xs
xsm
sm
md
lg

ส่งสัญญาณไม่ลดดบ. “วิรไท”ห่วงผลข้างเคียง ยันศก.ไทยกันชนแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าการ ธปท.เผยยังไม่ถึงเวลาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประสิทธิผลนโยบายภาครัฐมีมากกว่า ยังห่วงเสถียรภาพการเงินเหตุข้างหน้าที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง แต่กันชนด้านต่างประเทศของไทยยังดี ส่วนค่าเงินบาทจะดูแลไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว แนะยกระดับเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ“ผู้จัดการรายวัน360”ว่า ภาวะสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวแบบช้าๆ และไม่กระจายตัว ราคาตกต่ำของสินค้าโภคภัณฑ์ยังลากยาวต่อไป สภาพคล่องส่วนเกินอยู่ในระบบค่อนข้างมาก เสมือนน้ำล้นไหลไปไหนทีก็ไหลแรง ทำให้เกิดความผันผวนระบบการเงิน อีกทั้งเริ่มเห็นการปรับโครงสร้างการผลิตใหม่หลายจุดของโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตสูงและตลาดขนาดใหญ่จะย้ายการผลิตกลับมาในประเทศตัวเองมากขึ้น ทำให้การพึ่งพาการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกไม่ได้มีผลต่อการค้าโลกมากนักในระยะหลัง

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ควรเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น โดยปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจไทยก็ยังแรงขับเคลื่อนของการเติบโต อีกทั้งการเบิกจ่ายของภาครัฐสถานการณ์ปัจจุบันมีประสิทธิผลมากกว่าการใช้นโยบายการเงิน ทำให้ธปท.ต้องระมัดระวังเสถียรภาพการเงินหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ฐานะการออมของประเทศในช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งพฤติกรรมของประชาชนมุ่งหาผลตอบแทนสูงก็ยังเป็นจุดเปราะบางในระบบเศรษฐกิจอยู่

“เวลาที่นโยบายการเงินจะมีประสิทธิผลเยอะก็ต่อเมื่อสถานการณ์ตึงตัว เช่น สภาพคล่องในระบบตึงตัวแล้วไปลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะช่วยให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจได้จริง แต่ขณะนี้ไม่ได้อยู่ในสภาวะตึงตัว สภาพคล่องล้นอยู่ ถ้าเราไปลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ประสิทธิผลมันจะไม่แรง อีกทั้งปัจจุบันกลไกภาครัฐยังเดินหน้าได้ ถือมีประสิทธิผลที่ดีกว่า เพราะถ้าใช้นโยบายการเงินมากเกินไปอาจจะมีผลข้างเคียงได้”

เมื่อปี 58 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งตลาดมองว่าเซอร์ไพรส์ ช่วงนั้นภาครัฐยังมีข้อจำกัดมากไม่สามารถทำหน้าที่ได้ การเบิกจ่ายไม่เกิด จึงเป็นการดำเนินนโยบายการเงินล่วงหน้าสถานการณ์ แม้ปัจจุบันความเสี่ยงต่างประเทศมากขึ้นและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า แต่ยังต้องให้ความสำคัญเรื่องเสถียรภาพการเงินไทย จึงเหตุผลสำคัญคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องรักษารักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นจริงๆ

น้ำหนักความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทยมีความชัดเจนมากขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก จึงเป็นไปได้ที่จะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ธปท.กำลังอยู่ระหว่างประเมินและติดตามข้อมูล จึงต้องรอการประชุมกนง.ในวันที่ 23 มี.ค.นี้และจะประกาศประมาณการเศรษฐกิจใหม่วันที่ 31 มี.ค.ในรายงานนโยบายการเงินฉบับแรกของปีนี้

เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนต้องคำนึงหลายปัจจัย มีข้อดี-ข้อเสียหลายด้านและแต่ละช่วงจังหวะผู้รับประโยชน์แตกต่างกัน ปัจจุบันโลกมีอุปทานส่วนเกินเยอะ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตทั่วโลก และดีมานส์ฟ่อ ทำให้สินค้าส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดน้อย ฉะนั้น ความเชื่อที่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนยิ่งอ่อนจะช่วยภาคส่งออกมากขึ้นในแง่ของการเพิ่มขึ้นสภาพคล่องรูปเงินบาท ขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะเวลามากกว่า ซึ่งในรายงานการประชุม กนง.ให้ความสำคัญเรื่องนี้ พูดชัดเจนว่าทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่อง ไม่ให้ค่าเงินเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ธปท.เริ่มเห็นปรากฏการณ์เงินทุนไหลเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง ธปท.ย้ำเสมอให้ระมัดระวังเรื่องความผันผวนและความผันผวนนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งสองทิศทาง ตั้งแต่ช่วงต้นปีผ่านมาสะท้อนไปยังราคาหุ้น น้ำมัน ทองคำ และค่าเงินของทุกประเทศตลาดเกิดใหม่ จึงจำเป็นจะต้องรักษากันชนสำคัญ เพื่อลดแรงกระแทกไม่ให้กระทบไทยจนเสียศูนย์ได้ง่าย ขณะที่ภาคธุรกิจไทยควรให้ความสำคัญการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำมากขึ้นไปในภาวะข้างหน้าที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง

“เวลาอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในระดับต่ำมากๆ เป็นเรื่องปกตินักลงทุนแสวงหาผลตอบแทนหลายระดับ ยิ่งเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป สภาพคล่องส่วนเกินสูง ความไม่แน่นอนนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทำให้บางครั้งอาจจะเงินทุนระยะสั้นเข้ามาพักบ้าง แต่กันชนด้านต่างประเทศของไทยค่อนข้างดี จึงมีความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ที่มีการส่งออกพลังงานหรือสินค้าโภคภัณฑ์ หนี้ต่างประเทศสูงจะอ่อนไหวได้ง่ายกว่า”

ฉะนั้น การยกระดับเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยจะต้องดำเนินการหลายเรื่องได้แก่ 1. การส่งเสริมลงทุนรัฐ-เอกชนให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง มองว่าควรการลดขั้นตอนหรือหลักเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคการทำธุรกิจในไทยให้ง่ายขึ้น 2.กระบวนการสื่อสารต่อประชาชนและภาคธุรกิจโปร่งใสชัดเจน เพื่อเอกชนสามารถวางแผนทำธุรกิจได้ 3.การปฏิรูปการศึกษา เพื่อลดการขาดบุคลากรในงานทุกระดับ และ4.ผนวกตลาดการค้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ประเทศเหล่านี้ยังมีศักยภาพโตต่อเนื่อง ถือเป็นการสร้างความสมดุลให้เศรษฐกิจไทยมากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น