xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : โลกตะลึงแฟ้มลับ “ปานามา เปเปอร์ส” แฉกลโกง “ผู้นำประเทศ-คนดัง” ซุกเงินเลี่ยงภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บริษัทกฎหมาย มอสแซ็ก ฟอนเซกา (Mossack Fonseca) ในปานามา
กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทุกวงการก็ว่าได้ เมื่อสื่อมวลชนตะวันตกออกมาตีแผ่แฟ้มเอกสารลับกว่า 11 ล้านฉบับของบริษัทกฎหมายปานามา “มอสแซ็ก ฟอนเซกา” (Mossack Fonseca) ซึ่งเปิดโปงพฤติกรรมทุจริตซุกเงินเลี่ยงภาษีของบุคคลระดับผู้นำประเทศ และผู้มีชื่อเสียงหลากหลายวงการ และทำให้ทางการทั่วโลกต้องเร่งตรวจสอบกิจกรรมทางการเงินออฟชอร์ของบรรดามหาเศรษฐีและผู้มีอิทธิพล

สื่อมวลชนกว่า 100 สำนักได้ร่วมกันตรวจสอบชุดเอกสารของ มอสแซ็ก ฟอนเซกา ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายที่มีฐานในปานามา และมีสำนักงานตั้งอยู่ใน 35 ประเทศทั่วโลก หลังจากหนังสือพิมพ์ ซุดดอยต์ช ไซตุง ของเยอรมนีได้รับเอกสารชุดนี้มาจากแหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อ และได้แบ่งปันให้แก่สื่อมวลชนทั่วโลกผ่านทางสมาคมผู้สื่อข่าวสายสืบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists - ICIJ)

เจราร์ด ไรล์ ผู้อำนวยการ ICIJ ชี้ว่า เอกสารชุดนี้เป็นบันทึกการทำธุรกิจของ มอสแซ็ก ฟอนเซกา แบบวันต่อวันตลอดระยะเวลา 40 ปี และแม้ธุรกรรมการเงินส่วนใหญ่กระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทว่าการตีแผ่ข้อมูลในครั้งนี้ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบทางการเมืองไม่น้อยต่อบุคคลที่ถูกอ้างถึง

เอกสารชุดนี้ได้เปิดโปงถึงกลวิธีสารพัดที่บรรดาคนรวยใช้ซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ในต่างแดนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี โดยมีนักการเมืองของประเทศต่าง ๆ ถูกอ้างถึงรวม 143 คน ในจำนวนนี้เป็นบุคคลระดับผู้นำประเทศถึง 12 คน รวมถึงญาติมิตรและคนสนิทของพวกเขา

แม้การมีทรัพย์สินอยู่ในบริษัทต่างชาติจะไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในตัวของมันเอง แต่เอกสารชุดนี้ก็อาจถูกใช้เป็นหลักฐานเปิดโปงการเลี่ยงภาษี การฟอกเงิน การหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมในรูปแบบอื่น ๆ

ชุดเอกสารของ มอสแซ็ก ฟอนเซกา ได้ระบุชื่อสมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมืองของจีน (Politburo Standing Committee) ทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างน้อย 8 คน นอกจากนี้ ยังมีชื่อของ “เติ้ง เจียกุย” พี่เขยของประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ซึ่งไปเปิดบริษัท 2 แห่งไว้ที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จินเมื่อปี 2009 โดยขณะนั้น สี่ ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง และยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดี

บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี หลี่ เผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1987 - 1998 ก็มีชื่ออยู่ในเอกสารปานามา เปเปอร์ส ด้วยเช่นกัน
ประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ของจีน ซึ่งมีญาติและบุคคลใกล้ชิดตกเป็นข่าวซุกทรัพย์สิน ตามข้อมูลในเอกสารลับ ปานามา เปเปอร์ส
สำนักข่าวสารของคณะรัฐมนตรีจีนจะยังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลใน “ปานามา เปเปอร์ส” ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งก็ใช้มาตรการ “เซ็นเซอร์” อินเทอร์เน็ต เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่พาดพิงถึงคณะผู้นำจีน

หนังสือพิมพ์ โกลบอล ไทม์ส ซึ่งเป็นสื่อแทบลอยด์ทรงอิทธิพลในเครือเดียวกับ พีเพิลส์ เดลี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ลงบทบรรณาธิการกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า ใช้อิทธิพลครอบงำสื่อตะวันตก และนำเอกสารรั่วไหลเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือโจมตีประเทศที่มิใช่ตะวันตก

“สื่อตะวันตกมักจะผูกขาดการตีความทุกครั้งที่มีการเปิดโปงชุดเอกสารเช่นนี้ออกมา และวอชิงตันก็มีอิทธิพลอย่างยิ่งในเรื่องนี้... ข้อมูลใด ๆ ก็ตามที่เป็นผลเสียต่อสหรัฐฯ จะถูกปกปิด แต่ถ้าเกี่ยวกับผู้นำที่มิใช่ยุโรป เช่น ประธานาธิบดีปูติน จะถูกกระพือข่าวเสียใหญ่โต”

เอกสารยังได้เปิดโปงเครือข่ายฟอกเงินมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ที่พัวพันไปถึงคนสนิทของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน โดยกระทำผ่านธนาคารรอสสิยา ซึ่งถูกสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปคว่ำบาตรหลังจากที่มอสโกใช้กำลังผนวกคาบสมุทรไครเมีย
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และ เซียร์เก โรลดูกิน นักเชลโลชาวรัสเซียซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเขา
เงินทุนเหล่านี้ถูกยักย้ายถ่ายโอนผ่านบริษัทต่างชาติหลายแห่ง ในจำนวนนั้นเป็นบริษัท 2 แห่งของ เซียร์เก โรลดูกิน นักดนตรีอาชีพซึ่งเป็นเพื่อนสนิทที่แนะนำให้ ปูติน ได้รู้จักและแต่งงานกับ “ลุดมิลา” ทั้งยังเป็นพ่อทูนหัวของ “มาเรีย” ลูกสาวคนโตของผู้นำแดนหมีขาว

แม้ไม่มีชื่อของผู้นำเครมลินปรากฏอยู่ในบันทึกใด ๆ ทว่าข้อมูลที่แพร่ออกมาก็เปิดเผยสายสนกลในที่สหายของ ปูติน ใช้โกยเงินนับล้านจากข้อตกลงที่ดูเหมือนจะไม่มีทางเป็นไปได้ หากไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากเขา

นายกรัฐมนตรี ซิกมุนดูร์ เดวิด กุนน์ลอจสัน แห่งไอซ์แลนด์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกพาดพิงถึง และกลายเป็นเหยื่อรายสำคัญจากพิษของ ปานามา เปเปอร์ส หลังจากที่เขาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากทนแรงกดดันไม่ไหว

กุนน์ลอจสัน และ ภริยา ถูกกล่าวหาว่าซุกซ่อนเงินลงทุนหลายล้านดอลลาร์ไว้ในธนาคารไอซ์แลนด์ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน โดยทำธุรกรรมผ่านบริษัทนอกประเทศแห่งหนึ่ง เอกสารระบุว่า กุนน์ลอจสัน และภริยาได้ซื้อบริษัท วินทริส (Wintris) เอาไว้เมื่อปี 2007 และไม่ได้สำแดงบัญชีระหว่างที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาเมื่อปี 2009 ต่อมาอีก 8 เดือนเขาก็ได้ขายหุ้นวินทริสให้แก่ภริยา ในราคาเพียงหุ้นละ 1 ดอลลาร์

กุนน์ลอจสัน ยืนกรานว่า ไม่เคยซุกทรัพย์สินไว้ในต่างแดน พร้อมอ้างว่าภรรยาได้รับมรดกจากพ่อ และได้ทำการเสียภาษีในไอซ์แลนด์แล้ว
นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ ซึ่งกำลังถูกกดดันหนักให้ออกมาอธิบาย หลัง “ปามานา เปเปอร์ส” ระบุว่า บิดาผู้ล่วงลับของเขาได้เคยบริหารกองทุนออฟชอร์ซึ่งหลบเลี่ยงไม่ยอมเสียภาษีให้อังกฤษมาเป็นเวลา 30 ปี
ประธานาธิบดี เมาริซิโอ มากรี แห่งอาร์เจนตินา ซึ่งเข้ารับตำแหน่งหมาด ๆ เมื่อเดือน ธ.ค. พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะต่อสู้ปัญหาคอร์รัปชันและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับบิดาและน้องชายก่อตั้งบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งที่จดทะเบียนในบาฮามาส แต่ มากรี ก็ยืนยันว่า “ไม่มีอะไรผิดปกติ” และได้ชี้แจงบัญชีทรัพย์สินต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลภาษีแล้ว

เอกสารของ มอสแซ็ก ฟอนเซกา ยังอ้างว่าบิดาของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ ได้ไปเปิดบริษัทกองทุนในต่างประเทศ และหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในอังกฤษมานานถึง 30 ปี แต่ผู้นำอังกฤษก็ออกมายืนยันความบริสุทธิ์ พร้อมระบุว่าไม่ได้ถือหุ้นหรือมีกองทุนนอกประเทศ รวมทั้งยืนยันว่า ตนเอง ภรรยา และบุตร ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ จากกองทุนนอกประเทศ ขณะที่สำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษชี้ว่า ครอบครัว คาเมรอน จะยังครอบครองเงินทุนในต่างแดนอยู่หรือไม่ถือเป็น “เรื่องส่วนตัว” และไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ากองทุนนี้บริหารงานอย่างผิดกฎหมาย หรือมีการหนีภาษีเกิดขึ้น

ทางด้านนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ แห่งปากีสถานก็ติดร่างแหข่าวฉาวนี้ด้วยเช่นกัน โดยบุตร 3 ใน 4 คนของเขา รวมถึง “มัรยัม” ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นทายาททางการเมือง ถูกอ้างว่าถือครองอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนผ่านบริษัทต่างชาติที่บริหารงานโดย มอสแซ็ก ฟอนเซกา

นอกจากนักการเมืองแล้ว แฟ้มลับ ปานามา เปเปอร์ส ยังได้อ้างถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในแวดวงกีฬาและบันเทิง อาทิ “ลีโอเนล เมสซี” ศูนย์หน้าดาวยิงทีมอาร์เจนตินา ซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกับบิดา ฮอร์เก เมสซี ก่อตั้งบริษัท เมกา สตาร์ เอนเทอร์ไพรส์ อิงค์ ในปานามา ซึ่งเป็นบริษัทเปลือก (shell company) ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยถูกทางการสเปนตรวจสอบการจ่ายภาษี

ครอบครัวของ เมสซี อ้างว่า “บริษัทในปานามาที่ถูกอ้างถึงไม่ได้มีการทำธุรกรรมใด ๆ ไม่เคยมีเงินทุน และไม่ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้ด้วย”
ลีโอเนล เมสซี ศูนย์หน้าดาวยิงทีมอาร์เจนตินา
ซูเปอร์สตาร์ฮ่องกง “เฉิน หลง” ก็ถูกเปิดโปงเช่นกันว่ามีบริษัทอย่างน้อย 6 แห่งที่มอบหมายให้ มอสแซ็ก ฟอนเซกา เป็นตัวแทน ขณะที่ “อมิตาภ พัจจัน” ดาราระดับตำนานของวงการภาพยนตร์อินเดีย หรือ “บอลลีวูด” ก็มีชื่อเป็นกรรมการของบริษัทเดินเรือซึ่งจดทะเบียนออฟชอร์อย่างน้อย 4 แห่ง

เอกสารของ มอสแซ็ก ฟอนเซกา ยังระบุชื่อคนไทย 21 คน และอีก 963 บริษัทที่อาจเข้าข่ายมีพฤติกรรมฟอกเงิน โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจและอดีตนักการเมืองดัง เช่น มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมบริษัทหลักทรัพย์ เมย์ แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด, พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม, บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน), อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล, สุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร, คุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร, บี เตชะอุบล, สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ และ ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) เป็นต้น

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยืนยันว่า ปปง. กำลังเร่งดำเนินการประสานงานไปยังแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมดก่อน เพราะ ปปง. มีการประสานงานและบูรณาการข้อมูลกับเครือข่ายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินข้ามชาติทั่วโลกกว่า 150 ประเทศ หากประเทศใดพบข้อมูลการฟอกเงินของกลุ่มบุคคลใดก็จะมีการส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องมายังประเทศที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น ๆ หรือรายงานข้อมูลให้รับทราบ

บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิน ได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 5 เม.ย. ยืนยันว่า ตนเอง “ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยติดต่อ ไม่เคยใช้บริการใด ๆ” จาก มอสแซ็ก ฟอนเซกา และไม่เคยมีนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้นในปานามา
เฉินหลง หรือ แจ็คกี ชาน ซูเปอร์สตาร์ชาวฮ่องกง
สำหรับ มอสแซ็ก ฟอนเซกา นั้น เป็นผู้ให้บริการก่อตั้งและดูแลบริษัทการค้านอกประเทศ (offshore companies) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยจะเก็บค่าบริการเป็นรายปี

บรรดาเศรษฐีที่ใช้บริการบริษัทกฎหมายแห่งนี้มักจะอาศัย “คนกลาง” หรือ “ตัวแทน” ในการติดต่อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ เลขานุการ, ทนายความ, ธนาคาร หรือบริษัททรัสต์

จากข้อมูลของสื่อที่ได้เห็นแฟ้มเอกสารลับชุดนี้ พบว่า มอสแซ็ก ฟอนเซกา มีบริษัทออฟชอร์ที่อยู่ในความดูแลมากกว่า 300,000 แห่ง และมีความเชื่อมโยงกับ “สหราชอาณาจักร” มากเป็นพิเศษ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ถูกจดทะเบียนในแหล่งเลี่ยงภาษีที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของสหราชอาณาจักร เช่น หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เกาะเคย์แมน ดินแดนปกครองตนเองเจอร์ซีย์ และแม้แต่ในอังกฤษเอง

สำหรับคำถามที่ว่า บุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในเอกสารลับชุดนี้เข้าข่าย “ทุจริต” ทุกคนหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ใช่” เนื่องจากลูกค้าส่วนหนึ่งเลือกใช้บริการ มอสแซ็ก ฟอนเซกา ด้วยจุดประสงค์ทางธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เช่น กรณีของนักธุรกิจในรัสเซียและยูเครนที่มักจะนำทรัพย์สินไปฝากไว้ต่างแดนเพื่อป้องกันอันตรายจากพวกอาชญากร และลดข้อจำกัดจากสกุลเงินแข็ง ขณะที่บางรายก็เลือกเปิดกิจการออฟชอร์ด้วยเหตุผลด้านมรดกและการวางแผนส่งมอบธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีบุคคลบางพวกที่อาศัยโครงสร้างบริษัทออฟชอร์ที่สามารถปกปิดตัวตนของเจ้าของที่แท้จริงในการเลี่ยงภาษี และฟอกเงิน

รามอน ฟอนเซกา หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท มอสแซ็ก ฟอนเซกา ยืนยันผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ (4 เม.ย.) ว่า บริษัทไม่เคยทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้นตลอดระยะเวลา 40 ปี และได้ตกเป็นเหยื่อการ “แฮก” ข้อมูลแบบจำกัด แต่ได้แจ้งให้ลูกค้าทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว
ผู้นำประเทศบางรายที่ถูกอ้างชื่อในปานามาเปเปอร์ส:  (จากซ้ายไปขวา-บนลงล่าง) ประธานาธิบดี เมาริซิโอ มากรี แห่งอาร์เจนตินา, ชัยค์ คอลีฟา บิน ซายเอ็ด อัล-นาฮายัน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส แห่งซาอุดีอาระเบีย, ประธานาธิบดี เปโตร โปโรเชนโก แห่งยูเครน และนายกรัฐมนตรี ซิกมุนดูร์ กุนน์ลอจสัน แห่งไอซ์แลนด์

กำลังโหลดความคิดเห็น