ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่แล้วมีความคืบหน้าของคดี “รถและเรือดับเพลิง”ต่อเนื่อง จากคดีทุจริตที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาเอาผิดกับนักการเมืองและนักธุรกิจหลายราย โดยเป็นคดีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เจรจาไกล่เกลี่ยกับเอกชนมาหลายรอบในเรื่อง “ค่าเช่าที่จอดรถและเรือดับเพลิง”ที่ภาคเอกชน ขอค่าเช่าท่าเรือแหลมฉบัง สูงถึง 809 ล้านบาท แม้ประเด็นค่าเช่าที่จอดรถอีกพื้นที่จะตกลงขอยกเว้นค่าที่จอดกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
หลังจาก กทม.ได้จัดซื้อจากบริษัทสไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียลฟาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย และต่อมาศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ได้ตัดสินคดีเป็นที่ยุติให้รถและเรือดังกล่าวเป็นของกทม. ขณะที่ทางบริษัทสไตเออร์ฯ ได้จ่ายค่าเยียวยาให้กทม.จำนวน 20.5 ล้านยูโร หรือราว 820 ล้านบาท เมื่อปี 2558 และ กทม.ก็ได้รับเงินและนำเข้าคลังกทม. ทั้งหมดแล้ว
ส่วนจำนวนรถและเรือดับเพลิง ที่จัดซื้อในโครงการดังกล่าวประกอบด้วย รถ 315 คัน และเรือ 30 ลำ ส่วนหนึ่งได้นำไปเก็บไว้ที่โกดังเก็บของบริษัท เทพยนต์ แอรโรโมทีฟ อิดัสตรีส์ จำกัด ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนบางกรวย-ไทรน้อย จำนวน 176 คัน และอีกส่วนหนึ่งจอดอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน139 คัน ในความดูแลของบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับรถที่ทยอยส่งมอบ มาถึงประเทศไทยตั้งแต่ ปี 2549 และจอดอยู่เป็นเวลาเกือบ 10 ปี ระหว่างมีการต่อสู้ทางคดีทุจริตของฝ่ายการเมือง
ขณะที่ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกทม. ได้ทำการประเมินค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในส่วนของค่าซ่อมรถ ค่าท่าเรือ ที่มีการจอดรถอยู่ที่ท่า โดยยังไม่ได้ดำเนินการทางศุลกากร ตลอดจนค่าปรับ ค่าภาษีที่เกี่ยวข้อง จากการที่ กทม.ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ได้ประเมินเบื้องต้นว่า จะใช้งบในการซ่อมอุปกรณ์ที่มีการเสื่อมสภาพประมาณ 200 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากยังไม่ได้ตรวจสอบในส่วนของเครื่องยนต์กลไกภายใน
ล่าสุด การไกล่เกลี่ย เมื่อวันที่ 24 มี.ค.59 ที่ กทม. และบริษัทนามยงฯ ทำการเจรจาค่าเช่าที่จอดรถดับเพลิง เพราะที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่าย ยังไม่เห็นพ้องกับตัวเลขที่ต่างฝ่ายได้คิดคำนวณมา เอกชน ขอ 809 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป้าหมายของกทม.เองนั้น ต้องการให้ทั้งค่าจอดและค่าซ่อมรถ รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆในการนำรถทั้งหมดออกใช้งาน ไม่ควรเกินค่าเยียวยาที่ได้รับตามการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อกทม. และเป็นภาระต่องบประมาณภาษีของประชาชน ทำให้การพูดคุยดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ โดยทั้ง กทม.และทางบริษัทฯเห็นร่วมกันในการขอเลื่อนการเจรจาตกลงกันอีกครั้งไปเป็น วันที่ 26 พ.ค.59
ย้อนกลับไปดูคดีนี้ หลังจากที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาเอาผิดผู้บริหารกทม. นักการเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงที่สุดไปแล้ว เมื่อเดือน ก.ย.56 ว่า มีส่วนทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง มูลค่า 6,687ล้านบาท ของกทม.
ต่อมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ได้นำเรื่องดังกล่าวยื่นฟ้อง บริษัท สไตเออร์เดมเลอร์พุค สเปเชียลฟาห์รซอยก์ จำกัด ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อเพิกถอนสัญญาซื้อขายรถและเรือดับเพลิง และเรียกเงินที่จ่ายไปคืนทั้งหมด เนื่องจาก กทม.เห็นว่า การทำสัญญาจัดซื้อมีการทุจริต เป็นการกีดกันทางการค้า และการเสนอราคาอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการหาทางออกเพื่อไม่นำรถดังกล่าวมาใช้โดยยื่นฟ้องคดีไปตั้งแต่ ปี 2553 ซึ่งได้ดำเนินการเจรจาตามขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการฯ มาเป็นเวลา 5 ปี
จนปี 2558 อนุญาโตตุลาการฯได้ พิจารณาเป็นที่สุดว่า บริษัทสไตเออร์ฯ จะยินยอมจ่ายเงินให้กทม. เป็นเงิน20.5 ล้านยูโร (หรือประมาณ 820 ล้านบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) โดยที่ กทม. ต้องยอมรับกระบวนการจัดซื้อที่ผ่านมามีผลผูกพันตามสัญญา
ข้อสรุปดังกล่าวระบุว่า สัญญาซื้อดังกล่าวถูกต้อง และกทม.จะต้องนำซากรถ และเรือดับเพลิงมาใช้ต่อไปโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รายงานผลคำตัดสินดังกล่าวไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) แล้ว
สำหรับทางออก เรื่อง“ค่าเช่าที่จอดรถเรือดับเพลิง”สัปดาห์ก่อน กทม. รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และตัวแทนจากกรมศุลกากร ได้หารือในการ “ขอยกเว้นอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มรถและเรือดับเพลิง 315 คัน”เพื่อนำรถและเรือดับเพลิงออกมาซ่อมแซม โดยทางกรมศุลกากรได้เสนอแนวทางว่า หาก กทม. จะขอยกเว้นอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น กทม.จะต้องทำให้เป็นยุทธภัณฑ์ ซึ่งต้องให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะประสานกับสำนักงานกฎหมาย และคดีกทม. เพื่อทำหนังสือถึงกระทรวงกลาโหม ก่อนหน้านี้ กทม.ได้นำรถและเรือดับเพลิง ซึ่งถูกส่งมาลอตแรก และถูกนำมาเก็บไว้ที่โกดังสินค้าของ บริษัท เทพยนต์แอโรโมทีฟ อินดัสตรีส์ จ.นนทบุรี เพื่อนำมาลงทะเบียนเป็นครุภัณฑ์ 176 คัน ออกไปซ่อมแล้ว
ส่วนกรณีที่เอกชน ยืนยันค่าเช่าที่จอดรถดับเพลิง ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 809 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเกินไป กทม. จึงได้มอบหมายสำนักงานกฎหมายและคดี ฟ้องบริษัทนามยงค์ฯ ต่อศาลแพ่ง เพื่อขอนำรถดับเพลิงออกมาซ่อมบำรุงก่อนและนำมาใช้งาน ขณะเดียวกันได้ขอให้ศาลช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องราคาเช่าที่จอดรถ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 59 แต่ต่อมาการไกล่เกลี่ย 3 ครั้งหลังก็ยังไม่เป็นผล
ทำให้การพูดคุยดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ โดยทั้งกทม.และทางบริษัทฯเห็นร่วมกันในการขอเลื่อนการเจรจาตกลงกันอีกครั้งไปเป็น วันที่ 26 พ.ค.59 แต่ล่าสุดกทม. ได้เตรียมประกวดราคาเพื่อซ่อมแซม ทั้งรถและเรือ ไว้แล้ว และได้ทำหนังสือเพื่อขอให้ทางกระทรวงกลาโหม พิจารณาให้รถดับเพลิงดังกล่าวเป็นยุทธภัณฑ์ เพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย กทม.หวังว่า จะได้นำรถและเรือดับเพลิง มูลค่า 6,687ล้านบาท มาใช้ประโยชน์ให้ได้ในยุคผู้บริหารชุดนี้.