xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่านกม.ค่าปรับจราจร จ่ายผ่านแบงก์-ร้านสะดวกซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (21เม.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้พิจารณาวาระ1 ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ ...) พ.ศ...(เพิ่มช่องทางชำระค่าปรับ) ตามที่ครม.เสนอ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาระสำคัญว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เพิ่มช่องทางการชำระค่าปรับตามใบสั่ง ในกรณีที่ไม่มีการเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และเพิ่มทางเลือกให้กับกับผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถ โดยการชำระด้วยวิธีการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิต หรือ วิธีการอื่นโดยผ่านธนาคาร หรือหน่วยบริการรับชำระเงิน เป็นไปตามที่ผบ.ตร. กำหนด
โดยมีหลักในการเสนอกฎหมายนี้ คือ เพื่ออำนวยความสะดวก เตรียมมีมาตรการสำคัญในอนาคต และเป็นการพยายามคิดช่องทางที่ไม่ต้องมีการจ่ายเงินผ่านมือเจ้าหน้าที่ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดเรื่องเหมือนที่เกิดเป็นข่าวในขณะนี้ โดยทั้งหมดเชื่อว่า จะทำให้เกิดวินัยได้
ทั้งนี้ สมาชิกหลายคนแสดงความเป็นห่วงว่า จะมีการผูกขาดร้านสะดวกซื้อเฉพาะบางแห่ง ส่งผลต่อส่วนแบ่งค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม ซึ่งนายวิษณุ ชี้แจงว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชำระค่าปรับ โดยชำระที่ธนาคาร โดยมีธนาคารกรุงไทย เป็นหลัก ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่อื่นอีก ถ้ายังจะจ่ายกันเพียง 40 เปอร์เซ็นต์อีก ก็คงจะต้องคิดมาตรการอื่นต่อไป
ทั้งนี้ ครม. มีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม กฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเตรียมยกเครื่อง พ.ร.บ.จราจรทางบกทั้งฉบับ เพื่อสร้างเรื่องวินัยจราจร เพื่อแก้ปัญหาเรื่องค่าปรับ ความปลอดภัยบนท้องถนน รวมทั้งดูเรื่องการเพิ่มโทษ และอายุความ ส่วนเรื่องศาลจราจร ก็คิดกันมานาน แต่คำตอบที่ได้รับ คิดว่ายังไม่เหมาะสม อาจจะยังไม่ถึงเวลา เพราะในบางประเทศที่เขามีศาลจราจร มีค่าใช้จ่ายทั้งภาครัฐในการดำเนินการ และเอกชน ที่จะต้องไปศาลสูงมาก อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย
ด้าน พล.ต.ท. อนันต์ ศรีหิรัญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ชี้แจงว่า ธนาคารหลักที่จะรับชำค่าปรับตามกฎหมายนี้ คือ ธนาคารต่างๆ ส่วนร้านสะดวกซื้อ ไม่จำกัด จะเปิดรับชำระทุกหน่วย ทุกราย ขณะที่ พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รอง ผู้บังคับการตำรวจจราจร ชี้แจงถึงการตั้งกล้องตรวจจับผู้กระทำผิดว่า ปัจจุบันตำรวจจราจร มีกล้องตรวจจับ 3 ประเภท กล้องตรวจจับสัญญาณไฟแดง มี 30 จุดทั่วกทม. กล้องตรวจจับความเร็วใช้บนทางหลวง และทางพิเศษ และกล้องเปลี่ยนช่องทางจราจร ที่มีเครื่องหมายห้ามเปลี่ยน โดยการตั้งกล้องทุกจุด จะมีป้ายเตือนเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถทราบ และเป็นการปราม แต่ยังมีเจตนาฝ่าฝืน ต้องถูกออกใบสั่ง
ทั้งนี้ในปี 2558 กทม.ได้ออกใบสั่ง 1.4 ล้านใบ แต่มีผู้มาชำระเพียง 4 แสนราย อย่างไรก็ตาม การที่ผู้กระทำผิดไม่ยอมเสียค่าปรับ คงต้องใช้มาตรการอื่น เช่น การตัดคะแนน เพิกถอนใบอนุญาตต่อไป
ส่วนข้อเสนอเพิ่มความเร็วของรถ เพื่อให้เหมาะกับถนนนั้น คิดว่าถ้าปรับความเร็วให้เหมาะกับสภาพรถ และถนนปัจจุบัน และกำหนดโทษเพิ่มขึ้นด้วย เชื่อว่าจะควบคุมไม่เกิดอุบัติเหตุได้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีมติรับหลักการวาระ 1 ด้วยคะแนน 181 งดออกสียง 3 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาภายใน 30 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น