พิจิตร/พิษณุโลก - รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ฟังเสียงคนรอบเหมืองทองพิจิตร กลุ่มต้านยื่นขอเสนอ 7 ประเด็นให้อพยพชาวบ้าน ขณะที่ฝ่ายหนุนบอกเหมืองช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ คนมีงานทำ มีรายได้ มีเงิน ยันไม่พบคนงานเหมือง มีไซยาไนด์ในเลือดสูง แต่กลุ่มต่อต้านจากเนินมะปรางกลับถูกห้ามเข้า
วันนี้ (10 ต.ค.) นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่พบประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรี ของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ณ รอยต่อ 3 จังหวัดคือ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ โดยมี กพร. รอง ผวจ.พิจิตร นายอำเภอทับคล้อ อุตสาหกรรมพิจิตร เพชรบูรณ์ และทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ฯลฯ ร่วมรับฟังและรับทราบปัญหาพร้อมวางแนวทางแก้ไข
นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพปัญหา ในส่วนตัวได้ติดต่อคุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เบื้องต้นแล้ว แต่บังเอิญวันนี้ไม่ได้มาร่วม ยืนยันว่ารัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องดูว่าเกิดผลกระทบอะไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม จะสั่งการให้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ตรวจสอบปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพชาวบ้านนำไปสู่การเปิดเวทีสาธารณะร่วมกัน ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ประสานกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสุขภาพชาวบ้าน หาสาเหตุที่แท้จริงของชาวบ้านที่เจ็บป่วย เสียชีวิต และจัดตั้งคณะกรรมการร่วมที่มีตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ และชาวบ้าน เพื่อวิเคราะห์หาทางออกและแนวทางแก้ปัญหาไขต่อไป
ด้าน น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง แกนนำชาวบ้านจากตำบลเขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ระหว่างที่ รมว.อุตสาหกรรม เข้าร่วมเวทีรับฟังปัญหา คือ 1.ขออพยพโยกย้ายออกจากภูมิลำเนาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน 2.ขอให้ประกาศให้พื้นที่การทำเหมืองแร่ทองคำ และโดยรอบเป็นพื้นที่ภัยพิบัติขั้นรุนแรง เพื่อเร่งหามาตรการป้องกันแก้ไข และฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน
3.ขอให้ทำการเยียวยา และฟื้นฟูผู้ป่วยที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองอย่างเร่งด่วน 4.ขอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อ 1-3 อย่างเร่งด่วน โดยมีตัวแทนภาคประชาชนจากเครือข่ายผู้ป่วยฯ ร่วมเป็นกรรมการด้วยในสัดส่วนหนึ่ง
5.ขอให้ทำการเร่งฟื้นฟู และปิดเหมืองในส่วนของพื้นที่ประทานบัตร และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วโดยด่วน 6.ขอให้ชะลอการใช้งานบ่อกักเก็บกากแร่ TSF2 เอาไว้ก่อน จนกว่าคดีศาลปกครองจะถึงที่สุด และ 7.ขอให้ชะลอการใช้งานประกอบโลหะกรรมส่วนขยายเอาไว้ก่อนจนกว่าคดีศาลปกครอง จะถึงที่สุด
โดยได้แนบรายชื่อชาวบ้านที่ต้องการอพยพ พร้อมกับนำเอกสารหลักฐานผลการตรวจร่างกายชาวบ้านที่พบสารโลหะหนัก และไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐานมายื่นเสนอต่อ รมว.อุตสาหกรรม อีกด้วย
และหลังจากรับฟังปัญหาจากชาวบ้านซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายต่อต้านแล้ว ได้เดินทางเข้าไปดูสภาพข้อเท็จจริงภายในเขตเหมืองทอง รับฟังข้อมูลจากฝ่าย บมจ.อัครา รีซอร์สเซส พนักงาน และกลุ่มที่สนับสนุน โดยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ และตัวแทนเหมืองร่วมชี้แจงภายในรั้วเหมืองทองคำ
ซึ่งความคิดเห็นของชาวบ้าน และพนักงานเหมืองบอกในทำนองเดียวกันว่า ชื่นชอบเหมืองแร่ทองคำเพราะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้คนมีงานทำ มีรายได้ มีเงิน นอกจากนี้ เหมืองยังให้ทุนการศึกษาเรียนดีแต่ยากจน ส่วนที่บอกว่ามีผลกระทบกับพืชผักที่ปลูก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บอกไม่มีปัญหา
“คนงานเหมือง 354 คน ไม่มีใครตรวจพบไซยาไนด์ในเลือดสูงเกิน ผลการตรวจน้ำประปาใกล้เหมืองอาจมีค่าเหล็กสูงบ้าง แต่ไม่มีแมงกานิส ไม่พบโลหะหนักมีพิษ ยืนยันว่า การทำเหมืองไม่มีผลกระทบต่อชุมชน สามารถดูแลได้ ส่วนค่าภาคหลวงก็จ่ายไปกว่า 3,400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังช่วยเหลือโรงเรียน ชุมชน และยังมอบพื้นที่ 183 ไร่ ทำเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ด้วย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวมีกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปราง บ้านเขาเขียว ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก นัดรวมตัว แต่ไม่สามารถเคลื่อนตัวเข้าไปร่วมเวทีในเขตเหมืองทอง บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ได้เนื่องจากถูกสั่งห้ามเอาไว้จึงได้แสดงออกด้วยการยกมือต่อต้าน พร้อมออกแถลงการณ์ในนาม “ประชาชนคนไทย” 3 ข้อ
คือ 1.ยกเลิกกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องต่อนโยบายเหมืองแร่ทั้งหมด และให้ชุมชนกำหนดแผนพัฒนาตัวเอง 2.หยุดการให้สัมปทานเหมืองแร่ทุกชนิด 3.ให้รัฐบาลไทยยืนยัน และสื่อสารถึงกลุ่มทุนไทย-เทศว่า รัฐบาลไทยจะคำนึงถึงประโยชน์คนไทยและทรัพยากรของชาติ ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงแทนให้สัมปทานทุกชนิด