xs
xsm
sm
md
lg

รัฐจัดเก็บรายได้ 7 เดือนกว่า 1.22 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สศค. รายงานผลจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐในรอบ 7 เดือนของปีงบฯ 60 มีทั้งสิ้นกว่า 1.22 ล้านล้านบาท ผอ.สศค.ระบุกรมสรรพากรยังทำผลงานต่ำกว่าเป้าอีก 2.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่กรมสรรพสามิตมีผลจัดเก็บได้ที่สูงกว่าเป้าราว 1.5 พันล้านบาทจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นและน้ำมันหล่อลื่น ด้านกรมศุลกากรยังต่ำกว่าเป้าหมายกว่าหมื่นล้านบาทตามผลการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการใช้สิทธิภาษีเอฟทีเอ ส่วน เงินคงคลังเมื่อ เม.ย. 60 ปิดที่กว่า 1.71 แสนล้านบาท

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 - เมษายน 2560) ว่า รัฐบาลมีการรายได้สุทธิหลังหักการจัดสรรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 1,223,594 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 4,946 ล้านบาท หรือ 0.4% มีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าประมาณการ 25,475 และ 8,349 ล้านบาท หรือ 30.4% และ 9.5% ตามลำดับ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเบียร์ ทั้งนี้ คาดว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับรายละเอียดการจัดเก็บรายได้แยกตามหน่วยงานนั้น ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวเพิ่มเติมว่ากรมสรรพากร สามารถจัดเก็บรายได้รวม 867,724 ล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าประมาณการ 21,108 ล้านบาท หรือ 2.4% แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 19,524 ล้านบาท หรือ 2.3% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ต่ำกว่าเป้าหมาย 21,602 ล้านบาท หรือ 4.8% แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.1% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในประเทศเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การจัดเก็บ VAT จากการนำเข้าขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8.7% และใกล้เคียงกับประมาณการ

ส่วนภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ 1,894 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,606 ล้านบาท หรือร้อยละ 70.9 และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่ก่อน 63.1% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการที่มีรอบระยะเวลาบัญชีปีงบประมาณซึ่งต้องชำระภาษีใน ก.พ. 60 ได้โอนสัมปทานหลุมขุดเจาะให้บริษัทในเครือ ทำให้การชำระภาษีลดลง ส่วนผู้รับโอนสัมปทานมีรอบระยะเวลาบัญชีปีปฏิทิน ซึ่งจะชำระภาษีใน พ.ค. 60 ขณะที่ผลจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 10,354 ล้านบาท หรือ 5.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9.7% เป็นผลจากภาษีจากค่าบริการและจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) และภาษีกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 50) ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ

ด้านผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของกรมสรรพสามิตในรอบ 7 เดือนของปีงบฯ 60 จะมีทั้งสิ้น 327,042 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,540 ล้านบาท หรือ 0.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6.6% โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ภาษีน้ำมันที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 10,699 ล้านบาท หรือ 9.3% จากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินที่สูงกว่าประมาณการ การปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และการจัดเก็บภาษีน้ำมันหล่อลื่น นอกจากนี้ ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,447 ล้านบาท หรือ 6.9%

สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรนั้นจะมีทั้งสิ้น 59,836 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,664 ล้านบาท หรือ 15.1% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 10.2% โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าป้าหมายจำนวน 11,489 ล้านบาท หรือ 16.6% เนื่องจากการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร ระยะที่ 2 ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560 ขยายตัว 10.5% และ 8.8% ตามลำดับ

ขณะที่รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้รวม 96,304 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,349 ล้านบาท หรือ 9.5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ที่ค้างนำส่งจากปีก่อนหน้า โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โรงงานยาสูบ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม รายได้จัดเก็บจากกรมธนารักษ์จะมีรวมกัน 5,915 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 795 ล้านบาท หรือ 15.5% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 21.3% โดยเป็นผลมาจากรายได้จากที่ราชพัสดุ และจากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ

นอกจากนี้ นายกฤษฎา ยังได้รายงานฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ด้วยว่ารัฐบาลมีรายได้นําส่งคลังทั้งสิ้นเป็นจำนวน 1,209,778 ล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายจะมีทั้งสิ้น 1,822,843 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 360,282 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2560 มีจํานวนทั้งสิ้น 171,118 ล้านบาท

ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้กว่า 1.8 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 56.9 ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.6 โดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายลงทุนที่สามารถเบิกจ่ายได้เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 13.0 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่คาดไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น