xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีที คาดปลายปีแก้ กม. 13 ฉบับ มีผลดันดิจิตอลอีโคโนมีเดินหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
ไอซีที ตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด หนุนแผนปรับกระทรวงไอซีทีตามนโยบาย Digital Economy หลังกฎหมาย 13 ฉบับที่เกี่ยวข้องเริ่มทยอยให้ สนช.พิจารณา “มนู” แจงขณะนี้อยู่ในช่วงเร่งปรับร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หวังคนไทยใช้งานข้อมูลเต็มประสิทธิภาพ เตรียมปรับบทบาทการทำงานของซิป้าใหม่ให้สอดรับกับโลกปัจจุบัน มั่นใจกฎหมายทั้ง 13 ฉบับเสร็จปลายปีนี้-ต้นปีหน้า

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการ 3 คณะ โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงไอซีที เป็นเลขา ประกอบด้วย คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ, คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2525 และ คณะกรรมการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ดิจิตอล อีโคโนมี ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการแต่ละชุดจะต้องเสนอวาระที่ประชุมในสัปดาห์หน้าเพื่อกำหนดวันประชุม

ทั้งนี้ ได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อออก พ.ร.บ.ดิจิตอล อีโคโนมี ถือเป็นกฎหมายฉบับหลักในการควบคุมอำนาจและแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อผลักดันดิจิตอล อีโคโนมี ทั้งหมด คาดว่าจะเห็นชัดเจนช่วงเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่งจะแยกกับกฎหมายทั้ง 13 ฉบับที่จะต้องแก้ไข เช่น พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเตรียมออกแท็บเล็ตแบรนด์ไทย ภายใต้ชื่อ “คืนความสุข” ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีแท็บเล็ตแบรนด์ไทยราคาถูกให้ประชาชนซื้อได้ และทางไอซีทีได้ร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เช่น ซีเกท ไมโครซอฟท์ กูเกิล

ขณะที่นายมนู อรดีดลเชษฐ์ หนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย ดิจิตอล อีโคโนมี กล่าวถึงความคืบหน้าในการกำหนดแผนงานปรับโครงสร้างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ว่า ขณะนี้ได้ส่งร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ สนช. พิจารณาแล้วประมาณ 2-3 ฉบับ จากทั้งหมด 13 ฉบับ และกำลังเร่งปรับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เสนอต่อ สนช.เพิ่มเติม ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลหลายสมัยพยายามผลักดันให้เกิด เพราะจะมีประโยชน์ต่อประชาชนในหลายด้าน เช่น ด้านสาธารณสุข เพราะหากข้อมูลสุขภาพของคนไข้แต่ละราย แพทย์ทุกโรงพยาบาลสามารถดึงจากข้อมูลกลางได้ ก็จะทำให้การรักษาสะดวกและรวดเร็วขึ้น เป็นต้น

“ที่ผ่านมาข้อมูลส่วนบุคคลก็ถูกนำไปเผยแพร่หรือขายให้บริษัทต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวอยู่แล้ว หากมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ด้วย แต่ก็ยังหนักใจในการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้อยู่ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน เราต้องกำหนดกรอบให้ดีๆ ว่าข้อมูลแค่ไหนที่ต้องเข้าถึงได้ ที่สำคัญกฎหมายต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ เพื่อให้ภาครัฐ เอกชน หรือประชาชาน สามารถนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

นอกจากนี้ ยังเตรียมร่าง พ.ร.บ.อีก 2-3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการปรับกระทรวงไอซีทีรวมถึงการเพิ่มกรมอีก 2-3 กรมในไอซีทีด้วย ขณะที่ความคืบหน้าการปรับปรุง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) นั้นกำลังอยู่ระหว่างการหารือกันว่าควรจะเพิ่มบทบาทการทำงานของซิป้าอย่างไรบ้าง ซึ่งตนเองมีความเห็นว่า หน้าที่ของซิป้าต้องมีมากกว่าเพียงแค่การส่งเสริมเรื่องซอฟต์แวร์ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การแข่งขันในโลกปัจจุบัน ส่วนประเด็นที่ว่าหากมีการปรับปรุงบทบาทของซิป้าใหม่แล้วจะมีการโยกย้ายหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างในองค์กรหรือไม่นั้น ตนยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ต้องรอดูความชัดเจนของ พ.ร.ฎ ซิป้าใหม่เสียก่อน

อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายทั้ง 13 ฉบับ ถูกทยอยส่งเข้าสนช.ทั้งหมด โดยคาดว่าอาจจะเสร็จประมาณปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการโดยมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เพื่อมาเดินหน้าทำงานตามแผนเกี่ยวกับ ดิจิตอล อีโคโนมี ที่ได้วางไว้พร้อมกับกฎหมายที่ปรับปรุงเสร็จต่อไป ส่วนรายชื่อของคณะทำงานจะมีใครบ้างนั้นต้องขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายทั้ง 13 ฉบับเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดบ้าง

Company Related Link :
ICT

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket

Instagram
กำลังโหลดความคิดเห็น