xs
xsm
sm
md
lg

ครมลดภาษีซื้อใจ เว้นเงินเดือนต่ำ2.6หมื่น ลดหย่อน1แสน-บุตร3หมื่น-กระตุ้นศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360 - ครม. ไฟเขียวปรับโครงสร้างภาษี ผู้มีเงินเดือนไม่ถึง 26,000 ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เริ่มใช้ปีภาษี 60 เป็นต้นไป เพิ่มเพดานหักลดหย่อนไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนบุตรหักลดหย่อนจาก 15,000 เพิ่มเป็น 30,000 บาท ขุนคลังยืนยันไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นแวต ด้านนายกฯแจงการปฏิรูป ต้องทำให้ “ท้องถิ่น -จว.-ภูมิภาค “เข้มแข็ง อ้างเก็บภาษี เพิ่มรายจ่ายประเทศ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (19 เม.ย.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีภาษี 60 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ปีละ 32,000 ล้านบาท โดยการปรับปรุงภาษีครั้งนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 60 เป็นต้นไปการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน ยังเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้มีเงินได้โดยผู้เสียภาษีที่มีเฉพาะเงินได้ประเภทเงินเดือนและหักลดหย่อนส่วนตัวโดยไม่ใช้สิทธิลดหย่อนรายการอื่น จะเริ่มเสียภาษีเมื่อมีเงินได้เดือนละ 26,000 บาท

ทั้งนี้ เชื่อว่าปีหน้า เศรษฐกิจโลกจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยด้วย ประกอบกับรัฐบาลในชุดปัจจุบันได้วางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการวางแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล ผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จะส่งผลให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น

“มาตรการภาษีบุคคลธรรมใหม่ที่จะออกมา เป็นปัจจัยเร่งให้ประชาชนออกมาใช้จ่าย จะส่งผลให้รัฐจัดเก็บแวตได้มากขึ้นด้วย ขอยืนยันว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% เนื่องจากขณะนี้งบประมาณยังเพียงพอ รวมถึงต้องดูการใช้จ่ายของประชาชนด้วย” รมว.คลังกล่าว

สำหรับโครงสร้างภาษีใหม่ที่ปรับปรุงคือ ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ 40% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็น 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักได้เฉพาะค่าแห่งลิขสิทธิ์โดยให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ 40% ของค่าแห่งลิขสิทธิ์แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ขยายเพิ่มให้ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ 50% ของเงินได้ดังกล่าวแต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้

นอกจากนี้ คือ ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อน สำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร จากเดิมที่ให้หักลดหย่อนคนละ 2,000 บาท กรณีที่คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท กองมรดกเดิมให้หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

ปรับปรุงขั้นเงินได้ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกยังคงสามารถใช้ต่อไปตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551

ต่อมาคือ ปรับปรุงเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน ทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง เพียงประเภทเดียว หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 50,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 100,000 บาท หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 100,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 60,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาท กรณีกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

**นายกฯแจงอ้างเก็บภาษี เพิ่มรายจ่ายประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย. มีการประชุมภาคธุรกิจร่วมกับรัฐบาล ไม่ใช่ว่าเขาเสนออะไรมาแล้วต้องทำหมด เพียงแต่เสนอปัญหาอะไรที่สามารถร่วมมือกับเราได้ ก็ต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากในพื้นที่ โดยเราจะทำทุกเรื่องให้ท้องถิ่น กลุ่มจังหวัดและภูมิภาคเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ เศรษฐกิจ การลงทุนทุกอย่างต้องประกอบกัน ตรงนี้คือการปฏิรูป ไม่ใช่สั่งวันนี้แล้วพรุ่งนี้ต้องออกไม่ได้เรียกว่าปฏิรูป แต่การปฏิรูปคือการแก้ไขทั้งหมด ไม่เคยมีใครทำในสมัยที่ผ่านมา ตนได้สั่งการเรื่องอ้อย ที่ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ เช่น ทำไมจะต้องจุดไฟเผาอ้อย มันเสียหาย ก็ต้องไปรื้อทั้งระบบ จะต้องแก้ไขการปลูกอ้อยให้ครบวงจร

นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติในหลักการเรื่องรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ซึ่งน่าจะสำเร็จได้ 3-4 สาย ซึ่งต้องทำให้เกิดความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ มีการผลิตชิ้นส่วนในประเทศก็จะลดราคาลงไปได้เยอะ เราก็จะมีการทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ

สำหรับเรื่องภาษีวันนี้ต้องมาคลี่กันใหม่หมด ไม่ได้หมายความว่าไปรีดภาษีจากท่าน เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคน คนจนไม่เดือดร้อน แต่รัฐจะต้องหาหนทางว่าจะมีรายจ่ายเพิ่มมาได้อย่างไรทดแทนรายจ่ายที่สูญเสียไป โดยใช้รูปแบบทางภาษี ให้คนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น จะได้ไม่เลี่ยงกฎหมายกัน นี่คือสิ่งที่คิดไว้สองทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น