xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ เผยแผนรับมือภัยแล้ง พร้อมดึงน้ำทิ้งโรงงานผ่านมาตรฐานป้อนเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมกางแผนรับมือภัยแล้งรอบด้าน พร้อมออกประกาศหนุนให้นำน้ำทิ้งของโรงงานที่ผ่านการบำบัดและได้มาตรฐานมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม อัดสินเชื่ออ้อย 9 พันล้านบาทพัฒนาแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักร

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรมว่า มาตรการระยะสั้น 1. ส่งเสริมให้โรงงานใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักการ 3Rs 2. การใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินที่มีคุณภาพดีสามารถใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้ 3. การขอความร่วมมือในการลดการระบายน้ำทิ้งหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานในช่วงฤดูแล้ง มาตรการระยะยาว 1) การเพิ่มบ่อกักเก็บน้ำสำรองในโรงงาน 2) การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม เช่น น้ำทะเล น้ำทิ้งโรงงานสำหรับจังหวัดในภูมิภาค เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนและภาคเกษตรกรรม

ขณะเดียวกัน ช่วงภัยแล้งปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนให้มีการนำน้ำทิ้งของโรงงานที่ผ่านการบำบัดได้ตามมาตรฐานน้ำทิ้งของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ไปใช้ประโยชน์ จึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา สาระสำคัญมีดังนี้

1) โรงงานที่เข้าข่ายต้องเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไม่มีสารโลหะหนักหรือสารเคมีที่เป็นอันตราย 2) ประเภทโรงงานข้างต้นต้องมีการบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยผู้ประกอบกิจการที่ประสงค์จะนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ ให้ดำเนินการยื่นขอยกเลิกเงื่อนไข “ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน” เป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่ต้องการ แต่ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2559 และมอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้พิจารณาและเห็นชอบ ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้งให้ทราบทุกเดือน และอุตสาหกรรมจังหวัดจะแจ้งผลแก่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทราบ เมื่อสิ้นสุดการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ (30 มิ.ย. 59)

นอกจากนี้ยังกำหนดรูปแบบการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งภายใต้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561) โดยสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

1) การพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย วงเงินปีละ 500 ล้านบาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท ในการขุดสระกักเก็บน้ำ การเจาะน้ำบาดาล และการสร้างระบบส่งน้ำ โดยการรวมกลุ่มชาวไร่อ้อยและโรงงาน รวมทั้งระบบน้ำหยด การจัดซื้อเครื่องยนต์ และวัสดุอุปกรณ์ให้น้ำในไร่อ้อย

2) สนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร วงเงินปีละ 2,500 ล้านบาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 7,500 ล้านบาท ในการซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ส่วนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ กนอ.เฝ้าระวังภัยแล้ง ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่าสถานการณ์น้ำปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สนับสนุนสินเชื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย วงเงินปีละ 500 ล้านบาท รวม 3 ปีเป็นเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อนำไปขุดสระกักเก็บน้ำ การเจาะน้ำบาดาล และการสร้างระบบส่งน้ำ และยังสนับสนุนสินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรปีละ 2,500 ล้านบาท รวม 3 ปีเป็นเงิน 7,500 ล้านบาท ซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น