ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ประเทศไทยร้อนที่สุดในรอบ 55 ปี ร้อนปรอทแตกอุณหภูมิพุ่งสูงทะลุ 44 องศาฯ ร้อนติด Top 10 ประเทศที่ร้อนที่สุดในโลก ร้อนจนยอดการใช้ไฟฟ้าพีคทุบสถิติเดิมอย่างต่อเนื่อง!
สถานการณ์อากาศร้อนจัดส่งผลกระทบในทุกพื้นที่ โดยข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยปริมาณการใช้ไฟฟ้า(พีค) ปี 2559 พีคสูงสุดสร้างสถิติใหม่ที่ 28,351.7 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 36.6 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมเมื่อวันที่ 6 เม.ย. พีคอยู่ที่ 27,639 เมกะวัตต์ อย่างราบคาบ และเป็นไปตามความคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่พีคสูงสุดอยู่ที่ 27,346 เมกะวัตต์
สุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าฯ กฟผ. ออกมาชี้แจ้งถึงความพีคของปริมาณการใช้ไฟฟ้าว่า เนื่องมาจากสภาพอากาศร้อนอบอ้าวบวกกับเป็นช่วงวันหยุดจึงส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงทะลุเพดาน ซึ่งเป็นความต้องการจากภาคครัวเรือนและภาคบริการ คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีการทำลายสถิติตัวเลขพีคอีกหลายครั้งเลยทีเดียว
ขณะที่เว็บไซต์ www.eldoradocountyweather.com เผยแพร่ข้อมูลจัดลำดับเมืองที่มีอุณภูมิสูงสุด ณ วันที่ 12 เม.ย. 2559) พบว่า จ.สุโขทัย ของประเทศไทย ติดอันดับ 10 เมืองมีอากาศร้อนที่สุดในโลก ซึ่งอุณหภูมิสูงถึง 44.3 องศาเซลเซียส ตามด้วย จ.ลำปาง ติดอันดับที่ 12 อุณหภูมิสูงถึง 43.8 องศาเซลเซียส และปิดท้ายที่ จ.กาญจนบุรี ติดอันดับที่ 14 อุณหภูมิสูงถึง43.5 องศาเซลเซียส
ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่าเพิ่งวางใจแม้ไม่ติดอันดับ แต่ก็ครองแชมป์อากาศร้อนที่สุดมาโดยตลอด อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อนุกรรมการวิชาการ กรรมการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก อธิบายปัจจัยที่ส่งผลเมืองหลวงแห่งนี้มีอากาศร้อนอบอ้าวผ่านสื่อฯ ความว่า ภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ เป็นเมืองกลางทุ่ง ไม่มีภูเขาและอยู่ติดทะเลก็จริง แต่มีปัจจัยอื่นที่ทำให้มีอากาศร้อนกว่าประเทศอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ในละติจูดใกล้เคียงกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งฤดูร้อนในแต่ละปีจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าไทย ประมาณ 2-3 องศาเซลเซียส
โดยมูลเหตุของความแตกต่างเป็นผลมาจากเรื่องของจำนวนสิ่งก่อสร้างที่เป็นไปอย่างระเกะระกะ และปริมาณต้นไม้ที่ลดน้อยถอยลง เป็นต้น
ทั้งนี้ สถิติอุณหภูมิของกรุงเทพฯนั้นสูงสุดอยู่ที่ 43.3 องศาเซลเซียส ไม่สูงถึง 44 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิในช่วง 38 - 39 องศาเซลเซียสสำหรับกรุงเทพฯ นั้นเป็นสภาพอากาศปกติของฤดูร้อน
อย่างไรก็ดี อย่างที่ทราบกันว่า อากาศร้อนในไทยนั้นเกิดจากดวงอาทิตย์ตั้งฉากและจะร้อนที่สุดในเดือน เม.ย. ของทุกปี ทว่า อากาศร้อนจัดที่สัมผัสได้ทุกหย่อมหญ้าสร้างความวิตกกังวลในประเด็นเรื่อง คลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ (Heat wave) ที่อาจก่อตัวทวีความรุนแรงสร้างผลกระทบอย่างหนัก จะเห็นว่าปีก่อนนี้ ฮีตเวฟ ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้ ยกตัวอย่าง รัฐโอริสสา ตอนกลางของประเทศอินเดีย อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 44.1 องศาเซลเซียส เรียกว่าเป็นระดับที่ร้อนที่สุดในรอบ 6 ปี ยิ่งไปกว่านั้นพบยอดผู้เสียชีวิตจากฮีฟเวฟกว่า 2,000 คนในประเทศอินเดีย
ในประเด็นนี้ จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า มวลอากาศร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิกส่งผลให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติในรอบ 50 ปี ทำให้มีความกังวลว่ามวลอากาศดังกล่าวมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นฮีตเวฟ ทำให้อุณภูมิร้อนจัดในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
“คลื่นความร้อนจะรุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับอากาศในพื้นที่นั้นหรือบริเวณนั้นนิ่งหรือมีการถ่ายเทหรือไม่ โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนคือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งระบบระบายความร้อนในร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 70 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวและโรคบางชนิด ที่ระบบระบายความร้อนในร่างกายทำงานบกพร่อง
“ปีที่แล้วเคยเกิดคลื่นความร้อนขึ้นที่อินเดีย ประชาชนเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนทั่วประเทศกว่า 2,500 คน จนต้องมีการประกาศมาตรการรับมือด้วยการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 7 วัน จัดเตรียมน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเพิ่มเติม จัดเตรียมที่พักติดเครื่องปรับอากาศตามสถานที่ต่างๆ อนุญาตให้คนงานหยุดพักในช่วงเวลาบ่าย ให้ความรู้แก่เด็กเกี่ยวกับอันตรายของคลื่นความร้อน จัดเตรียมถุงน้ำแข็งและน้ำสำหรับโรงพยาบาล รวมถึงฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญแม่นยำในการสังเกตและวินิจฉัยผู้ที่มีอาการภาวะเครียดจากความร้อน ภาวะร่างกายขาดน้ำ ประเทศไทยเองก็ควรมีการประกาศข้อพึงปฏิบัติที่เป็นการทำงานเชิงรุก และวางแผนล่วงหน้าเพื่อป้องกันการสูญเสีย และควรดำเนินการทันที”
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาออกมาชี้แจ้งกรณีการเกิด ฮีตเวฟ ในประเทศไทยว่าแทบไม่มีโอกาสก่อตัวขึ้นได้ เพราะส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศที่มีทะเลทรายอย่างอินเดียหรือสหรัฐฯ เสียมากกว่า แต่กลับมีความเป็นห่วงในเรื่อง พายุฤดูร้อน มากกว่า เพราะจะมีฝนตกหนักลมกันโชกแรงในหลายพื้นที่ ก่อนที่อุณหภูมิจะปรับสูงขึ้นไปอีก 43 - 44 องศาเซลเซียส ตลอดเดือน เม.ย. ไปจนถึงกลางเดือน พ.ค. 2559
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า มวลอากาศร้อนจัดเป็นผลพวงมาจาก ภาวะโลกร้อน (Global Warming) โดยข้อมูลเปิดเผยว่าในรอบ 100 ปี ที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบนโลกสูงขึ้น 0.74 ± 0.18 องศาเซลเซียส และจากแบบจำลองการคาดคะเนภูมิอากาศ พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2544 - 2643 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า0 1.1 - 6.4 องศาเซลเซียส
แน่นอน มนุษย์ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ อย่างที่ทราบกันว่าสาเหตุของภาวะโลกร้อนเกิดจากก๊าซเรือนกระจก กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ไปเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม การเผาไหม้เชื้อเพลิงตลอดจนปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะในประเทศไทยสถานการณ์ป่าไม้ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
อ้างอิงข้อมูลล่าสุด จากกรมป่าไม้สำรวจพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย พบว่า พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยเหลือเพียง 102,120,417.98 ไร่ หรือร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น ขณะที่พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยจากการสำรวจเดิมในปี 2551 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมี 108 ล้านไร่ หรือร้อยละ 33.8 ของพื้นที่ประเทศไทย หมายความว่าพื้นที่ป่าไม้ลดลงกว่า 6 ล้านไร่ หรือหายไปร้อยละ 2.37 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือเฉลี่ยลดลงกว่าปีละ 1 ล้านไร่
อย่างไรก็ตาม อากาศร้อนจัดและความแห้งแล้งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดไฟไหม้ป่า แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือต้นเหตุที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ยกตัวอย่าง กรณี ไฟไหม้ป่าภูหลง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ป่าดิบผืนสุดท้ายบนเทือกเขาภูแลนคา และเป็นป่าต้นน้ำลำปะทาวที่หล่อเลี้ยงเมืองชัยภูมิ ที่อยู่ในความดูแลของ พระไพศาล วิสาโล ไฟลุกลามเผาผลาญผืนป่าซ้ำรอยเดิม จากฝีมือของนายพรานรายเดิมที่บุกเข้าจุดไฟเพื่อไล่ล่าหมูป่า
การทำลายป่าไม้จากเงื้อมมือมนุษย์ยังมีอีกหลายกรณี บุกรุกแผ้วถางเพื่อการเกษตร บุกรุกเพื่อลอบตัดไม้ไปขาย ฯลฯ ล้วนแล้วแต่สาเหตุที่ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ แม้จะมีมาตรการกำกับดูแล หรือการปลูกทดแทน ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขกันต่อไป
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ก่อตัวเป็นภัยพิบัติต่างๆ ให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงปัญหาที่ได้สร้างขึ้น แม้กระทั่ง เหตุแผ่นดินไหว ที่เมืองคุมะโมะโตะ บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา อ้างอิง บทความเรื่อง แผ่นดินไหวกับโลกร้อน? โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็สะท้อนให้คำนึงถึงผลกระทบจากวิกฤติโลกร้อนโดยหลักการ
อย่างที่ทราบกันว่า การแผ่นดินไหวคือการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกตามแนวของรอยเลื่อนมีพลัง เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นมานานหลายล้านปี แต่นักธรณีวิทยาอย่าง Bill Mcguire มองว่าการเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงขึ้นนั้นเป็นผลกระทบทางอ้อมจากสภาวะโลกร้อนด้วย
อากาศร้อนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เสียแล้ว พิจารณาดูแล้วจะโทษธรรมชาติก็คงไม่ได้ เพราะมันเป็นกระทบจากฝีมือมนุษย์ล้วนๆ
ทั่วโลกต่างตระหนักและให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว อย่างปลายปีก่อนมีการจัดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ 21ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (COP21) งานนี้ตัวแทนจากประเทศไทยก็เข้าร่วม นำโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บินตรงไปหารือ “ลดภาวะโลกร้อน” จนเป็นเรื่องใหญ่โตตกเป็นข่าวยกโขยงพากันไปผลาญงบกว่า 20 ล้าน!