xs
xsm
sm
md
lg

สมมติหลุดพ้น

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

พุทธศาสนานิกายเซน กล่าวถึงการตรัสรู้ว่า มนุษย์และสรรพสัตว์ต้องมีธรรมชาติแห่งพุทธะทัดเทียมกัน โดยไม่จำกัดว่า จะต้องเป็นเพศอะไร คือไม่จำเพาะว่าเป็นชายหรือหญิง เป็นนักบวชหรือฆราวาส อายุมากหรือน้อย มีภูมิความรู้หรือมีภูมิธรรมขั้นใด หรือเป็นชนชั้นใด

หมายถึงมนุษย์ทุกคนบนโลก มีโอกาสบรรลุหรือเข้าใจธรรมเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ เมื่อใดสามารถรื้อถอน “ความมืดบอดทางปัญญา” ที่ปกคลุมปกปิดมานาน

ความสว่าง ความเข้าใจ และนิพพาน หรือความพ้นทุกข์ ก็จะบังเกิดกับผู้นั้นโดยพลัน ในช่วงชีวิตปัจจุบัน

นั่นคือ...บทสรุปของอาจารย์นิโรธ จิตวิสุทธิ์ นักเขียนอิสระนามอุโฆษ ผู้ร่วมก่อตั้ง “เซนสยาม” กับผองเพื่อนสหายธรรมทั่วประเทศ เจ้าของผลงาน “รหัสลับบรรลุธรรมแบบเซน” ธรรมะกระตุกจิตปลุกชีวิตตื่นรู้

สมมติหลุดพ้น

มหรสพการละเล่นรื่นเริง ประเภทลิเก หมอลำ ผู้แสดงมักเปิดตัวด้วยคำครูที่ว่า...

“ขอสมมตินามไปตามท้องลาย” ผู้แสดงอีกคนที่ยืนอยู่ข้างๆ แจมว่า “ท้องเรื่อง” แล้วคนแรกก็พูดต่อ “ขอสมมตินามไปตามท้องเรื่อง ข้าน้อยมีนามว่า บักหำใหญ่ มีน้องคนหนึ่งยืนอยู่ข้างๆ เนี่ย ชื่อว่า บักหำน้อย” (หำน้อย) “หำน้อยหำใหญ่ก็หำคือกัน อย่าแบ่งแยก เดี๋ยวแตกสามัคคี” (หำใหญ่) “โอเคๆๆ วันนี้เราสองพี่น้องจะไปพบท่านพ่อท่านแม่ เพื่อกราบลาท่านไปเรียนวิชา” (หำน้อย) “วิชาอะไร” (หำใหญ่) “วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม” (หำน้อย) “เรียนมาทำไม” (หำใหญ่) “ปราบคอร์รัปชัน ตัวอันตรายทำลายชาติ” (แล้วทั้งสองก็หัวเราะพร้อมกันดังๆ) “5555555555” (ดนตรีบรรเลง) สองพี่น้องเชิดหรือรำท่าอาเซียนบูรณาการสานฝัน เข้าโรงไป

นี่คือสมมติ จะทำอะไรต้องตอกย้ำก่อน มิเช่นนั้นมันจะหลงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงๆ แล้วยึดมั่นถือมั่นกลายเป็นเหตุแห่งทุกข์

สิ่งทั้งมวลล้วนเป็นมายา คือไม่ใช่ของจริง ด้วยกันทั้งนั้นแหละ

สมมตินามไปตามท้องลาย มองได้หลายมุม หลายมิติแบบสองแง่สองง่ามไปทางสัปดนก็ได้

แต่ผมมองว่า “ท้องลาย” เพี้ยนมาจากคำว่า “Outline” หรือ “เค้าโครงเรื่อง” นั่นเอง

ดังนั้น อย่าด่วนปรามาสสบประมาทลิเก หมอลำ บักหำน้อย บักหำใหญ่กันนักเลย บางทีเขาอาจจะมีกึ๋นมากกว่าเราเสียอีก เพียงแต่มีบางสิ่งบางอย่างปิดปากเขา มิให้พูดสิ่งที่แทงใจดำผู้มีอำนาจบาตรใหญ่เท่านั้นเอง

สมมติหลุดพ้นเป็นสองด้านของชีวิต เหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน

การปฏิบัติธรรม คือการทำหน้าที่ ใครมีหน้าที่อะไร ก็ทำหน้าที่นั้นให้เต็มที่ ดีและถูกต้องที่สุด

ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเป็นอย่างไร?

ดีที่สุดก็คือ ทำแล้วประสบผลสำเร็จ หรือบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น...

น้องเมย์-รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันสาวไทย มือหนึ่งของโลก และอีกเป้าหมายหนึ่งของเธอก็คือ “เหรียญทองโอลิมปิก” เป็นต้น

เป็น ป.ป.ช.ก็ต้องปราบคอร์รัปชันให้ถึงที่สุด เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่ใช่ช่วยเหลือคนผิดให้พ้นโทษ

เป็นผู้นำ หรือหัวหน้าหน่วยงาน ต้องรู้จักเลือกคนดี คนเก่ง คนกล้า มาร่วมงาน เมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ ก็ต้องใช้อำนาจนั้นส่งเสริมคนดีให้มีอำนาจบริหารบ้านเมือง และขจัดคนไม่ดีออกไป อย่าให้ลอยนวล คิดทำอะไรต้องซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ มิใช่ตีฆ้องร้องป่าวให้ทุนผูกขาด ทุนต่างชาติ ทุนสามานย์มากอบโกยสมบัติชาติปานได้เปล่า ขณะที่คนส่วนใหญ่ในชาติจนกระจาย ไร้ที่อยู่ทำกิน เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว

แม้เป็นประชาชนไม่มีอำนาจอะไร ก็ทำความดีให้บ้านเมืองได้ อย่างเมื่อวันที่ 21 เมษายน ณ ศูนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต คณะปูชนียบุคคลไทย นำโดย ศาสตราจารย์ระพี สาคริก แถลงเรียกร้องให้รัฐหยุดต่อใบอนุญาตทำเหมืองทองคำ ที่ผ่านมาคนไทยไม่ได้อะไร นอกจากผลเสียทั้งชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติเสนอรัฐเร่งฟื้นฟู และขอให้ยุตินโยบายทำเหมืองแร่ทองคำทุกพื้นที่ของประเทศ

นี่คือผู้ใหญ่ที่ใหญ่จริง เพราะมีความดี ความเก่ง ความกล้า คอยให้ปัญญาแก่ประชาชนและรัฐเสมอมาอย่างมั่นคง... “คน-ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย”

และ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยปัญญาที่เรียกว่า อิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ ความคิดมุ่งไป ไม่ฟุ้งซ่าน และวิมังสา ความไตร่ตรอง หรือวิเคราะห์ ตรวจสอบตัวเองบกพร่องรีบแก้ไข ดีแล้วถูกต้องแล้วก็เจริญขึ้นเรื่อยๆ หรือเดินหน้าต่อไป

นี่คือคุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ นี่คือคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย

นี่คือการทำหน้าที่ ที่ดีและถูกต้องที่สุด ที่บุคคลควรประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจบริหารปกครองบ้านเมือง ต้องทำให้เป็นตัวอย่าง จึงจะสมกับค่าจ้างหรือเงินเดือนจากภาษีประชาชน

.............................

สมมติเป็นผล มาจากเหตุคือความคิดปรุงแต่ง

หลุดพ้น คือพ้นจากความคิดปรุงแต่ง หรือพ้นจากสมมติ

หลุดพ้นเกิดก่อนสมมติ แล้วก็จะเกิดหลังสมมติ

หลุดพ้น สมมติ หลุดพ้น สมมติ หลุดพ้น สมมติ.....หมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวัฏจักร ตราบที่ยังตัดไม่เด็ดขาดถึงที่สุด

หลุดพ้นสมมติ

หลุดพ้นหรือวิมุตติ คือความว่าง ว่างจากความคิดปรุงแต่ง หรือว่างจากสมมติ

เรื่องอย่างนี้พอพูดได้ แต่พูดให้ใครๆ เข้าใจได้นั้น ค่อนข้างยาก มันเป็นเรื่องเฉพาะตน

โดยส่วนตัว ผมก็พอเข้าใจบ้าง ในสิ่งที่ผมคิด สิ่งที่ผมพูด หรือสิ่งที่ผมสัมผัสด้วยตัวเอง

“สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า เพราะสิ่งทั้งมวลล้วนสมมติ”... (บันทึกใจไร้ใจ/12042559/16.40)

หากใครอยากรู้รายละเอียดที่มากด้วยความคิดปรุงแต่ง หรือรอบรู้ด้วยวิชาการ ให้ดูได้ที่ผู้จัดการออนไลน์ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม 2558 หรือหนึ่งคือทั้งหมด รวมบทความ 2558)

บทความฉบับดังกล่าว เป็นกวี 4 แถวเขียนไว้ว่า... “สมมติหลุดพ้น รู้ตนสองด้าน ทุกสิ่งตระการ บรรสานหนึ่งเดียว”

ว่างคือที่สุด

จิตของพระโพธิสัตว์นั้น เหมือนกับความว่าง เพราะท่านได้เพิกถอนสิ่งต่างๆ ออกเสียแล้ว และไม่ปรารถนาแม้แต่จะสร้างสมบุญกุศล

เมื่อทุกๆ สิ่งทั้งภายในและภายนอก ทั้งรูปธรรม และนามธรรมถูกเพิกถอนแล้ว

เมื่อความยึดมั่นต่างๆ ไม่มีเหลืออยู่ เช่นเดียวกันกับความว่าง

เมื่อการกระทำทั้งหมดเป็นไปแต่ตามควรแก่สถานที่และสิ่งแวดล้อมล้วนๆ (ไม่มีกิเลสเจือปน)

เมื่อความรู้สึกว่า มีตัวตนในฐานะเป็นผู้กระทำ และความรู้สึกว่า มีตัวตนในฐานะเป็นผู้ถูกกระทำนั้น ถูกเลิกล้างไปหมดแล้ว

นั่นคือวิธีแห่งการเพิกถอนชนิดสูงสุด

และนั่นคือ...ปรมานุตตรสุญญา-ความว่างสูงสุดไม่มีอะไรยิ่งกว่า ซึ่งเป็นพุทธภาวะที่แท้จริง
จิตเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ใครๆ ก็ปรารถนาไปให้ถึงที่สุดของจิต

ที่สุดของจิตคืออะไรเล่า?

ที่สุดของจิตคือความว่าง หรือสุญญตา!

มนุษย์ตื่นรู้

การตื่นขึ้นจากความหลับใหล หรือการตื่นรู้นั้น มิใช่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ล้ำลึกแต่อย่างใด และจะบอกว่าเป็นสิ่งธรรมดาสามัญก็มิใช่

ปัญหาสูงสุดอยู่ที่ในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเป็นแบบเซนนั้น ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน

นั่นคือ ผู้ใดประสงค์ที่จะเข้าถึงคุณลักษณะแห่งเซน ต้องแสวงหาสิ่งที่มีอยู่ภายในตัวเอง มิใช่หวังพึ่งพิงสิ่งภายนอก

เซนประกาศก้องออกมาว่า มนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการตรัสรู้ และการตรัสรู้ หรือการรู้แจ้ง เป็นปีติสุขยิ่งของมนุษยชาติทั้งหลาย

แต่กระนั้น ปัญหาที่นิกายเซนตระหนักก็คือ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะสามารถขจัดโซ่ตรวนแห่งความโง่เขลา และสามารถขจัดความคิด แบ่งแยกออกไปอย่างฉับพลันทันที

ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยว ในอันที่จะมุ่งตรงไปเพื่อการแสวงหาตัวตนที่แท้ภายในตน

ซึ่งการนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนักแต่อย่างใด

การรู้แจ้งอาจเกิดขึ้นแบบมิใช่รวดเร็ว หรือง่ายดายอย่างที่คิดกัน หรืออาจเกิดขึ้นรวดเร็วฉับพลันก็เป็นได้

นั่นคือ... “แสวงหาสิ่งภายใน ไม่ใช่พึ่งพิงสิ่งภายนอก” อันเป็นบทความของอาจารย์นิโรธ จิตวิสุทธิ์ ในหนังสือ “ก้าวพ้นทุกข์ สู่สุขด้วยจิตที่ว่างเปล่า”...ธรรมะเพื่อปลดปล่อย “ตัวตน” จากกรงขังแห่งความทุกข์ สู่ความรู้แจ้งอย่างฉับพลัน

“หลับยืนตื่นรู้” คือจิตสองด้านของมนุษย์ การดูจิตก็ดูตรงนี้ รู้ตัวทั่วพร้อมก็อยู่ตรงนี้ กำลังหลับยืนหรือกำลังตื่นรู้ อยากให้อะไรเพิ่ม อยากให้อะไรลด ก็ทำเอาเองเถิด

“สมมติหลุดพ้น

หลุดพ้นสมมติ

ว่างคือที่สุด

มนุษย์ตื่นรู้”


อิสรภาพ คือภาวะที่จิตไม่ยึดติดกับสิ่งใด จิตไม่ยึดติดกับอะไร นั่นคือความว่างเปล่า หรือสุญญตา ผู้ใดเห็นสุญญตา ผู้นั้นคือ ผู้ตื่นรู้

หลับยืนคือสมมติ ตื่นรู้คือหลุดพ้น เป็นสองด้านของชีวิต เหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน

“สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า” เพราะ “สิ่งทั้งมวลล้วนสมมติ”

แจ้งจ่างป่าง ดั่งตะวันไร้เมฆหมอก?

กำลังโหลดความคิดเห็น