xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กป้อม"สั่งทุกฝ่ายหุบปาก ห้ามวิจารณ์ชี้นำประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"บิ๊กป้อม"ประกาศห้ามทุกฝ่าย รวมทั้งสื่อ ไม่ให้โฆษณาข้อดี ข้อเสีย รับหรือไม่รับร่างรธน. ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเอง สั่ง จนท. ตรวจสอบกรณี "นปช.-กปปส." แถลงข่าว ผิด พ.ร.บ.ประชามติหรือไม่ ยันไม่ได้เอาพลาสเตอร์ปิดปากใคร อยากเสนอความเห็นให้ไปพูดที่บ้าน ด้าน "บิ๊กตู่" มอบนโยบายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั่วประเทศ บอกเราสีเดียวกัน คือสีกากี ต้องช่วยกัน ยืนยันไม่ได้ไม่ชอบ หรือรังเกียจใคร แต่ต้องทำตามหน้าที่ และกฎหมาย อย่าให้ใครมาบิดเบือน ลั่นไม่ทะเลาะกับคนที่ไม่กลับมาสู้คดี เสียเวลา

เมื่อวานนี้ (25เม.ย.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ต่างออกมาแถลงข่าวแสดงท่าทีว่า ไม่รับ และ รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า นี่เป็นสาเหตุที่ต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ เพื่อไม่ให้มีใครชี้นำ ใครจะชอบ หรือไม่ชอบก็แล้วแต่ เราไม่ให้มีการโฆษณา หรือยกป้ายสนับสนุน ไม่สนับสนุน เพราะมันจะไม่จบสิ้น ต้องปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเอง เพราะมีทั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะต้องชี้แจง ถึงเจตนาในการร่าง และ กกต. ที่จะมาอธิบายขั้นตอนต่างๆ ในการลงประชามติอยู่แล้ว

ส่วนการแถลงข่าวของ กปปส. และ นปช. ในครั้งนี้จะเป็นความผิดหรือไม่นั้น กำลังให้เจ้าหน้าที่เขาไปตรวจสอบดู เพราะทำอย่างนี้ไม่ได้ กฎหมายออกมาแล้ว ขอให้หยุดเสียที อยากชอบก็ชอบไป แต่ให้ไปคุยกันในบ้านตัวเอง ไม่ต้องออกมาโฆษณา สื่อก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปถามแล้ว จบแล้ว ถามอยู่นั้นแหละ ถามคนชอบก็ชอบ คนไม่ชอบ ก็ไม่ชอบ ถามไปก็ได้คำตอบแบบนี้ทุกครั้ง เป็นประเด็นตลอด ดังนั้นสื่อไม่ต้องไปถามแล้ว พอแล้ว ปล่อยให้ประชาชนมีเสรีบ้าง ไปชี้นำอยู่เรื่อย ไม่จบไม่สิ้น

เมื่อถามว่า มีกลุ่มพลเมือง 100 ชื่อ เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายกษิต ภิรมย์ แถลงการณ์ขอให้ คสช. เปิดช่องแสดงความเห็นเรื่อง ร่างรธน. พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ได้ กฎหมายออกมาแล้ว ไม่เข้าใจหรืออย่างไร

"ผมว่าไม่ให้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญน่ะดีแล้ว เพราะเห็นชัดเจนว่ามี 2ค่าย ถ้าจะพูด ก็ไปพูดกันในกลุ่มของตัวเอง ไม่ให้โฆษณา ผมไม่ได้ห้าม หรือเอาพลาสเตอร์ปิดปากใครทั้งหมด แต่ไม่ให้ออกมาโฆษณา ไม่ให้ลงสื่อ " พล.อ.ประวิตร กล่าว

พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึง กรณีที่นปช.เรียกร้องให้ ยูเอ็น-อียู เข้ามาสังเกตการณ์ ในวันลงประชามติ ว่า เรื่องของกกต. ไปเรียกร้องอะไร คงไม่มีประเทศไหนที่เรียกร้องให้มาดูการลงประชามติ หากเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แบบนี้ได้ โดยหลักการแล้วไม่ต้องเชิญมา รอเลือกตั้งดีกว่า เชิญมาดู ว่าใครซื้อเสียง การลงประชามติคงไม่เกี่ยว พร้อมยืนยันว่า การลงประชามติเกิดขึ้นแน่นอน เพราะกฎหมายออกแล้ว ยกเว้นตีกัน จนลงประชามติไม่ได้

เมื่อถามว่า การลงประชามติครั้งนี้ เป็นการประลองกำลัง ระหว่าง 2 ขั้วการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เกี่ยว และคงไม่ใช่การประลองอะไร มีแต่คนคิดอย่างไร ประชาชนคิดอย่างไร และตัวเองเป็นพรรคการเมืองก็ไม่ใช่ว่าจะคุมเสียงของตัวเองได้หมด

เมื่อถามว่า ในมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติ จำกัดความคิดเห็นมากเกินหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เห็นแล้วว่าข้อห้ามต่างๆ จะทำให้ไม่เกิดประเด็นขึ้นมาจนกลายเป็นความขัดแย้งในสังคม เขาจึงออกกฎหมายมา ข้อห้ามทั้งหมดก็ใช้กับทุกคน ถ้าห้ามคนโน้น ไม่ห้ามคนนี้ อย่างนั้นจึงจะเป็นการสร้างความขัดแย้ง

เมื่อถามว่า การที่ กกต.และ กรธ. ออกไปชี้แจงประชาชน เป็นการชี้นำฝ่ายเดียวหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ชี้นำ เพราะ กรธ.จะชี้แจง ว่า เจตนาการ ร่างรธน. เป็นอย่างไร ไม่ได้ชี้นำ และเรื่องนี้ก็ไม่มีฝ่ายไหนทั้งนั้น ถือเป็นฝ่ายประชาชนทั้งหมด ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตุว่า การที่ นายสุเทพ ออกมาแถลงข่าวเพราะต้องการช่วยคสช.นั้น คงไม่เกี่ยว กปปส. จะรู้ได้อย่างไรว่า ใครคิดอย่างไร เพราะ คสช.ไม่ได้ไปร่าง รธน.

พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึง กรณีนายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ เรียกร้องให้ คสช. โชว์หลักฐานกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร จ้างล็อบบี้ยิสต์ ป่วนประเทศไทย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ท่านพูดตามข้อมูลต่างประเทศที่ออกมา ไม่ได้คิดเอง ต่างประเทศออกข่าว เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี เอ่ยชื่อ นายทักษิณ จะส่งผลการเมืองแรงขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คงไม่ นายกฯท่านพูดตามข้อมูลที่ต่างประเทศออกมา

วันเดียวกันนี้ (25เม.ย.) ที่ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เป็นประธานมอบนโยบายโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคกลาง 6 จังหวัด กว่า 3,878 คน เข้าร่วมประชุม และรับมอบนโยบาย ซึ่งมีการถ่ายทอดสดระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์ ไปทั่วประเทศ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า บทบาทของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คือการพัฒนาท้องถิ่น ดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมทั้งการแก้ปัญหาในพื้นที่ การให้บริการ วันนี้ถือว่า ตนกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นคนสีเดียวกัน เพราะใส่ชุดสีกากีเหมือนกัน และถือว่า ทุกคนมีส่วนร่วมกันกับรัฐบาลชุดนี้ และ คสช. เพราะถ้าหากคนในพื้นที่ไม่เข้าใจกันแล้ว จะไปไม่ได้ทุกเรื่อง จะติดขัดไปหมด

"วันนี้ท่านต้องเชื่อใจผม ผมก็ไว้ใจท่าน เราต้องไม่สนับสนุนให้เกิดความแตกแยก เห็นต่างได้ แต่ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม คนเราไม่มีทางที่จะเท่าเทียมกันได้ แม้แต่การปกครองในระบอบต่างๆ แต่สิ่งที่จะเท่าเทียมกันได้ คือการอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ละเว้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่จะต้องทำวันนี้ คือทำอย่างไรสังคมจะเกิดความสงบ ไม่ขัดแย้ง ไม่เห็นต่าง " พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่เคยไม่ชอบใคร หรือรังเกียจใครเป็นการส่วนตัววันนี้เราต้องเอาอดีตทั้งหมดมาร่วมกันดูว่า จะแก้ไขอย่างไร เราต้องมองอนาคตในระยะยาว และเอาอดีตที่ผ่านมาดูว่าทำอะไรกันไปบ้าง ต้องแก้ไขปัญหาในอดีตให้ได้ และวางแผนอนาคตในระยะ 5-10 ปี ต่อไป

"ผมไม่ได้เข้ามาเพื่อชี้ว่า ไอ้นี่ผิด ไอ้นี่ถูก แต่เป็นการนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนที่เข้า ก็ต่อสู้ไป คนไม่เข้า ก็อยู่อย่างทุกวันนี้ เมื่อเข้ามาก็ไปต่อสู้สิ ผมจะไปยุ่งอะไร ยังไม่กลับมาเลย แล้วจะให้ผมไปทะเลาะกับใคร ผมขี้เกียจตอบ ผมไม่ตอบแล้ว สื่อแส่ เลิก ผมไม่ไปทะเลาะกับใครอยู่แล้ว มันเสียเวลา แต่หงุดหงิดก็มีบ้าง ทหารก็เป็นแบบนี้ ไม่อย่างนั้นปกครองกันไม่ได้ "

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ต้องระเบิดจากผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อำเภอ ไปสู่จังหวัด สู่ภูมิภาค โดยรัฐบาลได้สร้างความเชื่อมโยงทุกด้านในสอดคล้องตามแผนปฏิรูป 20 ปี โดยปีนี้และปีหน้า ตนหวังจะทำเรื่องพื้นฐานให้ได้ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ต้องคิดโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายที่วางไว้ เพื่ออนาคตลูกหลาน ไม่เคยมีรัฐบาลใดทำเพื่อประชาชนมากเท่ารัฐบาลนี้ ดังนั้นอย่าไปฟังสิ่งบิดเบือน ที่บอกว่าตนทำเพื่ออำนาจของตัวเองและพวกพ้อง

"มีมั้ย ใครต้องการให้จับ ถ้าผิดกฎหมาย ก็จับดำเนินคดี มีคนบางคนต้องการให้คสช.จับ พอจับเเล้วก็จะได้ไปฟ้องโลก ไอ้ขี้เท่อ ประเทศชาติเสียหาย ผมก็กลัวเหมือนกัน กลัวคนอื่นเขาไม่ชอบแล้วจะตีหัวเอา ไม่ใช่ผม ไม่ใช่ทหาร ตำรวจ แต่คนเขารังเกียจพวกเหล่านี้ขึ้นเรื่อยๆ เเล้วจะให้ประท้วงกันแบบนี้หรือ คราวที่เเล้วก็เอาพวงหรีดมา มันทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถ้าท่านเชื่อเขา ก็ตามใจ ผมบังคับท่านไม่ได้อยู่เเล้ว แต่ผมต้องการให้คิดถึงประเทศชาติ ประเทศต้องการอะไร ครอบครัวเราต้องการอะไร อนาคตเราต้องการอะไร " พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว(นบข.) ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงการเปิดเผยข้อมูลล็อบบี้ยิสต์ต่างประเทศ ของนายทักษิณ ชินวัตร แต่พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบโดยกล่าวเพียงสั้นๆว่า เรื่องการเมืองไม่ตอบ เพราะยังมีงานอื่นต้องทำ อยากรู้ให้ไปสอบถามจากสำนักข่าวอิศราเอง

ค้านดึง"ยูเอ็น-อียู"ดูประชามติ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยกับ แกนนำกลุ่มนปช. ที่ออกมาเรียกร้องให้ คสช.เปิดให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ตัวแทนสหภาพยุโรป(อียู) หรือองค์การระหว่างประเทศ เข้ามาสังเกตการณ์การทำประชามติร่างรธน. ในประเทศไทยเพราะจะเท่ากับเป็นการประจานประเทศเราเอง ว่าคนในชาติคุยกันไม่ได้ ต้องดึงคนต่างชาติมาแทรกแซงกิจการภายในของชาติไทย ทั้งที่เราแค่สะดุดล้ม และกำลังจะลุกขึ้นเพื่อเดินต่อ ปัญหาในชาติไทย เราคนไทยแก้ไขกันเองได้

ส่วนกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. ประกาศสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นั้น นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ว่ากลุ่มใด พรรคการเมืองใด ประกาศท่าทีว่าจะรับ หรือไม่รับ สนับสนุนหรือไม่ ตนไม่เคยวิจารณ์ความเห็นต่าง เพราะถือเป็นสิทธิของเขาและจะยิ่งสร้างความแตกแยก ขัดแย้งกันอีก จึงถือเป็นดุลยพินิจของแต่ละกลุ่ม แต่ละพรรค ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ชัดเจนแล้วในร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่ นายอภิสิทธิ์ เสวชชาชีวะ หีวหน้าพรรค ระบุไป ส่วนจะรับหรือไม่นั้น เชื่อว่าก่อนถึงเวลาโหวตประชามติ พรรคประชาธิปัตย์ จะมีท่าทีที่ชัดเจน ซึ่งยังมีเวลา เพราะนายอภิสิทธิ์ เรียกร้องว่า ขอให้รัฐบาลบอกว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ประชาชนจะได้อะไร คือควรมีตัวเลือกให้ประชาชน

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของนปช.ที่จะให้ ยูเอ็น และอียู เข้ามาสังเกตการณ์การทำประชามติ เพราะจะเป้นการชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้านโดยไม่จำเป็น คนไทยดูแลกันเองได้ พรรคการเมือง ประชาชน ทุกภาคส่วนมีสิทธิร้องเรียน หากเห็นการทุจริต การชักชวนต่างชาติเข้ามา เท่ากับย่ำยี ดูถูกถูกคนไทยด้วยกันเอง ดังนั้น รัฐบาล หรือใคร ถ้าทำทุจริตระหว่างทำประชามติ ถือเป็นการกระทำที่โง่เงา ไม่ควรยอมรับการกระทำนั้น นปช. เพียงแสดงท่าที พฤติกรรม เอะอะโวยวายพูดง่ายๆ ไม่ว่าคสช.กับรัฐบาลทำอะไร บรรดาแกนนำจะพยายามหาเรื่องหาเรื่องอยู่ร่ำไป แต่รัฐบาล คสช.คงรู้ทันเกม ไม่หลงกระแสตามคนเหล่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น