xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลชมเกษตรกรปรับพฤติกรรมปลูกพืช หนุนเพิ่มประสิทธิภาพแข่งขันตลาดโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“สรรเสริญ” เผย “ประยุทธ์” ชมเกษตรกรเข้าใจสถานการณ์น้ำ ร่วมปรับพฤติกรรมปลูกพืช ร่วมโครงการรัฐ ลดการปลูกข้าว รัฐหนุนลงทุนเกี่ยวข้องเกษตรอุตสาหกรรมกว่า 1.7 หมื่นล้านให้มีทางเลือกปลูกพืชอื่น เพิ่มประสิทธิภาพแข่งขันตลาดโลก มองแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ พัฒนาความรู้เกษตรให้หลากหลาย

วันนี้ (6 มี.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชมพี่น้องเกษตรกรที่มีความเข้าใจสถานการณ์น้ำของประเทศ และให้ความร่วมมือกับนโยบายการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชในหน้าแล้งจากข้าวนาปรัง ไปสู่พืชใช้น้ำน้อย และการเลี้ยงปศุสัตว์แทน รวมทั้งการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของรัฐบาลหลายโครงการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากแบบประชารัฐ และชดเชยการสูญเสียรายได้ มาอย่างต่อเนื่อง

“ข้อมูลการสำรวจภาพถ่ายทางอากาศพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังปี 57/58 ทั่วประเทศ ณ เดือน ก.พ. ประมาณ 2.8 ล้านไร่ ลดลงจากเดือน ม.ค.ที่มี 4 ล้านไร่ และหากพิจารณาเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง 22 จังหวัด ก็จะพบว่าพื้นที่ปลูกข้าวลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยข้อมูล ณ เดือน ก.พ. 59 มี 1.92 ล้านไร่ ลดลงจากเดือน ม.ค.ที่มี 2.91 ล้านไร่”

พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า รัฐบาลจะยังเดินหน้าส่งเสริมมาตรการต่างๆ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและครบวงจร โดยล่าสุดคณะกรรมการ BOI ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกปลูกพืชอื่นทดแทนข้าว และเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรในตลาดโลก เช่น กิจการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง มันสำปะหลัง รำข้าว ข้าวโพด ปลาป่น จ.ลพบุรี กิจการผลิตเครื่องดื่มจากถั่วเหลือง จ.สระบุรี กิจการผลิตสารให้ความหวาน จ.ปราจีนบุรี กิจการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง จ.กำแพงเพชร และกิจการผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น

“ท่านนายกฯ มองการแก้ปัญหาด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบ โดยต้องการให้เกษตรกรได้พัฒนาความรู้และเปลี่ยนมุมมองให้รู้จักการทำอาชีพทางการเกษตรที่หลากหลาย เป็น Smart farmer เพราะการทำสิ่งเดิมๆ เมื่อเกิดปัญหาภัยธรรมชาติขึ้น เกษตรกรก็จะได้รับความเดือดร้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยรัฐบาลยินดีที่จะให้การสนับสนุนทั้งในด้านความรู้ และการส่งเสริมการลงทุนในด้านนี้ เพื่อยกระดับให้สินค้าเกษตรธรรมดากลายเป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย พร้อมทั้งจะเร่งรัดโครงการที่จะช่วยขับเคลื่อนในเรื่องนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว เช่น โครงการ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เป็นต้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น