xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ฉุนสื่อ-นักการเมือง ดูถูก-มองไร้ค่า ย้ำเดินตามโรดแมป บ้านเมืองพังต้องรับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรี เผย ให้แนวคิดส่วนตัวรัฐธรรมนูญร่างแรก ย้ ำต้องยึดตามโรดแมป ก.ค. 60 และทุกมาตราต้องเป็นสากล ไม่ต้องแก้ไขบ่อยครั้ง กำหนดบทบาทชัด อัญเชิญเศรษฐกิจพอเพียง - หลักการทรงงาน ทบทวนกระจายอำนาจ เตือนหากบ้านเมืองกลับไปแบบเดิมต้องรับผิดชอบ เพราะสื่อไม่ช่วย ย้ำร่างแรกไม่ได้ซ่อนอำนาจ ถามกลับกลัวนายกฯ คนนอกทำไม ฝากประชาชนออกเสียงประชามติเยอะ ๆ จะได้รู้ว่าใครสนใจประชาธิปไตยพื้นฐาน ฉุนสื่อ - นักการเมืองทำขัดแย้ง แถมมองตนไร้ค่า ไว้ใจแต่คนอื่น ทั้งที่อยู่มาสองปี

วันนี้ (2 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายกรัฐมนตรีมีท่าทีอ่อนลงและกล่าวหยอกล้อว่า “สวัสดีครับ ตอนนี้มาแสดงบทบาทเป็นนายกรัฐมนตรีที่ต้องพูดจาสุภาพเรียบร้อย เมื่อเช้านี้ฤกษ์ผานาทีมันเพี้ยนไปหน่อย มันเปลี่ยน และผมรู้ว่าเรื่องที่ทุกคนต้องการทราบมีอยู่เรื่องเดียว คือ ผลการพิจารณาของ ครม. ว่าอย่างไร เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องอื่นช่างมัน ไม่ต้องมีน้ำ มีท่า ไม่มีการเกษตร ไม่มีเรื่องเศรษฐกิจ เอาแต่เลือกตั้งอย่างเดียว ผมจะให้แต่เรื่องที่สื่ออยากรู้ในประเด็นหลัก เรื่องอื่นพวกท่านไม่ต้องรู้หรอก รู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ สิ่งที่ประชาชนจะได้ประโยชน์จากท่าน คือ เรื่องประชาธิปไตย การเลือกตั้ง สิทธิมนุษยชน กฎหมายช่างมัน”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างเป็นทางการว่า ในที่ประชุม ครม. ได้มีการหารือเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาสรุปให้ฟังในหลาย ๆ ประเด็น โดยเรียงแต่ละหมวดมาตรามาให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งก็มีการซักถามบ้าง แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งตนก็ได้ให้แนวคิดไปบ้างก็จะมีการกลับไปพิจารณาทบทวนภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนจะส่งกลับไปยัง กรธ. แต่ก็ถือเป็นเพียงความคิดเห็นหนึ่งเท่านั้นจากรัฐบาลของ ครม. ก็เหมือนกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ส่งความคิดเห็นกลับไปและเป็นเรื่องของ กรธ. ที่จะปรับแก้ไขต่อไป ถือว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนการเสนอร่างครั้งที่ 1 เสนอความคิดเห็นจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการปรับแก้ และเสนอร่างในครั้งที่ 2 ซึ่งมีวาระอยู่แล้วภายในกำหนดวันที่ 29 มี.ค. ต้องแล้วเสร็จ ผมได้ให้แนวความคิดไป ซึ่งไม่ใช่ในนาม ครม. หรือหัวหน้า คสช. แต่เป็นแนวคิดส่วนตัว แต่คนอื่น ๆ ก็สามารถส่งความคิดเห็นให้นายวิษณุรวบรวมอีกครั้ง ก่อนที่จะเสนอไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

“ในส่วนของผม ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบในภาพรวม ได้สั่งการว่า เรื่องทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ โรดแมปว่าอย่างไรก็จะว่าไปตามนั้น คือ มีการเลือกตั้งในปี 2560 และกระบวนการเลือกตั้งผมก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม คือ เดือน ก.ค. 2560 อย่างน้อยก็ต้องอยู่ในกระบวนการเลือกตั้งให้ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาถามผมอีกว่าจะอย่างไร ผมยังยืนยัน ก.ค. 60 เริ่มกระบวนการเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งได้เร็วก็เร็ว เพราะหลังรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะมีกระบวนการอีกเยอะแยะ 3 - 4 อย่าง ก็ไปทำให้เร็วขึ้น เดือน ก.ค. ต้องเริ่มเลือกตั้งให้ได้ และกว่าจะได้รัฐบาลมาก็อีก 1 - 2 เดือน มิใช่หรือ ต้องมีการประชุมสภา ซึ่งก็ต้องดูในรายละเอียดกันอีก คงไม่ใช่เรื่องกฎหมายลูกอย่างเดียว ผมไม่เคยพูดเป็นอย่างอื่นเลย ยังยืนยันว่า เป็น ก.ค. 60 เหมือนเดิม ส่วนจะเน้นว่าจะต้องได้รัฐบาลใหม่ในเดือน ก.ค. 60 นั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นการเริ่มของกระบวนการ ก็ต้องใบ้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งถ้าสมมติเริ่มได้ในเดือน ก.ค. จะจบเมื่อไหร่ผมไม่รู้ แต่ถ้าทำได้เร็วก็เอาสิ ยืนยันว่าผมไม่ได้ไปยืดเยื้ออะไรทั้งสิ้น ก็เป็นความหวังดีหรือเป็นสิ่งที่ กรธ. พยายามทำอยู่ให้เกิดเป็นรูปธรรมและความยั่งยืน บางคนก็บอกว่ากฎหมายลูกมาทำทีหลังได้ แต่คงไม่ใช่ เพราะถ้าทำทีหลังก็ไม่เคยได้ทำสักที หลายคนก็ห่วงแต่ก็ไม่ได้ปรึกษาผมก่อน แต่ผมก็บอกว่าถ้าทำได้ก็ทำให้เรียบร้อย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากการเลือกตั้งแล้ว ตนยังให้ความคิดเห็นไปว่า รัฐธรรมนูญต้องเป็นสากลในทุก ๆ มาตรา สามารถให้คนดูได้ ไม่ว่าจะที่มาหรือที่ไป และไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญมีการแก้ไขบ่อยนัก เพราะฉะนั้นหากมีการเขียนอะไรที่แตกต่างก็ควรจะไปบัญญัติที่จุดอื่น เพื่อไม่ต้องแก้ไขบ่อยนัก ทั้งในบทเฉพาะกาลหรือกฎหมายลูกให้มีความชัดเจน ควรมีการกำหนดระยะเปลี่ยนผ่านไว้หรือไม่ ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องการแทรกอำนาจ หรืออะไรที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน นอกจากนี้ ทำอย่างไรจึงจะเกิดการปฏิรูป โดยมีกฎหมายกระบวนการและมาตรการที่ต้องเขียนว่าต้องมีการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อย่างไร เพื่อให้เกิดความสอดคล้องทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ไม่เช่นนั้นก็เดินหน้าไม่ได้ ติดไปหมด และต้องมีการปรับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความสากลและทันสมัยให้น่าเชื่อถือ ซึ่งตนอยากให้เกิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยบทเฉพาะกาลอะไรก็แล้วแต่ให้ทำให้ได้ เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และต้องมีมาตรการ กฎหมายวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน หากขัดแย้งกันจะทำอย่างไร หากมีการประท้วงถูกต้องตามกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญใครจะเป็นคนชี้ว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิดและถ้าผิดจะทำอย่างไร ถ้ามีการประท้วง 5 เดือน 6 เดือน 8 เดือนจะแก้ด้วยอะไร ถ้ารัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ปฏิบัติตามกติกา จะทำอย่างไร นอกจากนี้ ได้มีการเสนอเรื่องการบูรณาการทำงานของรัฐบาล องค์กรมหาชนต่าง ๆ จะต้องจัดระบบการทำงานใหม่ เป็นระบบประชารัฐ คือ ความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐ ไม่ใช่เอาประชาชนมาเป็นของรัฐ จะต้องเป็นรัฐบาลของประชาชนแบะเดินยุทธศาสตร์ของประเทศไปพร้อม ๆ กันได้ นักการเมืองที่จะเข้ามาต้องทำ 2 อย่าง คือ ทำยุทธศาสตร์ประเทศและเดินยุทธศาสตร์พรรคควบคู่กันไป

นอกจากนี้ ต้องมีการกำหนดบทบาทของรัฐ ข้าราชการ ประชาชนให้ชัดเจนขึ้นในเรื่องสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ว่าสิ่งไหนควรจะร่วมมือกันในการพัฒนาประเทศได้บ้าง อะไรเป็นหน้าที่ ไม่งั้นจะเดินหน้าไม่ได้สักอย่าง อีกทั้งต้องบรรจุในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักการในงานทุกด้าน เพื่อเดินหน้าประเทศ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน รวมทั้งการปฏิรูปควรจะกำหนดเวลาให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ เกิดผลงาน ไม่เช่นนั้น 2 ปีที่ผ่านก็เหนื่อยเปล่า ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเสียงบประมาณจำนวนมาก ยังไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะยังไม่มีกฎหมาย ที่ผ่านมาทุกเรื่องต้องใช้กฎหมาย ไม่ใช่สั่งอย่างเดียว ขนาดมีกฎหมายยังทำไม่ได้ในหลายเรื่อง เป็นปัญหาของประเทศที่ติดหล่มของตัวเองอยู่ ในขณะนี้จึงต้องมีการหารือร่วมกัน

ขณะเดียวกัน จะต้องมีการทบทวนการกระจายอำนาจ ซึ่งต้องดูว่าที่ผ่านมาใน 200 - 300 กิจกรรมที่มอบให้ท้องถิ่นไปดูแลดีหรือยัง อันไหนดีก็ให้ทำต่อ แต่สิ่งไหนที่ไม่น่าจะทำต่อได้ก็ต้องหารือว่าควรจะให้ใครรับผิดชอบ ทั้งหมดนี้คือหลักการที่ตนได้เสนอแนะไป ตนผิดหรือไม่ที่เสนอแนะไปแบบนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะกลับไปเป็นยิ่งกว่าเดิม จำคำพูดของตนไว้ และถ้ากลับไปเป็นเหมือนเดิม ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพราะสื่อไม่ได้ช่วยตนเลย

“หรือช่วยไม่ได้เพราะเป็นรัฐบาลที่มาแบบนี้ ไม่ช่วยอย่านึกถึงแต่ผม อย่าเกลียดผม จะไปเกลียดลูกหลานของพวกท่านได้หรือไม่ ผมยังไม่เกลียดใครสักคนเลย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มากลัวว่าจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญ ซ่อนอำนาจ ซึ่งตนได้ให้อำนาจประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ซ่อน ให้กันเห็น ๆ นี่แหล่ะ ลองไปดูสิว่าเพื่อใคร เรื่องนายกฯ คนนอกกลัวกันอยู่นั่นแหล่ะ ไม่ต้องกลัวจะกลัวทำไม ฝ่ายการเมืองก็เลือกกันมาสิ ถึงจะเลือกตน ก็ไม่ให้เลือกอยู่แล้ว เลิกกลัวกันเสียที พอแล้วทำจนเหนื่อยแล้ว ทำกันเองบ้าง เรื่องการทำประชามติ อยากให้ออกมาใช้สิทธิกันเยอะ ๆ เห็นชื่นชมประเทศเพื่อนบ้านเขามากันเยอะดีใจ แต่ประเทศไทยยังเลือกตั้งไม่ได้เลย ตรงนี้คุณให้ร้ายประเทศตัวเองได้อย่างไร เขาเลือกตั้งเพราะอะไร ทำไมต้องเลือกตั้ง ประเทศเขาเป็นเหมือนเราไหม เขายังมีปัญหา เราต้องช่วยเขา จะซ้ำเติมเขาไม่ได้ การค้าการลงทุนเราต้องทำร่วมกัน เราทิ้งใครไม่ได้เลยในอาเซียน ฉะนั้น เรื่องประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องที่เขาต้องแก้ ไม่ใช่เราไปยุ่งกับเขาทั้งหมด ด่าเขาด่าเราทั่วไปหมด แล้วมันจะคบกันได้ไหมอาเซียน

“ประชามติออกมาให้ครบ จะได้รู้ว่ามันมีคนสักกี่คนที่สนใจประชาธิปไตยพื้นฐาน เพราะประชาธิปไตยพื้นฐานไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่พื้นฐานคือ 1. ทุกคนต้องออกมาใช้เสียงทำประชามติ 2. เลือกตั้ง ส.ส. ที่ตัวเองต้องการ 3. เลือกรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล 4. ต้องเคารพกฎหมายกระบวนการยุติธรรม 5. ร่วมมือกับรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลในการพัฒนาปรับปรุงประเทศ และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทั้งหมดของประเทศชาติ ด้วยความเท่าเทียม เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจน ไม่ใช่สร้างช่องว่างไปเรื่อย ๆ สร้างความเข้าใจผิดไปตลอด คนรวย คนจน คนกลาง ๆ ต้องไปด้วยกันทั้งหมด” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องการให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองแสดงความเห็นในร่างรัฐธรรมนูญได้ นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่อนุญาตก็ทำกันอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ยังทะเลาะกันขนาดนี้ ถ้าเปิดให้แล้วจะไปได้หรือไม่ ตนยังไม่พิจารณา

เมื่อถามว่า นายกฯ ไม่มีความสุขกับเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูกนำเข้าพิจารณาใน ครม. หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็มีความสุขที่เสร็จร่างหนึ่ง มันเกือบจะไม่ถึงร่างหนึ่งเพราะตีกันทุกเรื่อง ถามว่าใครตี ถามว่าประชาชนเดือดร้อนไหม สื่อเดือดร้อนไหม วันนี้สื่อมีสิทธิความเป็นสื่อน้อยลงหรือไม่ ที่น้อยอย่างเดียวคือสื่อต้องมานั่งฟังตนเสียงดังเท่านั้น อย่างอื่นสื่อทำได้หมด จะไปเขียนด่าตนก็ไม่สนใจ ก็เขียนไป ตรงนี้ทำไมไม่พูดให้ตนบ้าง กลายเป็นต่างชาติบอกประเทศไทยปิดกั้นสื่อ มันปิดที่ไหน ปิดตรงไหน หนังสือพิมพ์ฉบับไหนที่ตนห้าม มีไหม เวลาด่าตนโครม ๆ ทำไมไม่มีใครช่วยเขาพูดถูกไปไหม ในสิ่งที่ตนทำ ทำไมไม่แก้ให้บ้าง ประชาธิปไตย สิทธิตนนั้นก็มี ทำไมสื่อไม่ปกป้องให้ตนบ้าง จะปกป้องให้คนชั่ว คนเลวอย่างเดียวหรือ

เมื่อถามว่า เรื่องทำประชามติดูเหมือนว่านายกฯ ต้องการให้คนออกมาใช้สิทธิเยอะๆ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เพราะตนอยากให้ประชามติผ่าน แต่ไม่ใช่ผ่านแบบรัฐธรรมนูญทั่วไป มันต้องมีบทเฉพาะกาลหรือเปล่า สิ่งที่ตนทำในวันนี้ต้องการให้เกิดขึ้นในวันหน้า แล้วจะไม่มีอะไรรับประกันให้เลยหรือ สิ่งที่ตนทำจะเสียเปล่าหรือเปล่า เข้าใจหรือยัง ตีกันแต่เรื่องที่มานายกฯ เรื่องการใช้อำนาจ ทุจริต คอร์รัปชัน การตรวจสอบ นั่นหรือที่ประเทศไทยกลัวตรงนั้น ไปบอกตัวเขาสิ สิ่งเหล่านั้นควรจะเกิดมานานแล้ว รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องทำแบบนั้น เรากำลังร่างรัฐธรรมนูญให้คนเป็นแบบนั้น ต้องใช้อำนาจ ใช้กฎหมายก่อนในระยะแรก และจะมีช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านกี่ปีก็ว่ามา

“ถ้าไม่ต้องการเปลี่ยนก็เตรียมตัวตายกันให้หมด ตายจากโลกใบนี้ ตายจากประเทศต่าง ๆ เขา ต่อไปเขาไม่คบประเทศไทยอยู่แล้วจะบอกให้ มัวแต่ขยายความขัดแย้งกันไปเถอะ” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า อะไรจะเป็นอุบัติเหตุสำคัญที่ทำให้เลือกตั้งตามโรดแมปไม่ได้ นายกฯ ย้อนถามกลับว่า อุบัติเหตุจะเกิดจากอะไรบ้างพูดมา ถ้ามีความขัดแย้งการเลือกตั้งจะเกิดไหม หรือความขัดแย้งจะไม่เกิดร้อยเปอร์เซ็นต์รับรองได้ไหม และที่เกิดมาก่อนปี 2557 มาจากอะไร จากตนหรือ มีการตีกัน ยิงกันหน้าทำเนียบฯ เกิดจากอะไร ทั้งนี้ ถ้าประชามติไม่ผ่านก็เลือกตั้งไม่ได้ ถ้ามีการเอาคนมาตีกันก็เลือกตั้งไม่ได้ แต่ตนมีแผนรับมือไว้แล้ว แต่คงไม่บอกให้อีกฝ่ายมารับมือกับตน ซึ่งตนได้เตรียมไว้เอง เป็นความรับผิดชอบของตน

เมื่อถามกรณี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมไม่ผ่านประชามติอาจเจอกับรัฐธรรมนูญที่โหดกว่า นายกฯ กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ แต่อะไรคือที่เรียกว่าโหดไม่โหด และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โหดอย่างไร เรื่องนายกฯ คนนอกนั้นพรรคการเมืองเป็นคนเลือกไม่ใช่หรือ ถ้าในพรรคเป็นไม่ได้มีความขัดแย้งต้องหาคนนอกมา ที่ไม่ใช่ตน จบหรือยัง ส่วนที่บอกว่าให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากไปถามว่าใครจะตัดสิน คราวก่อนศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่หรือเปล่าก็ทำ ใครตัดสิน

รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างการตอบคำถาม พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มมีอารมณ์ฉุนเฉียว โดยใช้มือตีไปที่โพเดียมอย่างแรงสองครั้งจนทำให้แว่นสายตาที่ถอดวางไว้กระเด็นลงพื้น พร้อมกล่าวว่า “ผมไงเข้ามาให้ท่านนี่ไงเล่า แล้วท่านอยากให้ผมมาอีกหรืออย่างไร แล้วจะเอาใคร ถ้าไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วมีใครอีก ศาลเปาบุ้นจิ้นหรือไง ศาลไคฟงล่ะสิ ไปหาวิธีการให้มันทำให้ได้”

เมื่อถามว่าคนสนับสนุนให้รัฐธรรมนูญเสร็จไว แต่ความขัดแย้งจะหยุดได้หรือเปล่า นายกฯ กล่าวว่า ใครเป็นคนขัดแย้งนอกจากนักการเมือง สื่อ แล้วมีใครอีก ความขัดแย้งที่เคยเกิดหยุดไม่ได้หรอก กฎหมายยังไม่ได้เลย ถ้าไม่หวังว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ปัญหาได้ตนก็ไม่รู้ กฎหมายมีทุกกฎหมาย มาตรา 44 กฎอัยการศึกก็มียังแก้ไม่ได้เลย ถ้าทุกคนไม่แก้ด้วยตัวเอง ไม่แก้ด้วยความรู้สติปัญญา จิตสำนึก บอกเลยไม่มีแก้ได้ ต่อให้ร้อยรัฐธรรมนูญก็แก้ไม่ได้ ไปคิดสิว่ารัฐธรรมนูญต้องเป็นอย่างไร จะเลือกตั้งใครมาเรื่องของท่าน คนให้เลือกดีพอหรือยัง มีเยอะหรือไม่ ยอมรับปัญหาเดิมว่าผิดตรงไหนหรือยัง แล้ววันหน้าคนพวกนี้กลับเข้ามาจะเหมือนเดิมหรือไม่ ไปหาคำตอบกันเอง

รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างนั้น พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาส่งสัญญาณว่ามีแขกต่างประเทศรอเข้าพอนายกฯ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวว่า บอกเขาให้รอก่อน ประเทศชาติสำคัญกว่า

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นการเขียนกรอบกว้าง ๆ วรรคหนึ่ง วรรคสอง แต่กฎหมายที่จะมีผลในทางบังคับใช้ เรื่องการปฏิบัติตัวเจ้าหน้าที่จะทำอย่างไร จะไปอยู่ในกฎหมายลูก ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าความจำเป็นในกฎหมายลูกสิบฉบับจะต้องเขียนครบทีเดียว แต่ถ้าไม่ครบในตอนนี้จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้กฎหมายลูกที่เหลือออกมาครบ ต้องเขียนไว้ทั้งหมด บางประเทศที่เขาไม่ใช้รัฐธรรมนูญ เพราะเขามีจิตใจดี อย่างอังกฤษ เราเป็นอย่างเขาหรือยัง แล้วเมื่อไหร่จะเป็น วันนี้พื้นฐานคนของเขากับเราแตกต่างกัน อะไรก็กฎหมายอะไรก็เลือกตั้งมีอยู่แค่นี้จะเป็นจะตาย มันจะอดตายรู้กันบ้างไหม ทั้งการลงทุนการค้าจะเอาอะไรจากตน ไปถามรัฐบาลหน้าแล้วกัน ตนทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น ปี 2560 จบแค่นั้น ไปรับผิดชอบกันเอาเอง

เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าการทำประชามติน่าจะมีทางเลือกที่ชัดเจนว่าจะหยิบกฎหมายตัวไหนมาใช้ นายกฯ กล่าวว่า ตนให้โอกาสท่านคุยกันแล้ว ก็ว่าไปถ้าไม่ได้ก็เป็นหน้าที่ของตน ไม่เชื่อมั่นกันเหรอว่าที่ตนทำนั้นเพื่ออะไร

“ไม่ไว้ใจกันเลยหรือผมอยู่มาสองปีแล้ว ไม่เห็นผมทำอะไรบ้างหรือไง ไว้ใจคนอื่นหมดทุกคนแต่ไม่ไว้ใจผม” พล.อ.ประยุทธ์ ได้หยิบกระดาษข้อมูลร่อนทิ้งบนเดี้ยม ก่อนกล่าวว่า “ไร้ค่า” พร้อมหยุดแถลงข่าว และเดินออกจากโพเดี้ยม และหันกลับมาบอกว่า “ผมนะที่ไร้ค่า”


กำลังโหลดความคิดเห็น