"สุเทพ" ออกโรงหนุนร่าง รธน.สุดลิ่ม แจงมีแต่ข้อดี เปิดทางออกประเทศไม่ให้เกิดรัฐประหาร กำหนดปฏิรูปชัดเจน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ และปฏิรูปตำรวจ เปิด 3 รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไม่ขัดข้อง คสช.คัด 250 ส.ว.สรรหา ด้านกลุ่ม นปช. จี้ กกต.ให้ความชัดเจนปมกม.ประชามติ พร้อมเชิญชวนไปลงประชามติ เป็นหูเป็นตาไม่ให้มีการโกง
วานนี้ (24 เม.ย.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้แสดงความเห็นถึง ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ ว่า ประการแรกส่วนตัวชอบร่างรัฐธรรมนูญบับนี้เป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่คำปรารภ ซึ่งเขียนได้ถูกใจมาก เพราะได้แสดงออกเจตนารมณ์คนไทยทั้งประเทศ ที่ยืนยันให้ประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประการที่สอง คำปรารภได้ยอมรับความเป็นจริงทางการเมืองไทย แม้ประเทศต้องการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยไม่ราบรื่น มีปัญหา โดยรัฐธรรมนูญได้เขียนถึงปัญหาคือ คนไม่เคารพกติกา ยึดหลักเฉพาะเปลือกผิว ไม่เอาแก่นแท้ไปประพฤติปฏิบัติ ทำให้เกิดการบิดเบือนการใช้อำนาจ ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดเป้าหมายชัดเจน เพื่อแก้วิกฤติประเทศ และพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน
"ช่วงเดือนพ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ขณะนั้น ได้เชิญทุกฝ่ายไปหารือทั้ง กปปส. - นปช. รวมถึงพรรคการเมืองเพื่อหาทางออกให้ประเทศ แต่นายชัยเกษม นิติสิริ ยืนยันว่า ไม่มีกฎหมายใดให้รัฐบาลออกจากการรักษาการ จนประเทศถึงทางตัน ดังนั้น ทำให้ ผบ.เหล่าทัพยึดอำนาจ และเป็น คสช.จนถึงทุกวันนี้ เพราะไม่มีทางเลือก แต่รัฐธรรมนูญนี้ เขียนช่องทางไว้ หากเกิดวิกฤติจะมีคนรับผิดชอบ โดยมีประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เชิญผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ทั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานรัฐสภา นายกฯ และองค์กรอิสระ รวม 13 คน มาร่วมกันหาทางออก เมื่อที่ประชุมมีมติอย่างไร ก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น" นายสุเทพ กล่าว
การกำหนดแนวทางเช่นนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารเหมือนอดีตที่ผ่านมา เพราะมีคนเป็นเจ้าภาพตัดสินใจตามอำนาจของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน
ประการที่สาม ได้มีการเขียนเรื่องการปฏิรูปในหมวดพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด กปปส.ที่เคยเสนอให้ปฏิรูปประเทศไว้ 5 ด้าน ทั้งเรื่องการเมือง ระบบราชการ การปราบปรามทุจริต คอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำ และ ปฏิรูปตำรวจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อคสช. ยึดอำนาจ มวลมหาประชาชนตั้งความหวังว่า จะมีการปฏิรูปเกิดขึ้น และเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ พยายามผลักดันแก้ไขในเรื่องสำคัญๆ คือ ป้องกัน ปราบปรามการทุจริต แต่ก็มีอีกหลายเรื่อง ที่ต้องใช้เวลา ซึ่งรัฐบาลชั่วคราวอาจทำไม่เสร็จ
"ในเรื่องของการปฏิรูป ยังเขียนไว้ชัดเจนคือ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดทิศทางการปฏิรูป โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และบอกไว้ในมาตราต่างๆ ว่าใครทำอะไร เมื่อไหร่ ทั้งนี้เรื่องที่ประชาชนคาดหวังมาก คือการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งรัฐธรรมนนูญนี้เขียนชัดว่า ต้องปฏิรูปภายในหนึ่งปีนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ "นายสุเทพ กล่าว
นอกจากนี้ นายสุเทพ ยังกล่าวว่า พอใจ ที่ได้เขียนให้มีการปฏิรูปด้านการศึกษา ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาเรื่องนี้มากโดยใช้งบมากแต่ไม่ได้ผล ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดให้รัฐ จัดการศึกษากับเด็กก่อนวัยเรียน และให้เรียนฟรี 12 ปี ถือเป็นการแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ขณะเดียวกันยังได้กำหนดให้รัฐต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง ให้กับประชาชนในเรื่องต่างๆ ถ้าหากรัฐไม่ดำเนินการ ประชาชนสามารถฟ้องร้องได้ ซึ่งแนวทางดังกล่างไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก่อน
ส่วนกรณีที่มา ส.ว. ซึ่งกรธ. ได้พิจารณาสภาพความจริงเกิดขึ้นในบ้านเมือง และหาทางออกที่เหมาะสม เพราะที่แล้วมา ได้ฝากบ้านเมืองไว้กับนักการเมือง แต่ครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ประชาชนไม่ได้สังกัดพรรค สามารถเสนอตัวเข้ามาสู่กระบวการคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่มีใครครอบงำได้ ถือเป็นเรื่องจำแป็นต่อบ้านเมือง จะปล่อยให้นักการเมืองฝ่ายเดียวรับผิดชอบคงไม่ได้
ทั้งนี้ยังมีเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเขียนคือ การเสนอให้พรรคการเมืองเสนอ 3 รายชื่อ ก่อนการเลือกตั้งว่าจะเอาใครเป็นนายกฯ แต่มีเสียงวิจารณ์ว่า เปิดทางให้มีนายกฯคนนอก แต่ต้องยอมรับความจริงบางสถานการณ์จำเป็นต้องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ แก้ปัญหาบ้านเมือง เพื่อให้บ้านเมืองไปได้ ดังนั้น ไม่ต้องกังวลมากกมาย และคนนอก ไม่ใช่ใครก็ได้ที่มาเป็น ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากส.ส.ในรัฐสภา เกินครึ่ง ยกเว้นข้อกำหนดหากเลือกนายกฯ กันเองไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายในกระบวนการคนที่จะเลือกนายกฯ คนนอก หรือคนใน ก็คือ ส.ส.ในรัฐสภา ดังนั้นบทบัญญัตินี้เขียนไว้เพื่อเป็นทางออกเอาไว้
นอกจากนี้ การปฏิรูปพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่ตรงกับข้อเสนอของมวลมหาประชาชนที่ให้พรรคเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์
ส่วนในบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้ คสช. ทำหน้าที่คัดเลือก ส.ว. 250 คน ส่วนตัวเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะใช้เพียงแค่ชั่วคราว ในวาระเริ่มแรก เมื่อครบกำหนด ข้อยกเว้นนี้ก็จะหมดไป ก็เข้าสู่บทบัญญัติปกติ การที่ คสช.กำหนดบทบัญญัตินี้ เพราะหลังการเลือกตั้งไม่มีใครคาดเดาสถานการณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้น จำเป็นหาหนทางเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยหลังการเลือกตั้ง และ กรณีพรรคเพื่อไทย มองว่า การให้ส.ว.250 คน มาอยู่ในสภา เหมือนเป็นการตั้งพรรคการเมืองใหญ่นั้น ต้องกลับไปดูบทบัญญัติให้ละเอียด เพราะมันไม่ได้เป็นแบบนั้น
ส่วนประเด็นคำถามพ่วงประชามติของ สนช. ที่เสนอให้ ส.ว.สามารถเลือกนายกฯได้นั้น ส่วนตัวยังไม่เห็นชัดเจนว่าจะเขียนสั้น หรือยาว แต่จากการติดตามยังสับสน แต่คิดว่าคำถามนั้น เขียนสั้น หรือยาวขนาดไหน ในกรณีนี้ถ้าสมมุติว่าประชาชนทั้งประเทศเอาด้วยกับประชามติ เป็นหลักการช่วงหลังเลือกตั้งคราวนี้ ไม่ได้ใช้ถาวร
สำหรับกรณีมีการเคลื่อนของกลุ่มต่างๆ ในช่วงการทำประชามติ เชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดูแลให้เกิดความราบรื่นได้ และเชื่อมั่นว่าประชาชนจะออกมาให้ความร่วมมือ กับการทำประชามติ
นายสุเทพ ยังระบุด้วยว่า การเปิดเวทีให้กับกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แสดงความเห็น สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน ปลุกระดม หรือพูดชี้นำให้โหวตรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเชื่อว่าการพูดวันนี้ไม่ผิดกฎหมาย ถ้า คสช.เห็นว่าพูดไม่ได้ เพราะไม่ถูกต้อง คสช. ก็เรียกไปปรับทัศนคติเท่านั้นเอง
ส่วนความเห็นตนที่แตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์นั้น ตนเห็นแล้วว่า ต้องมีคนถามแบบนี้ ทั้งนี้ แต่ กปปส.ลงทุนลงแรง เห็นพี่น้องตากแดดตามลม เสียเลือดเสียเนื้อ ต้องการให้บ้านเมืองพ้นวิกฤต ตั้งแต่วันนั้นจึงไม่คิดแบบนักการเมือง แต่คิดแบบประชาชน ความเห็นทั้งสองฝ่ายไม่ควรเอามารวมกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไปตนก็คงไม่ตั้งพรรคการเมือง หรือลงเลือกตั้งตามที่เคยประกาศไว้กับมวลมหาประชาชน
ในวันเดียวกันนี้ ที่ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว ที่อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. พร้อมด้วยแกนนำนปช. ร่วมแถลงถึงกรณีร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายจตุพร กล่าวว่า ตนตั้งใจว่า เมื่อใดที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จัดแถลงข่าวเรื่องรัฐธรรมนูญ พวกเรา นปช. ก็จะใช้สิทธิแถลง เช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเราได้ร้องขอมาตลอด แต่ไม่เคยได้รับสิทธิ
ขณะนี้สังคมไทยกำลังอยู่ท่ามกลางความกลัว ในการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ กกต. ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมายในการทำประชามติ ส่วน กรธ.และ สนช. ก็อธิบายแตกต่างกัน จนประชาชนสับสน ว่าเรายังสามารถพูดเรื่องรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
ทั้งนี้ ในมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติ วรรคท้าย ระบุว่า " ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้น กระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
นายจตุพรกล่าวว่า การใช้คำว่า "ก้าวร้าว หยาบคาย รุนแรง ข่มขู่" เป็นการเขียนกฎหมายที่ครอบจักรวาล สร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับประชาชน และไม่มีมาตรวัดเลยว่า วาจาที่ก้าวร้าว รุนแรง คือ อย่างใด ซึ่งถ้าวัดกันแบบนี้ ก็เข้าได้ทุกคน
การที่ สนช.เขียนกฎหมายที่มีลักษณะข้อห้ามเป็นนามธรรมเช่นนี้ ทาง กกต.จะต้องทำให้เกิดความชัดเจน อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้าถ้ายังไม่มีความชัดเจน พวกตนก็จะเดินทางไป กกต. อีกครั้งหนึ่ง ส่วนเรื่องการแสดงความเห็นเรื่องรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พวกตนได้แสดงความเห็นส่วนตัวไป แต่ไม่ได้ไปชักจูงใคร
นายจตุพร กล่าวอีกว่า บรรยากาศการทำประชามติ ต้องไม่อยู่ในบรรยากาศของความกลัว ถ้าเป็นแบบนี้ คสช. ยกเลิกการทำประชามติเสียดีกว่า รวมถึงการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ที่จะให้การทำประชามติเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรมตามความฝันของ กกต.นั้น ในทางปฏิบัติแล้วสามารถเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย กกต. และผู้มีอำนาจ ควรเปิดกว้างให้ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหภาพยุโรป (อียู) หรือองค์กร ในระดับนานาชาติ มาสังเกตการณ์อย่างเปิดเผย
อย่างไรก็ตาม ตนขอฝากไปยังประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบการทุจริตให้แจ้งมายัง นปช. เพื่อ นปช.จะได้ดำเนินการเอาผิด และวันที่ 7 ส.ค.ที่จะถึงนี้ เราต้องออกไปทำประชามติกันเยอะๆ ให้เสียงท่วมท้น และช่วยกันเป็นหูเป็นตาในทุกหน่วยที่มีการลงประชามติ ขอให้อยู่กันตั้งแต่เริ่มจนนับคะแนนเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น คือเกิดการทุจริตขึ้นมากมาย แต่ขณะนั้นเราต้องการการเลือกตั้ง จนลืมตรวจสอบการทุจริตตรงนั้น แต่ครั้งนี้เราจะไม่ยอม หน่วยเดียวก็ไม่ยอม ทั้งนี้ ตนเห็นว่าประชาชน ที่จะมีสิทธิแสดงความเห็น และพูดคุยกันภายใต้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญนี้ได้.