xs
xsm
sm
md
lg

ศาลชงแก้โทษเมาแล้วขับจาก “ประมาท” เป็น “เจตนา” เอาผิดคนขาย-ผู้โดยสารร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศาลยุติธรรมชงแก้โทษเมาแล้วขับ จาก “ประมาท” เป็น “เจตนา” ทำร้าย - ฆ่าผู้อื่น เอาผิด ทั้งร้านขายเหล้า ผู้โดยสารร่วม เครือข่ายเหยื่อเมาไม่ขับ วอน คสช. ใช้ ม.44 ห้ามขายน้ำเมาช่วงเทศกาล

นายทัพพ์ฐพนธ์ ลั่นซ้าย ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 2 กล่าวในการเสวนา เรื่อง การจัดการปัญหาเมาขับกับสังคมไทย ภายในสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า สำนักงานคุมประพฤติมี 103 แห่ง ใน 77 จังหวัด ใน กทม. มี 10 แห่ง โดยมีผู้กระทำผิดคดีเมาแล้วขับกรณีไม่มีเหยื่อต้องคุมประพฤติ ปีละ 50,000 คน ซึ่งสำนักงานจะต้องดำเนินการใน 2 บทบาท คือ บังคับใช้กฎหมายและฟื้นฟูผู้กระทำผิด จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมว่าเมาแล้วขับเป็นความเสี่ยงอย่างสูง ไม่ใช่มองเป็นเรื่องเล็กน้อย

นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า ในการสัมมนาของศาลฎีกาและมูลนิธิเมาไม่ขับ เห็นตรงกันว่า โทษสำหรับคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับและเกิดอุบัติเหตุ ที่เป็นแค่การประมาทยังไม่เหมาะสม แต่โทษต้องสูงขึ้น เพราะมีความเห็นว่าใครที่รู้ตัวว่าขับรถแล้วไปดื่ม และจะต้องขับรถกลับ เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นต้องเข้าข่ายเจตนา เพราะรู้ตัวว่าจะไปดื่มและต้องขับรถ ความผิดควรเทียบได้กับเจตนาทำร้ายหรือฆ่าผู้อื่น ไม่ใช่การประมาท และควรถือเป็นความผิด 2 กรรม ทั้งประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ. จราจรทางบก ต้องรับโทษตามทั้ง 2 กฎหมาย ไม่ใช่เป็นความผิดกรรมเดียว และรับโทษตามบทหนักที่สุดเหมือนปัจจุบัน

“นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดความผิดใหม่กรณีเมาแล้วขับด้วย เพื่อเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันไม่ให้เหยื่อเมาแล้วขับรับเคราะห์คนเดียว โดยควรนำภาษีมาจ่ายชดเชยให้คนป่วย หรือเจ็บจากเมาแล้วขับ และควรเอาผิดกับร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย เพราะเห็นอยู่ว่าคนขับรถมาซื้อเหล้าเป็นขวด ๆ ต้องรู้ว่าดื่มแล้วจะไปทำผิด เพราะฉะนั้นทำไมร้านขายจึงไม่ควรรับการลงโทษด้วย รวมถึงคนโดยสารที่นั่งรถมากับคนเมาก็ควรรับโทษด้วย เพราะเห็นอยู่ว่าคนขับดื่มแต่ยังสนับสนุนให้ขับรถต่อ ดังนั้น เรื่องเมาแล้วขับจึงมีทั้งความผิดเดิมที่ต้องเพิ่มบทลงโทษให้เหมาะสมและแนวคิดการกระทำความผิดใหม่ ซึ่งศาลกำลังอยู่ระหว่างเสนอการปรับปรุงกฎหมายตามขั้นตอนทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาด้วยว่าสังคมไทยพร้อมยอมรับเกี่ยวกับเรื่องนี้มากแค่ไหน อย่างไร เนื่องจากการออกกฎหมายต้องเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับ” นายพงษ์เดช กล่าว

นายภัทรพันธุ์ กฤษดา ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวว่า อยากขอวอนให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เพื่อเป็นมาตรการเด็กขาดในการจัดการปัญหาเมาแล้วขับเหมือนกรณีเด็กแว้น ที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ โดยควรบังคับว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ห้ามไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วมาพิจารณาดูว่าจะมีตัวเลขคนเจ็บและตายจากอุบัติเหตุช่วงเทศกาลเท่าไหร่ เพราะช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามออกนอกบ้านในช่วงดึก ปรากฏว่า ไม่มีตัวเลขอุบัติเหตุ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น