xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“แจส” ทิ้งคลื่น 4 G งานนี้มีแต่ได้!!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การที่ท้ายที่สุดแล้ว บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ภายใต้การนำทัพของ “พิชญ์ โพธารามิก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ตัดสินใจทิ้งใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และยอมให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยึดเงินค้ำประกัน644 ล้านบาท หลังไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก 8,040 ล้านบาท ทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย

เพราะยิ่งย้อนหลังกลับไปตรวจสอบ “พฤติการณ์” ของแจสในวันที่เข้าร่วมประมูลจนถึงเส้นตายการชำระเงินในวันสุดท้ายคือวันที่ 21 มีนาคม 2559 และคำอธิบายต่างๆ นานาแล้ว ก็จะไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมสังคมถึงมองว่า “งานนี้...แจสมีแต่ได้”

และไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่สังคมจะสงสัยอีกเช่นกันว่า การเข้าร่วมประมูลของ แจสเป็นเพียง “ทฤษฎีการสมคบคิด” เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจกับ “ใครบางคน” และรวมทั้งตั้งข้อสงสัยไปถึงการทำกำไรจาก “ตลาดหุ้น” ที่ดังอึงมี่ไปทั่วทั้งแผ่นดิน

ไขปริศนาทำไม “แจส” ตัดสินใจเบี้ยว?

ประวัติศาสตร์การประมูลคลื่น 900 MHz ต้องถูกจารึกไว้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยสร้างประวัติศาสตร์การประมูลที่ยาวนานถึง 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-18 ธ.ค. 2558 มาแล้ว รวมถึงการที่ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหม่ในวงการอย่าง บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ที่เคาะประมูลในล็อตที่ 1 ได้ในราคาสูงถึง 75,654 ล้านบาท

แต่ประวัติศาสตร์ครั้งล่าสุดที่ใครๆก็คาดไม่ถึงครั้งนี้ กลับทำให้คำสบประมาทของหลายๆคนที่ไม่เชื่อว่า แจส จะเข้าร่วมประมูล ไม่เชื่อว่า แจส จะมีศักยภาพในการให้บริการ และไม่เชื่อว่าแจสจะเคาะการประมูลได้มูลค่าสูงเกินคาดขนาดนี้ กลายเป็นจริง เมื่อถึงวันที่ 21 มี.ค.2559 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการชำระเงินค่าประมูลงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือรับรองค้ำ ประกันทางการเงิน (แบงก์การันตี) อีกประมาณ 72,000 ล้านบาท กลับไม่มีแม้เงา หรือพรายกระซิบใดๆ บ่งบอกสัญญาณสัดนิดว่า แจส จะไม่มาจ่ายเงินจริงๆ

แม้ว่าก่อนหน้านั้นภายหลังการประมูลเสร็จสิ้น ในวันศุกร์ที่ 18 ธ.ค.2558 แจสจะรีบแถลงข่าวเพื่อลบคำสบประมาทต่างๆทันทีในวันที่ 21 ธ.ค. 2558 เพื่อยืนยันในแผนธุรกิจและศักยภาพในการเป็นผู้ให้บริการน้องใหม่ม้ามืดครั้งนี้ว่า “แจสไม่ได้มาเล่นๆ” ก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังมีกระแสข่าวลือว่าแจสจะหาธนาคารที่ไหนมาการันตี ซึ่งเพียงไม่กี่วันต่อมา “พิชญ์” ก็เปิดโต๊ะแถลงข่าวยืนยันว่ากำลังเจรจาอยู่กับธนาคารกรุงเทพ แต่จนแล้วจนเล่าเฝ้าแต่รอ แจสก็ไม่มีวี่แววว่าจะมาชำระเงิน มีแต่เพียงข่าวลือ การแจ้งด้วยวาจา การสอบถามถึงการนำเข้าอุปกรณ์ กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงการติดต่อขอเช่าใช้เสาโทรคมนาคมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทำให้กสทช.ก็มั่นใจว่าแจสน่าจะมาจ่าย

นอกจากแจสจะไม่ส่งสัญญาณใดๆให้กสทช.ทราบแล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) เองก็ไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการเช่นกัน ทำให้ ต.ล.ท.ต้องขึ้นเครื่องหมาย H กับหุ้นของแจสเพื่อหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทเป็นการชั่วคราวตั้งแต่การซื้อขายรอบเช้าของวันที่ 22 มี.ค. 2559 จนกว่าจะได้รับคำชี้แจงจากบริษัท

จนกระทั่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ของแจสต้องร่อนจดหมายแถลงข่าวชี้แจงเหตุผลในการไม่สามารถมาชำระเงินได้ทันแบบกะทันหันในช่วงเวลา 09.30 น.เพื่อให้สื่อมวลชนมาฟังงานแถลงข่าวในเวลา 14.00 น.แต่ในวันเดียวกันนั้นเวลา 12.00 น.ก็กลับแจ้งยกเลิกงานแถลงข่าวโดยอ้างเหตุผลว่ายังไม่ได้แจ้งให้ต.ล.ท.ทราบ ท่ามกลางความมึนงงของสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวแล้วรวมถึงที่กำลังเดินทางอยู่ต้องเดินทางกลับ

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สังคมและนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อดคิดย้อนไปถึงวันที่แจสเข้าร่วมประมูลและคว้าชัยชนะไม่ได้ ซึ่งถือเป็น “ความผิดปกติ” อย่างหนึ่ง เนื่องจากในวันนั้น “พิชญ์ โพธารามิก” ไม่ได้เข้าร่วมเคาะการประมูลด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่เม็ดเงินในการประมูลมีมูลค่าสูงลิบลิ่วถึงกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท

ไม่มีใครทราบว่า ทำไมพิชญ์ถึงไม่ได้เข้าร่วมเคาะการประมูลด้วยตนเอง

ตีความหมายได้หรือไม่ว่า แจสไม่ได้ต้องการคลื่น 4G มาใช้เพื่อต่อยอดทางธุรกิจจริงๆ

และตีความได้หรือไม่ว่า การเคาะราคาที่ผู้คนมองว่า “บ้าระห่ำ” นั้น มีจิตเจตนาเพื่อลาก “บริษัทผู้เข้าร่วมประมูลบางราย” ให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งนี้เป็นจำนวนมหาศาล เพราะต้องไม่ลืมว่าสายสัมพันธ์ของ “โพธารามิก” ในทางการเมืองนั้น ไม่ธรรมดาเช่นกัน

นี่ย่อมเป็นสิ่งที่สังคมมีสิทธิตั้งคำถามเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงได้

กรณีของ “แบงก์การันตี” ก็มีคำถามไม่น้อยเช่นกัน

สมมติว่า สถาบันการเงินไม่ย่อมปล่อยเงินให้ดังที่แจสกล่าวอ้าง “จริง” ก็ต้องบอกว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่ชวนให้สงสัย เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว โครงการขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลเยี่ยงนี้จำต้องมีการตระเตรียมทุกอย่างให้พร้อมสรรพ มิใช่หวัง “จับเสือมือเปล่า” หรือ “หวังน้ำบ่อน้ำ”

เหตุผลที่ธนาคารกรุงเทพซึ่งพิชญ์ โพธารามิกประกาศชัดว่าเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินมาตั้งแต่แรกไม่ยอมปล่อยกู้เพราะอะไร ยังคงเป็นที่น่าสงสัย

เป็นเพราะแจสไม่ได้มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนดังที่ปรากฏออกมาจากฝั่งสถาบันการเงินหรือไม่ เพราะหากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยถึงหรือดังกล่าวว่า ธนาคารไดัรับการยื่นขอสินเชื่อจากแจสเพื่อนำไปชำระค่าใบอนุญาต 4G โดย JAS ได้ยื่นขอสินเชื่อในวงเงิน 4 หมื่นล้านบาทไปแล้ว 1 ครั้ง และยื่นขออีกครั้งภายหลังชนะการประมูล บนคลื่นความถี่ 900MHz ในวงเงินรวมกว่า 7.56 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารได้ขอให้บริษัทกลับไปทำแผนธุรกิจ เพื่อประกอบการขอสินเชื่อรอบใหม่ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ

ส่วนจะไปเชื่อมโยงกับ “หมากกลทางธุรกิจ” เรื่องสายสัมพันธ์บางประการตามที่มีการโจษขานหรือไม่ บัดนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนว่า ได้มีการกระทำการเพื่อไม่ให้แจสแจ้งเกิดในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จริง

เฉกเช่นเดียวกับเรื่อง “ผู้ร่วมทุน” เพราะนับตั้งแต่แจสคว้าชัยในการประมูล ผู้บริหารของแจสได้มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวเพื่อยืนยันความพร้อมในการทำธุรกิจเพียงครั้งเดียว จากนั้นก็หายเงียบไปในกลีบเมฆ มีแต่เพียงปรากฏข่าวในระยะใกล้เส้นตายของการชำระเงินว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ร่วมทุน ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมจาก “เกาหลี” กระทั่งในวันสุดท้ายที่ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นป้ายห้ามซื้อขายเพื่อขอคำอธิบาย ข่าวเรื่องผู้ร่วมลงทุนจากเกาหลีก็แปรเปลี่ยนกลับกลายเป็น “บริษัทโทรคมนาคมจากจีน” ไปอย่างหน้าตาเฉย จนสร้างความงุนงงให้กับผู้คนทั้งแผ่นดินว่า ไปดอดเจรจากันเมื่อไหร่

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ สิ่งที่แจสแจ้งต่อ ต.ล.ท.นั้น กลับเป็นเหตุผลที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ปัดว่าไม่เคยได้รับทราบข้อมูลนี้มาก่อน หรือมาติดต่อให้ผ่อนผันแต่อย่างใด ซึ่งจดหมายที่แจสแจ้งต่อต.ล.ท.มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ไม่สามารถมาชำระเงินได้ทันกำหนดเวลาเนื่องจากติดเงื่อนของเวลาในการเจรจาเป็นพันธมิตรกับนายทุนจากประเทศจีน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนเมษายน 2559 ทำให้ไม่ทันตามกำหนดระยะเวลา 90 วัน ตามที่ระบุในประกาศ ทั้งนี้ทางสำนักงาน กสทช. ก็ไม่สามารถผ่อนปรน หรือผ่อนผันเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาใดๆ ตามที่ระบุในประกาศ กสทช. ดังกล่าวแก่ แจส โมบาย จึงไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินจำนวนประมาณ 72,000 ล้านบาท มามอบแก่สำนักงานกสทช.ตามกำหนดเวลา

งานนี้ “แจส”มีแต่ได้ ซื้อหุ้นคืน-เทปันผลเพื่อ?

ที่ผ่านมา การเติบโตของกลุ่ม JAS ต้องยอมรับว่าธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน เป็นธุรกิจหลักที่ช่วยสร้างรายได้และกำไรให้แก่กลุ่มบริษัทอย่างเป็นกอบกำ แต่ในช่วง 1-2ปีก่อน JAS เริ่มแสดงแผนและทิศทางธุรกิจที่ใครต่อใครเห็นภาพที่ชัดเจนว่า จะมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน JASIF รวมถึงแสดงความต้องการเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 4G เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือน้องใหม่ของประเทศ นอกเหนือจากผู้ให้บริการหลัก 3 รายเดิม

นี่คือสิ่งที่ประชาชนทั่วไป และนักลงทุนรับทราบข่าวสารมาตลอด จนเมื่อมีการเปิดประมูลใบอนุญาตเมื่อช่วงปลายปี 2558 เกิดขึ้นจึงไม่ใครกล้าประมาทบริษัทจากกลุ่ม JAS ที่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ และท้ายที่สุดก็สามารถคว้าใบอนุญาต4G มาได้1ไลเซนส์ เปรียบเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ของ JAS ใกล้บรรลุผลสำเร็จเต็มที่ ย่อมมีผลต่อราคาหุ้นของกลุ่มตามความคาดหวังต่อทิศทางธุรกิจที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อมีธุรกิจใหม่ที่เป็นขนาดใหญ่เข้ามาช่วยเสริม และเกื้อกูลแก่ธุรกิจของกลุ่มบริษัทในเครือ

ต่อมา...หลังจากคว้าใบอนุญาตมาครองได้ JAS เริ่มประกาศถึงพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมเป็นลงทุนนั่นคือกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือจากจีน หลังสร้างคำถามให้เกิดขึ้นแก่วงการตลาดทุนว่า JAS จะหาเงินจากไหนมาลงทุนในธุรกิจผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีจำนวนมหาศาล ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวยิ่งทำให้ราคาหุ้นตอบรับกับแรงคาดหวังและความกังวลของธุรกิจในเครือมากขึ้น

กล่าวได้ว่านับตั้งแต่เครือ JAS เดินหน้าขยายธุรกิจตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และประกาศเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต จนต่อเนื่องไปถึงการวิ่งหาแหล่งเงินและท้ายที่สุดคือไม่สามารถชำระเงินได้ ราคาหุ้น JAS เคยขึ้นไปสูงสุดถึง 6.00 บาท และต่ำสุดที่ระดับ 2.70 บาท เรียกว่าสร้างความผันผวนได้อย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงแค่นั้น ในยามที่การหาแหล่งเงินเพื่อชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกยังไม่ประสบความสำเร็จ กลับมีรายงานว่า บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ประกาศตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน ด้วยวงเงิน 6,000 ล้านบาท หรือ 1,200 ล้านหุ้น หรือ 16.82% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ในราคาหุ้นละ5.00 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาหุ้นเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วันประมาณ 57.7%

ขณะที่ ผลประกอบการ ณ วันที่ 31 ธ.ค.58 บริษัทมีกำไรสะสม 2,298 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 4 มี.ค.บริษัทได้บันทึกเงินปันผลรับจากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด จำนวน 5,952 ล้านบาท ทำให้บริษัทจะมีกำไรสะสมไม่น้อยกว่า 8,250 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักเงินปันผลจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นในเดือนพ.ค.ประมาณ 2,140 ล้านบาทแล้ว ก็ยังมีกำไรสะสมเพียงพอที่จะทำการซื้อหุ้นคืนในระดับ 6,000 ล้านบาท

มีการตั้งข้อสังเกตตั้งแต่วันที่ JAS ประกาศซื้อหุ้นคืน 20% จำนวน 6,000 ล้านบาท พร้อมจ่ายปันผลจากกำไรสะสมของปี 2558 ให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน 7,133,530,653 หุ้น ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท รวมเป็นเงินกว่า 2,140 ล้านบาท หากนำมารวมกันจะมีเงินมากพอจ่ายค่าใบอนุญาตงวดแรกได้ แต่ทำไมเรื่องดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้น

“ต้องทำความเข้าใจว่าการตั้งโต๊ะซื้อหุ้นคืนที่ราคา 5 บาทคือการนำเงินสดไปให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นไม่ได้มีแต่นักลงทุนทั่วไป กรรมการบริษัท ประธาน ฯลฯ ก็มีสิทธิถือหุ้นในบริษัทของตนเองก็ได้ อีกทั้งการจ่ายเงินปันผลก็เช่นกัน” นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าว

แม้ “พิชญ์ โพธารามิก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JASจะแจ้งว่า กรณีแจส โมบาย แม้ต้องถูกริบเงินประกันการประมูล แต่ “แจสโมบาย”และกลุ่มบริษัท ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากประกาศ กสทช. ไม่ได้ระบุให้ผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบในความเสียหายใดๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากเงินประกันข้างต้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เริ่มประเมินทิศทางธุรกิจของกลุ่มJAS อาทิกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน JASIF ถูกปรับลดคำแนะนำลงเหลือเพียงแค่ “ถือ” เนื่องจากความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจในระยะยาวมีเพิ่มขึ้นหลังจากใบอนุญาตของ TTTBB หมดอายุลงในปี 2569 และเนื่องจาก JAS ไม่จ่ายชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz อาจทำให้ กสทช.จะไม่ทำการต่ออายุใบอนุญาตของ TTTBB ซึ่งความไม่แน่นอนจะเกิดขึ้นทันที

นอกจากนี้ต้องติดตามว่าแม้ JAS ได้ให้ข้อมูลข้างต้นเพิ่มเติมแล้ว แต่ความผันผวนของราคาหุ้นและทิศทางธุรกิจของ JAS ยังมีสูง เพราะจะมีข้อหักล้างกันระหว่างปัจจัยบวกคือ การไม่ทำธุรกิจมือถือ มาเน้นทำธุรกิจเดิมคือ Internet Broadband ที่มีกำไร และมีข่าวดีคือ การรับซื้อคืนที่ราคา 5 บาท สูงกว่าราคาหุ้นปัจจุบัน 36% เข้ามาช่วยเสริม แต่ก็จะมีปัจจัยลบคือบทลงโทษที่จะมีตามมา เช่นการยึดเงินประกัน 644 ล้านบาท แม้จะเป็นเพียง 1.27% ของสินทรัพย์รวม แต่หากต้องบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน ก็จะเป็นสัดส่วนถึง 26% ของกำไรหลักในงวดปี 58 ที่ 2.5 พันล้านบาททีเดียว ยังไม่นับการเข้าไปถึงใบอนุญาตในธุรกิจอื่นๆว่าทำได้หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นในขณะนี้ รวมทั้งการต้องเข้าไปรับผิดชอบส่วนต่างราคาประมูลในอนาคต หากได้ราคาประมูลต่ำกว่า 75.7 พันล้านบาท ที่ JAS เคยชนะไปด้วยหรือไม่

มรดกบาปและเดดล็อกที่ JAS ทิ้งไว้

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา ในภาพรวมของประเทศคือจะมี 1 โครงข่าย4G ที่ไม่สามารถนำไปพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่งซึ่งคาดว่าอาจมากกว่า 1ปี ซึ่งความล่าช้านี้ย่อมมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย รวมถึงการสูญเสียโอกาสที่ควรเกิดขึ้นกับประเทศด้วย

ขณะเดียวกัน ย่อมเป็นสิ่งที่น่าเห็นใจให้แก่ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาต 4G คลื่น 900 MHz อีกหนึ่งรายที่จ่ายเงินจำนวนมหาศาล และหากการเปิดประมูลรอบใหม่ผู้ชนะประมูลใหม่ได้ใบอนุญาตในราคาที่ต่ำกว่า “แจส โมบาย” เคยยื่นเสนอและชนะไว้ ย่อมเกิดข้อพิพาทระหว่างภาครัฐและเอกชนอีกรายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า..แล้วส่วนต่างที่หายไปจะเรียกเก็บกับใคร? ใครจะเป็นผู้เข้ามาชดเชยตัวเลขที่หายไปนี้?...จะมีผู้ใดรับผิดชอบ? เมื่อ “แจส โมบาย” และ บริษัทแม่อย่างบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ออกมายืนยันว่า เมื่อไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าใบอนุญาตได้ก็ยอมให้ยึดเงินค้ำ ประกันและในข้อตกลงที่ทำกับกสทช. ก็ไม่มีข้อไหนที่ระบุอย่างบชัดเจนว่ากลุ่มบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยหรือค่าเสียหาย หากไม่ดำเนินการใบอนุญาต 4G นอกเหนือจากการริบเงินค้ำประกัน

งานนี้...ต้องกับมามองที่ตัวแทนภาครัฐอย่าง กสทช. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบกับเรื่องดังกล่าวมากกว่าคนอื่น เพราะหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ทำขึ้นเหมือนมีจุดอ่อน นำไปสู่ความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และจำเป็นที่จะต้องปิดรูโหว่ดังกล่าวให้รัดกุมมากขึ้นเพื่อรองรับการประมูลในครั้งต่อไป

ขณะเดียวกันแม้จะมีการรวมตัวตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1ชุดเพื่อพิจารณาหาทางออกให้แก่ใบอนุญาต 4G คลื่น 900 MHz โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง รวมถึงหน่วยงานจากตลาดทุนอย่าง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการหารือ จะสามารถเอาผิดกับผู้ที่ยอมให้ยึดเงินค้ำประกันได้ หรือไม่? แม้เชื่อกันคณะกรรมการชุดดังกล่าวนอกจากจะหาทางออกให้ใบอนุญาตที่เกิดปัญหา ยังจะมีการพิจารณาถึงประเด็นราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทแม่อย่าง JAS และ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ตั้งแต่ก่อนที่ “แจส โมบาย”จะเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต และหลังจากเป็นผู้ชนะใบอนุญาตดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ...ยังมีสิ่งที่ประชาชนทั่วไปอยากเห็นแต่ดูเหมือนเรื่องดังกล่าวจะยังไร้ข้อสรุป ...นั่นคือ “ผู้มีส่วนรับผิดชอบออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว” ซึ่งยังต้องติดตามดูกันต่อไปว่าประเทศไทยจะมีบรรทัดฐานดังกล่าวเกิดขึ้นจากคนของภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ 1 เดือนจากนี้เรื่องต่างๆจะมีความชัดเจนมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

“ตอนนี้เรายังไม่ได้ฟ้องร้องอะไรแจส ต้องให้คณะทำงานสรุปค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อน โดยต้องนำกฎหมายทุกอย่างที่สามารถจะทำได้มาดูกัน ทั้งแพ่ง และ อาญา ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ รวมถึงการยึดใบอนุญาตช่องโมโนด้วยว่าจะทำได้หรือเปล่า เราก็ยังตอบไม่ได้ทั้งนั้น ส่วนที่ว่าจะให้ใช้มาตรา 44 หรือเปล่า เรื่องนี้ผมตอบไม่ได้ กสทช.ต้องทำเท่าที่กฎหมายเราจะทำได้ ซึ่งหลังจากที่เรารายงานให้นายกฯทราบก็ต้องขึ้นอยู่กับท่านว่าจะสั่งการอะไรออกมา” นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าว

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ให้ความเห็นว่า การเรียกค่าเสียหายจากส่วนต่างของมูลค่าการประมูลที่ผ่านมากับมูลค่าการประมูลครั้งใหม่ จะมีความซับซ้อนพอสมควร และต้องดำเนินการในทางแพ่ง โดยผลจะเป็นอย่างไรจะขึ้นกับการประมูลของ กสทช. หลังจากนี้ ดังที่จะกล่าวต่อไป และการพิจารณาของศาลซึ่งน่าจะใช้เวลานานพอสมควร

นอกจากนี้ การห้าม (แบล็กลิสต์) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของแจสเข้าร่วมในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่างๆ จาก กสทช. ในอนาคต เป็นสิ่งที่ กสทช. อาจทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วน อย่างไรก็ตามการจะเพิกถอนใบอนุญาตอื่นๆ ของบริษัทในเครือจัสมินที่ได้รับจาก กสทช. เช่น โมโน หรือ 3BB ย้อนหลังน่าจะมีปัญหา เพราะบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นคนละนิติบุคคลกัน ที่สำคัญ กสทช. ไม่เคยกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก่อนที่จะมีการประมูล 4G การเพิกถอนใบอนุญาตย้อนหลังจึงน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายและขัดกับหลักนิติรัฐ ซึ่งอาจทำให้ กสทช. มีความรับผิดทางกฎหมายในอนาคต

สำหรับเรื่องการประมูลใหม่นั้น ก็เป็นปัญหาที่น่าขบคิดเช่นกันว่าจะลงเองเช่นไร

จะเป็นไปตาม แนวคิดของ กสทช. ที่ต้องการให้การประมูลใหม่ต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะประมูลคือ 75,654 ล้านบาทหรือไม่ เพราะหลายคนมองว่าไม่สมเหตุผล เนื่องจากเป็นราคาที่สูงกว่าผู้ประมูลรายอื่นที่เหลือทั้ง 3 รายเคยเสนอไว้

หรือ กสทช. ควรนำคลื่นมาประมูลใหม่โดยเริ่มที่ราคาสุดท้ายที่ผู้ประกอบการทุกรายยังรับได้คือ 70,180 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ประกอบการรายแรกที่ออกจากการประมูลเสนอไว้เป็นครั้งสุดท้าย

ขณะที่ ทรู ที่เข้ามาร่วมประมูลก็จำต้องได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน ดังเช่นที่ประธานทีดีอาร์ไอให้ความเห็นเอาไว้ว่า ควรให้ผู้ชนะการประมูลครั้งเดิมคือ ทรู เข้าร่วมประมูลด้วย หากราคาที่ผู้ประกอบการอื่นเสนอนั้นต่ำเกินไป

เรียกได้ว่า...ความโกลาหลของJAS และกลุ่มบริษัทในเครือจะไม่จบลงเพียงแค่อีก 30 วันจากนี้ง่ายๆ ....เพราะทุกฝ่ายกำลังมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกันนั่นคือความรับผิดชอบที่จะต้องเกิดขึ้น และอาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ที่แน่ๆ คือ ณ ชั่วโมงนี้ และ ณ วินาทีนี้ การที่แจสตัดสินใจไม่ขอรับใบอนุญาตเพื่อทำ 4G และยอมเสียค่าปรับ 644 ล้านบาทนั้น มิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า แจสคิดสะระตะแล้วว่า “คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป”

ดังที่แจสแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า “ขณะที่เรื่องผลกระทบในส่วนด้านการเงินนั้นคิดว่าไม่น่าจะมีผลต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญเพราะคิดว่าการไม่ชำระค่าประมูลมีโทษเพียงการถูกริบเงินประกันจำนวน 644 ล้านบาท เท่านั้น มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขใดๆ ตามข้อ 5.2 ของหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งระบุว่าให้ริบเงินประกันและคิดค่าเสียหายที่เกิดขึ้น”



กำลังโหลดความคิดเห็น