xs
xsm
sm
md
lg

วิษณุย้ำไม่มีรธน.ให้เลือก ถ้าถูกคว่ำเขียนใหม่ประกาศใช้เลย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (6 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่ง ในงาน ทำบุญทางศาสนา "7 ทศวรรษ พรรคประชาธิปัตย์" ที่พรรคประชาธิปัตย์ว่า 70 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์ ดำรงอยู่มาได้เพราะอุดมการณ์ ความคิด แต่อุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งพรรคตั้งเริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน มีหลายเรื่องที่ไม่เป็นไปตามความหวัง ทั้งเรื่องประชาธิปไตย การเมืองใสสะอาด และการกระจายอำนาจ ซึ่งบางเรื่องดูเหมือนยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
สถานการณ์วันนี้ อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะมีการปฏิรูป หลัง คสช.เข้ายึดอำนาจ และจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายคนถามแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะเอาอย่างไร ตนได้พูดชัดเจนแล้ว ซึ่งส่วนตัวเป็นห่วงเรื่องหมวดสิทธิ เสรีภาพ ที่ถดถอย และโครงสร้างทางการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งการที่พรรคประชาธิปัตย์ จะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องใช้เวลาพิจารณา เพราะ สนช. กำลังจะพิจารณาว่าจะมีคำถามพ่วงประชามติ หรือไม่ ในวันนี้
" ดังนั้นรัฐบาลควรระบุชัดเจนว่า หากมีการประชามติแล้วประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วเขาจะได้อะไร ไหนๆ ก็จะทำประชามติเสียเงินหลายพันล้านบาท ควรบอกให้เจ้าของสิทธิ์ คือประชาชน ได้รับรู้ว่า เขาจะได้อะไร ประชาชนจะได้ตัดสินใจถูกว่า จะรับ หรือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รองนายกฯ ก็บอกว่า หากไม่รับร่าง ก็มีแผนหมดแล้ว ก็ควรบอกให้ประชาชนได้รับรู้ จึงจะนำเหตุผลมาพิจารณาว่า จะรับหรือไม่ได้ เพราะบางคนก็ไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่เขาหากชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เขาก็รับร่าง เพื่อให้อยู่ต่ออีก 5 ปี ส่วนคนที่ไม่ชอบ ก็จะ ตัดสินใจไม่รับร่าง เพราะเขาอยากเลือกตั้ง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาคำถามพ่วงประชามติ ในวันนี้ ( 7 เม.ย.)ว่า ตามขั้นตอนเมื่อ สนช. มีมติแล้วจะส่งไปให้ กกต. ทันที ส่วนรายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากคำถามพ่วงนั้น คงมีไม่มาก เพราะเราใช้บัตรลงคะแนนใบเดียวกัน และที่คุยกันไว้ จะใช้คำถามว่า รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สีหนึ่ง คำถามพ่วงอีกสีหนึ่ง เพื่อป้องกันประชาชนสับสน
ส่วนหน้าที่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำถามพ่วง ยังไม่ได้คิดว่าจะให้หน่วยงานไหนรับผิดชอบ แต่คิดว่าใครก็ได้ โดยใช้งบประมาณของตัวเอง ส่วนกรณีเกิดคำถามพ่วงผ่านประชามติ แต่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ไม่มีปัญหาอะไร จะมองว่าเสียเปล่าหรือไม่ก็ได้ เพราะคำถามพ่วง จะชี้ให้เห็นว่าประชาชนต้องการอะไรในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการข้อผูกพันทางกฎหมาย
สำหรับเรื่องที่ฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้บอกทางออก หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ เพื่อประกอบการตัดสินใจ นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้ยังบอกไม่ได้ และไม่ควรให้รู้ เพราะจะทำให้เกิดอคติเผื่อเลือกขึ้นมา อย่างไรเสียต้องหาทางทำให้รู้โดยเร็ว เพราะหลังวันที่ 7ส.ค. หากประชามติไม่ผ่าน จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ว่าให้ใช้วิธีใด ซึ่งจะชัดเจนว่า จะเอารัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ หรือเขียนใหม่ โดยไม่ใช้ฉบับใด หรือใช้หลายฉบับเป็นฐาน ซึ่งรัฐธรรมนูญที่อยู่ในข่าย คือ รัฐธรรมนูญปี 40 รัฐธรรมนูญปี 50 ร่างรัฐธรรมนูญปี 58 และ ร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เท่านั้น คงไม่ย้อนไปไกลกว่านั้น เพียงแต่จะเอาฉบับใดมาเป็นฐาน แล้วขยายต่อไป หรือตัดอะไรออก หรือผสมรวมกัน หรือไม่เอาอะไรเลยแล้วเขียนใหม่ทั้งหมด และไม่จำเป็นต้องไปลงประชามติ
ต่อข้อถามว่า หากต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะไม่มีการทำประชามติอีกครั้ง ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า โดยรูปการณ์เพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว คงต้องเป็นเช่นนั้น แม้กระทั่งการทำประชามติครั้งนี้ ตนยังงงว่าจะทำประชามติทำไม เพราะตนคิดในใจว่า มันมีวิธีอื่นที่สามารถทำได้โดยเร็วและประหยัด แต่เมื่อไม่เลือกใช้ ก็ต้องมีการทำประชามติ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีกลุ่มนักศึกษาเสรีประชาธิปไตย และกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ นำโดย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว สร้างความปั่นป่วน ระหว่างที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ปาฐกถาถึงกรอบแนวความคิดร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ว่า ทางฝ่ายความมั่นคง ต้องดูแลกันไป แต่ตนได้บอกแล้วว่า รัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ชัดเจน ไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ทั้งการสนับสนุน หรือต่อต้าน ต้องไม่มี ซึ่งนายมีชัย เองก็ไปทำความเข้าใจกับนักศึกษา เรื่องนี้ไม่เป็นไร ถ้านักศึกษามีจิตใจบริสุทธิ์ ก็ว่ากันไป แต่ถ้า มีเบื้องหลัง ที่่ต้องการทำอย่างนู้น อย่างนี้ หรือมีคนที่คอยดำเนินการอยู่ข้างหลัง เรื่องนี้ทาง คสช.ต้องไปสืบดูว่าเป็นใคร แล้วมาว่ากัน ยืนยันสิ่งที่เราดำเนินการ อยู่ในอำนาจของรัฐธรรมนูญทั้งหมด เพราะเราไม่ให้มีการโฆษณาชวนเชื่อ หรือต่อต้าน
"ผมมีความเชื่ออยู่แล้วว่า ต้องมีเบื้องหลัง แต่ไม่ได้ไปว่านักศึกษา เพราะต่อไปเขาโตขึ้น เขาอาจจะรู้จัก และเข้าใจอะไรดีขึ้น เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาซึ่งก็ต้องดูรอบบ้านเราด้วยว่า เขาทำกันอย่างไร ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ผมบอกแล้วว่า ขอแค่ 5 ปี ที่ดำเนินการด้านยุทธศาสตร์ และการปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็ทำไม่ได้สักที แต่ไม่เป็นไร ในเมื่อเป็นเรื่องของความคิด ก็ว่ากันไป แต่อย่าให้มีเบื้องหลัง หรือรู้ว่าใครต้องการให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เจอดีแน่" พล.อ.ประวิตร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น