“บิ๊กตู่” ลงนามระเบียบสำนักนายกฯ ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม รมว.เกษตรฯ นั่งประธาน เผยเงื่อนไนตั้ง “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” ไม่เกิน 10 คน ไม่มีกลุ่มทุนร่วม มีอำนาจเสนอแผนพัฒนา รูปแบบสัญญาที่เป็นธรรม ในระบบเกษตรพันธสัญญาต่อคณะรัฐมนตรี
วันนี้ (11 มี.ค.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ. 2559 ดังนี้
“โดยที่ในปัจจุบันได้มีการนำสัญญาจ้างผลิตและรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย ซึ่งแม้จะช่วยพัฒนาระบบการทำเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่โดยที่สัญญาดังกล่าวมีลักษณะผสมผสานระหว่างสัญญาจ้างทำของ สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยากในการวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าและต้นทุนในการดำเนินการส่งผลให้เกษตรกรต้องรับภาระความเสี่ยงในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา และก่อให้เกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับเกษตรกร อันส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตสินค้าทางการเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศ
จึงสมควรให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรมเพื่อรวบรวมข้อมูลและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา และเสนอแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรมอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการส่งเสริม และพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้“ระบบเกษตรพันธสัญญา” หมายความว่า ระบบการผลิตสินค้าและบริการทางการเกษตร ที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับเกษตรกร ที่มีเงื่อนไขในข้อตกลงในการผลิต จำหน่าย หรือจ้างผลิตผลิตผลทางการเกษตรอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเกษตรกรตกลงที่จะผลิต จำหน่าย หรือรับจ้างผลิตผลิตผลทางการเกษตรตามจำนวน คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลาที่กำหนดไว้ และผู้ประกอบธุรกิจ ทางการเกษตรตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าวหรือจ่ายค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ตามข้อตกลง โดยอาจเป็น ผู้ให้คำแนะนำทางเทคนิค จัดหาพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร
“ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการผลิต แปรรูป จำหน่าย หรือให้บริการด้านระบบการผลิตสินค้าหรือปัจจัยการผลิตทางการเกษตร หรือการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
“เกษตรกร” หมายความว่า ผู้ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม และให้หมายความรวมถึงสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
“เกษตรกรรม” หมายความว่า การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือเกษตรกรรมอื่นที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นองค์การมหาชน และรัฐวิสาหกิจ
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ข้อ ๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม” ประกอบด้วย
(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ
(๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินสิบคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การบริหาร การบัญชี เกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือเศรษฐศาสตร์ ให้รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๕ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่น เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ซึ่งตนแทนเมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่งหากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไป จนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
ข้อ ๖ นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ข้อ ๗ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(๒) เสนอรูปแบบสัญญาที่เป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญาและส่งเสริมให้นำรูปแบบสัญญาที่เป็นธรรมไปใช้
(๓) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้มีการตรากฎหมาย หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายกฎ ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา
(๔) ติดตาม ประสานงาน หรือเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา
(๕) กำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยต้องคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ
(๖) เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตาม (๓) หรือ (๕) หรือไม่ปฏิบัติตามแนวทางหรือมาตรการตามที่คณะกรรมการกำหนดตามข้อ ๘
(๗) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ข้อ ๘ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรมแล้วให้คณะกรรมการกำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว
ข้อ ๙ การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุมในการประชุมคณะกรรมการถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุมการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ ๑๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติตามที่คณะกรรมการมอบหมายการประชุมคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ให้นำข้อ ๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบนี้ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอาจเชิญบุคคลใดมาเพื่อให้ข้อเท็จจริง ความเห็น คำแนะนำทางวิชาการ หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร
ข้อ ๑๒ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน
(๒) รวบรวมข้อมูลและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญาเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อประกอบการพิจารณาในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
(๓) จัดให้มีการศึกษาวิจัยหรือสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม
(๔) รับเรื่องร้องเรียนปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาและนำเสนอคณะกรรมการ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขตามข้อ ๗ (๕)
(๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย
ข้อ ๑๓ ค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประชุม หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการหรือตามระเบียบทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ข้อ ๑๔ ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้คณะกรรมการ ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง เพื่อทำหน้าที่คณะกรรมการไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ข้อ ๑๕ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ มีข้อเสนอแนะ-ข้อเรียกร้องจากเวทีสัมมนาวิชาการเกษตรพันธสัญญา ระบุว่า
1. ภายใต้โครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบการเกษตรของประเทศอยู่ภายใต้โครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร โดยโครงสร้างดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งนำไปสู่โครงสร้างที่เกิดการผูกขาดอันเป็นสาเหตุของความไม่เป็นธรรมที่เกษตรกร ผู้บริโภค และสังคมไทยกำลังได้รับ
2. จากโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ทำให้เกษตรกรซึ่งตกอยู่ภายใต้กระบวนการผลิตของระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมที่เกษตรกรจะต้องแบกรับ
หากจะตั้งคำถามว่า โครงสร้างระบบการผลิตและระบบการตลาดภายใต้เกษตรพันธสัญญาสร้างความไม่เป็นธรรมอย่างไรต่อเกษตรกร จากการศึกษาของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา พบสาเหตุแห่งความไม่เป็นธรรม ดังต่อไปนี้
1. เกษตรกรถูกชักนำโดยไม่รู้เท่าทันเกี่ยวกับระบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ให้เข้าสู่การทำสัญญา โดยไม่มีกลไกใดๆ ของภาครัฐในการดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร
2. ความไม่เป็นธรรมจากกระบวนการในการทำสัญญา
2.1 ปัญหาพื้นฐานทั่วๆ ไปเกี่ยวกับการทำสัญญา จากการศึกษาพบว่าในการทำสัญญาของเกษตรกรเป็นการทำสัญญากันด้วยวาจา หรือเกษตรกรไม่เคยได้รับสัญญาคู่ฉบับหรือมีการทำสัญญาย้อนหลัง
2.2 การกดดันโดยวิธีการต่างๆ ทั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทั้งวิธีการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีเพื่อให้ลูกหลานของเกษตรกรจำต้องแบกรับภาระหนี้สินเกษตรกรในรุ่นพ่อแม่ โดยบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร
2.3 บริษัทใช้วิธีการปล่อยเงินกู้นอกระบบในอัตราดอกเบี้ยสูง การปล่อยสินเชื่อภายใต้ระบบการผลิตในรูปแบบและวิธีการต่างๆ
2.4 บริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารใช้ประโยชน์จากโครงสร้างระบบการผลิตแบบผูกขาด ดำเนินการให้มีผู้อื่นทำหน้าที่เป็นคู่สัญญากับเกษตรกรเพื่อตัดตอนความรับผิดตามสัญญา
2.5 การไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาและการเพิ่มเติมข้อสัญญาด้วยวาจาในภายหลัง โดยบริษัทมักจะมีข้ออ้างต่างๆ ที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญา เช่น อ้างว่าผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ทั้งๆ ที่ในสัญญาไม่ได้กำหนดมาตรฐานไว้ หรือเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทหรือพนักงานของบริษัท ซึ่งทำให้เกษตรกรถูกตัดคะแนนความร่วมมือซึ่งมีผลต่อค่าตอบแทนที่ควรจะได้ เป็นต้น
3. ความไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และกระบวนการยุติธรรมที่ยากในการเข้าถึงของเกษตรกร
จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา พบว่า มีเกษตรกรที่อยู่ภายใต้ระบบการผลิตแบบพันธสัญญาจำนวนมากที่ได้รับความไม่เป็นธรรม แต่ไม่ปรากฏว่ามีเกษตรกรนำข้อสัญญาเกี่ยวกับการผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญาไปสู่กระบวนการยุติธรรม(เลย)
แต่พบข้อมูลว่า บริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารใช้ช่องทางต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม และโดยอาศัยอำนาจอิทธิพลเหนือระบบราชการในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น ให้ส่วนราชการต่างๆ พยายามใช้กฎระเบียบในการดำเนินการต่อเกษตรกรที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม
ข้อเรียกร้องเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรและผู้บริโภค
คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาขอเรียกร้องต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรและผู้บริโภค ดังต่อไปนี้
1. ข้อเสนอประเด็นเร่งด่วน
1.1 จากการศึกษาความไม่เป็นธรรมของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาประกอบกับงานศึกษาเกี่ยวกับการผูกขาดของธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า มีเกษตรกรจำนวนมากที่ได้รับความไม่เป็นธรรม ประสบปัญหาหนี้สินจากการทำการเกษตรแบบพันธสัญญา รวมทั้งมีเกษตรกรที่ถูกบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร และสถาบันการเงินดำเนินคดี เพื่อให้เกิดความชัดเจนของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมซึ่งเกษตรกรได้รับ จึงขอเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานในการศึกษา รวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น
1.2 ให้รัฐตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในกรณีที่เกษตรกรถูกดำเนินคดีด้วยความไม่เป็นธรรม
2. ข้อเสนอเชิงมาตรการ
2.1 จากการศึกษาของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา พบว่า มีระบบของกลุ่มอิทธิพลภายใต้ธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารพยายามขัดขวาง ห้าม และทำลายการรวมกลุ่มของเกษตรกร ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการป้องปรามการกระทำดังกล่าว พร้อมทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่ม
2.2 รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมเพื่อให้สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้
2.3 เร่งดำเนินการให้มีการจัดทำและกำหนดค่ามาตรฐานกลางของปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย ยา อาหาร ในลักษณะทำนองเดียวกับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานการประหยัดพลังงาน เป็นต้น
2.4 พัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและสินค้าทางการเกษตรให้เป็นไปตามค่ามาตรฐาน โดยมีตัวแทนเกษตรกร ผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐ และผู้รับซื้อ ร่วมในการตรวจสอบ
2.5 ส่งเสริมผลักดันให้เกิดความยุติธรรมในระบบการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา โดยนำหลัก “การค้าที่ยุติธรรม” (Fair Trade) มาเป็นแนวทางในการดำเนินการที่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย
2.6 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ในระยะเฉพาะเร่งด่วนกระทรวงยุติธรรมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ต้องรีบดำเนินการจัดตั้งระบบการไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาทที่เกิดจากความขัดแย้ง หรือการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจากระบบเกษตรพันธสัญญา
2.7 กำหนดให้ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นสัญญาที่มีแบบมาตรฐาน และกำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาติดตาม กำกับให้เป็นตามที่กฎหมายกำหนด
2.8 ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ มีข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจในการทำการเกษตร
2.9 ปรับปรุงและพัฒนาระบบการประกอบกิจการธุรกิจการเกษตรแบบพันธสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้เกิดความรับผิดชอบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค ชุมชน และสังคม
2.10 ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านการอำนวยความยุติธรรมและการค้าที่เป็นธรรมในระดับพื้นที่ และหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับการประกอบกิจการธุรกิจการเกษตรแบบพันธสัญญา มีการบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และดูแลระบบสวัสดิการของครอบครัวเกษตรกร
2.11 สภาเกษตรกรแห่งชาติ ในฐานะที่มีหน้าที่ทั้งโดยสำนึกและโดยกฎหมายต่อปัญหา ความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรมของเกษตรกร ควรเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบ เพื่อติดตาม ดำเนินการพัฒนาระบบการแก้ปัญหา และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และกฎหมายให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร
3. ข้อเสนอเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ระบบการเกษตรของประเทศไทยตกอยู่ภายใต้โครงสร้างของธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร และไม่มีกฎหมายในการควบคุมกำกับให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบอบกฎหมายที่ว่าด้วย “ความเป็นธรรมในธุรกิจอุตสาหกรรมทางการเกษตรและอาหาร” ขึ้นมาเป็นอีกระบอบหนึ่งเพื่อสร้างความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพให้แก่ระบบการเกษตรและอาหารในอนาคต ซึ่งควรจะประกอบด้วยชุดของพระราชบัญญัติดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย คือ
1. พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกร โดยคาดหวังให้กฎหมายฉบับนี้ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายเกษตรกร ซึ่งนำไปสู่ประโยชน์หลายด้านต่อเกษตรกรทั้งที่อยู่ในระบบพันธสัญญาและนอกระบบพันธสัญญา เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล การรวมกลุ่มต่อรองผลประโยชน์จากการผลิต และการผลักดันสิทธิเกษตรกร เป็นต้น
2. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกำหนดเขตพื้นที่เพาะปลูกพืชตามพันธสัญญา เนื่องจากระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นรูปแบบการผลิตที่รุกคืบและครอบงำเกษตรกร โดยอาศัยอำนาจที่เหนือกว่าทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง อย่างไรก็ตาม ระบบเกษตรพันธสัญญายังมีความจำเป็นในด้านประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องควบคุม การควบคุมนั้นทำได้ง่ายขึ้นเมื่อมีพื้นที่ที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นการทอนอำนาจต่อรองของธุรกิจการเกษตรต่อเกษตรกรที่ลงทุนไปแล้วด้วยวิธีการย้ายฐานการผลิต
3. พระราชบัญญัติการตลาดปัจจัยและสินค้าเกษตรพันธสัญญา ความเสียเปรียบของเกษตรกรในระบบพันธสัญญาที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การไม่สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตได้เอง และไม่สามารถควบคุมหรือรับรู้ราคา รวมทั้งคุณภาพของปัจจัยการผลิต และความสามารถในการแสวงหาตลาดสินค้า ในระบบการผลิตที่ต้องผลิตและขายตลอดเวลานี้ ความสามารถในการขายของธุรกิจการเกษตรเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นไม่แพ้การผลิตของเกษตรกร การสมดุลอำนาจด้านการตลาดของเกษตรกรและธุรกิจจึงมีความสำคัญต่อชีวิตและรายได้ของเกษตรกรในระบบพันธสัญญา
4. พระราชบัญญัติระบบสินเชื่อเพื่อการเกษตรแบบพันธสัญญา เงินทุนกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของสังคมเศรษฐกิจ ที่ดินได้กลายเป็นทุน การพึ่งพาทางด้านการเงินจึงกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานในสังคมเศรษฐกิจยุคนี้ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร หรืออยู่ในช่วงชั้นสังคมไหนก็ตาม ในมุมของเกษตรพันธสัญญาที่มีความจำเป็นต้องใช้ทุนสูง การจัดระบบความสัมพันธ์กันใหม่ให้เป็นธรรมและชอบธรรมในการกู้เงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
5. พระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองเกษตรกรภายใต้ระบบการเกษตรแบบพันธสัญญา เกษตรกรในระบบพันธสัญญา ณ ปัจจุบันตกอยู่ภายใต้ความไม่เป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ การคุ้มครองเกษตรกรในระบบพันธสัญญาเป็นพิเศษในระยะเริ่มต้นก่อนที่จะมีการต่อรองกันอย่างเป็นธรรมจริงๆ จึงมีความสำคัญ เพราะระบบกฎหมายไทยยังมืดบอดต่อปัญหาเกษตรพันธสัญญา โดยมองว่าเป็นเพียงสัญญาเอกชน ไม่ได้มองเป็นระบบการผลิตเหมือนระบบโรงงานที่ต้องการกฎหมายโรงงาน หรือกฎหมายแรงงาน เป็นต้น ขณะที่กฎหมายสัญญาเดิมขาดจุดยืนในการปกป้องเกษตรกรจากระบบพันธสัญญา
6. พระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร ประเด็นความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารเป็นประเด็นที่ยึดโยงเกษตรพันธสัญญากับสังคมในความหมายที่กว้าง และประชาชนทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบพันธสัญญาในแง่นี้ และที่สำคัญประเด็นนี้เป็นเหตุผลหลักของการผลิตภาคเกษตร คือ ผลิตอาหารให้เพียงพอและปลอดภัยอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การผลิตเพื่อเป็นสินค้าแลกเงิน เป้าหมายของกฎหมายนี้คือ กำหนดจุดยืนในการผลิตอาหารว่า สำคัญเหนืออื่นใดในการผลิตอาหารต้องคำนึงถึงปริมาณที่เพียงพอ (รวมถึงการกระจายอาหาร) และความปลอดภัย
4. ข้อเสนอต่อสังคมไทย ผู้บริโภค และพี่น้องเกษตรกร
ในฐานะเกษตรกรที่มีศักดิ์ศรี ไม่ควรฝากความหวังไว้กับผู้อื่น หากแต่ควรที่จะเริ่มต้นสร้างเครือข่ายกับผู้บริโภค และพันธมิตรต่างๆ ในสังคมไทยให้ร่วมกันจัดทำ “ธรรมนูญของเกษตรกร” เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกรและทุกๆ ฝ่ายในสังคมไทย”