ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - พระอาทิตย์ตั้งฉากกับกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางงาน “Taste Sustainability รักรส มีวนา รักษ์ป่า ยั่งยืน” อีกหนึ่งโครงการสำคัญภายใต้การดูแลของกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ “ผู้จัดการ 360 ํ” ได้มีโอกาสฟังทัศนคติการดำเนินธุรกิจจาก “วิเชียร พงศธร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทพรีเมียร์
แน่นอนว่าบนเวทีแห่งการแข่งขันทางธุรกิจแต่ละหน่วยงานองค์กรทางธุรกิจย่อมต้องมีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่จะสร้างโอกาสในการประสบความสำเร็จและความก้าวหน้า ซึ่งก็เป็นแนวปฏิบัติพื้นฐานของการทำธุรกิจ
หากแต่ไม่ใช่กับวิเชียร พงศธร ที่นั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ที่ปัจจุบันมี 4 ธุรกิจหลักประกอบด้วย บริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัทพรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับลิสซิ่ง รถเช่า บริษัทพรีเมียร์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และบริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2554
ทั้งนี้การขยายธุรกิจด้านพลังงานนั้นเป็นเพียงการต่อยอดจากธุรกิจสิ่งแวดล้อมที่ทำอยู่ก่อนแล้ว โดยใช้บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ เป็นหัวหอกในการลงทุน เนื่องจากเป็นธุรกิจเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาสิ่งแวดล้อมกับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์
วิเชียรที่เรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์ และปริญญาโท MBA เข้ามาช่วยงานพรีเมียร์ตั้งแต่ปี 2523 และรับตำแหน่งกรรมการของบริษัทตั้งแต่ปี 2535 กระทั่งปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
ภายใต้แนวความคิดในการทำธุรกิจบนโลกยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าและตระหนักถึงการเกื้อกูลกันของลูกค้า คู่ค้า พนักงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดแนวคิดที่จะสร้างมูลนิธิที่นำเอากำไรจากกลุ่มบริษัทพรีเมียร์มาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด “กำไรที่เป็นประโยชน์ร่วมกันและมาจากความยั่งยืนของสังคมโดยรวมคือกำไรสูงสุด” วิเชียรอธิบายความ
ประสบการณ์จากการทำธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจพลังงานสะอาด สินค้าแฟร์เทรด ประกอบกับสังคมยังขาดความตระหนักถึงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ วิเชียรจึงพยายามจะสร้างแรงกระเพื่อมโดยหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ขยายวงต่อไปยังผู้เกี่ยวข้อง กลายเป็นระบบนิเวศใหม่ที่มีคนจากภาคส่วนต่างๆ มาช่วยกันอุ้มชูสังคม ซึ่งผลที่ได้คือสังคมที่ดีและเข้มแข็งอันจะกลายเป็นมูลค่าเพิ่มที่สำคัญของธุรกิจ
“สังคมไทยจำเป็นต้องปรับทัศนคติ ออกแบบความคิด และสร้างห่วงโซ่ใหม่ เกษตรกร เจ้าของธุรกิจ ผู้บริโภค ป่า น้ำ ธรรมชาติ ต้องสร้างความยั่งยืน และความยั่งยืนต้องเอื้อประโยชน์ต่อทุกคนในห่วงโซ่” วิเชียรกล่าว
กระนั้นสายงานพัฒนาความยั่งยืนของสังคมที่เกิดขึ้นจากกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อคนไทย มูลนิธิยุวพัฒน์ มูลนิธิเอ็นไลฟ์ ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า 10 โครงการ เช่น โครงการกองทุนคนไทยใจดี โครงการองค์กรอาสาสมัครและอาสาสมัครองค์กร และออกเสียงออกแบบประเทศไทย โครงการ Food 4 Good โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต โครงการหมู่บ้านโคกขี้เหล็ก ค่ายเยาวชนต้นกล้ารักกระบี่รักษ์อันดามัน โครงการกองทุนการศึกษาเพื่อเด็กขาดโอกาส โครงการครูรุ่นใหม่สอนเด็กไทยโตไปไม่โกง โครงการคนไทยขอมือหน่อย ร้านปันกัน และล่าสุดกาแฟมีวนา กาแฟอินทรีย์ที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำในจังหวัดเชียงราย
อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนที่เป็นเป้าประสงค์หลักของกลุ่มพรีเมียร์นั้น เริ่มต้นจากการสร้างทัศนคติ ความเข้าใจโดยเริ่มจากคนในองค์กร “อะไรที่ดีสำหรับธุรกิจ จะต้องดีสำหรับพนักงานและดีกับสังคมด้วย ขณะเดียวกันพนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายเดียวกันกับบริษัท สังคมเราก็จะดีด้วย”
ทั้งนี้วิเชียรยังอธิบายเพิ่มเติมว่า “ก่อนที่จะขยายผลไปที่พนักงานในองค์กร และสังคมภายนอก จะต้องสร้างความพึงพอใจ เมื่อพนักงานมีความพึงพอใจในการทำงาน เขาจะเกิดความมั่นใจ ความมั่นคง และเมื่อมีประสิทธิภาพจะสามารถขยายผลไปสู่สังคมภายนอกได้อย่างมั่นคง”
กระนั้นการพูดคุยกับวิเชียร พงศธร ทำให้เราได้เห็นถึงแนวความคิดและทัศนคติ ที่ไม่ใช่มีเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้แก่หุ้นส่วนบริษัทในเครือเท่านั้น ดูเหมือนทิศทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มพรีเมียร์ทั้งในมิติขององค์กรแสวงหากำไร และองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งทั้งสองมิติเสมือนเป็นกลไกสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนสังคม อย่างที่น้อยองค์กรนักจะมี
วิเชียรมองภาพรวมของสังคมในปัจจุบันอย่างที่ไม่ยกเอากลุ่มพรีเมียร์ขึ้นมาเป็นตัวอย่างว่า “อยากให้มีคู่แข่งที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมเยอะๆ เพราะผลดีไม่ได้เกิดขึ้นกับนักลงทุนเพียงอย่างเดียว หากแต่ผลดียังปรากฏต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมส่วนรวม เมื่อเรายังใช้ชีวิตอยู่กับสังคม สิ่งแวดล้อม การตอบแทนน่าจะเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้แก่ตัวเราและสังคมได้มาก”
หลักคิดและแนวทางปฏิบัติของวิเชียร พงศธร น่าจะเป็นแรงหนุนนำที่ดีต่อสังคมไทย ทั้งนี้วิเชียรยังมองสังคมไทยว่า “หลายประเทศที่เป็นประเทศเกษตรกรรมนั้น เขาสนับสนุน และสร้างให้คนรุ่นลูกเห็นถึงความสำคัญของอาชีพนี้ อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่สร้างความภาคภูมิใจได้ ดังเช่นที่บริษัท เราสนับสนุนกาแฟอนุรักษ์ป่า เพราะเรื่องราวของความเป็นมาของกาแฟมีวนาจะถูกบ่มเพาะอยู่ในเมล็ดกาแฟ และถูกส่งต่อผ่านรูปแบบการค้าที่เป็นธรรมสู่มือผู้บริโภค นี่เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ”
น่าติดตามต่อว่าทิศทางของกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ และมูลนิธิที่อยู่ภายใต้การดูแลจะดำเนินไปอย่างไร หากวันหนึ่งผู้ชายที่ชื่อ “วิเชียร พงศธร” ไม่ได้นั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แล้ว หวังเพียงว่าดีเอ็นเอแห่งการสร้างความยั่งยืนต่อองค์กรและสังคมแบบ “วิเชียร” จะถูกส่งต่อและถ่ายทอดต่อไป