xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ไม่สบายใจ! ข่าวรัฐบาลใช้เงินแบงก์รัฐ 8 แสนล้านเกิดหนี้เสีย สั่ง “สมคิด” เคลียร์สื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษกรัฐย้ำหนี้สินครัวเรือน “ยุคลุงตู่” ทรงตัวแล้ว ไม่เพิ่มสูงเหมือนช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เผยหนี้ครึ่งหนึ่งเป็นตัวเลขซื้อบ้าน - ที่อยู่อาศัย ส่วนหนี้จากการใช้จ่ายไม่น่ากังวล ยัน ธปท. ดูแลใกล้ชิด ด้าน “บิ๊กตู่” สั่ง “รองสมคิด” ทำความเข้าใจสื่อข่าวใช้เงินแบงก์รัฐ 8 แสนล้าน หวั่นก่อให้เกิดหนี้เสียหมื่นล้าน รับเป็น NPL แค่ 1.3% ยันเป็นเงินบริหารสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพกว่าแบงก์พาณิชย์

วันนี้ (1 มี.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า กรณีตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนในช่วงระยะ 8 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ประมาณปี 2550 และ 2551 เป็นต้นมานั้น พบว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณร้อยละ 81.1 ของจีดีพี โดยอาจจะเกิดจากมาตรการเรื่องของรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก บัตรเครดิต แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังและทีมเศรษฐกิจ รายงานว่า ณ ขณะนี้อัตราการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนทรงตัวแล้ว ไม่เพิ่มขึ้นสูงเหมือนเช่นในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดยหนี้สินเพื่อความจำเป็นในการดำรงอยู่ของชีวิต เช่น การนำเงินไปซื้อบ้าน ฯลฯ เป็นจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของหนี้ที่มีอยู่ ส่วนหนี้ที่จะใช้จ่ายให้เกิดความคล่องตัวนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งไม่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด

สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวระบุรัฐบาลไปนำเงินของธนาคารรัฐมาใช้ประมาณ 8 แสนกว่าล้านบาท และก่อให้เกิด NPL หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กว่าหมื่นล้านบาทนั้น เรื่องนี้ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดว่าวงเงินดังกล่าว ธนาคารรัฐได้มีการเตรียมเงินส่วนนี้เอาไว้สำหรับการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งในจำนวน 8 แสนกว่าล้านบาท เป็น NPL เพียงแค่ประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท เปรียบเทียบแล้วประมาณ 1.3% เท่านั้น ทั้งนี้ หากเทียบกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ปรากฏว่าธนาคารพาณิชย์มี NPL ถึง 2% ซึ่งตรงนี้เมื่อเปรียบเทียบแล้วจะพบว่าการบริหารสินเชื่อของธนาคารของรัฐดีกว่าธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปด้วย

“วันนี้ นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง ไปทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนที่มีการเสนอและเผยแพร่ข่าวเช่นนี้ ให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดว่าเงินที่นำไปดำเนินการดังกล่าวเป็นการบริหารจัดการสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพกว่าธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรับที่จะไปชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนและสังคมเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อไป”

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. ยังมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2559 ครั้งที่ 1 โดยในส่วนของแผนก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจนั้น มีแผนการก่อหนี้ใหม่ 562,678 ล้านบาท ลดลง 1,248 ล้านบาท จากเดิมที่ 563,926 ล้านบาท

สำหรับแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจนั้น ปรับเป็น 901,653 ล้านบาท ลดลง 2,969 ล้านบาท จากเดิมที่ 904,623 ล้านบาท ส่วนแผนบริหารความเสี่ยงของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจนั้น ปรับเป็น 155,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32,075 ล้านบาท จากเดิมที่ 123,114 ล้านบาท ทำให้ในภาพรวมแล้วมีการปรับปรุงวงเงินใหม่เป็น 1,619,522 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27,857 ล้านบาท จากเดิมที่ 1,591,664 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม. ยังรับทราบการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะในส่วนของรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ตัองขออนุมัติจากครม.ภายใต้กรอบแผน โดยแผนการก่อหนี้ใหม่นั้นอยู่ที่ 50,280 ล้านบาท ลดลง 24,531 ล้านบาท จากเดิมที่ 74,811 ล้านบาท ส่วนแผนปรับโครงสร้างหนี้ ยังคงเดิมที่ 2,300 ล้านบาท ส่วนแผนบริหารความเสี่ยง ปรับมาเป็น 69,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,926 ล้านบาท จากเดิมที่ 59,393 ล้านบาท ทำให้ในภาพรวมแล้วมีการปรับปรุงวงเงินใหม่เป็น 121,900 ล้านบาท ลดลง 14,605 ล้านบาท จากเดิมที่ 136,505 ล้านบาท

“ในส่วนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ จะเห็นว่าการก่อหนี้ใหม่ลดลง 25,780 ล้านบาท แต่การบริหารหนี้ซึ่งหมายรวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ บริหารความเสี่ยง ทั้ง roll over หรือการทำ swap ก็แล้วแต่มันเพิ่มขึ้น 39,032 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราก่อหนี้ใหม่ลดน้อยลง กู้น้อยลงจากแผนเดิมที่วางไว้ แต่บริหารหนี้ที่มีอยู่แล้วเสียใหม่ ทำให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไม่ได้ก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นไปกว่าเดิม และหนี้สาธารณะยังอยู่ในวินัยการคลังคือไม่เกิน 60% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 45.1%” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น