xs
xsm
sm
md
lg

ชะลอฟ้องคดีอาญา กฎหมายอันตราย !!

เผยแพร่:   โดย: นายหิ่งห้อย

นอกเหนือจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับฉายาว่าเนติบริกร ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในระดับปรมาจารย์แล้ว จะมีสักกี่คนในคณะรัฐมนตรีที่เข้าใจรายละเอียดที่บรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา หรือที่เรียกว่ากฎหมายชะลอฟ้อง ที่ให้อำนาจตำรวจไกล่เกลี่ยผู้เสียหายและผู้ต้องหาให้ตกลงกัน และให้อำนาจอัยการสั่งยุติคดีอาญาด้วยการสั่งชะลอฟ้องได้

สงสัยว่า รัฐบาลจะทราบหรือไม่ว่า ภายใต้บังคับของร่างกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่มีฐานะทางสังคมต่างกันมากยิ่งขึ้น

ผู้ต้องหาที่มีฐานะทางสังคมสูงหรือผู้มีอิทธิพล จะสามารถใช้ทรัพย์สินเงินทองซื้อหาความยุติธรรมได้ด้วยการชดใช้ค่าเสียหาย หรือบีบบังคับให้ผู้เสียหายจำต้องยินยอมตกลงไม่เอาความแก่ผู้ต้องหา เพื่อให้มีการสั่งยุติคดีอาญาด้วยการสั่งชะลอฟ้อง ทำให้ผู้กระทำผิดคดีอาญาไม่ต้องถูกฟ้อง และปราศจากมลทินทั้งปวง

ในขณะที่คนยากจนส่วนใหญ่ที่ตกเป็นผู้ต้องหาก็จะถูกดำเนินคดีอาญาไปตามปกติ เพราะไร้อำนาจต่อรองกับฝ่ายผู้เสียหาย

น่าสงสัยว่าเหตุใด นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและประธานวิปของรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ในการประสานงานและผลักดันให้ผ่านร่างกฎหมายของรัฐบาลในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า คดีที่อยู่ในข่ายที่จะสั่งชะลอฟ้องได้เป็นเพียงคดีลหุโทษเท่านั้น

นายสุวพันธุ์ไม่ทราบจริงๆหรือว่า คดีที่อยู่ในข่ายที่จะสั่งชะลอฟ้องได้ตามร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นคดีอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี และไม่จำกัดประเภทคดี ส่วนคดีกระทำผิดโดยประมาทที่มีอัตราโทษจำคุกถึง 10 ปี ก็อยู่ในข่ายที่จะสั่งชะลอฟ้องได้เช่นกัน

ดังนั้น หากกฎหมายชะลอฟ้องผ่านสภาฯ ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์ รับของโจร และฉ้อโกงประชาชน เช่น คดีฉ้อโกงในสหกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งคดีผู้ต้องหาขับรถเบ็นซ์ และผู้ต้องหาคดีขับรถเฟอร์รารี่ชนคนตาย และคดีก่อให้เกิดเพลิงไหม้ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ล้วนอยู่ในข่ายที่จะมีการสั่งชะลอฟ้องได้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ คดีความผิดฐานแผ้วถางป่าไม้ ฐานลักลอบหนีภาษีศุลกากร ความผิดเกี่ยวกับการทำลายสิ่งแวดล้อม และคดีความผิดอาญาทางเศรษฐกิจ ที่มีอัตราโทษจำคุกถึง 5 ปี อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ก็อาจเป็นปัญหาในเรื่องความโปร่งใสในการใช้อำนาจสั่งชะลอฟ้อง และมีปัญหาว่าใครคือผู้เสียหายที่จะให้ความยินยอมในการสั่งชะลอฟ้องผู้ต้องหา

ส่วนที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อมวลชนว่า พนักงานเจ้าหน้าที่หมกคดีอาญา จนทำให้คดีขาดอายุความ หรือ ละเว้นไม่ดำเนินคดีอาญาแผ่นดินแก่ผู้ต้องหาด้วยการช่วยเหลือผู้ต้องหาเจรจาไม่ให้ผู้เสียหายเอาความ ที่เรียกกันว่า “การเป่าคดี” ที่ทำกันใต้โต๊ะอย่างผิดกฎหมายนั้น

แม้คดีดังๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของประชาชน ไม่ควรมีการเป่าคดี ก็ยังมีให้เห็นบ่อย ๆ

หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา พนักงานเจ้าหน้าที่ก็สามารถเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย อาจมีแกมบังคับผู้เสียหายให้ยอมรับค่าเสียหาย เพื่อนำไปสู่การใช้ดุลพินิจสั่งให้ยุติคดีอาญาได้ด้วยการสั่งชะลอการฟ้องได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

ผู้เสียหายนับร้อยนับพันรายอาจจำยอมต้องรับเงินค่าเสียหายบางส่วนจากขบวนการฉ้อโกงประชาชน และไม่ติดใจเอาความในคดีอาญา เพราะต้องการได้เงินที่ถูกฉ้อโกงไปคืนมาบ้าง ดีกว่าจะต้องสูญเสียเงินไปทั้งหมด

ขบวนการโจรผู้ร้ายลักทรัพย์ รับของโจร ฉ้อโกงประชาชน จะเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม เพราะหากพวกเขาถูกจับกุมดำเนินคดี ก็มีเงินทองทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดพร้อมที่จะเจรจาชดใช้คืนให้แก่ฝ่ายผู้เสียหาย โดยมีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นคนกลางเพื่อเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและชะลอการฟ้อง เพื่อให้มีการสั่งยุติคดีอาญา

หากกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นมีความรับผิดชอบสูง ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เป็นที่ยอมรับของสังคมไทย ก็อาจไม่มีปัญหาในการนำวิธีการข้างต้นมาใช้

ดังนั้น ก่อนเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ควรต้องให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างรอบด้านเสียก่อน และถามคนในสังคมว่า ประเทศไทยพร้อมหรือยังที่จะให้พนักงานสอบสวนและอัยการทำหน้าที่ดังกล่าว เสมือนหนึ่งการให้อำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูงแทนศาลได้

แม้แต่กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมันและประเทศญี่ปุ่น เมื่ออัยการสั่งชะลอฟ้องให้นักการเมือง ก็ยังมีปัญหาการวิพากษ์วิจารณ์กันไม่จบสิ้น แต่เมื่อระบบชะลอฟ้องนำไปใช้แล้วก็ยากจะแก้ไขกลับคืน

นอกจากนั้น อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้พยายามคิดค้นหาวิธีการป้องกันคนทุจริตในการเลือกตั้งมิให้เข้ามาสู่วงจรการเมืองได้อีก โดยกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสนองตอบการปฏิรูปประเทศ ตามนโยบายของ ค.ส.ช.และนายกรัฐมนตรี

พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ค.ร.ม.ที่ร่วมลงมติให้เสนอร่างกฎหมายชะลอการฟ้องต่อ สนช. ทราบหรือไม่ว่า ร่างกฎหมายชะลอการฟ้องที่ ค.ร.ม. ให้ความเห็นชอบไปแล้วนั้น ได้เปิดโอกาสให้นักการเมืองระดับท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติ ที่กระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง อาจไม่ต้องถูกฟ้องร้องเป็นคดีอาญาและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมาย


เพราะคดีความผิดเกี่ยวกับการโกงเลือกตั้งตามกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และการเลือกตั้งระดับชาติ หลายฐานความผิดในหลายมาตราล้วนเป็นความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และมีบทลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วย คดีเหล่านี้จึงอยู่ในข่ายที่พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจสั่งชะลอการฟ้องได้

ถ้าเป็นไปได้ อาจารย์วิษณุ เครืองาม ช่วยอธิบายถึงปัญหาข้างต้นให้ ค.ส.ช. และคณะรัฐมนตรีฟังอย่างตรงไปตรงมาอีกที ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของรัฐบาล

เชื่อว่าหาก พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รู้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้มากขึ้นไปอีก และเปิดช่องทางให้คนทุจริตในการเลือกตั้งได้มีโอกาสหายใจต่อไป ก็คงไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างแน่นอน

โดย......นายหิ่งห้อย

กำลังโหลดความคิดเห็น