xs
xsm
sm
md
lg

โหวตเยส! “สุเทพ” ตีปี๊บร่างรัฐธรรมนูญ ชูผ่าทางตันประเทศ-หนุนปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แกนนำ กปปส. หนุนร่างรัฐธรรมนูญเต็มสูบ อ้างเปิดทางออกประเทศไม่ให้เกิดรัฐประหาร กำหนดปฏิรูปชัดเจน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปตำรวจ เปิด 3 รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ เปิดทางคนนอกหรือใน สุดท้ายก็ต้องมาจาก ส.ส. ยกมือ ไม่ขัดข้อง คสช. คัด 250 ส.ว. สรรหา กลัวไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น เชื่อ “ประยุทธ์” เอาอยู่คลื่นใต้น้ำ ย้ำไม่เอาแล้วเล่นการเมืองลงเลือกตั้ง

วันนี้ (24 เม.ย.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ว่า ประการแรก ส่วนตัวชอบร่างรัฐธรรมนูญบับนี้เป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่คำปรารภ ซึ่งเขียนได้ถูกใจมาก เพราะได้แสดงออกเจตนารมณ์คนไทยทั้งประเทศ ที่ยืนยันให้ประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีหลายประเทศอาจไม่เข้าใจ พร้อมทั้งได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องว่า คนไทยไม่ชอบระบอบประชาธิปไตย และเฉพาะคิดว่าเป็น กปปส. ยืนยันว่า การปกครองประเทศด้วยระบบดังกล่าว เป็นเจตนารมณ์ของประชาชนทุกฝ่าย ไม่มีใครปฏิเสธได้

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ประการสองของคำปรารภ ได้ยอมรับความเป็นจริงทางการเมืองไทย แม้ประเทศต้องการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยไม่ราบรื่น มีปัญหา โดยรัฐธรรมนูญได้เขียนถึงปัญหา คือ คนไม่เคารพกติกา ยึดหลักเฉพาะเปลือกผิว ไม่เอาแก่นแท้ไปประพฤติปฏิบัติ ทำให้เกิดการบิดเบือนการใช้อำนาจ ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดเป้าหมายชัดเจน เพื่อแก้วิกฤติประเทศ และพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนเพื่อประชาชน

“ช่วงเดือน พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น ได้เชิญทุกฝ่ายไปหารือทั้ง กปปส., แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมถึงพรรคการเมืองเพื่อหาทางออกให้ประเทศ แต่ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรมในขณะนั้น ยืนยันว่าไม่มีกฎหมายใดให้รัฐบาลออกจากการรักษาการ จนประเทศถึงทางตัน ดังนั้น ทำให้ ผบ. เหล่าทัพยึดอำนาจ และเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงทุกวันนี้ เพราะไม่มีทางเลือก แต่รัฐธรรมนูญนี้เขียนช่องทางไว้ หากเกิดวิกฤต จะมีคนรับผิดชอบ โดยมีประธานศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เชิญผู้ใหญ่บ้านเมือง ทั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และองค์กรอิสระ รวม 13 คน มาร่วมกันหาทางออก เมื่อที่ประชุมมีมติอย่างไร ก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น” นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า การกำหนดแนวทางเช่นนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารเหมือนอดีตที่ผ่านมา เพราะมีคนเป็นเจ้าภาพตัดสินใจตามอำนาจของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน

ประการสาม ได้มีการเขียนเรื่องการปฏิรูปในหมวดพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด กปปส. ที่เคยเสนอให้ปฏิรูปประเทศไว้ 5 ด้าน ทั้งเรื่องการเมือง ระบบราชการ การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำ และปฏิรูปตำรวจ เพราะการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในคำปรารภได้เขียนไว้หมด อย่างไรก็ตาม เมื่อ คสช. ยึดอำนาจ มวลมหาประชาชนตั้งความหวังว่าจะมีการปฏิรูปเกิดขึ้น และเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ พยายามผลักดันแก้ไขในเรื่องสำคัญ ๆ คือ ป้องกันปราบปรามการทุจริต ซึ่งถือเป็นรัฐบาลทำได้แข็งแรง และหวังว่าทำให้คนไทยมั่นใจว่าจะไม่มีอีกแล้ว แต่อีกหลายเรื่องต้องใช้เวลาพัฒนา ปฏิรูปต่อเนื่องเป็นปีนับจากนี้ ซึ่งรัฐบาลชั่วคราวอาจทำไม่เสร็จ

“ในเรื่องของการปฏิรูปยังเขียนไว้ชัดเจน คือ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดทิศทางการปฏิรูป โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และบอกไว้ในมาตราต่าง ๆ ว่า ใครทำอะไรเมื่อไหร่ ทั้งนี้ เรื่องที่ประชาชนคาดหวังมาก คือ การปฏิรูปตำรวจ ซึ่งรัฐธรรมนนูญนี้เขียนชัดว่า ต้องปฏิรูปภายในหนึ่งปีนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้” นายสุเทพ กล่าว

นอกจากนี้ นายสุเทพ ยังกล่าวว่า พอใจที่ได้เขียนให้มีการปฏิรูปด้านการศึกษา ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาเรื่องนี้มาก โดยใช้งบมากแต่ไม่ได้ผล ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดให้รัฐจัดการศึกษากับเด็กก่อนวัยเรียน และให้เรียนฟรี 12 ปี ถือเป็นการแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญนี้ยังได้กำหนดให้รัฐต้องทำหน้าที่อะไรบ้างให้กับประชาชนในเรื่องต่าง ๆ ถ้าหากรัฐไม่ดำเนินการ ประชาชนสามารถฟ้องร้องได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก่อน เช่นเดียวกัน ยังเขียนรับรองให้ประชาชนสามารถชัดเจน ในการดูแลบ้านเมือง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนสามารถทำได้ โดยกฎหมายรับรองไว้ อีกทั้งยังกำหนดชัดเจน ให้รัฐต้องดูแลปกป้องและอุปถัมภ์ศาสนาไม่ให้ใครมาบ่อนทำลาย ซึ่งไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่ไม่ใช่ปกป้องเพียงแค่ศาสนาพุทธ แต่ยังรวมถึงทุก ๆ ศาสนา ไม่ให้ถูกทำลาย

ส่วนกรณีที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้พิจารณาสภาพความจริงเกิดขึ้นในบ้านเมืองชัดเจน และหาทางออกเหมาะสม เพราะที่แล้วมาได้ฝากบ้านเมืองไว้กับนักการเมือง แต่ครั้งนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนไม่ได้สังกัดพรรค สามารถเสนอตัวเข้ามาสู่กระบวนการคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่มีใครครอบงำได้ ถือเป็นเรื่องจำแป็นต่อบ้านเมือง จะปล่อยให้นักการเมืองฝ่ายเดียวรับผิดชอบคงไม่ได้ เพราะเคยเห็นตัวอย่างของปัญหามาแล้ว

เรื่องใหม่ที่ไม่เคยเขียน คือ การเสนอให้พรรคการเมืองเสนอ 3 รายชื่อ ก่อนการเลือกตั้ง ว่าจะเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีเสียงวิจารณ์ว่าเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่ต้องยอมรับความจริง บางสถานการณ์จำเป็นต้องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แก้ปัญหาบ้านเมือง เพื่อให้บ้านเมืองไปได้ ดังนั้น ไม่ต้องกังวลมากกมาย และคนนอกไม่ใช่ใครก็ได้ที่มาเป็น ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ส. ในรัฐสภาเกินครึ่ง ยกเว้นข้อกำหนดหากเลือกนายกรัฐมนตรีกันเองไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายในกระบวนการคนที่จะเลือกนายกรัฐมนตรี คนนอกหรือคนใน ก็คือ ส.ส. ในรัฐสภา ดังนั้น บทบัญญัตินี้เขียนไว้เพื่อเป็นทางออกเอาไว้ นอกจากนี้ การปฏิรูปพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่ตรงกับข้อเสนอของมวลมหาประชาชน ที่ให้พรรคเป็นของประชาชนเพื่อประชาชน ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยรัฐธรรมนูญนี้ถือเป็นความหวังต่อการปฏิรูปและพัฒนาประเทศ ไปสู่ความเจริญยั่งยืน และเพื่อผลประโยชน์ต่อชาติและประชาชนแท้จริง

ส่วนในบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ คสช. ทำหน้าที่คัดเลือก ส.ว. 250 คน ส่วนตัวเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะใช้เพียงแค่ชั่วคราวในวาระเริ่มแรก เมื่อครบกำหนด ข้อยกเว้นนี้ก็จะหมดไป ก็เข้าสู่บทบัญญัติปกติ ที่ คสช. กำหนดบทบัญญัตินี้ เพราะหลังการเลือกตั้งไม่มีใครคาดเดาสถานการณ์ได้จะเป็นอย่างไร ดังนั้น จำเป็นหาหนทางเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยหลังการเลือกตั้ง และกรณีพรรคเพื่อไทยมองว่า การให้ ส.ว. 250 คน มาอยู่ในสภา เหมือนเป็นการตั้งพรรคการเมืองใหญ่นั้น ต้องกลับไปดูบทบัญญัติให้ละเอียด เพราะมันไม่ได้เป็นแบบนั้น

ส่วนประเด็นคำถามพ่วงประชามติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสนอให้ ส.ว. สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้นั้น ส่วนตัวยังไม่เห็นชัดเจนว่าจะเขียนสั้นหรือยาว แต่จากการติดตามยังสับสน แต่คิดว่าคำถามนั้นเขียนสั้นหรือยาวขนาดไหน ในกรณีนี้ถ้าสมมติว่าประชาชนทั้งประเทศเอาด้วยกับประชามติ เป็นหลักการช่วงหลังเลือกตั้งคราวนี้ ไม่ได้ใช้ถาวร

สำหรับกรณีมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ ในช่วงการทำประชามติ เชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดูแลให้เกิดความราบรื่น และเชื่อมั่นอีกว่าประชาชนจะออกมาให้ความร่วมมือกับการทำประชามติ ส่วนจะลงความเห็นอย่างไรถือเป็นสิทธิของประชาชน

นายสุเทพ ยังระบุด้วยว่า การเปิดเวทีให้กับกลุ่มเห็นด้วยไม่เห็นแสดงความเห็น สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน ปลุกระดม หรือพูดชี้นำให้โหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเชื่อว่าการพูดวันนี้ไม่ผิดกฎหมาย ถ้า คสช. เห็นว่าพูดไม่ได้เพราะไม่ถูกต้อง คสช. ก็เรียกไปปรับทัศนคติเท่านั้นเอง

ส่วนความเห็นตนที่แตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์นั้น ตนเห็นแล้วว่า ต้องมีคนถามแบบนี้ แต่ กปปส. ลงทุนลงแรง เห็นพี่น้องตากแดดตากลม เสียเลือดเสียเนื้อ ต้องการให้บ้านเมืองพ้นวิกฤต ตั้งแต่วันนั้นจึงไม่คิดแบบนักการเมือง แต่คิดแบบประชาชน ความเห็นทั้งสองฝ่ายไม่ควรเอามารวมกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไป ตนก็คงไม่ตั้งพรรคการเมืองหรือลงเลือกตั้งตามที่เคยประกาศไว้กับมวลมหาประชาชน






























กำลังโหลดความคิดเห็น