ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ร่าง รธน.ร่างสุดท้ายฉบับส่งทำประชามติคลอดออกมาแล้ว จากที่มี 16 หมวด 279 มาตรา มีหลายประเด็นให้โฟกัสวิเคราะห์ผลดี ผลเสีย จุดแข็ง จุดอ่อน ตามแต่ทัศนะของแต่ละฝ่าย
ในมุมนักเลือกตั้ง พรรคการเมืองและเครือข่ายอำนาจทั้งหลาย ก็ต้องเพ่งไปที่ ระบบการเลือกตั้งส.ส.มากเป็นพิเศษ เพราะพวกผู้มีอำนาจทั้งหลาย เช่น นายกฯ-รัฐมนตรี-ส.ส.-ข้าราชการประจำระดับสูง แม้แต่พวก คสช. ทั้งหมดจะมีชะตากรรมจากนี้อย่างไรก็ต้องอยู่ที่ว่า รัฐบาลและสภาฯหลังการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ซึ่งการจะตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องมาจากระบบการเลือกตั้งที่ต้องดูว่าจะทำให้ฝ่ายไหนได้ประโยชน์มากที่สุด และแต่ละพรรคการเมืองจะปรับตัวอย่างไร กับระบบการเลือกตั้งที่จะใช้
ทำไมต้อง 3 in 1 เยอรมันโมเดล
ตามร่างของคณะกรรมการร่างรธน. คือระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เรียกกันตามหลักรัฐศาสตร์ว่า mixed member proportional system (MMP)ประเทศที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จมากสุด ก็คือ เยอรมันนี จนถูกยกให้เป็น เยอรมันโมเดล และก็มีหลายประเทศใช้ระบบนี้ อาทิ นิวซีแลนด์ สกอตแลนด์ เม็กซิโก
แนวคิดนี้จุดสำคัญมาจากการผลักดันของคณะกรรมาธิการยกร่างรธน.ชุดที่แล้ว ที่มีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานที่หลักสำคัญของระบบนี้คือ “ทุกคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิจะถูกนำไปคิดหมดเพื่อคำนวณหาจำนวนที่นั่งส.ส.ในสภาฯ”หรือที่เรียกกันว่า”ทุกเสียงไม่ตกน้ำ”คือคะแนนของผู้สมัครส.ส.ที่แพ้การเลือกตั้งก็ยังมีความหมาย เพราะคะแนนเสียงผู้แพ้ในระบบเขต ทุกเขตทั่วประเทศ จะถูกนำไปคิดคำนวณหาจำนวนที่นั่งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อต่อไป
แต่จุดสำคัญที่ร่างของ มีชัย ฤชุพันธุ์ แตกต่างจากร่างของบวรศักดิ์ คือ แม้จะเป็นระบบแบบวันแมนวันโหวตเหมือนกัน แต่ของบวรศักดิ์ ใช้ระบบเลือกตั้งมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เหมือนกับการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา นับแต่ปี 2544 คือบัตรหนึ่งเลือกส.ส.เขต อีกบัตรเลือกบัญชีรายชื่อ หรือเลือกพรรค แต่ของ มีชัยให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งทุกประเทศที่ใช้ระบบแบบจัดสรรปันส่วนผสม ส่วนใหญ่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เดิมทีเยอรมัน ก็เคยใช้ใบเดียว แต่ตอนนี้ก็ใช้สองใบ เหลือแค่เม็กซิโกประเทศเดียวที่ใช้บัตรใบเดียว แล้วผลคะแนนให้มีผลในการคำนวณที่นั่งทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ
อันเป็นระบบที่ กรธ.บอกว่า ข้อดีนอกจากประหยัดเงินหลายสิบล้านบาท เพราะพิมพ์บัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียว และจะทำให้บัตรเสียลดลง ยังเป็นระบบที่ประชาชนต้องใช้วิจารญาณในการเลือกมากขึ้น เพราะทุกคะแนนเสียง จะมีผลระดับ 3 in 1 คือ บัตรเดียว ได้ทั้งส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อและ นายกรัฐมนตรี ที่ก็จะมีผลดีหลายอย่างตามมา
เช่น ทำให้คนตื่นตัวออกมาใช้สิทธิกันมากขึ้น เพราะเดิมประชาชนอาจอยากเลือกผู้สมัคร ส.ส.บางคน บางพรรค เพราะชอบตัวบุคคลหรือชอบนโยบายพรรค แต่คิดว่าเลือกไปก็เท่านั้น เพราะแพ้อยู่แล้ว เลยไม่ออกไปเลือกตั้ง แต่ระบบนี้ เมื่อทุกคะแนนเสียงถูกนำไปนับหมด พอออกไปใช้สิทธิ แม้ผู้สมัครคนนั้นจะแพ้ แต่คะแนนที่เลือก ก็จะไปนำคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ให้กับพรรคต้นสังกัดของผู้สมัครที่แพ้ ก็ถือว่าไม่เสียเปล่า
ข้อดี ที่กรธ.บอกในระบบแบบนี้ เช่น จะทำให้ระบบเผด็จการัฐสภาหายไป หรือการกุมเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดลดไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะกรธ.คำนวณกันว่า ระบบนี้จะทำให้พรรคการเมืองขนาดกลาง มีโอกาสได้ส.ส.มากขึ้น จำนวนที่นั่งส.ส.จะกระจายไปยังพรรคอื่นๆ มากขึ้น ทำให้ลดความเป็นภูมิภาคนิยมลงไป จะไม่มีพรรคไหนผูกขาดแบบในอดีต ทำให้มีโอกาสที่พรรคเกิดใหม่จะแจ้งเกิดได้ หากมีแนวทางพรรคชัดเจน เช่น พรรคกรีนแบบในเยอรมัน เพราะหากพรรคขนาดกลาง หรือพรรคเล็ก มีแนวทางพรรคชัดเจนแล้ว ส่งผู้สมัครในพื้นที่ซึ่งคิดว่าพอแข่งขันได้ และมีศักยภาพถึง แม้ไม่ชนะในระบบเขต แต่หากได้ที่ 2 ที่ 3 ในหลายพื้นที่ รวมๆ กันเข้า ทุกคะแนนก็จะนำไปคำนวณหาที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ในภายหลัง
กรธ.จึงมองว่า ระบบนี้ เอื้อต่อการสร้างความปรองดอง เพราะจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เมื่อไม่มีพรรคไหนชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคจะเกิดขึ้น เผด็จการัฐสภา คุมเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จไม่เกิด ก็ทำให้การประนีประนอมทางการเมืองในสภาฯเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
แต่มุมคิดนักการเมือง พรรคขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วย
โดยในส่วนประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งแบบนี้ เพราะคนมองกันว่า ทำให้ประชาธิปัตย์มีโอกาสจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มากขึ้น เพราะคะแนนที่คนของพรรคแพ้พรรคเพื่อไทยในภาคเหนือ อีสาน ในระบบเขตก็จะนำมารวมแล้วไปคำนวณหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับบัตรใบเดียว โดยอ้างว่าไม่ตอบโจทย์ประชาชน ไปตัดสิทธิประชาชน เพราะบัตรสองใบ ยังเปิดช่องให้คนเลือกคนกับเลือกพรรคได้ หากเกิดกรณีในเขตเลือกตั้งแต่ละแห่ง ประชาชนมีความรู้สึกชอบคน แต่ไม่ชอบพรรค หรือชอบพรรค แต่ไม่ชอบคน ตอนโหวตก็จะแยกออกจากกันได้ แต่ระบบนี้ทำไม่ได้
ข้อเสีย แย้งมีชัย บอกว่าซื้อเสียงหนักขึ้น จ่ายครั้งเดียว กินรวบประเทศไทย
ข้อท้วงติงอีกอันหนึ่งที่คนบอกว่าข้อเสียของบัตรเลือกตั้งใบเดียว คือ ทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงรุนแรงหนักขึ้น เพราะคุ้มค่า เนื่องจาก ลงทุนซื้อครั้งเดียว แต่ได้ 3 in 1 คือ ได้ทั้ง ส.ส.เขต บัญชีรายชื่อ และนายกฯ ซึ่งขัดกับหลักคิดของ กรธ.
ที่สำคัญ ยังมีการท้วงติงจากนักเลือกตั้ง นักวิชาการหลายคนว่า เมื่อให้ทุกคะแนนเสียงถูกนำไปคิดหมด ก็อาจยิ่งทำให้พรรคขนาดใหญ่ ยิ่งได้ ส.ส.มากขึ้น คือก็ได้ทั้งส.ส.เขตด้วย แล้วคะแนนของผู้สมัครที่ชนะ ก็ยังถูกนำไปคิดหา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อีก มันก็ต้องได้ ส.ส.มากขึ้น เป็นดับเบิ้ล
กรธ.บอกจุดแข็งลดเผด็จการัฐสภา ไม่มีพรรคไหนได้ที่นั่งเกินความเป็นจริงอย่างที่ไทยรักไทย เพื่อไทย เคยได้สามสมัยซ้อน
แต่เรื่องนี้กรธ.บอกว่า นักการเมืองยังเข้าใจผิด หรือพูดความจริงไม่หมด เพราะความจริงคือ ระบบนี้ จำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่จะคิดคำนวณกันตอนหลังว่าพรรคไหนได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กี่ที่นั่งจาก 150 ที่นั่ง มันจะคิดจากคะแนนรวมทั้งประเทศก่อน แล้วเวลาคำนวณ จะมีจุดจำกัดของมันเองว่า พรรคไหนจะได้ส.ส.กี่คน แล้วจะได้ในอัตราไม่เกินเท่าใด ไม่ใช่เป็นแบบ“ปล่อยไหล”เหมือนการเลือกตั้งบัญชีรายชื่อแบบปี 44 ปี 48 และ 54 ส่วนการเลือกตั้งปี 50 ตอนนั้นเป็นระบบสัดส่วนแบ่งตามรายภาค ไม่ใช่ปาร์ตี้ลิสต์
ซึ่งการปล่อยไหล และคะแนนของผู้แพ้การเลือกตั้งไม่นำมาคิดด้วย ทำให้พรรคไทยรักไทย และเพื่อไทย ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เกินกว่าจำนวนคะแนนนิยมที่เป็นจริงไปหลายเก้าอี้ เพราะระบบของกรธ. จะมีค่าอัตราส่วนกำหนดไว้อยู่ โดยวิธีคิดก็คือ นำคะแนนของแต่ละพรรคทั่วประเทศมารวม แล้วคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้ เช่น พรรค ก. คิดแล้ว พรรคจะต้องมี ส.ส.ในสภาฯ 200 คน จากนั้นก็ไปดูว่า พรรค ก.ได้ ส.ส.เขตกี่คนแล้ว เช่น หากได้มาแล้ว 150 คน นั่นหมายถึง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรค ก. ก็จะได้อีก 50 ที่นั่ง ก็จะตัดยอดเพียงเท่านั้น เช่นเดียวกัน หากพรรค ข. คำนวณคะแนนทั้งประเทศออกมาแล้ว ต้องได้ ส.ส. 150 ที่นั่ง แต่พบว่าระบบเขต พรรคได้ ส.ส.มา 100 คน ยังขาดอีก 50 เก้าอี้ พรรค ข. ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไป 50 เก้าอี้ เพื่อให้ครบตามจำนวนคะแนนที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกมา
ระบบนี้ก็คือ จะดูจากจำนวนคะแนนที่แต่ละพรรคได้จากทั่วประเทศ เพื่อไปคำนวณหาส.ส. เพื่อให้แต่ละพรรคได้ส.ส.ตามความเป็นจริง จากคะแนนนิยมที่ประชาชนเลือก ซึ่งระบบนี้ เป็นการพยายามปิดจุดอ่อนที่ผ่านมา หลังพบว่าการเลือกตั้งปี 44, 48, 54 ที่ใช้แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคไทยรักไทย และเพื่อไทย ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เกินกว่าจำนวนที่ควรจะได้จริงไปหลายสิบเก้าอี้
แต่ก็มีเสียงทักท้วงว่า แล้วหากเกิดกรณีบางพรรค ที่ก็คือพรรคใหญ่ คะแนนนิยมสูง ถ้าคำนวณแล้วเกิดว่า คนไปเลือกผู้สมัครพรรคนั้นถล่มทลาย แล้วคำนวณออกมาแล้ว พรรคนั้นต้องมีที่นั่งส่วนเกิน หรือ Overhang Seats คือ นำมาคำนวณหมดแล้วทุกพรรคมันเกินกว่าจำนวนส.ส. บัญชีรายชื่อที่ล็อกไว้ไม่เกิน 150 คน จะทำอย่างไร ทาง กรธ.ก็แจงว่าหากเกิดกรณีเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งโอกาสจริงๆ แล้วมันเกิดยาก แต่หากเกิดขึ้น ก็ต้องใช้วิธีปรับตัวเลขของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคลง เพื่อให้ลงตัวไม่เกิน 150 ให้ได้ ด้วยวิธีการทางทศนิยม ซึ่งทำได้ แต่หากทำแล้ว พรรคอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบ เพราะก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง
ปชป.-พรรคขนาดกลางได้ประโยชน์
ระบบนี้ กรธ.จึงบอกว่า เป็นระบบที่จะทำให้จำนวนส.ส.ในสภาฯ ของแต่ละพรรค จะตรงกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนมากที่สุด คือได้คะแนนเท่าไหร่ ประชาชนชอบแค่ไหน ก็ได้ส.ส.เท่านั้น ไม่เกินหรือน้อยกว่าที่ควรจะได้จากความเป็นจริง
จึงเห็นได้ชัดว่า ระบบแบบนี้ พรรคที่ออกมาโวยวายมากที่สุด ขวางมากสุด ก็คือ พรรคเพื่อไทย เพราะมีการวิเคราะห์กันว่า เพื่อไทย แม้ชนะการเลือกตั้ง แต่เก้าอี้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะหายไปหลายสิบเก้าอี้ เพราะการคำนวณหาสัดส่วนที่นั่ง จะถูกล็อกไว้ด้วยผลคะแนนของทุกพรรคทั่วประเทศ ซึ่งแม้คะแนนของพรรคเพื่อไทยในเขตเลือกตั้งที่แพ้ ที่ก็จะไม่สูญเปล่าเช่นกัน เช่น ในภาคใต้ หรือแม้แต่ในกทม. ที่เพื่อไทย อาจแพ้ประชาธิปัตย์ เพราะคะแนนเหล่านี้ก็ถูกนำไปคิดเช่นกัน แล้วยังไปผสมกับคะแนนที่เพื่อไทยชนะในระบบเขตอีก เช่น เหนือ อีสาน แต่เมื่อมีการใช้ระบบนี้ ตัวเลข ส.ส.ในสภาฯ ไม่ปล่อยไหลแบบอดีต เพราะก็จะมีพรรคอื่นมาสอดแทรกนำคะแนนไปคำนวณด้วย ก็จะทำให้แม้เพื่อไทย อาจชนะเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง และจัดตั้งรัฐบาลได้ยากกว่าทุกครั้ง หรือจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่อำนาจการต่อรองจะมีน้อย แล้วเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ในระบบนี้ก็จะกระจายไปยังพรรคอื่นๆ เช่น ประชาธิปัตย์ และทำให้พรรคขนาดกลางอย่าง ภูมิใจไทย ชาติไทย ได้ประโยชน์จากระบบนี้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของการเลือกตั้งระบบนี้ ว่ารูปแบบจะเป็นแบบไหน จะมีการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไร จะไปปรากฏอยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่จะออกมาหลัง ร่าง รธน. ผ่านประชามติ ที่ต้องไปดูตรงนั้นอีกที