ปัญหาภัยแล้งของไทยปี 2559 นับว่าหนักสุดในรอบ 20 ปี โดยหากพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนหลักที่จะระบายน้ำหล่อเลี้ยงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เองก็ออกมายอมรับว่ามีปริมาณน้ำน้อยสุดในรอบ 57 ปี และ 40 ปีตามลำดับ ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาวะแล้งของไทยหนักหนาสาหัสก็เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งเริ่มต้นกันตั้งแต่ช่วงปี 2557
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดปริมาณฝนที่ตกน้อยลงกว่าปกติและยังทำให้ร่องมรสุมที่พัดผ่านเคลื่อนที่จากเดิมออกไปด้วยซึ่งหมายถึงส่งผลโดยตรงให้ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงจากฝนที่ตกน้อยแล้ว ฝนยังตกบริเวณท้ายเขื่อนทำให้น้ำไม่ไหลลงเขื่อนอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2557 ทำให้น้ำต้นทุนที่สะสมไว้ในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์ต่ำจนส่งผลให้รัฐบาลต้องขอให้ชาวนางดทำนาปรัง
ผลจากปัญหาภัยแล้งดังกล่าวกระทบต่อปริมาณผลผลิตพืช 4 ชนิดซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทยได้แก่ 1. ข้าว 2. อ้อย 3. มันสำปะหลัง และ 4. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยพืชหลักนี้ไม่เพียงแต่จะป้อนในประเทศหากแต่ยังเป็นพืชส่งออกที่สำคัญ ขณะที่ราคาส่งออกก็เกิดปัญหาราคาตกต่ำจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้เกษตรกรไทยเจอ 2 เด้ง คือ ทั้งปริมาณลด ราคาก็ยังลดลงโดยคาดว่าเกษตรกรที่ปลูกพืชทั้ง 4 ชนิดที่มีอยู่ประมาณ 4 ล้านครอบครัวพื้นที่เพาะปลูก 100 ล้านไร่จะมีรายได้ลดลง 40-50% จากปีก่อน
ทั้งนี้ พืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ได้แก่ 1. ข้าว พบว่าข้าวนาปรังซึ่งเฉลี่ยปีนี้จะมีผลผลิตปีละ 10 ล้านตัน จากภาวะภัยแล้งจะเหลือไม่ถึง 5 ล้านตัน ขณะที่ราคาตลาดโลกก็ยังคงไม่ขยับเพิ่มขึ้น แถมไทยยังเจอปัญหาสต็อกข้าวเก่าทำให้ภาพรวมราคาข้าวยังคงตกต่ำต่อเนื่อง 2. มันสำปะหลัง ทั้งผลผลิตต่อไร่ต่ำแล้วยังเจอภาวะราคาต่ำสุดรอบ 10 ปี ขณะนี้หัวมันสดเฉลี่ยอยู่ที่ 1.70-1.80 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เท่านั้น การส่งออกคงไม่ต้องพูดถึงเพราะไทยยอมนำเข้ามาจากเพื่อนบ้านได้อีก
3. อ้อย ฤดูกาลผลิตปี 58/59 เจอทั้งผลผลิตต่อไร่ตกต่ำและราคาต่ำเช่นกัน โดยผลผลิตคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 95-96 ล้านตัน โดยเบื้องต้นคาดกันว่าปริมาณน้ำตาลอาจจะหายไปถึงระดับ 1 ล้านตัน คิดเป็นเงินที่เสียโอกาสสำหรับการส่งออกก็อยู่ราวหมื่นกว่าล้านบาท ขณะที่ราคาอ้อยก็ประกาศแล้วที่ 808 บาทต่อตันโดยเฉลี่ย 4. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตลดต่ำเช่นกัน ส่วนราคาเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 8 บาทต่อ กก. ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากพืชเศรษฐกิจหลักแล้วคงไม่สามารถจะเป็นความหวังในการส่งออกให้แก่เกษตรกรได้เลย
อย่างไรก็ตาม หากมององค์รวมของผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยจากผลการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากการสอบถามของกลุ่มตัวอย่างในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีมุมมองเชิงลบสูงกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากผูกพันกับข้าว และยางพารา สถานการณ์แล้งจึงอาจเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยศูนย์พยากรณ์ประเมินว่าผลกระทบจากภัยแล้งอาจจะทำให้เงินระบบหายไปประมาณ 70,000-100,000 ล้านบาท
สอดรับกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมที่จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่น ก.พ. 59 ก็ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งปัจจัยหนึ่งก็มาจากปัญหาภัยแล้งที่ผู้ผลิตต่างก็กังวลว่าจะกระทบต่อแรงซื้อของคนไทยโดยเฉพาะเกษตรกร อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนโดยเฉพาะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต่างคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐที่ทยอยออกมาจะทำให้แรงซื้อของประชาชนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้จะขยับขึ้น
หันมาดูการบริหารจัดการน้ำระยะสั้นของรัฐซึ่งทางกรมชลประทานจะเฝ้าติดตามการระบายน้ำในน้ำลุ่มเจ้าพระยา เขื่อนหลักได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อยบำรุงแดน อย่างใกล้ชิดและได้ยืนยันว่าจะสามารถควบคุมน้ำเพื่อการบริโภคและอุปโภคได้จนถึงเดือนกรกฎาคมนี้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันยังมีการติดตามการปลูกข้าวเพื่อป้องกันการเพิ่มพื้นที่ปลูกโดยพยายามทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้มากขึ้นและเฝ้าระวัง 28 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคเหนือตอนบน เเละนอกเขตชลประทาน เช่น กำแพงเพชร กาญจนบุรี กรุงเทพฯ จันทบุรี ชัยภูมิ เชียงราย นครนายก ชัยนาท นครราชสีมา มุกดาหาร อุทัยธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมารัฐก็เร่งทำฝนหลวงเพื่อลดความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้รัฐก็ขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดโดยขอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการเล่นน้ำ และลดวันเล่นสงกรานต์ลงโดยล่าสุดหลายจังหวัดได้ประกาศวันเล่นน้ำสงกรานต์แล้วซึ่งส่วนใหญ่ลดระยะเวลาการสาดน้ำลงเพื่อช่วยกันลดการใช้น้ำตามนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้ ล่าสุดยังมีการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาเติมเพื่อลดภาวะภัยแล้งยังภาคอีสานอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าระยะเกือบ 2 ปีของการดำเนินงานรัฐบาลยังไม่เห็นความชัดเจนเรื่องของแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวมากนักหากเทียบกับโครงการรถไฟฟ้า แต่จากปัญหาภัยแล้งที่หนักขึ้นทำให้ระยะหลังเริ่มเห็นแนวทางออกมา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสถานีสูบน้ำแม่น้ำโขงถาวรที่บ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดอัตราสูบ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 10 เครื่องทำการสูบน้ำโขงเข้ามากักเก็บไว้ใช้ในหน้าแล้ง และสามารถระบายน้ำจากลำห้วยหลวงลงสู่แม่น้ำโขงในฤดูน้ำหลาก ใช้งบประมาณ 2,580 ล้านบาท ซึ่งจะเสร็จในปี 2560
นอกจากนี้ยังมอบให้กรมชลประทานศึกษาดึงน้ำจากแม่น้ำสาละวิน พม่า และอื่นๆ มาเติมที่เขื่อนภูมิพลซึ่งคาดว่าจะศึกษาเสร็จในปี 2560 ขณะเดียวกันนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการน้ำที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานได้รวบรวมงบประมาณที่หน่วยงานต่างๆ ได้รับไปใช้เกี่ยวกับน้ำ แต่ที่ผ่านมาใช้อย่างไม่เป็นระบบ จึงนำกลับมาทำอย่างบูรณาการปี 2558/2559 รวบรวมงบประมาณได้กว่า 50,000 ล้านบาท และกำหนดยุทธศาสตร์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น การทำประปาหมู่บ้าน 7,490 หมู่บ้านให้ครบถ้วนภายในปี 2560
การเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้อีก 10 ล้านไร่ ส่วนนอกเขตชลประทานจะสนับสนุนการขุด ขยายแหล่งน้ำในชุมชนเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ทำแก้มลิง ซึ่งจะแก้ปัญหาได้ทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม ส่วนปัญหาอุทกภัยมีแผนยุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำทั้งคูคลองธรรมชาติและคลองชลประทาน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการดูแลป่าต้นน้ำซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมีป่าช่วยซับน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วม แผนระยะยาวที่ได้วางไว้ถึงปี 2569
ภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ คาดการณ์กันว่าเริ่มหมดไปในช่วงตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป และปรากฏการณ์ลานีญาจะกลับมาซึ่งแน่นอนว่า ภาวการณ์เช่นนี้ก็จะเป็นทุกๆ 3-4 ปี ปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมก็จะสลับให้เห็น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำที่เป็นการรองรับปัญหาต่างๆ ในระยะยาวจึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ต้องมาคอยแก้ไขเฉพาะหน้าเช่นทุกวันนี้
ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 150 ล้านไร่ แต่พื้นที่ที่มีระบบชลประทานรองรับมีเพียง 33 ล้านไร่เท่านั้น การเข้าถึงแหล่งน้ำของเกษตรกรจึงมีน้อยมาก ที่เหลือต้องพึ่งเทวดาฟ้าฝน หากรัฐบาลทุกรัฐบาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มองเห็นคุณค่าของเกษตรกรอย่างจริงใจการก่อสร้างระบบชลประทานน้อยใหญ่ซึ่งในอดีตลงทุนไม่มากแถมยังไม่มีปัญหาจะไปกระทบกระทั่งกับชุมชนที่ยังขยายตัวไม่มากเช่นปัจจุบัน มีการทยอยสร้างกันมาต่อเนื่องวันนี้ปัญหาซ้ำซากเรื่องภัยแล้ง น้ำท่วม คงไม่เกิดขึ้นจนกระทบต่อภาคเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติเช่นปัจจุบัน
การบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาดำเนินการที่ต่อเนื่องจึงจะได้ระบบชลประทานที่เพียงพอโดยเฉพาะการหล่อเลี้ยงภาคเกษตรของไทยโจทย์ใหญ่นี้ต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลทุกๆ รัฐบาล