xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มซิ่งเบนซ์ชน 2 นศ.ดับ รับสารภาพข้อหาประมาท ด้าน ตร.เผยไม่หนักใจสังคมกดดัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - หนุ่มซิ่งเบนซ์ชน 2 นักศึกษาปริญญาโทดับ รับสารภาพขับรถประมาท ด้านรอง ผกก.สอบสวนเผยเตรียมสอบเพิ่มชนลักษณะนี้มาแล้วกี่ครั้ง ไม่หนักใจถูกสังคมกดดันหลังถูกวิจารณ์หนัก

พ.ต.ท.สมศักดิ์ พลพันขาง รอง ผกก.สอบสวน สถานีตำรวจภูธรพระอินทร์ราชา เปิดเผยภายหลังสอบปากคำนายเจนภพ วีรพร อายุ 37 ปี ผู้ต้องหาขับขี่รถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดส เบนซ์ ป้ายทะเบียน ษง 3333 กรุงเทพมหานคร พุ่งชนรถยนต์ของนักศึกษาปริญญาโท 2 คนจนไฟคลอกเสียชีวิตบนถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 53 บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอินเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมาว่า จากการสอบปากคำนานกว่า 3 ชั่วโมง ผู้ต้องหามีสติดี และได้ให้การรับสารภาพว่าขับรถโดยประมาทจริง หลังจากนี้ตำรวจเตรียมตรวจสอบย้อนหลังว่าผู้ต้องหาเคยก่อเหตุชนแบบนี้มาแล้วกี่ครั้ง เบื้องต้นจากการสอบถามญาติยอมรับว่าผู้ต้องหาเคยขับรถจนเกิดอุบัติเหตุลักษณะนี้มาก่อน ส่วนประเด็นที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตรวจวัดปริมาณแอลกฮอล์ในเลือดหลังเกิดอุบัติเหตุนั้นเนื่องจากผู้ต้องหาอยู่ในอาการบาดเจ็บ การไม่ให้ตรวจวัดแอลกอฮอล์ก็เป็นสิทธิ แต่ยืนยันว่าหลังเกิดเหตุตำรวจไม่ได้กลิ่นแอลกอฮอล์ในตัวผู้ต้องหา

ส่วนกรณีพบยาแก้โรคซึมเศร้าภายในรถของผู้ต้องหาจะมีผลต่อคดีหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ขอไปตรวจสอบรายละเอียดให้แน่ชัดก่อนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีต่อไป ขณะเดียวกันยืนยันว่าตำรวจไม่รู้สึกกดดันการทำคดีนี้หลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ด้านนายวันชัย สอนศิริ อดีตส.ว.และทนายความชื่อดัง กล่าวว่า ปกติแล้วถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์ที่อาจจะเมาสุราด้วยก็จะสามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้เลยในขณะนั้น แต่ในเรื่องสารเสพติดถ้ายังไม่มีพฤติการณ์หลักฐานแวดล้อมอยู่จะไปตรวจสารเสพติดเลยคงไม่ได้ แต่ตนอยากบอกสังคมอย่าไปหลงประเด็นเรื่องเมาหรือสารเสพติด เพราะถ้าหากมีหลักฐานว่าผู้ก่อเหตุขับรถเร็วประมาณ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในถนนที่พลุกพล่าน ก็อาจจะเข้าความผิดฐานเจตนาฆ่าคนตายไม่ใช่เป็นเรื่องประมาททำให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายก็ได้ ซึ่งคดีลักษณะนี้เคยมีตัวอย่างคำพิพากษามาแล้วหลายเรื่อง

แหล่งข่าวนักกฎหมายระดับสูงจากสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นถึงกรณีที่ ไม่ได้มีการตรวจวัดแอลกฮอลย์และสารเสพย์ติดในที่เกิดเหตุในคดีนี้ว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.จราจรทางบกมาตรา 142 วรรคสอง ถึง ห้า และมาตรา 43 (1) และ (2) ซึ่งหากสงสัยว่าเมา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 43(1) หรือ (2) พนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร มีอำนาจตามมาตรา 142 วรรคสอง สั่งตรวจแอลกอฮอล์เพื่อทดสอบว่าหย่อนความสามารถในการขับหรือเมาสุราหรือไม่ได้ และหากผู้ก่อเหตุไม่ยอมให้ทดสอบ ตามมาตรา 142 วรรคสาม กำหนดให้ พนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร มีอำนาจกักตัวเพื่อทดสอบได้หากไม่ยอมให้ทดสอบ มาตรา 142 วรรคสี่บอกว่าให้สันนิษฐานว่าฝ่าฝืนตามมาตรา 43(2) คือ ขับรถขณะเมาสุรา

กรณีนี้ถามว่าทำไมตำรวจที่อยู่ในที่เกิดเหตุ จึงไม่รีบตรวจวัดแอลกอฮอล์ว่าเมาหรือไม่ ทั้งที่ตาม ก.ม.มีอำนาจเพื่อหาหลักฐานการกระทำผิด ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป จนพยานหลักฐานอาจสูญหายไปแล้ว

“อย่างน้อยหากตรวจในที่เกิดเหตุไม่ได้เพราะต้องรีบนำคนเจ็บส่ง โรงพยาบาลแต่ก็ควรรีบตรวจหาแอลกอฮอล์ทันทีที่ทำได้ คือหลังจากคนเจ็บมาถึง โรงพยาบาลแล้ว มีเวลาที่จะดำเนินการตรวจได้ แม้จะอยู่ในห้องฉุกเฉินก็ตรวจแอลกอฮอล์ได้ เพราะคนเจ็บอยู่ในการดูแลของแพทย์แล้ว ไม่ได้กระทบกับการรักษาช่วยชีวิตผู้ป่วยแต่เป็นกรณีที่ต้องรีบดำเนินการ”


กำลังโหลดความคิดเห็น