xs
xsm
sm
md
lg

“อรรชกา” เยือนเมืองปลาดิบ 12-15 ก.พ. จีบลงทุนคลัสเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อรรชกา” เตรียมบินญี่ปุ่น 12-15 ก.พ. หวังดึงลงทุนใน 3 จังหวัดใหญ่ ได้แก่ จังหวัดโฮคุริคุ จังหวัดโทยาม่า และฟูกุอิ ล็อกเป้าคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย


นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนมีกำหนดเดินทางไปเจรจาความร่วมมือกับคณะผู้บริหารและพบผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดโฮคุริคุ ระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ประเทศญี่ปุ่น ในจังหวัดฟุกุอิ จะเข้าพบนายนิชิกาว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดฟุกิอิ ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานโอตาไก ฟอรัม ครั้งที่ 13 ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและจังหวัดฟุกุอิ โดยมีบริษัทที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้าร่วม 10 บริษัท

นอกจากนี้ยังไปชักจูงให้มีการลงทุน บริษัท SEIREN Co.,Ltd. ประกอบกิจการทำเส้นใยสำหรับเบาะนั่งในรถยนต์ ที่มีสัดส่วนตลาดอยู่ในอันดับที่ 1 ของโลก และบริษัท NIKKA Co.,Ltd. ซึ่งสกัดสาร Bio Silica จากแกลบข้าว เพื่อเป็นส่วนผสมในสิ่งทอรวมถึงโลหะจะได้เพิ่มคุณสมบัติในการใช้งาน โดยบริษัทนี้มีความต้องการที่จะร่วมมือกับบริษัทในประเทศไทย เพื่อการพัฒนาสินค้ามีส่วนผสมกับ Bio Silica ให้มีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นในประเทศไทย

จากนั้นจะเดินทางไปจังหวัดโทยาม่า เข้าเยี่ยมชมบริษัท Fujikoshi ที่ทำเกี่ยวกับหุ่นยนต์ (Robot) และชักจูงให้มาลงทุนในไทยตามนโยบาย S-Curve และบริษัท TOYAMA KANKYO SEIBI CO., LTD. ซึ่งทำธุรกิจในด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดหาน้ำ และเข้าพบคณะผู้ว่าราชการจังหวัดโทยาม่าอีกด้วย

“ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด กระทรวงอุตสาหกรรมจึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยในขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนามบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ทั้งกับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของญี่ปุ่นไปแล้วทั้งสิ้น 19 แห่ง เพื่อความร่วมมือระหว่างกัน โดยจังหวัดที่มีการลงนามไปล่าสุดคือจังหวัดเอฮิเมะ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา” นางอรรชกากล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่มที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดยที่ 5 กลุ่มแรก เป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมที่เคยสร้างความเข้มแข็งในอดีต มุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยี ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมด้านการบินและลอจิสติกส์ อุตสาหกรรมประเภท bio-industries อุตสาหกรรม ดิจิตอล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพครบวงจร ซึ่งมองว่านักลงทุนบริษัทญี่ปุ่นมีความพร้อมทั้งสิ้น

สำหรับจังหวัดฟุกุอิมีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมเคมี (คาร์บอนไฟเบอร์) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอากาศยาน และมีชื่อเสียงในการทำกรอบแว่นที่มีลักษณะยืดหยุ่น น้ำหนักเบา และทนทาน ขณะนี้มีบริษัทของจังหวัดฟุกุอิได้ลงทุนในประเทศไทยแล้วจำนวน 20 บริษัท โดยเป็นจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 11 โรงงาน คิดเป็นจำนวนเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านบาท เป็นประเภทอุตสาหกรรมสิ่งทอมากที่สุด และได้มีการจัดตั้งสำนักงาน เดอะ ฟุกุอิ แบงก์ ลิมิเต็ด เป็นผู้แทนประสานงานระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนของจังหวัดฟุกุอิกับหน่วยงานในประเทศไทย ลักษณะเป็น Support center ด้านการค้าการลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น