ASTVผู้จัดการรายวัน - “CRG” เจรจา “โกรบิ” บริษัทแม่ชาบูตงที่ญี่ปุ่น หวังขอไลเซนส์บุกตลาดราเมงในเออีซี มั่นใจเพราะผลงานทำตลาดในไทยเข้าตาและญี่ปุ่นเองก็สนใจรุกเออีซีด้วย เผย 5 ปีในไทยเปิดแล้ว 15 สาขา เป็นที่สามในตลาดราเมง 3,000 ล้านบาท
นายยะสึโตะ โทกาชิ ผู้จัดการทั่วไป แบรนด์ “ชาบูตง” บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG เปิดเผยว่า บริษัท โกรบิ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ “ชาบูตง” มีความสนใจที่จะรุกตลาดอาเซียนเช่นเดียวกับกลุ่มเซ็นทรัลซึ่งขณะนี้ก็มีการเจรจากันบ้างแล้วที่จะขยายตลาดควบคู่กันไป เพราะที่ผ่านมา 5 ปีที่เซ็นทรัลสร้างแบรนด์และขยายธุรกิจชาบูตงในประเทศไทยถือเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจและกลุ่มเซ็นทรัลก็มีศักยภาพในการธุรกิจอย่างมาก โดยบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก็ใช้ประเทศไทยเป็นฐานและเป็นแบบอย่างในการรุกธุรกิจในเออีซีด้วย
“ตอนนี้เราก็เสนอเรื่องไปยังบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นเช่นกันแต่ก็ยังไม่ได้สรุปอะไร ซึ่งเราก็ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะไปประเทศไหนก่อน แต่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก็มั่นใจเซ็นทรัลที่เป็นพาร์ตเนอร์กันมาอย่างดีแล้ว ดีกว่าที่จะไปหาพาร์ตเนอร์ใหม่ในต่างประเทศ อีกทั้งกลุ่มเซ็นทรัลก็มีการขยายสาขาธุรกิจของเซ็นทรัลเองไปยังประเทศในกลุ่มเออีซีนี้แล้วด้วยก็คงไปด้วยกัน โดยอาจจะเป็นหลังจากการเปิดเออีซีแล้ว”
สำหรับแบรนด์ “ชาบูตง ราเมง” เปิดตลาดในไทยมาได้แล้ว 5 ปี ปัจจุบันมีสาขารวม 15 แห่งในไทย แยกเป็นกรุงเทพฯ 12 สาขา เช่น สยามสแควร์ สยามพารากอน เซ็นทรัล ลาดพร้าว เซ็นทรัล บางนา เซ็นทรัล พระรามเก้า เป็นต้น และต่างจังหวัด 3 สาขา เช่น เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ เซ็นทรัล ศาลายา ซึ่งปีนี้จะเปิดใหม่อีก 2 สาขาในกรุงเทพฯ ลงทุนต่อสาขาประมาณ 10-12 ล้านบาท
ส่วนแผนระยะยาวเป้าหมายเปิดอีก 15 สาขา หรือให้ครบ 30 สาขาภายใน 3 ปีนับจากนี้ รวมทั้งจะสร้างยอดขายเพิ่มเป็นเท่าตัวจากปัจจุบันที่ยังไม่ถึง 1,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดราเมง 10-15% อันดับที่สามในตลาดเหมือนกับปัจจุบันแต่ฐานรายได้ใหญ่ขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดราเมงในไทยมีมูลค่าตลาดรวม 3,000 ล้านบาท มีการเติบโตประมาณ 10% โดยที่ “ชาบูตง” มีการเติบโตด้านยอดขายประมาณ 15% มีแชร์ประมาณ 10% ส่วนคู่แข่งรายใหญ่ที่เป็นเชนในตลาดราเมงคือ “ฮะจิบัง” และ “โออิชิ ราเมง” แต่ “ชาบูตง” จะจับตลาดพรีเมียม ลูกค้ากลุ่มหลักอายุ 20-40 ปี ซึ่งกว่า 70% เป็นผู้หญิง ส่วนกลุ่มลูกค้ารองคือ กลุ่มครอบครัว และกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่น