xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” รู้แล้วข้อมูลสื่อ บ.กฎหมายต่างชาติโยงคนไทยซ่อนทรัพย์สิน ปูด “มอสสัค ฟอนเซคา” มีสาขาในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ในไทยก็มี! ปูด “มอสสัค ฟอนเซคา แอนด์ โค.” บริษัทกฎหมายสัญชาติปานามา ที่ถูก ICIJ พบโยงใช้ซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ในต่างประเทศ มีที่ตั้งอยู่บนตึกสูงในไทยย่านบางรัก จดทะเบียนมาตั้งแต่ ส.ค. 2543 พบมีทุนไทย 2 ราย จดทะเบียนกับทุนจากหมู่เกาะเวอร์จิน สัญชาติอังกฤษ ให้บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจและการจัดการ เผยปี 56 ICIJ ปูดมีนักการเมือง นักธุรกิจ คนดัง และมหาเศรษฐีชื่อดังชาวไทยจำนวนเกือบ 600 รายเอี่ยว ด้าน “สรรเสริญ” เผย “บิ๊กตู่” รับทราบข้อมูลแล้ว ยัน ปปง.มีข้อมูลเชิงลึกรอตรวจสอบ ไม่ต้องรอให้นายกฯ สั่งการ เชื่อสมาคมสื่อ ตปท.จะทยอยเปิดเผยข้อมูลออกมาเรื่อยๆ ย้ำพบมีคนไทยเอี่ยว-ผิด ฟันทันที เหตุปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ

วันนี้ (4 เม.ย.) มีรายงานว่า จากที่สมาคมผู้สื่อข่าวสายสืบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists - ICIJ) และสื่อมวลชนกว่า 100 สำนัก ได้ร่วมกันตรวจสอบชุดเอกสารของบริษัท มอสสัค ฟอนเซคา (Mossack Fonseca) ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายที่มีฐานในปานามา และมีสำนักงานตั้งอยู่ใน 35 ประเทศทั่วโลก โดยเอกสารเหล่านี้ได้บอกเล่าวิธีการที่นักการเมืองราว 140 คน รวมถึงอดีตผู้นำประเทศ 12 คน ใช้ซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ในต่างประเทศ

อ่านข่าวประกอบ ตะลึง! เอกสารลับ 11.5 ล้านฉบับ แฉ บ.กฎหมายปานามาช่วย “ผู้นำประเทศ-คนดัง” ซุกทรัพย์สิน http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9590000034388

ในประเด็นนี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบข้อมูลกรณีสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติเปิดเผยเอกสารปานามาเปเปอร์ และอาจจะเชื่อมโยงกับคนไทยในการฟอกเงินและเลี่ยงภาษีว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. คงจะมีการตรวจสอบเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องรอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ เชื่อว่าสมาคมนี้จะทยอยเปิดเผยข้อมูลออกมาเรื่อยๆ ดังนั้น หากพบว่ามีคนไทยเกี่ยวข้องและกระทำผิดจริงจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญต่อการปราบปรามคอร์รัปชันและถือเป็นวาระแห่งชาติ เชื่อว่าหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการตรวจสอบและติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง

มีรายงานว่า ข้อมูลจาก Panama Papers พบว่า มีข้อมูลบริษัท มอสสัค ฟอนเซคา แอนด์ โค. ตั้งอยู่ในประเทศไทยด้วย บริษัทแห่งนี้มีลูกค้าที่เป็นคนไทยซึ่งเชื่อมโยงกับบริษัทต่างมากกว่า 963 บริษัท แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นนักการเมืองหรือเอกชน และยังไม่เปิดให้สาธารณะเข้าค้นหาได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทยพบนักธุรกิจและกลุ่มธุรกิจชื่อดังอย่างน้อย 2 กลุ่ม มีชื่อใช้บริการจดทะเบียนเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตที่เกาะบริติชเวอร์จิน กับสำนักกฎหมายแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่พบร่องรอยว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายแต่ประการใด

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 ICIJ ได้เผยแพร่ว่าพบนักการเมือง นักธุรกิจ คนดัง และมหาเศรษฐีชื่อดังชาวไทยจำนวนเกือบ 600 รายมีชื่อเป็นเจ้าของบริษัทที่ไปจดทะเบียนไว้ในดินแดนที่ถูกขนานนามให้เป็น “สวรรค์ของการฟอกเงินและหลบเลี่ยงภาษี” อย่างไรก็ตาม ต่อมานักการเมือง นักธุรกิจไทยหลายรายออกมาปฏิเสธแล้วว่า “ไม่เป็นความจริง” (อ่านข่าวประกอบ สื่อนอกประโคมข่าว นักการเมือง-เศรษฐีชาวไทยเกือบ 600 ราย พัวพัน “บริษัทลับ” ในแดนสวรรค์เลี่ยงภาษี http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000041395)

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค่ากระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท มอสสัค ฟอนเซคา แอนด์ โค.(ไทยแลนด์) จำกัด หรือ Mossack Fonseca & Co. (Thailand) Ltd. จดทะเบียนเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ โดยพบว่ามีทุนจดทะเบียนจำนวน 2,000,000 บาท มีที่ตั้งอยู่เลขที่ 990 อาคารอับดุลราฮิม เพลส ชั้น 31 ห้อง 3104 ถนนพระราม 4 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ระบุทำกิจกรรมให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น วัตถุประสงค์ของบริษัท ให้บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจและการจัดการ พบว่ามีการส่งงบการเงิน ปี 2553, 2554, 2555, 2556 และ 2557 มี นายสตีเฟน เอ็ดเวิร์ด แว็กเนอร์ เป็นคณะกรรมการ

ยังพบว่ามีกลุ่มทุน ไทย 2 ราย จดทะเบียน ไว้ 1,020,000 บาท ถือหุ้นร้อยละ 51 และทุนจากหมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ) 1 ราย จำนวน 980,000 บาท ถือหุ้นร้อยละ 49 ยังพบว่าเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2546 มีการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาท เป็น 2 ล้านบาท

มีการเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคล 1 ครั้ง ปัจจุบันใช้ชื่อว่า บริษัท มอสสัค ฟอนเซคา แอนด์ โค.(ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2546 หลังจากจดทะเบียน บริษัท มอสสัค ฟอนเซคา แอนด์ โค เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2543 พบว่า บริษัทแห่งนี้รายงานงบแสดงฐานะการเงิน ปีล่าสุดมีสินทรัพย์หมุนเวียน 1,024,021.54 บาท มีสินทรัพย์รวม 1,139,779.46 บาท มีหนี้สินหมุนเวียน 145,150.72 บาท หนี้สินรวมและส่วนของผู้ถือหุ้น 1,109,678.50 บาท

อีกด้าน สำนักข่าวอิศราเผยแพร่ในเว็ปไซต์ www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 59 เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists : ICIJ) ร่วมกับหนังสือพิมพ์ Suddeutsche Zeitung ของประเทศเยอรมัน เปิดเผยข้อมูลบุคคลและหน่วยงานผู้มีรายชื่อเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขต (offshore companies) ทั่วโลก โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากฐานข้อมูลของบริษัท Mossak Fonseca ซึ่งเป็นสำนักกฎหมายที่ให้บริการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทนอกอาณาเขตที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศปานามา และมีสาขาใน 42 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ในกรณีของประเทศไทยพบนักธุรกิจและกลุ่มธุรกิจชื่อดังอย่างน้อย 2 กลุ่ม มีชื่อใช้บริการจดทะเบียนเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น กับสำนักกฎหมายแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่พบร่องรอยว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายแต่ประการใด นอกจากนั้นยังมีชาวต่างชาติจำนวนมาทั้งที่อาศัยอยู่ในและนอกประเทศไทย มีรายชื่อเป็นลูกค้าของ บริษัท Mossak Fonseca สาขาประเทศไทยด้วย

บริษัทนอกอาณาเขตซึ่งตั้งอยู่ทั่วโลกรวมทั้งที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน และหมู่เกาะเคย์แมน เป็นบริษัทที่ได้รับการยกเว้นภาษีรวมทั้งได้รับการคุ้มครองเรื่องการปกปิดข้อมูลตามกฎหมายพิเศษของพื้นที่นั้นๆ แม้ว่าการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ในหลายกรณีพบว่านักการเมืองและผู้มีอิทธิพลจากประเทศต่างใช้บริษัทนอกอาณาเขตของตนในการฟอกเงินและการเลี่ยงภาษี เป็นเหตุให้ฐานะการมีอยู่ของบริษัทนอกอาณาเขตเป็นที่จับตามองของสื่อมวลชนและรัฐบาลหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ICIJ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การถือครองบริษัทนอกอาณาเขตไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีการใช้บริษัท, มูลนิธิ และทรัสต์ นอกอาณาเขตอย่างสมเหตุสมผลอยู่เช่นเดียวกัน “เราไม่มีเจตนาที่จะชี้หรือตีความว่าบุคคล หรือบริษัท หรือหน่วยงานใดก็ตามที่มีชื่ออยู่ใน ICIJ Power Players interactive application มีการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมแต่อย่างไร”

ฐานข้อมูลดังกล่าวถือว่าเป็นฐานข้อมูลเรื่องการถือครองบริษัทนอกอาณาเขตที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ตกถึงมือของสื่อมวลชน โดยมีขนาดความจุ 2.6 เทราไบต์ มีเอกสารทั้งหมด 11.5 ล้านชิ้น ประกอบไปด้วยข้อมูลของบริษัทนอกอาณาเขตทั้งหมด 214,000 บริษัท โดยการขุดคุ้ยและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดของเอกสารที่ให้ชื่อว่า “ปานามาลีก” (Panama Leak) นี้เป็นความร่วมมือกันของผู้สื่อข่าวจำนวน 370 คนจาก 78 ประเทศ

บริษัท Mossak Fonseca ปฏิเสธไม่ขอชี้แจง “กรณีเฉพาะ” ต่อ ICIJ โดยอ้างเหตุผลการปกปิดข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า แต่ยืนยันว่าไม่มีการละเมิดกฎหมายในการทำธุรกิจนี้แต่อย่างไร



กำลังโหลดความคิดเห็น