xs
xsm
sm
md
lg

“วันชัย” ดี๊ด๊า! สปท.ให้ผ่านชงประชามติ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ อ้างไว้ดูคนไหนโง่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีมติเสนอคำถามพ่วงประชามติของ “วันชัย สอนศิริ” ให้ ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งโหวตเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. เลือกตั้ง อ้างถึงไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่จะได้ช่วยกันดูนายกฯ คนไหนไม่ฉลาด ประวัติไม่ค่อยดี

วันนี้ (1 เม.ย.) ที่รัฐสภา เวลา 14.00 น. มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เป็นประธานในการประชุม โดยมีวาระพิจารณาเร่งด่วน คือ การเสนอประเด็นคำถาม หรือความเห็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อประกอบการพิจารณาในการเสนอคำถาม ที่สมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติม โดยมีผู้เสนอญัตติ 2 ญัตติ ได้แก่ ขอให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ภายหลังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้าปฏิบัติหน้าที่ เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะและแก้ไขความขัดแย้ง รวมถึงส่งเสริมความปรองดอง ของ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท. และ ขอให้ สปท. พิจารณาคำถามหรือความเห็นต่อ สนช. เพื่อประกอบการตั้งคำถามประชามติว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ใน 5 ปีแรก นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ให้นายกรัฐมนตรีมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา ที่เสนอโดย นายวันชัย สอนศิริ สปท.

โดยก่อนเริ่มการประชุม มีถกเถียงเรื่องข้อเสนอการตั้งคำถามประชามติที่ สปท. จะต้องส่งให้ สนช. พิจารณา แต่ สนช. ยังไม่มีมติว่าจะมีคำถามพ่วงในการทำประชามติหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า สปท. ไม่ได้มีหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น โดย นายกษิต ภิรมย์ สปท. อภิปรายว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตั้งคำถาม เพราะการตั้งคำถามอาจนำไปสู่เป้าหมายทางการเมือง เพื่อให้คนนอกมาเป็นนายกฯ และมอบอำนาจให้ ส.ว. แต่งตั้งมีสิทธิ์เลือกนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ได้ ทั้งที่ในร่างรัฐธรรมนูญระบุแล้วว่าคนนอกสามารถเป็นนายกฯ ได้ ซึ่งตนคิดว่าควรยึดโยงกับประชาชน โดยการทำประชามติควรมุ่งไปที่เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ จึงอยากขอวิงวอน หากจะทำอะไรก็ควรคิดถึงปัญหาบ้านเมืองในอนาคตด้วย

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า สำหรับญัตติของตนนั้น ได้สอบถามสมาชิกหลายท่านบอกว่า เป็นคำถามที่ดีและเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์การตั้งคำถาม เพราะเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับสังคม และเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ไม่สร้างความแตกร้าว และที่สำคัญ ไม่เป็นคำถามที่มีลักษณะในการเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตนคิดว่า ต้องหาแนวทางสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งการยึดอำนาจ และการร่างร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ทั้งสองเรื่องไม่ได้นำไปสู่ประเทศที่เจริญพัฒนา สร้างความสมานฉันท์ปรองดอง และความพยายามสร้างความปรองดองในกลุ่มบุคคลในประเทศไทยที่ผ่านมาเราเคยมี แต่พอมีรัฐบาลเข้ามากไม่ได้ดำเนินการต่อ เมื่อตนดูร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 279 มาตรา ยอมรับว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีและครอบคลุม แต่สิ่งหนึ่งที่ตนไม่พบในร่างรัฐธรรมนูญคือ ไม่มีการพูดถึงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ จึงได้นำเสนอคำถามนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็ควรมีการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ หรืออาจจะตั้งชื่ออื่น ๆ ที่เป็นทางการภายหลังก็ได้ โดยตนเสนอให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ ให้มีคณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้ดำเนินการ มีหน้าที่ศึกษาปัญหาข้อเสนอแนะต่าง ๆ ต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ๆ

นายวันชัย กล่าวเสนอญัตติว่า การเสนอญัตติเพื่อประกอบการพิจารณาคำถามประชามติ ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย จะต้องไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเหมือนก่อนเหตุการณ์รัฐประหารเข้ามาอีก ส.ว. สรรหา 250 คน มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ให้รัฐบาลมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่าย ๆ รวมทั้งมีหน้าที่ติดตามการเดินหน้าปฏิรูป ดังนั้น ถ้า ส.ว. 250 คน มีส่วนร่วมในการหานายกฯ ช่วยการดูว่า นายกฯ คนไหนไม่ฉลาด ประวัติไม่ค่อยดี จะทำให้เราคอยช่วยกันดู ดังนั้น ถ้าเราสามารถช่วยกันดูแลประคับประคอง ฝ่ายการเมืองที่มาจากภาคประชาชนจะได้เห็นว่า เรื่องการปฏิรูปนั้นสำคัญ เพราะ ส.ว. สรรหามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ เข้ามา ดังนั้น ญัตตินี้ถือว่า เป็นการแก้วิกฤตของประเทศได้จริง เพราะคนที่จะมาเป็นนายกฯ ถูกเลือกจากคนที่มาจากการสรรหาในหลายวิชาชีพกับฝ่ายเลือกตั้ง โดยร่วมกันดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติ ถือเป็นบรรยากาศที่สวยงาม จะทำให้เราได้รับช่วงเปลี่ยนผ่านที่เรียบร้อย แม้ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบอย่างประเทศสากล แต่คำถามนี้คำถามเดียวจะครอบคลุมไปถึงญัตติแรก เพราะถ้าเราร่วมกันก็จะนำไปสู่ความปรองดองได้

หลังจากนั้น ประธาน สปท. เปิดให้สมาชิกอภิปรายเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับญัตติทั้ง 2 ญัตติ ซึ่งสมาชิกที่อภิปรายส่วนใหญ่สนับสนุนญัตติของนายวันชัย อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ. ด้านการเมือง นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก สปท. อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับญัตติ พล.อ.เลิศรัตน์ เพราะ สปท. โดยกรรมาธิการด้านการเมือง สปท. ได้ศึกษา รวบรวมข้อมูล ประเด็นในการแก้ไขความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง เป็นเรื่องที่อยู่ในวาระการปฏิรูปอยู่แล้ว และเห็นว่าเห็นว่าประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี แรกจะต้องมีกลไกควบคุมการทำงานของรัฐบาล จึงเห็นว่า การที่ ส.ว. มีอำนาจในการดูแลและติดตามการทำงานของนายกฯ จะช่วยให้ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้

ด้าน นายนิกร จำนง อภิปรายว่า ตนไม่พูดในฐานะตัวแทนพรรคการเมือง แต่ตนเป็นผู้มองการเมืองจากข้างในจึงจะเสนอความเห็นเพื่อลดความขัดแย้ง ซึ่งประเด็นญัตติของ พล.อ.เลิศรัตน์ ไม่มีปัญหา เพราะเป็นการแก้ไขปัญหา สร้างความปรองดองในประเทศ แต่ญัตติของนายวันชัย ที่ให้รัฐสภาเลือกนายกฯนั้นน่าจะเป็นปัญหา ในส่วนของ ส.ว. ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เห็นว่า มาจากการสรรหา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนเลือก หากสามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้จะมีอำนาจมากเป็นพิเศษ

จากนั้นที่ประชุมลงมติเลือกญัตติของนายวันชัย คือ เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ให้นายกฯ มาจากการโหวตของที่ประชุมรัฐสภาได้แก่ ส.ว. และ ส.ส. เพื่อให้สานงานปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง และประคับประคองสถานการณ์ประชาธิปไตยและความสงบของบ้านเมือง ให้ สนช. พิจารณาด้วยคะแนนเสียง 136 ต่อ 3 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1 จากนั้นประธาน สปท. กล่าวปิดการประชุมเมื่อเวลา 18.15 น.





















กำลังโหลดความคิดเห็น