รองนายกฯ เแจงรายจ่ายเพิ่มคำถามพ่วงไม่มาก แย้มแยกสีกับคำถามรับร่าง ชี้คำตอบมีนัยสำคัญไม่ผูกพันทาง กม. รับยังบอกทางออกไม่ได้หากร่างไม่ผ่าน หวั่นมีอคติ แต่ยันไม่ย้อนไปไกลกว่า รธน.40 แย้มประกาศใช้เลย เล็งถาม ปปง.ไม่รายงานเหตุสื่อ ตปท.แฉคนไทยฟอกเงิน ย้อนคนดีๆ ทำไมต้องฝากเงินปานามา ยัน กม.มีประสิทธิภาพตามเงินคืนได้ ยังตอบไม่ได้ กสทช.ขอรัฐให้ AIS จ่ายค่าความถี่แทนแจสโมบาย
วันนี้ (6 เม.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาคำถามพ่วงประชามติในวันที่ 7 เม.ย.ว่า ตามขั้นตอนเมื่อ สนช.มีมติแล้วจะส่งไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทันที ส่วนรายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากคำถามพ่วงนั้นคงมีไม่มาก เพราะเราใช้บัตรลงคะแนนใบเดียวกัน และที่คุยกันไว้จะใช้คำถามว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสีหนึ่ง คำถามพ่วงอีกสีหนึ่ง เพื่อป้องกันประชาชนสับสน ขณะที่หน้าที่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำถามพ่วงยังไม่ได้คิดว่าจะให้หน่วยงานไหนรับผิดชอบ แต่คิดว่าใครก็ได้โดยใช้งบประมาณของตัวเอง ส่วนกรณีเกิดคำถามพ่วงผ่านประชามติแต่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็ไม่มีปัญหาอะไร จะมองว่าเสียเปล่าหรือไม่ก็ได้ เพราะคำถามพ่วงจะชี้ให้เห็นว่าประชาชนต้องการอะไรในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำตอบมีนัยสำคัญส่งสัญญาณว่าประชาชนต้องการอะไร แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการข้อผูกพันทางกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้บอกทางออกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติเพื่อประกอบการตัดสินใจ นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้ยังบอกไม่ได้และไม่ควรให้รู้เพราะจะทำให้เกิดอคติเผื่อเลือกขึ้นมา อย่างไรเสียต้องหาทางทำให้รู้โดยเร็ว เพราะหลังวันที่ 7 ส.ค.หากประชามติไม่ผ่านจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ว่าให้ใช้วิธีใด ซึ่งจะชัดเจนว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ หรือเขียนใหม่โดยไม่ใช้ฉบับใด หรือใช้หลายฉบับเป็นฐาน ซึ่งรัฐธรรมนูญที่อยู่ในข่ายคือ รัฐธรรมนูญปี 40 รัฐธรรมนูญปี 50 ร่างรัฐธรรมนูญปี 58 และร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เท่านั้น คงไม่ย้อนไปไกลกว่านั้น เพียงแต่จะเอาฉบับใดมาเป็นฐานแล้วขยายต่อไป หรือตัดอะไรออก หรือผสมรวมกัน หรือไม่เอาอะไรเลยแล้วเขียนใหม่ทั้งหมด และไม่จำเป็นต้องไปลงประชามติ
ต่อข้อถามว่า หากต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จะไม่มีการทำประชามติอีกครั้งใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า โดยรูปการณ์เพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วคงต้องเป็นเช่นนั้น แม้กระทั่งการทำประชามติครั้งนี้ตนยังงงว่าจะทำประชามติทำไม เพราะตนคิดในใจว่ามันมีวิธีอื่นที่สามารถทำได้โดยเร็วและประหยัด แต่เมื่อไม่เลือกใช้ก็ต้องมีการทำประชามติ
นายวิษณุกล่าวถึงข่าวเอกสารลับการทำงานของบริษัทด้านกฎหมายแห่งหนึ่งในปานามาที่ช่วยเหลือลูกค้ารายใหญ่ในการฟอกเงินและหลีกเลี่ยงภาษี เชื่อมโยงกับคนไทยว่า ตนเห็นจากข่าว กำลังจะถามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ว่าเหตุใดถึงไม่รายงานเรื่องดังกล่าวกับตนในฐานะกำกับดูแล ปปง. ทั้งที่มีการเสนอข่าวออกมาแล้ว หรืออาจจะเพราะไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม เงินที่นำไปฝากไว้ยังบริษัทในประเทศปานามาแห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินผิดกฎหมาย แต่คนดีๆ คงคิดไม่ออกว่าทำไมต้องนำเงินไปฝากที่นี่
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการนำเงินผิดกฎหมายไปฝากพอเบิกออกมาจะกลายเป็นเงินบริสุทธิ์หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องถามก่อนว่านำเงินจำนวนนั้นออกจากประเทศได้อย่างไร จะเป็นการฟอกเงินหรือไม่ก็ต้องพิจารณา เพราะลำพังการนำเงินไปฝากไม่ทำให้เป็นการฟอกเงิน เว้นแต่เงินที่ได้ไปเป็นเงินผิดกฎหมายเลยไปฟอกให้ถูกกฎหมาย ถ้าเงินขาเข้าไม่ผิด เงินขาออกก็ไม่ผิด และการที่มีคนไทยนำเงินไปฝากได้ ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายของไทยมีช่องโหว่ แต่เป็นเพราะกระบวนการนั้นถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น จึงหลุดไปได้
รองนายกฯ กล่าวว่า บางทีเงินไม่ได้ส่งตรงจากไทย แต่ส่งไปที่อื่นก่อน แต่คนเราถ้าวิริยะอุตสาหะขนาดนั้น มันต้องผิดปกติแล้ว ทั้งนี้ กฎหมายของไทยมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะติดตามเงินผิดกฎหมายเหล่านี้ได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์กรต่อต้านการฟอกเงินซึ่งประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าปฏิบัติตามเป็นอย่างดี เมื่อมีเรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมา ปปง.สามารถตรวจสอบเชิงรุกไปในพื้นที่อื่นๆ ที่อาจมีเงินผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ได้ซึ่งโทษสูงสุดของกฎหมายฟอกเงินไทย คือ จำคุกตลอดชีวิต รวมถึงยึดทรัพย์สินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขออนุมัติจากรัฐบาลให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส จ่ายค่าคลื่นความถี่แทนบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ว่า เบื้องต้นตนทราบเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่เห็นเรื่องอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าตามข้อกฎหมายจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะตนยังไม่เห็นรายละเอียด ส่วนการเสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้น ตนยังตอบไม่ได้เช่นกัน และขณะนี้ยังไม่มีการมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการศึกษาเรื่องดังกล่าว แต่หากมีการมอบหมายก็จะได้พิจารณาต่อไป
นายวิษณุกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอต่างๆ จะต้องผ่านการพิจารณาของ กสทช.เสียก่อน เพราะหาก กสทช.ยังไม่เห็นด้วยก็คงเป็นไปได้ยาก และหากผ่านด่าน กสทช.จริง ทาง กสทช.ก็ต้องคิดแล้วว่ามีความเป็นไปได้หรือ แต่ขณะนี้ตนยังไม่ทราบ และไม่เคยรู้เรื่องกติกาการประมูลคลื่นความถี่เป็นอย่างไร