xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯเร่งประสานมหาดไทยแก้ผังเมืองใหม่ปลดล็อคลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตฯเร่งประสานมหาดไทยเพื่อแก้ไขอุปสรรคผังเมืองใหม่ในการปรับบัญชีแนบท้ายให้ยืดหยุ่น 51 จังหวัด เล็งเสนอพื้นที่โซนนิ่งประกอบ 34 จ.ให้มหาดไทยพิจารณาประกอบผังเมืองใหม่ 17 พ.ย. นี้ขณะที่มาบตาพุดพื้นที่อุตฯส่อเพิ่มเป็น 3.8 หมื่นไร่ คาดชัดเจนใน 1 ปี จับตา 1-2 สัปดาห์เพิ่มคลัสเตอร์อีก 4-5กลุ่มดึงลงทุน




นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตฯเตรียมที่จะประสานกับกระทรวงมหาดไทยในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจการลงทุนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)จะประสานกับกรมโยธาธิการในเร็วๆ นี้เพื่อที่จะปรับบัญชีท้ายกฎกระทรวงและข้อกำหนดที่ไม่ยืดหยุ่น 51 จังหวัดให้มีความยืดหยุ่นขึ้นซึ่งคาดว่าจะเร่งให้เสร็จภายในปีนี้เพื่อปลดล็อคการลงทุนหลายพันโรงงาน

นอกจากนี้จะกรอ.จะนำผลการศึกษาโครงการโซนนิ่งไปใช้ในการจัดทำผังเมือง 34 จังหวัดในวันที่ 17 พ.ย.นี้ พร้อมกันนี้ยังมีการจัดทำเกณฑ์แนวกันชนและแนวป้องกันที่เหมาะสมกับโรงงานประเภทต่างๆ ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานจัดทำแล้วซึ่งจะสร้างความมั่นใจปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมกับชุมชนได้ และกรณีการส่งเสริมการลงทุนภายใต้นโยบายรัฐบาลในเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ ซุปเปอร์คลัสเตอร์ โดยเฉพาะคลัสเตอร์ปิโตรเคมีในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยองที่จะเกี่ยวข้องกับผังเมืองใหม่จากการหารือภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการพื้นที่ 3.5 หมื่นไร่ แต่ร่างผังเมืองมาบตาพุดจำกัดไว้ 2.5 หมื่นไร่

“การหารือกับมหาดไทยล่าสุดโอกาสที่พื้นที่อุตสาหกรรมจะสามารถลงทุนได้ในมาบตาพุดเพิ่มเติมจะเป็น 3.8 หมื่นไร่ ซึ่งผังเมืองรวมจังหวัดระยอง จะกระกาศใช้ในสิ้นปีนี้ ส่วนผังเมืองรวมชุมชนในระดับเทศบาลมาบตาพุด จะใช้เวลา 1 ปี เพื่อทบทวนแก้ไข ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดก็เป็นไปตามมติครม.ที่ให้ทั้งสองหน่วยงานร่วมกันดำเนินการแก้ไขอุปสรรคผังเมือง“นางอรรชกากล่าว

นางอรรชกา กล่าว่า สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบคลัสเตอร์(Cluster) นั้นภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ครม.จะมีการพิจารณามาตรการจูงใจการลงทุนเพิ่มเติมที่ว่าด้วยมาตรการทางการคลัง นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์การลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และมีการเพิ่มคลัสเตอร์อีก 4-5 อุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีกซึ่งเป็นประเภทที่จะเป็นอุตสาหกรรมในอนาคตจากเดิมที่มีอยู่ 6 คลัสเตอร์

ทั้งนี้วันที่ 20 พ.ย.นี้ คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ซึ่งตนเป็นประธานจะประชุมนัดแรกวางกรอบการทำงานและติดตามประเมินผลการทำงานเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยกลุ่มเป้าหมายระยะแรกคือ ซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดิจิตอล อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่และจังหวัดภูเก็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น