xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปานามา” พาซวย มหาอำนาจซัดกัน คนไทยหัวดำดันเดือดร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กระหึ่มไปทั้งโลกทีเดียวกับการเปิดเผยข้อมูลบุคคล-หน่วยงานที่มีรายชื่อเป็น “เจ้าของบริษัทนอกอาณาเขต” (Offshore companies : ออฟชอร์ คอมพานีส์) ทั่วโลก โดย เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ :: ไอซีไอเจ) ซึ่งเชื่อมโยงกับบรรดาคนดัง “เซเลบริตี้” ผู้ทรงอิทธิพลในทุกสาขาอาชีพ ทั้งผู้นำประเทศ นักการเมือง นักธุรกิจ ดารา นักกีฬา และมหาเศรษฐี ตลอดจนญาติมิตรของบุคคลเหล่านั้น

โดยข้อมูลที่หลุดออกมาระบุว่า เป็นกลุ่มบุคคล-หน่วยงานที่ใช้บริการบริษัทกฎหมายสัญชาติปานามาที่ชื่อ “มอสแซ็ก ฟอนเซกา” ในการจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขต และปานามาก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการขนานนามว่า “สรวงสวรรค์แห่งการเลี่ยงภาษี” ร่วมกับ หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์, หมู่เกาะเคย์แมน , บาฮามาส และซีเชลส์

การเปิดโปงครั้งนี้จึงถูกขนานนามว่า “Panama Papers :: ปานามา เปเปอร์ส” หรือ “Panama Leaks:: ปานามาลีกส์”

หากเทียบชุดข้อมูล “ปานามาเปเปอร์ส” กับภัยธรรมชาติ ก็คงไม่ต่างกับแผ่นดินไหวขนาดหลายริกเตอร์ที่สะเทือนเลื่อนลั่นไปทั้งโลก ทั้งยังถูกยกให้เป็นข้อมูลเชิงสืบสวนสอบสวนในระดับเดียว หรือมากกว่า “เว็บไซต์ WikiLeaks :: วิกิลีกส์” ของ “จูเลียน แอสแซงจ์” ที่บุกเบิกการเปิดเผยข้อมูลชั้นความลับของประเทศมหาอำนาจ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ จนสร้างความฮือฮาอย่างมากเมื่อช่วงหลายปีก่อน

ถ้าพูดในเชิงปริมาณแล้วคงเทียบ “ปานามาเปเปอร์ส” ยาก เพราะข้อมูลที่ “บุคคลนิรนาม” ส่งมาถึง Suddeutsche Zeitung หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในประเทศเยอรมนีนั้น มีขนาดความจุรวมกัน 2.6 เทอราไบท์ หรือเป็นเอกสารถึง 11.5 ล้านฉบับ

นอกจากจะมากกว่าข้อมูล “วิกิลีกส์” แล้วก็ยังมากกว่าข้อมูล “ออฟชอร์ ลีกส์” ที่เคยหลุดออกมาเป็นเมื่อช่วงปี 2556 ที่มีขนาด 260 กิ๊กกะไบต์ น้อยกว่า “ปานามาเปเปอร์ส” ถึง 10 เท่า อย่างไรก็ตามข้อมูล “ออฟชอร์ ลีกส์” ซึ่งระบุเกี่ยวกับบริษัทนอกอาณาเขตที่เปิดเผยออกมาเมื่อ 3 ปีก่อน ก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ปรากฏใน “ปานามาเปเปอร์ส” รอบนี้ด้วย

ผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์เส้นทางการหลุดรั่วของข้อมูล “ปานามา เปเปอร์ส” เป็นทิศทางเดียวกันว่าเป็น “เกมของมหาอำนาจ” ที่ต้องการเล่นงานหรือโจมตีกัน เพื่อหวังผลในทางการเมืองระหว่างประเทศ ในอารมณ์ “มหาอำนาจซัดกัน คนไทยหัวดำดันเดือดร้อน” เหตุเพราะข้อมูล “ออฟชอร์ ลีกส์” มาจนถึง “ปานามา เปเปอร์ส” ที่มีความลับของการจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขต มากถึง 214,488 แห่ง ก็ดันไปมีชื่อของ “คนไทย” เข้าไปพัวพันด้วย

เป็นที่รู้กันว่าการวัตถุประสงค์ของการไปเปิดบริษัทนอกอาณาเขตนั้น ก็เพื่อ “สิทธิประโยชน์” บางอย่าง ทั้งกฎหมายที่เอื้อต่อการปกปิดข้อมูลทางธุรกิจ การเงิน และกิจการของบริษัทต่างชาติทั้งหลาย บางประเทศถึงกับระบุไว้ในกฎหมายว่า การเปิดเผยข้อมูลทางภาษีและการธนาคาร ถือเป็น “ความผิดอาญา” ด้วยซ้ำ อีกทั้งยังมี เรื่อง ผลประโยชน์ทางภาษี หรือค่าธรรมเนียมต่างๆที่เสียน้อยกว่าในประเทศ รวมไปถึงในเชิงธุรกิจและการเงินที่สามารถทำให้การทำธุรกรรมระหว่างกันไม่ต้องเสียภาษีซ้อน หรือหลีกเลี่ยงภาระภาษีระหว่างประเทศในการเคลื่อนย้ายเงินทุนจำนวนมาก

จึงเป็น “แรงจูงใจ” ให้ผู้บรรดา “ผู้มีอันจะกิน” ยอมเสียเวลาไปเปิดบริษัทกันที่ต่างประเทศ ผ่าน “เอเยนต์” อย่างมอสแซ็กฯ ที่คอยอำนวยความสะดวกให้ จนกลายเป็นที่นิยม และมีการจัดตั้งกันปีละนับแสนบริษัท

แง่หนึ่งก็ถือว่ามีประโยชน์ แต่อีกแง่ก็มักถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่ง “ไอซีไอเจ” ก็ได้ระบุไว้ในเว็บไซต์ถึงความน่าจะเป็นอาทิ การ “ฟอกเงิน” ผิดกฎหมายให้กลายเป็นเงินถูกกฎหมาย การปกปิดแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งนิยมใช้ในทางการเมือง และเป็นแหล่งในการหลีกเลี่ยงภาษี

จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับคำถามถึงขบวนการ “ฟอกเงิน-เลี่ยงภาษี”

จากการตรวจสอบพบว่า “มอสแซ็ก ฟอนเซกา” ถือเป็นบริษัทกฎหมายให้บริการจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขต อันดับ 4 ของโลก ปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึง “ประเทศไทย” ด้วย โดยเข้ามาเปิดสาขาในไทยตั้งแต่ปี 2543 ในชื่อ “บริษัท มอสสัค ฟอนเซคา แอนด์ โค.(ไทยแลนด์) จำกัด” ประกอบกิจการประเภทกิจกรรมให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่นๆซึ่งมิได้จัด มีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับนักลงทุนจากเกาะบริติช เวอร์จิน ไอส์แลนด์ สำนักงานตั้งอยู่ที่ตึกอับดุลราฮิมเพลส ถนนพระราม 4 เขตบางรัก

โดยในฐานข้อมูลมีชื่อ “คนไทย” เป็นลูกค้า 780 ราย นิติบุคคล 50 บริษัท และมีการระบุที่อยู่ในประเทศไทยของบุคคลเหล่านี้ 643 แห่ง

ในจำนวนนี้มีแต่ “เซเลบตัวทอป” บรรดาชนชั้นนำนามสกุลคุ้นหูมากันให้เพียบ ทั้งนักธุรกิจ นักการเมืองทุกสีทุกค่าย ข้าราชการ นักร้อง และนักกีฬา

ไล่ตั้งแต่ระดับที่ไม่ได้สร้างความประหลาดใจ อย่าง คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร หรือ บรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคนโตของคุณหญิงพจมาน นลินี ทวีสิน อดีตผู้แทนการค้าไทยและอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งรายของ “นลินี” นั้นเคยมีชื่ออยู่ใน “ออฟชอร์ ลีกส์” ที่เปิดเผยออกมาเมื่อปี 2556 แล้ว

ยังมีคนในตระกูลดังๆอย่าง โชควัฒนา แห่งเครือสหพัฒน์ จิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มเซ็นทรัล ทั้งยังพบชื่อ เจ้าสัวเจริญ - คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่และธุรกิจเครื่องดื่มแสนล้าน ตลอดจน เอมอร ศรีวัฒนประภา (นามสกุลเดิม รักศรีอักษร) ภรรยาของ วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ และสโมสรเลสเตอร์ซิตี้ ว่าที่แชมป์ลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษ บี เตชะอุบล ทายาทคนโตแห่งตระกูลเตชะอุบล เจ้าของอาณาจักรคันทรี่ กรุ๊ป ชนะชัย ศรีชาพันธุ์ บิดาและอดีตผู้ฝึกสอนของ ภราดร ศรีชาพันธุ์ อดีตนักเทนนิสมือ 9 ของโลก และ ยืนยง โอภากุล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “แอ๊ด คาราบาว” ศิลปินเพื่อชีวิตที่ผันตัวมาทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จอย่างสูงในปัจจุบัน

นอกจากนี้ปรากฏชื่อบุคคลที่เกี่ยวกับแวดวงการเงินหลายราย อาทิ มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมบริษัทหลักทรัพย์ เมย์ แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และคอลัมนิสต์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเศรษฐกิจ และ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ) และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย

สำหรับบุคคลที่ได้รับความสนใจ และสร้างความประหลาดใจที่สุดใน “ออฟชอร์ ลีกส์” รอบนี้ คงหนีไม่พ้น พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีชื่อติดอยู่ในโผด้วย ซึ่งเจ้าตัวก็ออกมาปฏิเสธทันควัน โดยระบุว่า สงสัยอยู่ว่าไปมีชื่อได้อย่างไร เพราะไม่เคยไปทำธุรกิจที่ต่างประเทศ พร้อมพูดติดตลกว่า “กลัวเพื่อนจะมายืมเงิน เพราะเห็นว่ามีเงินเยอะ ทั้งๆ ที่มันไม่มี”

เช่นเดียวกับคนอื่นๆที่เรียงหน้าออกมาปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกัน ทั้ง “คุณพ่อชนะชัย” ที่ยืนยันไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเปิดบริษัทเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอย่างที่มีชื่อปรากฏอยู่ในข่าว แม้จะเคยมีคนชักชวนสมัยตอนอยู่ในทัวร์ (เทนนิสอาชีพ) แต่ก็ไม่เคยได้ทำ

ขณะที่บรรดา “พ่อมดการเงิน” ก็ออกไปในเชิงแบ่งรับแบ่งสู้ อย่าง “บรรยง” ที่โพสต์เฟซทันทีตั้งแต่ที่มีชื่อออกมาว่าไม่เคยรู้จัก “มอสแซ็ก ฟอนเซกา” มาก่อน พร้อมระบุว่าข้อมูลที่ออกมานั้นไม่ใช่รายชื่อของผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย เพียงแต่มีชื่อเกี่ยวข้องกับมอสแซ็กฯเท่านั้น ก่อนจะย้อนความหลังได้ว่า

“พวกผมทำ Management Buy Out ซื้อมาจาก Merrill Lynch เมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นเรื่องเปิดเผย ไม่เคยปิดบังใคร ปรากฏในรายงานประจำปีทุกปี จึงแน่ใจว่าไม่มีเรื่องผิดกฎหมาย”

ด้าน “มนตรี” แห่งกิมเอ็ง ยอมรับเพียงว่า เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เคยเปิดบัญชีไพรเวทแบงก์กิ้ง วงเงินเพียง 10 ล้านบาท เพื่อการลงทุนปกติในต่างประเทศ แต่จำชื่อบริษัทไม่ได้ เพราะนานมากแล้ว และบัญชีนี้ก็ได้ปิดไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน

“ยืนยันได้ว่า การเปิดบัญชีเป็นการลงทุน ไม่ได้ใช้เพื่อการฟอกเงินแน่นอน”

แต่ก็คงเป็นไปอย่างที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เงินที่นำไปฝากไว้ยังบริษัทในประเทศปานามาแห่งนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินผิดกฎหมาย แต่คนดีๆ คงคิดไม่ออกว่าทำไมต้องนำเงินไปฝากที่นี่”

การปรากฏชื่อใน “ออฟชอร์ ลีกส์” หรือ “ปานามา เปเปอร์ส” ไม่ถือเป็นใบเสร็จพอที่จะกล่าวหาผู้ที่อยู่ในลิสต์ว่าเป็น “คนโกงภาษี” หรือเกี่ยวพันกับการ “ฟอกเงิน” แต่ก็ย่อมมีคำถามในเง่จริยธรรมถึงบุคคลเหล่านั้นทันที ถึงความจำเป็นต้องไปจดทะเบียนบริษัทนอกอาณาเขต ทั้งยังเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า “สรวงสวรรค์แห่งการเลี่ยงภาษี” เสียด้วย

เหตุผลความจำเป็นที่ชี้แจงออกจากผู้ที่มีรายชื่อจึงสำคัญกว่าการปรากฏหรือไม่ปรากฏออย่างแน่นอน สำหรับ “นักธุรกิจ” ก็เชื่อว่าเป็น “เทคนิค” ในการดำเนินธุรกิจ ส่วนจะเป็นการฟอกเงินอย่างที่ถูกตั้งข้อสงสัยหรือไม่ ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยว ซึ่งในไทยก็คงต้องเป็น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งที่ผ่านมาทำงาน “เชิงรับ” มาโดยตลอด หากไม่เกิดเรื่องโจษจันไปทั่วโลกก็ยากที่จะขยับ ทั้งที่รายชื่อ “ปานามา เปเปอร์ส” นี้ก็เป็นชุดเดียวกับ “ออฟชอร์ ลีกส์” ที่ได้รับการเปิดเผยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 3 ปีก่อน แต่ดูเหมือน ปปง.ผู้รับผิดชอบโดยตรงกลับไม่มีการดำเนินการใดๆใน “เชิงรุก”

อย่างที่บอกสำหรับ “นักธุรกิจ - เจ้าสัวคนดัง” ทั้งหลายอาจมีเหตุผลในแง่ธุรกิจ แต่สำหรับ “นักการเมือง - ข้าราชการ” ถือเป็นเรื่องที่น่าสงสัยมากยิ่งกว่า อย่างกรณีของ “นลินี ทวีสิน” ก็อาจจะแก้ต่าง-แก้ตัวได้ว่าทำธุรกิจหลายอย่างมาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่การเมือง แต่ในรายของ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ที่รับราชการมาตลอดชีวิตต่างหากที่มีเครื่องหมายคำถามว่าชื่อโผล่เข้าไปได้อย่างไร ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของ ปปง.และของเจ้าตัวที่ต้องทำให้เรื่องกระจ่างเอง โดยมีกระแสข่าวว่า “ไอซีไอเจ” จะมีการสรุปผลการตรวจสอบรายชื่อ “ปานามาเปเปอร์ส” อีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้

รวมทั้งมีคำถามไปถึง “จุดยืน” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับการที่คนไทยทั้งประเภท “คนรวย - คนดัง” และล่าสุดก็มี “คนดี” แห่ไปเปิดบริษัทในลักษณะนี้ สามารถกระทำได้ หรือต้องมีมาตรการออกมาควบคุมอย่างไร ซึ่งทางหนึ่งอาจมองได้ว่า ถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่ทั้งหมด 100% ขณะเดียวกันประเทศก็สูญเสียประโยชน์ในแง่การจัดเก็บภาษีอย่างชัดเจน

นอกจากนี้มีข้อมูลปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เดือนกันยายน 2557 มีการระบุถึงส่วนแบ่งที่ได้รับจากการขายที่ดินย่านบางบอน กรุงเทพฯ ราว 50 ไร่ เป็นเงินกว่า 600 ล้านบาท เมื่อไอร์ปี 2556 ให้แก่ บริษัท 69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งมี “ผู้ถือหุ้น” เป็นบริษัทที่จดทะเบียนตั้งที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ไอส์แลนด์ รวมทั้งเชื่อมโยงกับธุรกิจในเครือของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่และธุรกิจเครื่องดื่มแสนล้าน ด้วย

ก็คาดหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ให้ความสำคัญในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น “วาระแห่งชาติ” จะหันมาให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบ “ผู้มีอำนาจ - ผู้มีอันจะกิน” ที่มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษี เพื่อสนองประโยชน์ส่วนตน ผ่านขบวนการในรูปแบบ "มอสแซ็ก ฟอนเซกา" เช่นนี้ให้สิ้นซากบ้าง

เพราะ “คนดีๆ” คงไม่คิดเอาเงินไปฝากที่นั่น รองนายกฯ วิษณุท่านกล่าวไว้.



กำลังโหลดความคิดเห็น