xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิกฤตแล้ง ร้อนสุด ฉุดเศรษฐกิจซบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรนอกเขตชลประทาน ในเขตอ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ต้องขุดเจาะบาดาลเพิ่ม เพื่อทำการเกษตรช่วงหน้าแล้ง
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หน้าร้อนปีนี้ ต้องบอกว่าร้อนสุดๆ เป็นประวัติการณ์ ถึงขั้นเสี่ยงต่อการเผชิญคลื่นความร้อน หรือ “ฮีตเวฟ” ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมวลอากาศร้อนจากมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นจากปกติในรอบ 50ปีพัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงวันที่ 17-19 มี.ค.นี้ ไทยจะร้อนที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน นั่นเป็นเสียงเตือนจาก นายจิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เตรียมรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้น

ร้อนแล้ง นอกจากจะเป็นปัญหาต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2559จำนวน 1,201 ราย ครอบคลุม 44กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 85.1ลดลงจาก 86.3 ในเดือนมกราคม โดยเป็นค่าดัชนีฯ ที่ต่ำสุดรอบ 4เดือนนับตั้งแต่พฤศจิกายน 2558 และยังลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาวะภัยแล้งที่ขยายพื้นที่ในวงกว้าง ซึ่งภาวะดังกล่าวทำให้เอกชนมีความระมัดระวังในการขยายการผลิตและฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 100.8ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นค่าดัชนีฯ ที่ลดต่ำสุดในรอบ 8เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ภัยแล้ง ปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

วิกฤตภัยแล้งในปีนี้ มีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 50,000 – 100,000ล้านบาทเลยทีเดียว

โดย นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินภาพรวมความเสียหายเชิงเศรษฐกิจต่อพืชผลต่างๆ ในภาคเกษตรกรรมเบื้องต้นอยู่ที่ระดับ 19,460-20,000ล้านบาท รายได้เกษตรกรลดลง 3,430 บาทต่อครัวเรือนต่อปี มีภาคเกษตรที่จดทะเบียน 7.1 ล้านครัวเรือน ความเสียหายต่อรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งอยู่ที่ 24,353-25,000ล้านบาท รวมความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร 43,813-45,000ล้านบาท สินค้าเกษตรที่กระทบมาก คือ ไม้ผล ข้าวนาปรัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน กระทบปานกลาง คือ ข้าวนาปี ปศุสัตว์ กระทบไม่มาก คือ มันสำปะหลัง อ้อย ขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบ เช่น ภาคการบริโภค ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ภาคการค้า ภาคท่องเที่ยว เมื่อประเมินผลกระทบภัยแล้งต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม ไม่น่าจะต่ำกว่า 50,000ล้านบาท

และหากปัญหาภัยแล้งขยายวงกว้างและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและยืดเยื้อ จะทำให้หนี้ครัวเรือนเกษตรกรต่อจีดีพีภาคเกษตรปี 2559อาจปรับตัวสูงขึ้นทะลุระดับร้อยละ 80 โดยหนี้สินของเกษตรกรในระบบประมาณ 1.6-1.7ล้านล้านบาท ประมาณร้อยละ 70-75 เป็นหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ดังนั้น รัฐบาลสามารถทำโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือพักชำระหนี้ได้หากผลกระทบภัยแล้งมีความรุนแรงมากจนกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนเกษตรให้ลดลงต่ำกว่า153,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

ขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2559อยู่ที่ 74.7 ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 63.5ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 69.7และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.7โดยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 5 เดือน

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องสถานการณ์ภัยแล้งค่อนข้างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลการเกษตร การเพาะปลูก การดำเนินชีวิตในเชิงเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการพาณิชย์ทั่วไป จึงเป็นสถานการณ์ที่ดึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลง สถานการณ์ภัยแล้งจึงเป็นความเสี่ยงและอาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนเมษายน พฤษภาคม ในเบื้องต้นศูนย์พยากรณ์ประเมินว่า ผลกระทบจากภัยแล้งอาจจะทำให้เงินระบบหายไปประมาณ 7 หมื่นล้าน - 1 แสนล้านบาท และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกนี้จะชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส4/58 โดยคาดว่าจะยังอยู่ใกล้เคียง 2.8%หรือต่ำกว่าเล็กน้อย ถ้ามีเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่ระบบได้ทันในช่วงไตรมาส 2ทั้งการลงทุนภาครัฐ มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งต่างๆ ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ประมาณ 3%
กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์
ความจริงแล้ว ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำ เพียงแต่ไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำที่ดีพอ ดังที่ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวถึงภาพรวมปริมาณน้ำว่า ประเทศไทยไม่ใช่เป็น ประเทศที่ขาดน้ำ เรามีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาโดยเฉลี่ยปีละกว่า 750,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถเก็บกักได้เพียงปีละประมาณ 10% หรือคิดเป็น 75,000 ล้าน ลบ.ม.จากจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นน้ำที่อยู่เขตพื้นที่ชลประทาน เพียง 20%ส่วนอีก 80% นั้นอยู่นอกเขตชลประทาน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาปีละกว่า 238,00 0ล้าน ลบ.ม. แต่กักเก็บได้เพียงแค่ 2% พร้อมกับยกตัวอย่างเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ไม่ค่อยจะได้น้ำมากว่า 50 ปี เพราะไม่มีหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบอย่างชัดเจน

ความสามารถในการเก็บกักน้ำ ถ้าหากพินิจพิจารณาอย่างเจาะจงลงไปยังโครงการชลประทานทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะพบว่า มีความจุเก็บกักน้ำที่ใช้การได้รวมทั้งสิ้น 51,801.27ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 6.95ของปริมาณน้ำทั้งหมดเท่านั้น

นั่นสะท้อนว่า การบริหารจัดการน้ำ การสร้างแหล่งเก็บกักน้ำของประเทศไทยอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวยังไม่เห็นรูปธรรมความสำเร็จ โดยเฉพาะการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ตามแนวพระราชดำริ ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลทำเพียงป่าวประกาศสร้างภาพเอาหน้าทั้งสิ้น แต่ไม่ได้ลงมือดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องแต่อย่างใด

ภาพที่เห็นจนชินชาก็คือ พอถึงฤดูแล้งของทุกปี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพาเหรดลงพื้นที่ไปตรวจงานภัยแล้งให้ชาวบ้านเอาผ้าขาวม้ามาคาดพุง ปลอบประโลมใจกันไปว่ารัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งที่จริงแล้ว รัฐบาลมีแต่เพียงมาตรการเยียวยาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศเขตภัยพิบัติ ตั้งงบบรรเทาสาธารณภัย เอารถน้ำตะเวนแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคตามหมู่บ้านต่างๆ กระทรวงเกษตรฯ ก็ออกมาประกาศให้งดทำนาปรัง ส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย พร้อมๆ กับฉวยโอกาสผลักดันให้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่วนเวียนซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ยังกับแผ่นเสียงตกร่อง เผลอๆ บางปีมีศึกสงครามแย่งชิงน้ำระหว่างคนจนกับนายทุนอีกต่างหาก

ว่าแล้ว วันศุกร์ที่ 18 มีนาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ก็มีโปรแกรมลงพื้นที่อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เพื่อติดตามการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน การจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชน การสนับสนุบงบส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลๆ ละ 5ล้านบาท โครงการพัฒนาเกษตรกรเพื่อบรรเทาภัยแล้งตำบลละ 1ล้านบาท โดยจะมอบโฉนดที่ดินให้กับประชาชน 189ราย รวมทั้งมอบหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าไผทและป่าโคกไม้งาม

ขณะที่ประชาชนที่เผชิญภัยแล้งซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ต่างหาวิธีเอาตัวรอดกันไปตามมีตามเกิด มีทุนหน่อยก็เจาะบ่อบาดาล ทำระบบน้ำหยด ลงทุนปลูกพืชใช้น้ำน้อยหารายได้เลี้ยงครอบครัว พวกเบี้ยน้อยหอยน้อยก็อพยพเข้าเมืองขายแรงงาน ทนๆ เอาหน่อยสามสี่เดือนเดี๋ยวฝนมาปัญหาภัยแล้งก็หมด ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่



กำลังโหลดความคิดเห็น