xs
xsm
sm
md
lg

คจร.แก้รถปิกอัพส่วนบุคคลถูกจับ สั่ง ตร.แก้ข้อบังคับเพิ่มน้ำหนักเป็น 2.2 ตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คจร.” มอบตำรวจแก้ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรขยายน้ำหนักบรรทุก รถปิกอัพ จาก 1,600 กก.เป็นไม่เกิน 2,200 กก. ผ่อนคลายหลังถูกจับกุมและติดเวลา พร้อมสั่ง ขบ.คุมเข้มตรวจสภาพรถโดยสาร-รถแท็กซี่เข้มข้น หลังพบจอดเสียบนถนนทำจราจรติดขัดมาก เล็งเพิ่มโทษเอาผิดเจ้าของด้วย

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ได้พิจารณาถึงกรณีการใช้รถบรรทุกที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล โดยส่วนใหญ่เป็นรถอเนกประสงค์ (ปิกอัพ) ซึ่งปัจจุบันมีน้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม จึงมักมีปัญหาถูกจับกุมตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร ที่กำหนดข้อจำกัดการใช้ทางสำหรับรถยนต์บรรทุกและรถบรรทุกส่วนบุคคล (รถบรรทุก 4 ล้อ) ที่กำหนดมีน้ำหนักเกิน 1,600 กิโลกรัม เพราะติดเวลาในการขนส่ง และยังไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.รถยนต์ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2557 เรื่องรถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2,200 กิโลกรัมแล้ว จึงมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาแก้ไขข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในการขยายน้ำหนักจาก 1,600 กิโลกรัม เป็นไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ การให้รถบรรทุกส่วนบุคคล (รถบรรทุก 4 ล้อ) มีพิกัดน้ำหนักเป็น 2,200 กิโลกรัมนั้น ยังอยู่ในพิกัดน้ำหนักตามประกาศน้ำหนักของกรมทางหลวง (ทล.)

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ คจร.ยังพิจารณาประเด็นการควบคุมอายุการใช้งานรถแท็กซี่ และรถโดยสารประจำทาง เนื่องจากพบว่ารถทั้ง 2 ประเภทมีปัญหาจอดเสียบนถนนบ่อยครั้งทำให้การจราจรติดขัดเป็นประจำ โดยรถประจำทางที่เสียบ่อยมีอายุมากกว่า 10-15 ปี ซึ่งสถิติในปี 2556 เสียจำนวน 180 คัน ปี 2558 จอดเสียจำนวน 115 คัน จึงเสนอขอให้จำกัดอายุให้ชัดเจน เช่น เท่ากับอายุของรถแท็กซี่ 9 ปี โดยที่ประชุมมอบให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาการกำหนดอัตราโทษเพิ่มขึ้น กรณีรถจอดเสีย/รถกีดขวางทางจราจร และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสภาพรถ รวมถึงอาจพิจารณาลงโทษผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถที่เสีย ฐานไม่ตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน เป็นต้น

สำหรับรถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เช่น กำหนดให้รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารประเภทรถขนส่งประจำทาง (รถทัวร์) ต้องนำรถเข้ารับการตรวจสภาพปีละ 2 ครั้ง ส่วนรถแท็กซี่ ต้องตรวจสภาพก่อสนเสียภาษีประจำปี โดยรถที่มีอายุใช้งานไม่เกิน 7 ปี ตรวจสภาพรถปีละ 2 ครั้ง (ทุก 6 เดือน) รถที่อายุใช้งานเกิน 7 ปี ตรวจสภาพปีละ 3 ครั้ง (ทุก 4 เดือน)
กำลังโหลดความคิดเห็น