กลุ่มค้านเหมืองทอง 5 จังหวัด ยื่นข้อมูลต่อ ป.ป.ช.เพิ่มเติม ร้องขอให้ยกเลิกเอกสารสิทธิในที่ดินซ้ำซ้อนระหว่างประชาชนกับการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจ และทำเหมืองแร่ทองคำของกลุ่มบริษัท คิงส์เกท ที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ระบุหลักฐานเพิ่มเป็นข้อมูลการแก้ผังเมืองใหม่อาจมีส่วนเกี่ยงข้องกับการขยายพื้นที่การทำเหมืองแร่ทองคำหลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งกรรมการไต่สวนแล้ว
วันนี้ (23 พ.ย.) มีรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ ตัวแทนประชาชนจากจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพรชบูรณ์ และลพบุรี นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ นางอารมณ์ คำจริง พร้อมตัวแทนชาวบ้านประมาณ 40 คน ยื่นหนังสือถึงนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ในคดีเหมืองทองคำ หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งกรรมการไต่สวนแล้ว ทั้งนี้ เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีมีการยกเลิกเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่เดียวกับมีการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจ และทำเหมืองแร่ทองคำของกลุ่มบริษัท คิงส์เกท ที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว ในหลายจังหวัดนั้นว่าอาจเกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายสุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ เป็นผู้รับหนังสือแทน
มีรายงานว่า การยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมในครั้งนี้เกี่ยวกับโฉนดที่ดินที่ชาวบ้านถูกเพิกถอนที่ดินทำกินที่ตอนแรกเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากหลังการแก้ผังเมืองเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเหมาะแก่การเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกับที่บริษัทเอกชนได้เข้ามาทำอาชญาบัตรพิเศษสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำไว้แล้วก่อนหน้านี้ โดยตัวแทนชาวบ้านมองว่าการแก้ผังเมืองในครั้งนี้อาจมีส่วนเกี่ยงข้องกับการขยายพื้นที่การทำเหมืองแร่ทองคำเนื่องจากเพิ่งมีการออกโฉนดให้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่หลังจากมีการปรับแก้ผังเมืองชาวบ้านกลับไม่ได้โฉนดดังกล่าว พร้อมกับยืนยันว่าพื้นที่ในส่วนนั้นไม่ได้มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์อย่างที่ทางภาครัฐอ้าง จึงได้นำเอกสารมายื่นต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้พิจารณาถึงการขอคืนเอกสารสิทธิที่ดินรูปแบบต่างๆ ใน 5 จังหวัด
มีรายงานว่า เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ประกอบด้วยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานฯ และมีอนุกรรมการ ได้แก่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านกฎหมายและการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการไต่สวนโดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ ป.ป.ช.เล็งเห็นถึงความสำคัญของคดีดังกล่าวที่กระทบถึงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับได้มีพยานหลักฐานเบื้องต้นจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย ระบุว่า ได้พบบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย และถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำ ในประเทศไทย โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ และให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย ทางสำนักงาน ก.ล.ต.จึงส่งข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช.
มีรายงานว่า เมื่อเดือนเดียวกัน นายพอล โรบิลลียาร์ด เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าพบนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการพบกันครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายมีเนื้อหาสำคัญในการหารือ มีการเปิดเผยเพียงกว้างๆ ว่าจะปรึกษากันถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุน โดยนางอรรชกาออกมาปฏิเสธว่าการหารือไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเส้นทางการเงินหลังพบหลักฐานที่ทำให้สงสัยได้ว่ามีการโอนเงินจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียที่ลงทุนทำธุรกิจเหมืองทองคำในไทยเป็นสินบนกับข้าราชการและนักการเมืองเพื่อแลกกับใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ
ขณะที่ครั้งนั้นกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองทองได้โพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจ “เหมืองแร่ เมืองเลย V2” โดยใช้หัวข้อ “การทูตเหมืองทอง” มีใจความสำคัญคือขอให้จับตาดูการเคลื่อนไหวผลักดันธุรกิจเหมืองทองผ่านนโยบายทางการทูตออสเตรเลีย นอกจากนั้นยังให้ข้อมูลว่า ไม่ใช่ครั้งแรกของนโยบายทางการทูตของออสเตรเลีย โดยเมื่อปี 2550 เอกอัครราชทูตออสเตรเลียเคยเข้าพบรัฐมนตรีอุตสาหกรรมลักษณะนี้มาแล้วอย่างนน้อย 2 ครั้ง โดยเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองทำที่รอยต่อ จ.พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์เพิ่มอีก 9 แปลง เมื่อปี 2551