xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เปิด ACD หนุนขับเคลื่อนแบบเพื่อนจูงเพื่อน ยันวางยุทธศาสตร์ให้ชาติเดินต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.  (ภาพจากแฟ้ม)
นายกรัฐมนตรีเปิดประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 14 ยินดีที่ทุกชาติให้ความสำคัญ โดยยึดหลัก 3 ประการ ต้องร่วมมือเป็นเอกภาพ วางอนาคตโลกร่วมกัน นำนโยบายสู่การขับเคลื่อนจริง แนะลดความต้องการของตนแสวงหาความเหมือนแล้วนำปัญหาร่วมมาแก้ แบบเพื่อนจูงเพื่อน รับพัฒนาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมน้อยเกินไป หนุนสร้างตลาดร่วม ชูไทยกำลังก้าวสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ วางยุทธศาสตร์ชาติให้เดินหน้าต่อ ย้ำโลกนี้ไม่มีอะไรเท่าเทียมแต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย



วันนี้ (10 มี.ค.) ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานและกล่าวเปิดการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue (ACD) Ministerial Meeting) ครั้งที่ 14 ตอนหนึ่งว่า การมาร่วมประชุมครั้งนี้ต้องการเห็นนรอยยิ้ม อยากให้การประชุมของเราเป็นมิตรเป็นเพื่อนกันใน ACD ทั้งหมด โดยประเทศไทยมั่นใจในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ และยินดีที่ทุกประเทศให้ความสำคัญต่อการประชุม ACD ซึ่งเรากำลังจะเดินไปข้างหน้าร่วมกัน โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ เพื่อประเทศชาติและประชาชนของแต่ละประเทศ หน้าที่ต่อภูมิภาคใน ACD และหน้าที่ต่อประชาคมโลก และต่อมวลมนุษยชาติ เราต้องร่วมมือกันให้เกิดความเป็นเอกภาพ เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เราจึงต้องปรับปรุงประวัติศาสตร์ของ ACD ซึ่งเมื่อ 14 ปีที่แล้วไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาแล้วครั้งหนึ่งซึ่งเราต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้ทั้งประเทศไทย และประเทศกลุ่ม ACD รวมทั้งประเทศกลุ่มประชาคมโลก วางอนาคตโลกร่วมกัน ด้วยหลัก 3 ประการ คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน การลดความหวาดระแวง และผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในปีนี้ ACD มีการเจริญเติบโต ดังนั้นในเวทีการหารือครั้งนี้เราต้องมาร่วมมือกันว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศในกลุ่มภูมิภาคของเรามีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง แข็งแรง และยั่งยืน โดยต้องกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า และแก้ปัญหาที่มีอยู่ ประเทศไทยเองก็กำลังปรับปรุงการทำงาน โดยนำนโยบายมาสู่การขับเคลื่อนและปฏิบัติให้ได้จริง เราต้องขับเคลื่อนให้ดีที่สุด เพราะอย่าลืมว่าโลกใบนี้เป็นของทุกคน เราต้องกำหนดอนาคตให้ได้ ซึ่งในฐานะที่ไทยเป็นประธานการประชุมและผู้ประสานงานในครั้งนี้เห็นว่า เราต้องศึกษาหรือทบทวนการดำเนินการในปีที่ผ่านมาว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร เอาปัญหามาเรียงลำดับความสำคัญ และเอาอนาคตมาเป็นตัวกำหนด ทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาในอดีตได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเดินไปข้างหน้า เพราะขณะนี้โลกเรามีพลวัตและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางอย่างชัดเจน เอาปัญหามาจัดกลุ่ม และแก้ไปด้วยกัน และต้องกำหนดทิศทางของอนาคตเพื่อเป็นมาตรการรองรับความเสี่ยงไว้

“ทำอย่างไร ACD จึงมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกได้ เราต้องกำหนดบทบาทตัวเองให้มีความเข้มแข็งทุกมิติ ต้องร่วมมือกันโดยทุกคนต้องลดความต้องการของตัวเองออกไปก่อน ประเทศไทยเองก็พยายามแก้ปัญหา เพราะถ้าทุกคนมุ่งหวังแต่ส่วนตัวมันก็จะเดินไปไม่ได้ วันนี้ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราต้องทบทวน ซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่าง แต่เราต้องแสวงหาความเหมือนในความแตกต่างให้ได้ แล้วนำปัญหาที่เหมือนกันมาแก้เป็นอันดับแรก แม้บางประเทศไม่มีปัญหาดังกบ่าวแต่ต้องช่วยกัน เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง แล้วค่อยมาดูปัญหาที่ 2-3 ประเทศไทยจึงมีการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ไว้ และมาคิดร่วมกันว่าเราจะเดินอย่างไรให้ถึงจุดมุ่งหมายนั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ 20 ปีไม่สามารถให้ที่จะให้คนทำตามได้หมด แต่ทำอย่างไรคนส่วนใหญ่จะเข้าใจ และทำตามเราในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความก้าวหน้า โดยเราไม่สามารถจะตัดเสื้อตัวเดียวให้ประชาชนทุกคนใส่ได้ แต่เราสามารถตัดเสื้อให้ชิดพอดีสำหรับคนแต่ละกลุ่มได้ ดังนั้นเราต้องมองเป้าหมายในประเทศ และเออีซี ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เราเดินไปคนเดียวไม่ได้ต้องไปด้วยกัน ดังคำกล่าวที่ว่า stronger together โดยตนขอใช้คำว่า “เพื่อนจูงเพื่อน” เพราะเราเป็นเพื่อนกัน หากเป็นพี่เป็นพี่น้องจะเกิดข้อสงสัยว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราจะต้องลดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาที่มีความแตกต่างให้ได้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนกินดีอยู่ดี ไม่ใช่มุ่งหวังแต่ตัวเลข การนำเข้า หรือรายได้จีดีพีตรงนั้นเป็นหลักการเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่เรามุ่งเน้นคือประขาชนต้องมีความสุข ความพอเพียง ในกลุ่มประเทศสมาชิกยังมีความแตกต่างกันมาก และจะทำให้การขับเคลื่อนในภูมิภาคเป็นไปด้วยความยากลำบาก เราจึงต้องเข้มแข็งจากภายใน โดยเริ่มจากประชาชนเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนในแบบที่ประเทศไทยทำอยู่ที่เรียกว่าประชารัฐ ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เอ็นจีโอ ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน ไม่อย่างนั้นจะขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัญหาที่หนักมากในการพัฒนาคือเรื่องของสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม เรามีการพัฒนาด้านนี้น้อยเกินไป ต้องอาศัยการลงทุนจากภายนอก จึงทำให้สิ่งที่ได้รับไม่มากเท่านที่ควร เราจึงต้องส่งเสริม ทรัพยาการในแต่ละประเทศให้ได้มากเท่าที่ควร โดยการเดินหน้าในสองมิติ คือ เพิ่มขีดความสามารถของพวกเราเอง เพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี และต้องร่วมมือสร้างตลาดร่วมกัน เพื่อสนับสนุนวัสดุต้นทุนการผลิต ไม่อย่างนั้นเวทีโลกจะมองไม่เห็นเรา ไปพูดที่ไหนจะเหมือนตัวเล็กไปหมด ฉะนั้นเราจะเข้มแข็งและตัวใหญ่ด้วยประเทศสมาชิกทั้ง 34 ประเทศ เราต้องหาจุดแข็งและพัฒนาจุดอ่อนร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ตนไม่ขอกล่าวว่าไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน แต่ถือว่าอยู่ตรงศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์มากกว่า โดยอยากให้ทุกประเทศเป็นศูนย์กลาง เพราะแต่ละประเทศมีความสำคัญที่แตกต่าง เพื่อจะนำไปสู่การจัดกิจกรรมร่วมกัน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าประเทศในกลุ่มเอซีดีมีการเชื่อมโยงทุกมิติโดยการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางบก น้ำ และอากาศ สอดคล้องกับประเทศสมาชิก ไม่ใช่ขัดแย้งกันด้วยการแข่งขันเพียงอย่างเดียว และขอฝากไว้ว่า ในอนาคตโลกเปลี่ยนแปลงไม่มีอาหารเราจะอยู่กันอย่าง เรื่องนี้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในต้นทุน ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เราจะทำอย่างไรจะทำให้การเชื่อมโยงทุกประเทศมีประสิทธิภาพ แบบไร้รอยต่อ หากเราเอาความขัดแย้งมาพูดก่อนก็จะไปกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องดินแดน เขตแดน เพราะยังไงก็ต้องอยู่ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือประชาชนจะกินอยู่อย่างไร นอกจากนี้ ตนอยากให้มองเป้าหมายมูลค่าของกลุ่มประเทศเอซีดีขึ้นเป็น 12 ล้านล้านโดยเร็ว อีกทั้งอยากให้ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมาดูพวกเราด้วย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกประเทศควรเดินหน้าให้สอดคล้องกับการพัฒนาโดยกำหนดโรดแมปให้ชัดเจน แม้ทุกประเทศจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกเรื่องได้ แต่ต้องเรียงลำดับความเร่งด่วนของปัญหา เราต้องเดินหน้าพร้อมกันเพื่อความยั่งยืน อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทำสงครามกับความจน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกร เราได้ทำตามแนวทางเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อความยั่งยืนของประเทศ ซึ่งแนวทางใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง และไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและจะทำอย่างไร ไม่ให้ประเทศล้ม และเมื่อล้มต้องไม่เจ็บ เพราะเราใช้เงินแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะปัญหาอื่นจะตามมา ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องมีเหตุผล ต้องรู้จักประมาณตัวเอง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอนอกเรื่อง เหตุการณ์สุริยุปราคาขึ้นเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ประเทศไทยชัดไปหลายนาทีอยู่เหมือนกัน แล้วฟ้าก็เปิด วันนี้ถือว่าเป็นการเปิดประชุมเอซีดียุคใหม่หลังเกิดสุริยุปราคา

“วันนี้ประเทศไทยกำลังวางแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี เพื่อว่าจะทำอะไรในอนาคต เป็นการกำหนดทิศทางการเดินหน้าของประเทศ ว่ามีอะไรที่ทำก่อนและที่ทำต่อไป จะเรียงลำดับกัน โดยซอยย่อยให้เป็น 5 ปี 5 ปี ผมพูดจากประสบการณ์ของผมว่า วันนี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยจะมีการเลือกตั้งในปีหน้าตามโรดแมปที่วางไว้ ดังนั้นวันนี้เราต้องทำตรงนี้ให้ได้ 1 ปีกว่าที่เหลืออยู่เป็นพื้นฐานของการปฏิรูประยะที่ 1 ใน 5 ปีแรก และเราจะไม่เข้าไปก้าวก่ายรัฐบาลเลือกตั้ง ปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกที่มีอยู่ เพียงแต่ขอให้เดินตามกรอบนี้ ยุทธศาสตร์ชาติต้องเดิน ไม่เช่นนั้นถ้าฝ่ายการเมืองเข้ามาแล้วจะทำตามนโยบายพรรคอย่างเดียว ก็ไปไม่ได้ ประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่ทำตามนโยบายพรรคอย่างเดียว แต่เดินตามยุทธศาสตร์ชาติไปด้วย ใครมาก็ทำตรงนี้ เดินหน้าต่อกัน ยิ่งรัฐบาลไหนที่เข้ามาอยู่นานๆ ก็จะทำให้เรื่องต่างไม่ต่อกัน งานจะเป็นชิ้นๆ ดังนั้นอยากจะใช้คำว่า ยุทธ์ของเอซีดี ตามห้วงเวลาโรดแมปที่วางไว้ให้ชัดเจน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวช่วงท้ายว่า เรากำลังสร้างประวัติศาสตร์สร้างอนาคตให้คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เกิด ส่วนคนที่เกิดมาแล้วยังไงมนุษย์ก็ยังมีความขัดแย้ง คิดต่างกันเยอะไปหมด แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย คำว่ากฎหมายสำคัญที่สุด หรือใครคิดว่าไม่จำเป็น กฎหมายเป็นกลไกที่จะขจัดความขัดแย้ง ทำให้สังคมมีความสุข ประชาชนมีความสุข ไม่กระทบกระทั่งกัน นั่นคือกฎหมาย ที่ต้องมีความเป็นธรรมและต้องไม่สองมาตรฐาน เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาของเราคือคนเอเชีย ค่อนข้างจะมีความสุข เพราะฉะนั้นจึงชอบความสะดวกสบายไม่ชอบการโดนบังคับ พอโดนนิดหน่อยก็มีเรื่องทั้งหมด เป็นสิทธิมนุษยชนบ้างทั้งที่เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าไม่ผิดซะอย่างก็ทำอะไรไม่ได้ และถ้าไม่ผิดก็ไม่คอร์รัปชั่น ไม่มีการสมยอม และสิ่งที่อยากจะฝากคือทำอย่างไรไม่ให้เกิดทุจริตคอรัปชั่น ให้รัฐบาลมีธรรมาภิบาล จะเป็นในวันหน้า ลัวนข้างหน้าตนจะกลับไปเป็นผู้สูงอายุ ดูแลลูกหลาน แต่เราได้วางอนาคตไว้ให้คนในอีก 20ปี พูดจากใจของตน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่และนำไปสู่การประชุมครั้งที่ 2 ในครั้งหน้า จากนี้ไปจนถึงปลายปีจะต้องมีอะไรพูดกันแล้วว่าได้ทำอะไรกันไปแล้วบ้าง ในช่วง 1 ปี จะต้องมี 6 อย่างจาก 20 อย่าง เกิดอะไรมาแล้วบ้าง อะไรที่ต้องทำใหม่ ทำต่อ ทุกอย่างต้องมีการเร่งรัดเร่งด่วนในระยะที่ 2 ถ้าทำแบบนี้ได้จะเร็วขึ้น เราจะต้องคิดไปด้วยกัน เดินหน้าไปด้วยกัน

“โลกใบนี้ไม่มีอะไรที่เท่าเทียม สิ่งที่กล่าวว่าเท่าเทียมในโลกความเป็นจริงไม่มี ผมไม่ได้พูดเองนะ เป็นคำพูดของผู้นำที่ยิ่งใหญ่บางประเทศ แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศนี้มีคำว่า “ประเทศ” ได้คือคำว่ากฎหมาย ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายตัวเดียวกัน คือต้องไม่เลือกปฏิบัติ คนรวย คนจน สูงต่ำ ดำขาว อยู่ภายใต้กฎหมายทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไทย ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเลย นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเรียนให้พวกท่านเข้าใจ อาจจะมีการพูดบิดเบือนอยู่ข้างนอก แต่ผมไม่สามารถที่จะแก้ตัวได้ในทุกประเทศ ทุกที่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยากให้ทุกท่านช่วยกัน วันนี้ประเทศไทยน่าอยู่หรือไม่ ทุกประเทศอยากเป็นแบนี้ไม่อยากให้ความขัดแย้ง ทุกต้องเคารพกฎหมาย ใครไม่เคารพกฎหมาย ถือว่าไม่เคารพ และเป็นคนที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น ดังนั้นรัฐบาล ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ต้องมีธรรมาภิบาล ถ้าประเทศไม่มีคนที่มีธรรมาภิบาล ไม่มีคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม ที่จะนำพาประเทศชาติ จะล้มเหลวทั้งหมด ต่อให้ไม่ล้มเหลววันนี้ก็ล้มเหลววันหน้า ตนอยากบอกว่าไทยกำลังทำทุกอย่าง เพื่อให้ประเทศมีควาสงบสุขอย่างยั่งยืน โดยเราจะไม่ไปขัดแย้งประชาธิปไตยหรือการปกครองอื่นๆ ในโลกใบนี้ เพราะเรามุ่งหวังในประชาชน และมิตรประเทศของเรา เราต้องเข้มแข็งไปด้วยกันโดยเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น