สปท. ด้านการเมือง เตรียม 4 คำถามซักถาม กรธ. 3 ก.พ. ชี้ ไม่ใช่เวทีแสดงความเห็นโจมตีร่างรัฐธรรมนูญ ติงให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเกินไป เปิดช่องวินิจฉัยความผิดส่วนตัว แนะหากไม่ปรับปรุงอาจถูกต่อต้านจนไม่ผ่านประชามติ
วันนี้ (2 ก.พ.) นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของ สปท. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันที่ 3 ก.พ. เพื่อซักถามประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า กมธ. การเมืองมีมติเสนอคำถามที่จะถาม กรธ. 4 ข้อ คือ 1. หลังร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว ได้กำหนดให้ กรธ. จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ และกำหนดให้ สปท. ทำงานอีก 1 ปี จึงจะถาม กรธ. ว่า ในช่วงเวลา 1 ปีที่เหลือภารกิจของ สปท. จะทำอะไรต่อ
2. กรณีที่ห้าม ส.ส. แปรญัตติงบประมาณ ที่รัฐธรรมนูญเขียนว่าโครงการใด ๆ ในความหมายคือมีอะไรบ้าง 3. เรื่องสิทธิเสรีภาพ ของปวงชนชาวไทย ในเรื่องความเสมอภาคของต่างด้าว ในความเป็นมนุษย์จะได้รับความเสมอภาคเหมือนคนไทยหรือไม่ และ 4. หลังจากนี้ กรธ. จะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ สปท. อีกหรือไม่
ทั้งนี้ คำถามดังกล่าว นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การเมือง จะเป็นผู้เสนอคำถาม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การประชุมในวันที่ 3 ก.พ. เป็นการประชุมเพื่อซักถาม กรธ. ในประเด็นที่ไม่เข้าใจ และไม่มีความชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด
ด้าน นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวว่า สปท. การเมืองได้ประชุมเพื่อหารือถึงรัฐธรรมนูญร่างแรกของ กรธ. เห็นว่า ในภาพรวมถือว่ามีเนื้อหาดี แต่ยังมีจุดบกพร่องที่ควรปรับปรุง ได้แก่ 1. การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่กาบัตรใบเดียวเลือก ส.ส. เขต ส.ส. บัญชีรายชื่อ และนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ระบบที่ถูกต้อง เพราะการกาบัตรเลือก ส.ส. เขตใบเดียว แล้วนำไปคำนวณคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้น อาจไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ไปใช้สิทธิ เนื่องจากบางคนอาจจะเลือก ส.ส. เขตคนที่ชอบ แต่ไม่ได้ชอบพรรคที่ ส.ส. คนดังกล่าวสังกัดอยู่ หากนำไปคำนวณเป็นคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ทั้งที่ประชาชนไม่ชอบพรรคนั้น จะถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ประชาชนได้
2. การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ไม่สามารถป้องกันการทุจริตเลือกตั้งได้ เพราะเขตเล็ก พื้นที่น้อย จะถูกอิทธิพลอำนาจรัฐ หรืออำนาจท้องถิ่นเข้ามาครอบงำได้ง่าย จะทำให้เกิดการซื้อเสียงมากยิ่งขึ้น เพราะซื้อทีเดียวได้ 2 เด้ง คือ ทั้ง ส.ส. เขตและ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ควรใช้วิธีวันแมนวันโหวต คือ ประชาชน 1 คน มีสิทธิ 1 เสียง ชอบใครให้กาได้เบอร์เดียวจะเหมาะสมกว่า
3. เรื่องการเลือกตั้ง ส.ว. 20 กลุ่มอาชีพ แบบไขว้กันระหว่างกลุ่ม ไม่ควรนำมาใช้ จะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติทั้งเรื่องการแบ่งกลุ่ม 20 วิชาชีพ และการบล็อกโหวตเกิดขึ้น
4. พรรคการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุถึงกลไกที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง
5. คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ กรธ. ไม่ได้ระบุให้ผู้สมัครต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีย้อนหลังให้ประชาชนทราบ การกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครที่ไม่เคยต้องคำพิพากษาการทุจริตเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอในการกลั่นกรองให้ได้คนดีมีคุณธรรมเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองได้
6. มีการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป โดยเฉพาะการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดการขาดคุณสมบัติของนักการเมือง เช่น การไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นการให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยกรณีความผิดส่วนตัว เป็นการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเป็นองค์กรที่ 5 นอกเหนือจากฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ตุลาการ และองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญควรมีอำนาจตีความเฉพาะเรื่องการขัดกันระหว่างองค์กร และความไม่ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมายุ่งเกี่ยววินิจฉัยความผิดส่วนบุคคล อีกทั้งการให้ศาลต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหาองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการดึงองค์กรศาลมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทิ้งน้ำหนักให้ขุนนาง และข้าราชการมากเกินไป
7. การให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 คน ให้ประชาชนทราบล่วงหน้านั้น ไม่มีความจำเป็น เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรีถือเป็นดุลยพินิจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว 6. การปิดช่องให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากในทางปฏิบัติ อาจทำให้เกิดวิกฤตในอนาคตได้
“ประเด็นเหล่านี้เป็นจุดอ่อนในรัฐธรรมนูญที่ สปท. การเมืองจะรายงานต่อที่ประชุม สปท. ในวันที่ 8 - 9 ก.พ. เพื่อให้ทำเป็นมติ สปท. เสนอต่อ กรธ. นำไปทบทวนแก้ไขต่อไป เชื่อว่า หาก กรธ. รับฟังความเห็นและปรับปรุงแก้ไข จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่หากยังยืนยันตามร่างเดิม อาจจะถูกต่อต้านจนไม่ผ่านประชามติได้.