ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ชี้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะ 3 ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม พร้อมผลักดันสถาบันการเงินไทยแข่งขันได้ทั้งใน และต่างประเทศ พร้อมย้ำ การแก้ไข พ.ร.บ.ธปท. ไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.เงินตราฯ มั่นใจช่วยบริหารความเสี่ยง และเพิ่มช่องทางการลงทุนมากขึ้น
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดผลภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (22 มี.ค.) เห็นชอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะ 3 ปี 2559-2563 โดยถือเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงินสำหรับเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินไทยแข่งขันได้ สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายขึ้นด้วยราคาที่เป็นธรรม และสนับสนุนการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในภูมิภาค
สำหรับกรอบการดำเนินนโยบาย 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมการใช้บริการทางการเงิน และการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ 2.สนับสนุนการเชื่อมต่อการค้าการลงทุนในภูมิภาค เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินไทยในการสนับสนุนการขยายตัวของการค้าการลงทุน และการเชื่อมโยงของประเทศในภูมิภาครองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
3.ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อให้ประชาชนรายย่อย กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กกลาง และใหญ่ เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสมทั่วถึง และสอดคล้องต่อความต้องการ และ 4.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระบบการเงินทั้งการพัฒนาบุคลากรทางการเงิน และความคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน รวมทั้งการพัฒนาเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินให้เหมาะสมตามมาตรฐานสากล เพื่อรักษาเสถียรภาพโดยรวมของระบบ
ทั้งนี้ แผนพัฒนาฯ ระยะ 3 จะช่วยให้สถาบันการเงินไทยแข่งขันทั้งใน และต่างประเทศ โดยมีต้นทุนดำเนินงานต่ำ มีบริการที่ครบถ้วน และหลากหลาย ด้วยราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม ประชาชนรายย่อย เอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงบริการ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างเหมาะสมทั่วถึง และตรงต่อความต้องการทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ช่วยให้สถาบันการเงินไทยมีบทบาทในภูมิภาค และมีบริการระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสถาบันการเงินไทย เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศ และสนับสนุนความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างยั่งยืน
ส่วนกรณีมติ ครม.วันนี้ เห็นชอบให้แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของ ธปท. กรณีเปิดทางให้ ธปท. สามารถนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในตราสารหนี้ และตลาดทุนต่างประเทศได้ นายวิรไท ยืนยันว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.เงินตราแต่อย่างใด โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ธปท.จะช่วยบริหารความเสี่ยง และเพิ่มการลงทุนให้มีความหลากหลายมากขึ้น
โดยที่ผ่านมา มีการลงทุนผ่านสกุลเงินตราต่างประเทศ พันธบัตร และทองคำ ซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.ธปท.ครั้งนี้จะทำให้สามารถเข้าไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศมากขึ้น โดยเริ่มต้นจะทยอยลงทุนในสัดส่วนที่ไม่มากร้อยละ 3-4 โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะต้องนำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อนที่จะออกมาเป็นกฎหมายอีกครั้ง
ด้าน นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในอนาคตจะเริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์ของไทยเพิ่มทุน หรือควบรวมกิจการ ทำให้ขนาดสินทรัพย์เพิ่มขึ้น โดย ธปท.พร้อมสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแข่งขันระดับโลกได้