“แจส”ชักดาบไร้เงาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz กทค.ยึดมติเดิมริบเงินวางประกัน 644 ล้านบาท จ่อยึดใบอนุญาตทุกไลเซนส์ที่ได้รับจาก กสทช. ส่วนค่าเสียหายยังประเมินทั้งหมดไม่ได้ ต้องส่งเรื่องให้อนุฯด้านกฎหมาย พร้อมตั้งคณะทำงานจากคลังและอัยการสูงสุดร่วมกันประเมินค่าเสียหาย เตรียมนำเรื่องเข้าบอร์ด กทค. 23 มี.ค.นี้ เพื่อดำเนินการต่อไป พร้อมรายงานให้นายกฯรับทราบ ยันประมูลครั้งต่อไปราคาเริ่มต้นต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะการประมูลเพื่อให้ความเป็นธรรมทรูฯ หากมีผู้สนใจประมูลสามารถเริ่มได้ภายใน 4 เดือน หากไม่มีต้องเก็บคลื่นไว้ก่อน 1 ปี
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ณ เวลา 16.30 น. ซึ่งถือว่าเป็นเวลาสิ้นสุดการรอให้ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด มาชำระเงินประมูลงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือรับรองค้ำประกันทางการเงิน (แบงก์การันตี) แล้ว แต่ปรากฎว่าแจสไม่ได้ติดต่อและไม่ได้เข้ามาชำระเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้ กสทช.ต้องยึดตามมติที่ประชุมกทค.เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2559 ซึ่งประกอบด้วย 4 ข้อ คือ 1. ริบเงินหลักประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เป็นเช็คเงินสดที่สามารถนำไปขึ้นเงินได้ทันที นอกจากนี้ยังจะต้องเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฎหมายหรือประกาศที่กำหนดไว้เพิ่มเติม และจะตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการที่รับใบอนุญาตเดิมจาก กสทช.ทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
2. หากมีการประมูลใหม่ราคาเริ่มต้นต้องเป็นราคาที่แจสชนะประมูลคือ 75,654 ล้านบาท เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อบริษัทที่ชนะการประมูลและมาชำระแล้วคือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 3. การประมูลครั้งใหม่ไม่มีการตัดสิทธิ์ผู้ชนะการประมูลทีได้ชำระเงินค่าประมูลเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มีผู้เข้าร่วมประมูลมากราย และ 4.หากมีการประมูลครั้งใหม่สามารถทำได้ภายใน 4 เดือน แต่หากไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลต้องเก็บคลื่นความถี่ไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี และราคาเริ่มต้นก็ยังคงต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะการประมูล
อย่างไรก็ตาม กทค. จะมีการประชุมเพื่อสรุปแนวทางทั้งหมดในวันที่ 23 มี.ค.นี้ เพื่อสรุปเป็นมติที่ประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้างและรายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบต่อไป ซึ่งก็แล้วแต่ว่านายกฯจะมีข้อเสนอแนะหรือแสดงความคิดเห็นอย่างไร
กสทช.ย้ำว่าได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ทุกอย่างที่ทำ ทำตามกรอบของกฎหมายที่ดำเนินการได้ เป็นธรรมดาที่เมื่อมีกฎหมาย ก็ย่อมมีคนทำผิดได้ ดังนั้น กสทช.ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลก็ต้องนำผู้ทำผิดมาลงโทษ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การวิเคราะห์ค่าเสียหายต้องส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายวิเคราะห์อีกทีว่าจะคิดเป็นจำนวนเท่าไหร่ และต้องดำเนินการกับแจสอย่างไรบ้าง โดยสำนักงานจะเสนอให้ตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมโดยจะเชิญผู้แทนจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานอัยการสูงสุด มาร่วมกันวิเคราะห์ค่าเสียหายต่างๆก่อนจะนำข้อคิดเห็นเสนอให้ที่ประชุม กทค.ด้วย
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ให้ความเห็นกับกรณีที่เกิดขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวถือว่ามีผลกระทบอย่างมากเป็นประวัติการณ์ของวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกันหาทางออกอย่างรอบคอบที่สุดเพื่อความยุติธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
"ในความเห็นของดีแทค หากมีการจัดการประมูลอีกครั้ง ควรจะต้องนำคลื่น 900MHz ช่วงที่ 1 มาประมูลใหม่ตามเงื่อนไขเดิมของกสทช. ซึ่งยังมีผลใช้บังคับ รวมทั้งกำหนดราคาประมูลเริ่มต้น 16,080 ล้านบาท (ในกรณีที่มีผู้ร่วมประมูลน้อยกว่า 3 ราย) เท่าเดิม ซึ่งจะเป็นราคาที่นำไปสู่การสะท้อนมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง"
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์ข้อความว่า กสทช.ควรนำคลื่นของแจสมาประมูลใหม่โดยตั้งราคาเท่ากับราคาสุดท้าย ก่อนที่ผู้ประกอบการที่เหลือรายแรกออกจากการประมูล ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เพราะเป็นราคาที่ทุกรายรับกันได้ ไม่ควรนำไปประมูลในราคาที่แจสประมูลได้ เพราะเป็นราคาที่ผู้ประกอบการรายอื่นไม่เอา และไม่ควรเก็บคลื่นไว้เฉย ๆ เพราะเป็นการปล่อยให้ทรัพยากรสูญเปล่า ควรนำมาจัดประมูลโดยเร็วที่สุด เพราะสังคมมีความต้องการใช้"
มั่นใจจัสมินฯกำไรโตได้ต่อเนื่อง
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หลังจากที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS)ไม่สามารถชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz งวดแรกจำนวนกว่า 8,000 ล้านบาท ขณะที่จัสมินฯ เองยังคงต้องดำเนินธุรกิจ Broadband Internet 3BB ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านต่อไป เพราะมีอายุสัมปทานคงเหลืออกี 13 ปี ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังมีศักยภาพทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
“JAS สามารถดำเนินธุรกิจเดิมต่อไป เพราะยังมีศักยภาพในการทำกำไรอีกมาก แต่บริษัทจะไม่สามารถประมูลหรือขอไปอนุญาตดำเนินกิจการอื่นใดที่ กสทช. เป็นผู้ควบคุมอยู่” นายประกิต กล่าว
หุ้นกลุ่มสื่อสารคึกคัก
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น JAS วานนี้ (21 มี.ค.) ราคาหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับตลาดหุ้นโดยรวม มีเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น ที่ราคาปรับตัวลดลงกว่าราคาปิดครั้งก่อน โดยปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดที่ 3.56 บาท สูงสุดที่ 3.70 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 3.68 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 0.10 บาท หรือ 2.79%
จากการที่ JAS ไม่สามารถชำระเงินค่าสัมปทานได้ นักลงทุนมองด้านบวก เพราะคู่แข่งในตลาดลดลง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มสื่อสารปรับตัวเพิ่มขึ้น หนุนดัชนีตลาดหุ้นรวมเพิ่มขึ้น 10.67 จุด หรือ 0.77% ปิดที่ 1,393.63 จุด มูลค่าซื้อขายรวม 52,980.77 ล้านบาท