สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT) เสนอ 4 มุมมองในการพัฒนา Digital Economy ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี กฎหมาย ผู้ประกอบการ และบุคลากร หวังภาครัฐตอบสนองพร้อมออกมาตรการที่ชัดเจนมารองรับ พร้อมเข้าร่วมคณะทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ
นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT) กล่าวว่า TFIT ได้มีการยื่นข้อเสนอเพื่อนโยบาย Digital Economy ให้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และนายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไปแล้ว แต่ต้องการย้ำถึงจุดยืนที่ขัดเจนของสมาคมฯ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำไปใช้งานจริง
เริ่มจากในมุมของโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้มีการสร้าง National Broadband Network ในการให้บริการเชื่อมต่อการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ด้วยการเพิ่มศักยภาพในการสื่อสารด้วยความเร็วขั้นต้น 30 Mbps ครอบคลุมพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 90% ของจำนวนพื้นที่อยู่อาศัยของประชากรในปี 2559 และกำหนดเป้าหมายเป็น 100 Mbps ครบคลุมพื้นที่อยู่อาศัยของประชากร 95% ในปี 2563 รวมไปถึงการใช้โครงข่ายการสื่อสารร่วมกันอย่างเป็นธรรม และเสมอภาค (Infrastructure Sharing & Right Way)ไม่ใช่เฉพาะเอกชน แต่สามารถนำเครือข่ายของภาครัฐมาร่วมด้วย เพราะถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพ
นายวิชัย มองว่า ในระยะแรกจะให้บริษัท กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทีโอที ฟื้นฟูในสิ่งที่เป็นอยู่ แล้วมาเป็นผู้จัดการเครือข่ายของภาครัฐ ถือเป็นทิศทางที่ดีในช่วงต้นเพราะให้ภาครัฐคุยกันจะสะดวกกว่า แต่ในระยะยาวน่าจะต้องมีการคุยกับภาคเอกชน เพื่อให้มีการใช้งานที่อยู่บนมาตรฐานที่ผู้ให้บริการทุกรายเรียกร้อง และตอบสนองได้
รวมถึงประเด็นสิทธิแห่งทางที่เป็นอุปสรรคทำให้โครงข่ายไปไม่ทั่วถึง เพราะจำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน การขอเอกสิทธิ สัมปทาน เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่อยู่ในกฎหมาย แต่ไม่ได้มีการนำมาปฏิบัติจริง รวมไปถึงการบริหารจัดการคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อกิจการในการขยายโครงข่าย Broadband แบบไร้สายเพื่อใช้ในกิจการบริการประชาชน
อีกส่วนหนึ่งคือ นโยบาย International Gateway เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยการสร้างเครือข่ายใยแก้วใต้ทะเล เชื่อมโยงกับหลายปลายทางเพื่อความมั่นคงทางการสื่อสาร และกำหนดยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการส่งข้อมูลความเร็วสูงในภูมิภาคเออีซี ที่สำคัญคือ ลดการลงทุนซ้ำซ้อน
ขณะที่ในมุมของธุรกิจและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ซ) นายพรินทร์ สงฆ์ประชา กรรมการบริหารสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า เนื่องจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตสูง แต่ก็มีคู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้มีการตั้งเป้าหมายไว้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนา และส่งเสริมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลักดันให้เติบโตถึงในระดับภูมิภาค พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ และการสร้างกลไกคุ้มครองผู้บริโภค
“อีคอมเมิร์ซถือว่าเป็นธุรกิจที่มีโมเดลธุรกิจใหม่ๆมาทุก 2 ปี และส่วนใหญ่ที่มาใหม่จะฆ่าธุรกิจเก่าๆ ทั้งหมด ทำให้ต้องมีการหาทางออกให้แก่ธุรกิจที่มีความไม่แน่นอน เพื่อให้ท้ายที่สุดเกิดความยั่งยืน”
นอกจากนี้ ยังมีในมุมของการผลักดันกฎหมาย และระเบียบรับรองเอกสารทางการค้าในรูปแบบดิจิตอล เพื่อหาจุดสมดุลในการคุ้มครอง ระหว่างการควบคุม และการส่งเสริม พร้อมกับเป้าหมายระยะยาว คือ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านกระบวน การอีเลิร์นนิ่ง และส่งเสริมการสร้างดิจิตอลคอนเทนต์ในประเทศ เพื่อที่จะขยายโอกาสให้แก่อุตสาหกรรม ผู้ผลิตดิจิตอลคอนเทนต์ ต้องปรับโฉมให้สอดคล้องต่อการแข่งขันในยุคปัจจุบัน สุดท้ายคือ การพัฒนากระบวนการบริหารจัดการให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) โดยประยุกต์ใช้ไอทีมาช่วยลดต้นทุน
“เพื่อให้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ จะต้องมีการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการเป็น 80,000 ราย สร้างมูลค่าการค้าในรูปแบบ B2C ผ่านอีคอมเมิร์ซไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท และมีอัตราการเติบโตมากกว่า 15% ในปี 2559 ขณะเดียวกัน ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการนำไอทีมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจดิจิตอล เพื่อลดต้นทุนให้ได้ 10% พร้อมกับส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการด้านอีเลิร์นนิ่งให้ผลิตคอนเทนต์ป้อนภาคการศึกษา ธุรกิจ และอุตสาหกรรม มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท”
นายอดิเรก ปฏิทัศน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวเสริมว่าในมุมของภาครัฐต้องมีการสร้างจุดศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล และนำมาวิเคราะห์เพื่อลดความซับซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพ อย่างการปรับรูปแบบการทำงานให้กลายเป็นดิจิตอล พัฒนาบุคลากร ปรับกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทำงานแบบดิจิตอลภายในปี 2559
พร้อมออก หรือปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องการทำธุรกรรมดิจิตอล และธุรกิจไอซีทีให้ทันสมัย อย่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายจ้างแรงงานต่างชาติ ภายในปี 2558 และออกหรือปรับแก้กฎหมาย และวางโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการบันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐภายใต้แนวคิด Open Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการใช้ข้อมูล และเอื้อให้เอกชนสามารถพัฒนานวัตกรรมการบริการ และสร้างผู้ประกอบการใหม่ภายในปี 2559
โดยมีโครงการนำร่องไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทซิตี้ การทำ Business Intelligence ภาครัฐ เพื่อการพัฒนากระบวนการตัดสินใจเพื่อการบริหารโดยให้แล้วเสร็จในปี 2561 รวมถึงการปฏิรูปการประสานงานระหว่างรัฐ และเอกชน โดยพัฒนาระบบงานที่รองรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ 40% ในปี 2558 และ 70% ในปี 2559 และเร่งให้ประเทศไทยติด 1 ใน 50 อันดับแรกของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดโดย UNPAC
ในมุมของหน่วยงานกำกับดูแลต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ ตลอดจนขนาดของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมทั้งการกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการด้วยความรู้ความชำนาญมากกว่ามาจากตัวแทนกลุ่มประโยชน์ต่างๆ ลดขนาดของคณะกรรมการให้เหลือระหว่าง 5-7 คน เพื่อการประหยัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น
อีกทั้งรัฐบาลควรส่งเสริมให้ผู้ให้บริการข้อมูลต่างๆ เข้ามาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยโดยผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่างเพื่อดึงดูดการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของธุรกรรมทางอิเลกทรอนิกส์ และสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ด้วยสภาไอซีที เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าหมายในการจัดตั้งสภาไอซีที พร้อมสรรหาคณะกรรมการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558
นายดนุพล สยามวาลา อุปนายกสมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในมุมของการพัฒนาบุคลากรภาครัฐเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยจัดงบพัฒนาบุคลากรอย่างมีระบบ สร้างมาตรฐานวิชาชีพนักไอซีที สร้างมาตรฐานหลักสูตรการพัฒนาบุคลากร พร้อมส่งเสริมบุคลากรสร้างสรรค์ (StartUp) โดยการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมโครงการสร้างสรรค์ 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2559
ทั้งนี้ เพื่อลดช่องว่างดิจิตอล และส่งเสริมให้เกิด Digital Content Data Center ภายในปี 2559 ควรมีการร่วมมือ และวัดผล โดยขอให้จัดตั้ง Thailand ICT People Framework และ KPI เพื่อสร้างภาพรวมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อ ICT People ภายในประเทศไทย (ทั้งภาครัฐและเอกชน)
“โดยสรุปคือ ต้องการให้ภาครัฐนำข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล อยากเห็นแผนงานพร้อมเป้าหมาย และตัวชี้วัดที่เหมาะสม เพราะเรื่องเหล่านี้คือเรื่องตัวหลักๆ ในมุมของโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี กฎหมาย ผู้ประกอบการ และบุคลากร ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญอันดับแรกๆ เพื่อให้ Digital Economy เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้ต้องให้อยู่กับระบบราชการ อยู่กับระบบการเมืองของคนไทย” นายวิชัย กล่าวทิ้งท้าย
Company Relate Link :
TFIT
CyberBiz Social