“เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย” เข้าอำลาตำแหน่งต่อนายกฯ ชมไทยแก้ไขประมงผิดกฎหมาย ยันร่วมมือไทยแก้จริงจัง ด้าน “ประยุทธ์” เสียใจเหตุก่อการร้ายในจาการ์ตา ขอร่วมประณาม ชี้อาเซียนต้องรับมือป้องกันมากกว่าเดิม ชงเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคง ขอบคุณส่งเสริมความสัมพันธ์ ช่วยสร้างความเข้าใจสถานการณ์การเมือง ย้ำร่วมมือสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วม เพื่อต่อรองในตลาดโลก เสนอวิจัยและพัฒนาร่วมนำวัตถุดิบการเกษตรเหลือใช้มาแปรรูป ฝากช่วยถวายการรับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ พร้อมเชิญประธานาธิบดีเยือน
วันนี้ (21 ม.ค.) ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. นายลุตฟี ราอุฟ (H.E. Mr. Lutfi Rauf) เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่ออำลาจากตำแหน่ง โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจต่อเหตุระเบิดและการกราดยิง ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง และขอร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียประณามอาชญากรรมและการก่อความรุนแรงในครั้งนี้ โดยเห็นพ้องว่าการก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามที่ประเทศในอาเซียนที่ต้องเตรียมรับมือและป้องกันมากขึ้นกว่าเดิม และเสนอให้มีความร่วมมือด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งระหว่างไทยกับอินโดนีเซียและในอาเซียน
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียให้แน่นแฟ้นขึ้น ตลอดจนการช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทยไปยังรัฐบาลอินโดนีเซีย พร้อมย้ำจุดยืนของไทยที่จะร่วมมือกับอินโดนีเซียต่อไปในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ตามหลักการ ไทย + 1 และอาเซียน +1 พร้อมเสนอการสร้างการรวมกลุ่มของประเทศในอาเซียนแบบ package ตามกลุ่มสินค้าที่แต่ละประเทศมีศักยภาพ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและอำนาจต่อรองในตลาดโลก แทนการแข่งขันกัน อาทิ ความร่วมมือด้านการประมงระหว่างไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเรื่องส่วนแบ่งทางการตลาด การบริหารจัดการเรื่องการจับปลาในน่านน้ำร่วมกัน และจะช่วยแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว ยางและปาล์ม หากประเทศในกลุ่มอาเซียนสามารถร่วมมือกันได้จะแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและยังช่วยปรับปรุงคุณภาพสินค้าด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้มีการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) ร่วมกันในอาเซียน เพื่อนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่เหลือจากการใช้ภายในประเทศมาแปรรูปเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการในตลาดโลก โดยสร้างเป็นอาเซียนแบรนด์ ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าเป็นประโยชน์และอยู่ในความสนใจของอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน
ประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อินโดนีเซีย กว่า 65 ปี โดยในปีที่ผ่านมามีความร่วมมือที่ครอบคลุมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้าการลงทุน ที่แม้จะปริมาณการค้าจะลดลงเนื่องจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ในแง่การลงทุน มีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้นในอินโดนีเซีย และมีนักลงทุนอินโดนีเซียมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย โดยเฉพาะข้าว ก็เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียประสบกับภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา และในปีนี้ ยังมีความต้องการที่จะร่วมมือกับไทยด้านความมั่นคงทางอาหาร (food security) มากขึ้น
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาไทยและอินโดนีเซียยังมีความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการส่งกลับลิงอุรังอุตังคืนอินโดนีเซียจำนวน 14 ตัวด้วย
เอกอัครราชทูตฯ ยังได้แสดงความชื่นชมต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ของรัฐบาลไทยที่มีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด และยืนยันว่าอินโดนีเซียจะร่วมมือกับไทยในการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง โดยกำลังมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงอินโดนีเซียเป็นประธานร่วม และจะมีการประชุมคณะทำงานร่วมฯ ครั้งแรก ในช่วงต้นปีนี้
นอกจากนี้ ในโอกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ เยือนอินโดนีเซีย ในช่วงเดือนมีนาคม 2559 นายกรัฐมนตรีได้ฝากให้เอกอัครราชทูตฯ ช่วยดูแลและถวายการรับเสด็จฯ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างสมพระเกียรติ ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ มีความยินดีและกล่าวถึงความชื่นชมส่วนตัวต่อโครงการพัฒนาโรงเรียน SD Negeri 50 Kota Ternate ที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเชิญประธานาธิบดีอินโดนีเซียเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไปด้วย