xs
xsm
sm
md
lg

ซิป้าจ่อตั้งคณะทำงานต่อยอดความคิดเอกชน ปูทางโรดแมป Digital Economy

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิป้า
“ซิป้า” จัดงานระดมความคิดเห็นภาคเอกชนภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนเข้าสู่ Digital Economy ก่อนตั้งคณะทำงานต่อยอดไปสู่แผนโรดแมปเพื่อดำเนินการต่อไป ชี้แผนงานสำคัญปี 58 คือ การส่งเสริมให้เป็นปีแห่งการใช้ไอทีไทย ให้ภาครัฐ และเอกชนหันมาใช้ไอทีในการทำธุรกิจมากขึ้น และเน้นการใช้ซอฟต์แวร์ของไทยเอง เตรียมดำเนินงานในหลายเรื่องเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี เผยความเห็นเอกชนส่วนใหญ่ต้องการให้ธุรกิจนำไอทีเข้ามาขับเคลื่อนทุกกระบวนการ

นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า กล่าวว่า ซิป้า ได้จัดงาน SIPA Tea Talk ขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนให้ภาคเอกชนได้นำเสนอแนวความคิดในการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนเข้าสู่ Digital Economy ต่อ นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งซิป้าจะได้นำผลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้มาทำการระดมความเห็นกันภายในอีกครั้ง เพื่อตั้งคณะทำงานขึ้นมาต่อยอดไปสู่การดำเนินการจริง และจะนำไปสู่การจัดทำโรดแมปเพื่อขับเคลื่อนตามนโยบาย Digital Economy

โดยที่ผ่านมา ซิป้าได้จัดระดมสมอง และประชุมแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับ Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิตอลไปครั้งหนึ่งแล้ว และได้ข้อสรุปที่จะนำไปเป็นแนวทางดำเนินงาน ซึ่งเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งของการส่งเสริมในปีงบประมาณ 2558 ที่น่าสนใจคือ การผลักดันเป็นปีแห่งการใช้ไอทีไทย และจะทำการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการระดับ SMEs ได้มีไอทีใช้

“ซิป้าจะทำหน้าที่เป็นผู้ผลักดันผู้ประกอบการ เราจะต้องส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพ ด้วยการใช้นวัตกรรมต่างๆ รวมไปถึงการนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยมีแนวทางคือ การวางเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าด้วยดิจิตอล มีการส่งเสริมคุณค่าให้มีการใช้ไอซีที มีการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการใหม่เน้นการทำธุรกิจด้วยไอซีที นอกจากนี้ ยังจะมุ่งส่งเสริมซอฟต์แวร์และบริการที่ดีเด่น ซึ่งอาจจะมาจากการประกวด รวมไปถึงจะเป็นผู้ประสานหน่วยงานภาครัฐให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของคนไทย”

สำหรับข้อเสนอแนะที่ตัวแทนสมาคมต่างๆ เข้ามาร่วมให้ความเห็น เช่น จะทำอย่างไรที่จะทำให้บริษัทหลายแสนบริษัทสามารถเชื่อมข้อมูลกันได้ อย่างเช่น การส่งเอกสารต่างๆ ระหว่างกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านแมสเซนเจอร์ เพราะระบบจะสามารถส่งระหว่างกันผ่านทางดิจิตอลได้ ซึ่งข้อมูลดิจิตอลต่างๆ เหล่านี้ ยังจะสามารถนำไปใช้อะไรได้อย่างหลากหลาย ในเมื่อมีข้อมูลอยู่แล้วทำไมไม่นำมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ เอกชนทุกรายเห็นด้วยต่อแนวนโยบายDigital Economy มีความสำคัญ แต่จะต้องมีการผลักดันให้ประชาชน และองค์กรต่างๆ มาเข้าร่วมให้มากขึ้น อย่างเช่น การเสียภาษีส่วนบุคคลผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถือเป็นการที่ทำให้รัฐกับประชาชนใช้ Digital Economyร่วมกัน แต่ยังต้องมีการจูงใจให้เข้ามาใช้มากขึ้น เช่น การให้ส่วนลดเพิ่ม หรือคืนเงินให้เร็วขึ้น ส่วนในภาคอุตสาหกรรมนั้นต้องดูว่าอุตสาหกรรมไหนเป็นอุตสาหกรรมหลักต้องส่งเสริมก่อน โดยต้องกำหนดนโยบายร่วมกันว่าจะหนุนอุตสาหกรรมไหนก่อน

สำหรับในส่วนของแอนิเมชันนั้น ปัจจุบันผู้ประกอบการแอนิเมชันยังมีความเข้มแข็งอยู่ แต่ยังขาดการพัฒนาให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมให้เอกชนไทยผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันดีๆ ให้มากขึ้น เพราะประเทศไทยมีศักยภาพ และทักษะต่างๆ ที่ถือเป็นจุดแข็ง แม้แอนิเมชันในอาเซียนไทยจะเป็นเบอร์ 1 แต่จะทำอย่างไรที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำให้ได้

เช่นเดียวกับเรื่องอีเลิร์นนิ่งที่ภาคเอกชนเห็นว่าไทยต้องมีมาตรฐานของอีเลิร์นนิ่งให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันยังเป็นแบบต่างคนต่างทำ หน่วยงานราชการที่มีอีเลิร์นนิ่งทั้งหมดจึงควรที่จะนำมาจัดตั้งให้เป็นมาตรฐานสากล มีการแลกเปลี่ยนคอนเทนต์กันเพื่อให้คนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการพัฒนาคอนเทนต์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นางสุวิมล กล่าวว่า เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการเข้าสู่ Digital Economy ที่สภาอุตสาหกรรมเป็นผู้นำเสนอคือ การนำระบบต่างๆ ในแอนะล็อกมาเปลี่ยนเป็นดิจิตอล และสร้างให้เป็นอี-ซัปพายเชน, อี-อินวอยด์ โดยต้องดึงให้ธุรกิจต่างๆ เข้าสู่ระบบดิจิตอลให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันในยอดขายรวมกว่า 13 ล้านล้านบาทของสมาชิกในสภาอุตสาหกรรมนั้น มีการเสียภาษีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของยอดรายได้ ดังนั้น ถ้าสามารถนำธุรกิจพวกนี้เข้าสู่ระบบโดยสมัครใจ ทำให้เกิดมาตรฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งการส่งข้อมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์นี่เองจะช่วยให้เก็บภาษีได้มากขึ้น และทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

Company Related Link :
SIPA

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket

Instagram
กำลังโหลดความคิดเห็น