ทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของรองนายกฯ “สมคิด” เตรียมเสนอแพกเกจส่งเสริม SMEs ในระยะที่ 2 ต่อ ครม.เร็วๆ นี้ ด้าน ก.อุตฯ ระบุเน้นสร้างความสามารถด้านการแข่งขันผ่านการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ ขณะที่ ก.พาณิชย์มุ่งขยายตลาดไปสู่เวที CLMV
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เตรียมนำมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ระยะที่ 2 เข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ย.) หรืออังคารหน้า (29 ก.ย.) ได้แก่ 1. มาตรการบูรณาการขับเคลื่อนเอสเอ็มอี งบประมาณปี 2559, 2. มาตรการปรับแผนธุรกิจเอสเอ็มอีในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และ 3. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี โดยสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์โทรคมนาคม ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ การเกษตรแปรรูป สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดสิทธิพิเศษในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย
นางอรรชการะบุด้วยว่า มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่จะออกมาจะทำงานในเชิงบูรณาการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยในปี 59 รัฐบาลจัดสรรงบไว้ 2,178 ล้านบาท ผ่าน 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี 42,451 ราย และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมจำนวน 11,811 ราย
ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในระยะที่ 2 ที่จะออกมาเน้นแนวทางสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอี ในส่วนกระทรวงพาณิชย์ จะผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น 1. การสร้างนักการค้ามืออาชีพ จะมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการค้าให้ได้ 15,000 ราย 2. การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน จะเร่งสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 5,000 ราย 3. การยกระดับตลาดกลางที่มีอยู่ประมาณ 54 แห่งให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และ 4. โครงการตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนมีพื้นที่ขายสินค้า ตั้งเป้า 231 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับการพัฒนาเอสเอ็มอีสู่อาเซียนนั้น จะพัฒนาธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งของไทยให้สามารถขยายตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยขยายตลาดสู่กลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ก่อน รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าเอสเอ็มอี และสินค้าโอทอปให้สามารถขยายตลาดเข้าสู่ตลาดค้าส่ง-ค้าปลีกไทยด้วย คาดว่าจะผลักดันให้ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกไทยขยายตลาดไป CLMV ได้ 45 ราย และขยายตลาดสินค้าของเอสเอ็มอีและโอทอปเข้าสู่ค้าปลีก-ค้าส่งได้ 2,310 ราย
ส่วนการพัฒนาเอสเอ็มอีสู่ตลาดโลก จะพัฒนาผู้ขายแฟรนไชส์รายใหม่ (แฟรนไชเซอร์) เพิ่มขึ้น 300 ราย และสร้างผู้ซื้อแฟรนไชส์รายใหม่ (แฟรนไชซี) ประมาณ 9,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้จะผลักดันให้มีแฟรนไชซีในต่างประเทศ 1,800 รายเพื่อขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลก ขณะเดียวกัน จะผลักดันให้เอสเอ็มอีใช้ช่องทางการค้าขายออนไลน์เพื่อขายสินค้าออกสู่ตลาดโลกให้ได้มากขึ้น ผ่านเว็บไซต์ thaicommercestore.com และ thaitrade.com เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *