ไอซีทีเผย 4 โครงการนำร่องระหว่างรอนโยบาย Digital Economy ได้แก่ การพัฒนาระบบไอทีเพื่อการเรียนตามโรงเรียนชายขอบ โครงการเช่าใช้ EPR โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเอสเอ็มอีและโครงการรับฝาก CCTV พร้อมผลักดันไฟเบอร์ออปติกเข้าถึงทุกหมู่บ้าน 70-80% ภายในสิ้นปีหน้า และเข้าถึง 95% ภายในสิ้นปี 59 ด้าน “สิทธิชัย-โกศล” ชี้ไฟเบอร์ออปติกต้องเข้าถึงทุกหมู่บ้านภายใน 1 ปี และถึงทุกครัวเรือนภายใน 3 ปี ชงตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานหวังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวภายในงานสัมมนา โพสต์ทูเดย์ ฟอรั่ม “เศรษฐกิจดิจิตอล พลิกโฉมประเทศไทย” ว่า ระหว่างที่รอนโยบาย Digital Economy เกิด กระทรวงไอซีทีได้เตรียมแผนโครงการนำร่องที่จะดำเนินการในปี 2558 แล้ว ประกอบด้วย 4 โครงการ คือ 1. โครงการการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบบูรณาการเพื่อการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับโรงเรียนชายขอบภายใต้งบประมาณ 95 ล้านบาท
2. โครงการพัฒนาธุรกิจการให้บริการเช่าใช้ระบบวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning : ERP) ผ่านระบบคลาวด์สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ใช้งบประมาณ 940 ล้านบาท 3. โครงการพัฒนา National API& Platform เพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรมบริการสำหรับชุมชน และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ใช้งบประมาณ 144 ล้านบาท และ 4. โครงการบริการรับฝากภาพ CCTV เพื่อป้องกันและติดตามอาชญากรรม ใช้งบประมาณ 70 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าการบริหารโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกหลังจากที่กระทรวงได้ให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ส่งรายละเอียดของโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกมาให้กระทรวงพบว่ามีโครงข่ายร่วมกันกว่า 2 แสนกิโลเมตร แต่การเข้าถึงพบว่าบางพื้นที่มีมากเกินความต้องการของตลาด ขณะที่บางพื้นที่เข้าไม่ถึงเลย ดังนั้นจึงต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเพื่อให้ไฟเบอร์ออปติกของทั้ง 2 บริษัทเข้าถึงทุกหมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าสิ้นปี 58 ไฟเบอร์ออปติกต้องเข้าถึง70-80% และเข้าถึง 95% ภายในสิ้นปี 59
สำหรับความคืบหน้าของการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเพื่อรองรับนโยบาย Digital Economy ขณะนี้มีร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่คาดว่าจะนำเข้าสู่สภาให้ความเห็นชอบงบประมาณต้นเดือนมกราคมปีหน้า ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ...... และ พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ....... ขณะที่ยังมีร่างกฎหมายอีก 6 ฉบับที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ 1. พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ..... 2. พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ..... 3.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.... 4. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.... 5. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมและกิจการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และ 6. ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ..... โดยยังไม่นับรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นอีกประมาณ 4-5 ฉบับ
ด้านนายสิทธิชัย โภไคยอุดม หนึ่งในคณะทำงานตามนโยบาย Digital Economy กล่าวว่า ไฟเบอร์ออปติกต้องเข้าถึงทุกหมู่บ้านภายใน 1 ปี และเข้าถึงทุกครัวเรือนภายใน 3 ปี ซึ่งระหว่างที่รอให้ไฟเบอร์ออปติกครอบคลุมตามเป้าหมายดังกล่าวประเทศไทยต้องนำเทคโนโลยี 3G และ 4G ขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อโดยใช้คลื่นไมโครเวฟส่งข้อมูลระหว่างหมู่บ้าน และต้องขยายเกตเวย์ให้มีหลายจุดมากกว่าปัจจุบัน
ขณะที่นายโกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ หนึ่งในคณะทำงานตามนโยบาย Digital Economy เปิดเผยว่า การทำให้ไฟเบอร์ออปติกไม่ลงทุนซ้ำซ้อนคือต้องทำเป็นนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยระดมทุนด้วยการตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้มีผู้ลงทุนรายย่อยหลายรายมาร่วมลงทุน แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดเป็นรูปแบบมีนักลงทุนรายใหญ่และให้อำนาจตัดสินใจกับกรรมการเหมือนรูปแบบการทำงานแบบรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่พิสูจน์มาแล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่เรื่องการบริหารงานต้องมอบหมายให้เอกชนเข้ามาดูแลถึงจะมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้สำรวจมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมไอซีทีปี 2556 พบว่าเป็นมูลค่า 10% ของจีดีพี ประกอบด้วย อุตสาหกรรมโทรคมนาคม มูลค่า 5 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมกระจายเสียง มูลค่า 1 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมไอที มูลค่า 1 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์ มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ 4 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมการตลาดดิจิตอล มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท
Company Relate Link :
ICT
CyberBiz Social