xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” หวังปี 59 ชาติจะดีขึ้น จี้ คสช.เร่งปฏิรูปเอาเรื่องหลังให้สำเร็จ ห่วงเจอต่างชาติบีบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อวยพรปีใหม่ ขอคนไทยสมหวัง หวังบ้านเมืองจะดีขึ้น จี้ คสช.เร่งปฏิรูป เน้นเรื่องหลักให้สำเร็จ ระบบการเมืองดีจะลดความรุนแรง อย่ามุ่งแค่รัฐธรรมนูญ ต้องประกาศทิศทางให้ชัด เชื่อเจอแรงกดดันจากต่างประเทศเพิ่ม รวมทั้งเศรษฐกิจด้วย แนะนายกฯ ใช้ประโยชน์จากความตรงเป็นภูมิคุ้มกัน ชี้ปมอุทยานราชภักดิ์ถ้าไม่ชัดเจนไม่มีผลดีต่อใครทั้งสิ้น

วันนี้ (1 ม.ค. 59) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอวยพรปีใหม่ว่า ขอให้คนไทยสมหวัง และให้ปี 2559 เป็นปีแห่งความหวังว่าบ้านเมือง สังคม เศรษฐกิจจะดีขึ้นเพื่อประชาชนไทยทุกคน จึงอยากให้ คสช.เร่งปฏิรูปตามที่ประกาศไว้ เพราะระยะเวลาที่เหลืออยู่ปีเศษหากรัฐบาลจะหยิบเรื่องหลักมาทำให้เป็นผลสำเร็จจะช่วยให้เกิดแรงเหวี่ยงให้การปฏิรูปเดินต่อได้หลังการเลือกตั้ง คือ ทำให้ระบบการเมืองดีตอบสนองส่วนรวมลดความรุนแรง ไม่ใช่มุ่งไปที่รัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่ควรมุ่งที่สื่อมวลชน กระบวนการยุติธรรม และการป้องกันปราบปรามการทุจริต รวมถึงการกระจายอำนาจด้วย หากทำได้ก็จะทำให้เห็นชัดว่าการเมืองหลังการเลือกตั้งจะไม่เหมือนเดิม

“ถ้าพยายามปฏิรูป 11 ด้านทำได้อย่างละนิดอย่างละหน่อยจะไม่เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมายังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลปฏิรูปอะไรไปแล้วบ้าง ถ้าบอกว่าปฏิรูปแล้วแต่ประชาชนยังไม่เห็นภาพชัดเจนก็ต้องพิจารณาใหม่ ผมอยากให้ประกาศว่าจะดำเนินการสิ่งเหล่านี้ในปี 2559 แม้จะไม่สำเร็จภายในปีเดียวแต่ต้องมีความชัดเจน เพราะตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนในทิศทางว่าจะปฏิรูปอย่างไร เช่น กระบวนการยุติธรรม ตำรวจ อัยการ กระบวนการศาลปรับปรุงอย่างไรจะทำให้การปฏิรูปชัด เพราะขณะนี้มีการใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ ผบ.ตร.แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ซึ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจสวนทางกับการปฏิรูปตำรวจที่ต้องการให้มีการกระจายอำนาจ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า การปฏิรูปบางเรื่องสามารถตรากฎหมายได้โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้คำนึงด้วยว่าความยั่งยืนในการปฏิรูปไม่ได้อยู่ที่กฎหมายเท่ากับกระแสสังคมกดดันให้รัฐบาลเลือกตั้งต้องสานต่อ เพราะเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งสังคมจะสอบถามพรรคการเมืองว่าจะสานต่ออย่างไรแต่ถ้าเขียนในรัฐธรรมนูญสังคมไม่ขานรับไม่มีการกดดันอาจไม่เป็นผลตามที่ต้องการ

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดการปฏิรูปให้เป็นหน้าที่ ครม.หากไม่ทำต่อต้องพ้นจากตำแหน่งว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยว่ากลไกถอดถอนคืออะไร ทั้งนี้เห็นว่าการประกาศเรื่องที่จะปฏิรูปแล้วนำไปลงประชามติจะสร้างความชอบธรรมที่สุด เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งจะต้องรับผิดชอบกับประชาชน ดังนั้นในปีเศษๆ ที่เหลืออยู่ควรจัดลำดับความสำคัญเรื่องการปฏิรูปในเรื่องใหญ่ๆ เพราะโครงสร้างที่เป็นอยู่ตอนนี้ สปท.ไม่มีอำนาจแต่คนมีอำนาจ คือ รัฐบาลกับ สนช.

นายอภิสิทธิ์เชื่อด้วยว่า ในปี 2559 จะมีแรงกดดันจากต่างประเทศกดดัน จากเศรษฐกิจจากต่างประเทศในแง่ที่ทำให้รัฐบาลต้องผ่อนคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพซึ่งจะทำให้งานของ คสช.และรัฐบาลมีความยากและท้าทายมาก ต้องหนักแน่นมั่นคงชัดเจน ไม่มีเรื่องให้ประชาชนคลางแคลงใจ โดยตัวเองต้องเป็นตัวอย่างการปฏิรูปก่อนที่จะบอกให้นักการเมืองเปลี่ยนแปลงตัวเอง พร้อมยกกรณีอุทยานราชภักดิ์ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะบอกมาตรฐานการเมืองหลังการปฏิรูปได้จากการปฏิบัติของรัฐบาล เพราะรัฐบาลยังไม่ชี้แจงอย่างเพียงพอบอกแต่ให้รอผลสอบของกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตามมีโจทย์สองข้อที่ต้องตอบคือความรับผิดชอบทางการเมืองและความรับผิดชอบทางกฎหมาย รวมทั้งข้อเท็จจริงที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นทั้งเงินบริจาคและงบประมาณต้องตอบให้ครบ จะสรุปว่าไม่ผิดหรือผิดเล็กน้อยแล้วไม่มีความชัดเจนจะไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น อีกทั้งการมีกรรมการสอบสองชุดก็ต้องชัดเจนด้วยว่าแต่ละชุดมีขอบเขตดำเนินการอย่างไร รวมถึงองค์กรอิสระทั้ง ป.ป.ช.และสตง.ที่ตรวจสอบก็ต้องคิดถึงการรักษาความน่าเชื่อถือขององค์กรตัวเองด้วย ไม่เช่นนั้นประเทศจะอ่อนแอลง

“นายกฯ ต้องใช้ประโยชน์จากการที่สังคมมีความเชื่อมั่นว่าเป็นคนตรงและรักษาเอาไว้เป็นภูมิคุ้นกันที่ดีที่สุด รักษาไว้ด้วยการปฏิบัติให้เห็นจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้งานเดินได้ ต้องทำให้ครบทุกเรื่องเมื่อมีเรื่องกระทบกับรัฐบาลด้วย” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ส่วนกรณีที่การแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทำในช่วงรัฐบาลคสช.และมีที่มาไม่เป็นไปตามปกตินั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อกระบวนการสรรหาผ่านไปแล้วคนที่เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องรับผิดชอบกับประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า องค์กรอิสระเกือบทั้งหมดขณะนี้แต่งตั้งในยุค คสช.จะถูกครอบงำเหมือนในยุคทักษิณที่เคยเกิดขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าย้อนกลับไปในยุคทักษิณก็จะเป็นการตอกย้ำว่าไทยยังไม่หลุดพ้นวิกฤต แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมานายกฯ พูดชัดเรื่องการสนับสนุนคืนสู่ประชาธิปไตยก็ต้องดูว่าจะดีกว่าในอดีตอย่างไร เพราะปัญหาไม่ใช่มีประชาธิปไตย มากไปแต่เป็นเพราะไม่ได้มี ประชาธิปไตยที่แท้จริงในทุกมิติ ถ้าคิดว่า ประชาธิปไตยมีมากไปเช่น จะปฏิรูปสื่อด้วยการเอาตำรวจมาคุมไม่ใช่การปฏิรูปจึง
ต้องตั้งโจทย์ให้ถูกด้วย

“หวังว่าคำพูดที่บอกประชาธิปไตยและนักการเมืองไม่ดีจะไม่ใช้เป็นหลักเพราะไม่ใช่ความจริง ระบบบประชาธิปไตยดีที่สุดแต่มีคนทำลายประชาธิปไตยก็ต้องแก้ไขคนที่จะเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยเพื่อให้ระบบทำงานได้” นายอภิสิทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น