xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจแนวรบ ต้านรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

กลายเป็นสนามประลองกำลังกันจริงๆ สำหรับการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ซึ่งเป็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับแต่การเข้ามาควบคุมอำนาจโดย คสช.

เพียงแต่จากนักการเมืองนั้น อาจจะยังไม่ปรากฏชัดนัก เนื่องด้วย “ชนัก” ที่ทาง คสช.ขู่ไว้ว่า จะจับเข้า “หลักสูตร” พิเศษอย่างที่ว่าไป

เรียกว่าใครๆ ก็ต้องรู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหางกันไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการแสดงจุดยืนจากฝ่ายการเมืองออกมาเท่าที่จะปลอดภัย คือการออกแถลงการณ์มา ส่วนแอ็คชั่นจากฝ่าย “ผู้เล่น” นั้นก็คงต้องสงบเสงี่ยมกันอยู่ เพราะกลัวชนักอย่างที่ว่า

แต่อย่างไรก็ดี การ “แซะ” นี้จะมาจาก “เครือข่าย” ที่คล้ายกับว่าอยู่นอกการเมือง ได้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ เครือข่ายสังคม ที่ยังไม่มีภาพชัดเจนว่าเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมือง

กลุ่ม “นอกการเมือง” เหล่านี้ เริ่มจะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตา เริ่มสร้างชื่อเสียง เป็น “ตัวละคร” ในเกมการเมืองไทยยุคหลัง คสช.ขึ้นมาบ้างแล้วหลายคน เมื่อไม่กี่วันมานี้ ที่มีกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ หรือกลุ่ม NDM นำโดยนักศึกษากลุ่มที่เริ่มจะหน้าซ้ำแล้ว เช่น “จ่านิว” เข้าไปแสดงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ในขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กำลังบรรยายในงานปาฐกถาเรื่อง “กรอบแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.” ที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งก็เป็นนักศึกษากลุ่มเดียวกันกับที่ไปส่องไฟต้านโกงราชภักดิ์ ที่เคยเป็นเรื่องเป็นราวข่าวใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ คงยังจำกันได้

จากนั้นกลุ่มดังกล่าวก็เริ่มแคมเปญ Vote No กันด้วยการไปรณรงค์ในงานสัปดาห์หนังสือ ให้ประชาชนร่วมกัน “Vote No” ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเริ่มทำเสื้อยืดข้อความรณรงค์โหวตไม่รับออกมาขาย เพื่อให้ผู้ซื้อใส่แสดงจุดยืน ส่วนทางกลุ่มก็จะได้กระสุนมาใช้เพื่อการทำกิจกรรมต่อไป

ส่วนแนวต้านต่อมาที่น่าจะคาดเดาได้ไม่ยาก คือกลุ่มนักวิชาการ สาย “ประชาธิปไตย” ต่างๆ ซึ่งเร็วๆ นี้ก็คงจะมีการออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญออกมาจากขนบธรรมเนียมของกลุ่มเขา เช่น นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ และกลุ่มแนวร่วมพวกนักคิด นักเขียน หรือคนทำงานเชิงประชาสังคมอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งคนกลุ่มนี้ แม้บางส่วนจะเคยมีประวัติหรือเคยทำงานร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง หรือเป็นเครือข่ายที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันทีเดียว แต่อาจจะสนับสนุนกันบ้างกลายๆ เช่น นักวิชาการสาย “ประชาธิปไตย” บางส่วนอาจจะไม่ใช่กลุ่มคนเสื้อแดงเสียทีเดียว ไม่เคยไปม็อบ ไม่เคยขึ้นเวที อันนี้เราตัดพวกนักวิชาการประเภทเข้าสู่วงการเป็นแนวร่วมเต็มตัวแบบไปขึ้นเวทีด้วยนะครับ แต่ความเห็นของนักวิชาการกลุ่มนี้ ก็ใช้เป็นเหมือน “อาวุธทางปัญญา” ให้กลุ่มคนเสื้อแดง

หรือหลายครั้ง “ความเห็นทางวิชาการ” ก็ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างข้อเถียงของฝ่ายนักการเมืองฝั่งเสื้อแดง ในการเอาไว้โต้แย้งกระบวนการใช้อำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตน เช่นเวลาที่มีปัญหาต้องคดีในศาล พวกเขาก็อ้างอิงความเห็นของนักวิชาการเหล่านี้

และบรรดานักศึกษาที่เคลื่อนไหวในกลุ่มแรก ก็ได้รับอิทธิพลและแนวคิดจากนักวิชาการกลุ่มนี้ และเมื่อเด็กๆ นักศึกษากลุ่มที่ว่ามานี้ไปเคลื่อนไหวจนโดนคดี บรรดาอาจารย์ และนักคิด นักเขียนกลุ่มนั้นก็ออกมาเคลื่อนไหวให้ปล่อยตัวนักศึกษา

เป็นความสัมพันธ์คล้ายๆ Symbiosis ในทางชีววิทยาแบบต่างฝ่ายต่างพึ่งพากัน แม้ไม่จำเป็นต้องเป็น “พวก” กัน หรือได้รับประโยชน์โดยตรงต่อกัน

และนี่คือสิ่งที่อาจจะทำให้ทางฝ่ายความมั่นคง รัฐบาล และทาง คสช.นั้น จะต้องคิดให้ดีหากจะดำเนินการ “ปราม” หรือจัดการกับกลุ่มแนวร่วมสองกลุ่มนี้

เพราะรับประกันได้เลยว่า ให้หายังไง ก็หาไม่พบ ว่าพวกเขานั้นได้รับ “ท่อน้ำเลี้ยง” มาจากกลุ่มอำนาจเก่าหรือฝ่ายการเมือง ซึ่งถ้ามันเป็นเช่นนั้น พิสูจน์ได้อย่างนั้น การจะดำเนินการพาตัวไป “อบรม” หรืออะไรๆ ก็อาจจะพอชอบธรรมขึ้นมาบ้างหรอก

แต่นั่นเพราะมันไม่มีผลประโยชน์อะไรเช่นนั้น หากทาง คสช.ดำเนินการอะไรแบบที่ทำกับ “นักการเมือง” ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นผลดีนัก

เพราะสิ่งที่ทำให้พวกเขา “เคลื่อนไหว” ในทิศทางต่อต้านรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้มาจากการถูก “เติมเงิน” แต่เป็นเพราะการเติม “มายาคติ” เกี่ยวกับประชาธิปไตย ในที่สุดก็เติบโตมาเป็น “อุดมการณ์” ที่คอยชี้นำความคิดและการกระทำแบบที่ผู้ถูกชี้นำเช่นนั้นเองก็อาจจะไม่รู้สึก ว่าที่แท้แล้วตัวเองถูกอุดมการณ์บางอย่างที่ถูกสั่งสอนมาเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้น ชักเชิดตัวเองอยู่ในสามัญสำนึกชั้นลึก

และตีความประชาธิปไตยไปแบบตื้นๆ ง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชน และเพื่อประชาชน การแสดงออกสิทธิอำนาจของประชาชนนั้นมีหนทางเดียว คือผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการวัดหยั่งความต้องการของประชาชน

สิ่งนี้ถูกปลูกฝังอยู่เสียจนเป็น “ระบบคิดอัตโนมัติ” เสียจนทำให้ไม่ได้ทบทวนเลยว่า การ “เลือกตั้ง” ทุกประเภททุกรูปแบบนั้น เป็นการหยั่งเสียงแสดงความต้องการของประชาชนได้จริงหรือ

นี่เอง ที่ทำให้พวกเขาปฏิเสธรัฐธรรมนูญเสียตั้งแต่ยังไม่ทันได้อ่าน หรือตีความไปแต่ในทางที่เสื่อมทรามเลวร้ายเท่านั้น

ภายในช่วงเวลาหลังจากนี้ รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นสนามรบของอุดมการณ์ และคนที่จะนั่งหัวเราะให้บนหอคอย ก็คือพวกนักการเมืองนั่นแหละ

เพราะว่ารัฐธรรมนูญผ่าน พวกเขาก็ได้เลือกตั้ง แต่ถ้าด่ากันจนรัฐธรรมนูญไปไม่ได้ ได้ร่างใหม่ที่มี “ยาแรง” ลดลง พวกเขาก็ได้ประโยชน์อยู่เช่นเดิม

เรียกว่าอุดมการณ์ไร้เดียงสา ก็เหมือนการปลูกต้นไม้ไว้แล้วโลกสวยไม่ล้อมรั้ว เดี๋ยวก็มีคนมาช่วยกินไปนั่นเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น