xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มนักวิชาการแถลง 5 เหตุผลค้านร่าง ย้ำทำตามกรอบ กม.มุ่งให้ รธน.เป็นที่ยอมรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่มนักวิชาการค้านร่าง รธน. นำโดย “อนุสรณ์” ออกแถลงข่าว 5 เหตุผลไม่รับร่าง โวยสร้างความอ่อนแอรัฐสภา ทำลายการแบ่งแยกอำนาจ เอื้อละเมิดสิทธิ ชี้ ร่างไม่ผ่านเร่งจัดเลือกตั้งให้รัฐสภาร่างเอง ย้ำ ทำตามกรอบ กม. ประชามติ เผย นิติราษฎร์เล็งชำแหละเป็นมาตรา แอบฉะ คสช. จำกัดสิทธิกลัวร่างไม่ผ่านหรือยังไง ย้ำเป้าหมายอยู่ที่ รธน. เป็นที่ยอมรับ

วันนี้ (17 เม.ย.) กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง” ซึ่งเป็นอาจารย์หลายสถาบันที่เคยเคลื่อนไหวในนาม “เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง” ที่ออกเรียกร้องปล่อยตัวนักศึกษากลุ่มเพื่อน “จ่านิว” ที่ถูก คสช. ควบคุม สวมเสื้อยืด “โหวตโน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” ออกแถลงข่าวเพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ โดยประกอบไปด้วย นักวิชาการประมาณ 10 คน นำโดย นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เศรษฐศาสตร์ ม.เกษตร นายเดชชรัฐ สุขกำเนิด เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน และ นางพวงทอง ภวกพันธุ์ อ.คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ทางกลุ่มมองว่าปัญหาสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญไม่ได้กระทบเพียงนักศึกษา แต่กระทบในวงกว้าง จึงเปลี่ยนชื่อเครือข่ายเพื่อให้การเคลื่อนไหวกว้างขวางขึ้น

“รธน. ฉบับนี้มีที่มา กระบวนการที่ลิดรอนสิทธิ์เสรีภาพประชาชนอย่างมาก จนมีกลุ่มต่าง ๆ แสดงความเห็นว่าไม่รับร่าง ทางกลุ่มเองเห็นว่าหากผ่านประชามติจะกระทบสิทธิเสรีภาพ จึงเห็นควรออกแถลงการณ์ร่วมกัน” นายอนุสรณ์ กล่าว

นักวิชาการเครือข่ายดังกล่าวได้ผลัดกันอ่านคำแถลงการณ์ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะให้ทำประชามติด้วยเหตุผล 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. ร่าง รธน. นี้เป็นเพียงกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางฝ่ายเท่านั้น 2. มีความจงใจสร้างความอ่อนแอแก่รัฐสภา อาทิ นายกฯ อาจไม่ได้มาจากคนที่ผ่านการเลือกตั้งได้ 3. ทำลายหลักนิติธรรมเรื่องหลังการแบ่งแยกอำนาจ มอบอำนาจทางการเมืองการปกครองแก่องค์กรตุลาการ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 4. เอื้อให้รัฐละเมิดอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการสร้างเงื่อนไขในนามของความมั่นคง โดยการตีความของกลุ่มคนที่อยู่นอกองค์กรการบริหารของรัฐ และ 5. มีระดับความยากอย่างยิ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“หากในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นที่ยอมรับตามเสียงส่วนใหญ่ คสช. พึงคืนอำนาจด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และให้รัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปที่คำนึงถึงหลักการเสรีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ และการพัฒนาสังคม การเมืองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนสืบไป” ท้ายแถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ ทางกลุ่มจะดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติอนุญาตให้ทำ โดยไม่มีการแสดงออกว่ารับหรือไม่รับ ซึ่งเราเองก็เคารพกฎหมาย แต่ก็จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง เช่น การจัดงานเสวนาทางวิชาการ เป็นต้น

“ทางนิติราษฎร์ก็ทำงานด้านกฎหมายอย่างละเอียด จัดเป็นมาตรา ๆ มาวิเคราะห์อย่างละเอียดให้เห็นปัญหาข้อจำกัด แล้วให้เป็นดุลพินิจของสังคมที่จะพิจารณา นอกจากการอภิปรายแล้วก็อาจจะจัดกิจกรรมโรดแมปที่เป็นทางเลือกอื่นของสังคมไทยอีกด้วย” นายอนุสรณ์ กล่าว

คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ กล่าวชี้แจงกรณีที่กลุ่มใส่เสื้อยืดเชิงสัญลักษณ์มาแถลงข่าวว่า ทางกลุ่มได้ศึกษาข้อกฎหมายมาอย่างดี จึงใส่ก่อนที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะประกาศลงราชกิจจาฯ เพราะหากประกาศเมื่อไหร่อาจจะโดนข้อหาที่มีโทษติดคุก 10 ปี

นางพวงทอง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่จะจำกัดความคิดเห็น เพราะ คสช. เองก็มีเครื่องมือแสดงความคิดเห็นมากมาย ประชาชนก็ควรมีสิทธิ์แสดงความเห็นได้ ติดป้ายหน้าบ้านได้ เป็นปกติที่เป็นวัฒนธรรมการเมืองไทย คสช. กลัวอะไร กลัวชาวบ้านไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรืออย่างไร

ต่อข้อถามว่า มองว่า บรรยากาศหลังกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติบังคับใช้แล้ว จะกระทบความชอบธรรมในการทำประชามติหรือไม่นั้น นายพิชิต กล่าวว่า เรากังวลเรื่องการให้ข่าวสารด้านเดียวกับประชาชน และเกรงจะมีการเลือกใช้บังคับกฎหมาย คนที่ค้านจะถูกเพ่งเล็ง ส่วนคนที่สนับสนุนจะได้รับความชื่นชม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากจะเห็น

“ห้ามพูดแต่คิดได้ เป็นกฎหมายที่ตลก แถมยังมีโทษจำคุกหนักถึง 10 ปี” นายพิชิต กล่าว

“การลงประชามติแบบเก็บกดมีผลเสียต่อสังคมไทย ไม่ว่าร่างจะผ่านหรือไม่ก็จะเกิดปัญหา” นายเดชชรัฐ กล่าวเสริม

ต่อข้อถามว่า ถ้าไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าจะเจอฉบับที่มีเนื้อหาที่หนักกว่านั้น นายบารมี กล่าวว่า เราเห็นว่าการลุกขึ้นมาสู้ดีกว่าอยู่เฉย ๆ สู้แล้วอาจจะเจอสิ่งที่ดีกว่า ดีกว่าไม่มีทางเลือก

ต่อข้อถามว่า ทางกลุ่มเคยนำเสนอความเห็นระหว่างที่ กรธ. เปิดรับฟังความคิดเห็นหรือไม่นั้น นายเดชชรัฐ กล่าวว่าเคยเสนอไปหลายรูปแบบ บางอย่าง กรธ. ก็ปรับแก้เช่นเรื่องของสิทธิชุมชน แต่บางอย่างก็รับฟังแต่แม่น้ำ 4 สายที่แทรกมาทีหลัง และเป็นสาระสำคัญที่เติมเข้ามาโดยไม่ฟังเสียงทุกภาคส่วน จึงไม่ถือเป็นสัญญาประชาคมอย่างแท้จริง

“เป้าหมายเราไม่ได้อยู่ที่ คสช. จะอยู่สั้นอยู่ยาว แต่อยู่ที่รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหรือไม่” นายอนุสรณ์ กล่าว

นางพวงทอง กล่าวว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาเห็นปฏิกิริยากลุ่มต่าง ๆ ที่เห็นพ้องว่า รธน. ไม่เคารพสิทธิเสรี

นางพวงทอง กล่าวว่า คำว่าถ้าไม่ผ่าน คสช. จะอยู่ยาว เป็นคำขู่ และเป็นปัญหาของ คสช. เอง ที่จะถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมของตนเอง ขณะที่มองไม่เห็นว่าถ้าร่างนี้ผ่านจะนำสังคมไปสู่

“ถ้าดูจากเนื้อหาแล้ว ถ้าผ่านการลงประชามติจะกลับไปสู่วังวนพรรคเล็กน้อย เบี้ยหัวแตก พรรคเล็กน้อย เป็นวังวนปัญหาเดิม” นายพิชิต กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น