xs
xsm
sm
md
lg

"ตู่-เต้น"จี้กกต.แสดงจุดยืนประชามติ ลั่นรธน.ผ่านไม่ลงเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 21 เม.ย. ) แกนนำกลุ่มนปช. นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่ม เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. ผ่านนายเมธา ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ กกต.ด้านการมีส่วนร่วม เรียกร้องให้ กกต.ดำเนินการจัดประชามติร่างรธน. โดยให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และขอให้ข้อมูลเหตุผลของฝ่ายที่เห็นต่างกับ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ได้มีโอกาสนำเสนอต่อประชาชน อย่างกว้างขวาง
นายจตุพร กล่าวว่า ตนมาในฐานะกลุ่มการเมือง ที่ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรธน. ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ แต่ปัญหาคือ ขณะนี้หากใครไม่รับร่างรธน. ก็เท่ากับ จะมีปัญหากับรัฐ ทั้งที่การทำประชามติ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่สามารถแสดงความเห็นได้ อีกทั้งเห็นว่าการทำหน้าที่ของ กกต. ในการทำประชามตินั้น ย่อมมีอำนาจมากกว่ารัฐบาล หรือ คสช. เพราะเป็นองค์กรที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง ส่วนรัฐบาลและคสช. มีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกให้ กกต.เท่านั้น ถ้ากกต.จัดประชามติด้วยความสุจริตโปร่งใส ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ขอน้อมรับ แต่ส่วนตัวแล้ว หากร่างรธน.นี้ผ่าน ตนก็ขอประกาศต่อ กกต.ว่า จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. เรียกร้องให้ กกต. แสดงตัวในฐานะกรรมการ ที่ควบคุมดูแลการทำประชามติให้ชัดเจน แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ช่วงเวลานี้ก็ถือว่าเข้าสู่กระบวนการทำประชามติแล้ว แต่ขณะนี้ กกต. ยังไมสามารถบอกได้ว่าในการทำประชามตินั้น สิ่งใดทำได้ หรือไม่ได้ มีแต่ คสช.ที่ออกมาสั่งซ้ายหัน ขวาหัน
"ถึงเวลาที่ กกต.ต้องแสดงบทบาทให้ชัดเจน ซึ่งผมยืนยันว่า จะแสดงความคิดเห็นไปจนถึงวันลงประชามติ เพียงแต่ยังไม่รู้ว่า ต้องฟังแนวทางปฏิบัติจากใครกันแน่ อีกทั้งเป็นห่วงว่า การไปดูงานที่ต่างประเทศของ กกต.ในช่วงนี้ มีความเหมาะสมหรือไม่ ประเทศที่ กกต.ไปดูงานนั้น เขาเลือกตั้งกันตามปกติ เชื่อว่าสิ่งที่คนทั้งทั้งโลกอยากมาดู คือ การลงประชามติในประเทศไทย ที่มีความน่าสนใจกว่ามาก กกต.จึงควรมาดูแลจัดการให้ดี และเรื่องการแสดงความคิดเห็น กรธ. จะลงพื้นที่ชี้แจงเนื้อหา และ สนช.จัดเวทีชี้แจงคำถามพ่วง แต่ไม่ปรากฏว่า ให้มีเวทีของประชาชนแต่อย่างใด กกต. ควรพิจารณาว่า ทำอย่างไรที่จะให้การแสดงความเห็นสองฝ่ายเป็นไปอย่างเท่าเทียม หรือ อย่าง กรธ. ใช้วิธีให้ศิลปินแห่งชาติมาแหล่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนฟัง อยากถามว่า ถ้าผมจะแหล่แบบนี้บ้าง ได้หรือไม่ "
ด้านนายเมธา ชี้แจงว่า กกต. มีการประชุมพิจารณาเรื่องสิ่งใดทำได้ หรือไม่ได้ ไปบ้างแล้ว เป็นการยึด 5 ลักษณะต้องห้าม ที่ทำแล้วเป็นความผิดตาม มาตรา 62 ของ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ คือต้องไม่ปลุกระดม กระทำความรุนแรง ก้าวร้าว ข่มขู่ และ บิดเบือน อยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องรอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ มีผลบังคับใช้ก่อน รวมถึงเรื่องการจัดเวทีแสดงความคิดเห็น ซึ่ง กกต.จะมีการประชุมกันในวันที่ 26 เม.ย.นี้ คงจะมีการหารือกัน
อย่างไรก็ตาม นายจตุพร แย้งว่า ลักษณะต้องห้ามเช่นนี้ ค่อนข้างเป็นนามธรรม และครอบจักรวาล อะไรคือตัวชี้วัดมาตรฐานความรุนแรง หรือความก้าวร้าว กกต.ต้องระบุให้ชัด เช่น ลักษณะการพูดแบบนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นมาตรฐานให้ปฏิบัติตามได้หรือไม่ ที่ผ่านมา ตนยังไม่เคยเห็นใครเขียนกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนเช่นนี้มาก่อน กลายเป็นว่า แต่ละฝ่ายกลับอธิบายเนื้อหากฎหมายที่ไม่เหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น