให้ได้ชาตินี้ ไม่งั้นก็ลำบากอีก ชาตินี้ คือเดี๋ยวนี้ด้วย ทุกหน่วยงานต้องรณรงค์ จัดกิจกรรม สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจไว้เลย จัดเวทีคอนเสิร์ต จัดดนตรีลูกทุ่ง เราจะช่วยกันประหยัดน้ำอย่างไร รณรงค์อย่างนี้สิครับ ให้ผมพูดอยู่คนเดียวเลย พอไม่ทำกันก็บอกให้ผมใช้กฎหมายบังคับ ทำไมต้องบังคับกันด้วยล่ะ ประเทศไทย คนไทย เราเคยอยู่อย่างสงบสุขมา ทำไมมันเป็นอย่างนั้น หรือมันมีบางคนไม่เคารพกฎหมายก็ไม่รู้ เลยทำให้เกิดแบบนี้ เพราะฉะนั้นอย่าให้มันเกิดอีก อย่าให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงในอนาคตด้วย

ใครที่มีหนี้สิน ไม่ว่าจะนโยบายในรัฐบาลใด ถ้าหนี้สินยังอยู่ ก็อย่าน้อยใจว่ารัฐบาลไม่ช่วย กำลังช่วยอยู่ การช่วยไม่ใช่เอาเงินไปให้ตรงนี้แล้วมันจบ มันไม่จบ เดี๋ยวหนี้สินใหม่ก็ต้องเกิดขึ้น วันนี้ก็มีทั้งประนอมหนี้ มีทั้งชะลอ มีทั้งมาตรการทางดอกเบี้ย ถ้าใครไปไม่ถึง ใครเข้าไม่ถึง ไปหาเจ้าหน้าที่เลยนะครับ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ มหาดไทย มีทุกจังหวัด ทุกอำเภออยู่แล้ว ไปให้เขาช่วยคิดดูซิ ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์ดำรงธรรมก็ต้องรับเรื่องแล้วก็ส่งต่อให้ผู้ว่าราชการ ซึ่งเป็นหัวหน้า CEO ในแต่ละกลุ่มจังหวัด ช่วยกันแก้ ถ้าไม่แก้ ผมก็เอาเรื่องเหมือนกันล่ะ แก้ให้ได้ แต่ต้องเข้าใจถึงปัญหาของเขาด้วยนะ บางทีก็ติดขัดเงิน เพราะงบประมาณก็มีแค่นี้ จำกัด เพราะฉะนั้นต้องเร่งใช้ว่าอันไหนสำคัญ ไม่สำคัญ สำคัญมาก สำคัญน้อย ทุกคนเอาเงินหมด

หลายวันมานี่ก็มีคนของบประมาณโน่นนี่ กองทุนนี่โน่น ผมอยากให้หมดล่ะ ถ้าผมมีตังค์นะ ถ้าประเทศมีตังค์เยอะๆ นะ มันก็ต้องมาสู่การสร้างรายได้ประเทศให้มากขึ้นกว่าเดิม ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างการส่งออก การนำเข้า การพัฒนาเทคโนโลยี การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ทั้ง 5 ประเภท 5 ประเภทเดิม 5 ประเภทใหม่ ทั้งหมด 10 อุตสาหกรรมที่ต้องเข้มแข็ง เพื่อรองรับวันนี้และวันหน้าด้วย

อย่าให้ใครมาทำลายความสงบสุขประเทศเราอีกเลยนะ เสถียรภาพของคนในประเทศสำคัญที่สุด คนเดือดร้อนคือพวกเรา คนที่ไปสร้างความเดือดร้อนอยู่ข้างนอก ใครก็ไม่รู้ล่ะ ก็อย่าไปฟังเขามากนัก ผมไม่ฟังแล้วล่ะ ขี้เกียจฟัง ก็พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เหมือนเดิม ผมว่ามันไม่เกิดประโยชน์ แล้วท่านก็ไม่เคยทำกันทั้งสิ้นสิ่งที่ท่านว่าผมทุกวันนี้ เคยทำกันที่ไหนล่ะ คณะทำงาน รัฐมนตรีเงาอะไรน่ะ เคยทำหรือเปล่า ถ้าทำ บอกผมมาซิว่าท่านจะทำยังไง แล้วสิ่งที่ต้องทำโดยใช้งบประมาณแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วทำยังไง ตอบผมมาบ้าง ผมถามท่านทางนี้ ท่านตอบมาแล้วกัน เพราะท่านถามผม พูดให้ผมฟังทางสื่อทุกวันๆ ผมก็อดทนอยู่นะ อย่ามาพูด ถ้าพูดในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ อย่าพูด จำไว้

ขอบคุณนะครับ ขอบคุณในความร่วมมือทุกคน ผมรู้ว่าทุกคนรักประเทศทั้งนั้น มีคนบางคนไม่ค่อยรักนะ รักตัวเองมากกว่า น่ารำคาญ ขอให้มีความสุขวันหยุดสุดสัปดาห์ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น